xs
xsm
sm
md
lg

[REC] : ตึกนรก!/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ใครจะว่ารายการประเภท ‘เรียลิตี้ ทีวี’ กำลังเข้าสู่ขาลงหรืออย่างไรก็ตามแต่ แต่ในรอบปีที่ผ่านมา ในวงการภาพยนตร์เอง ก็มีหนังที่หยิบยืมเทคนิคเกาะติดชีวิตจริงแบบเรียลิตี้ ทีวี มาใช้ อย่างน้อยก็ 3 เรื่องด้วยกัน

ดังสุดหนีไม่พ้น Cloverfield ที่สร้างความรู้สึกอยากดูจนน้ำลายหกให้ผู้ชมตั้งแต่หนังตัวอย่างถูกปล่อยออกมา ทั้งยังพาลทำให้ผู้ชมเวียนศีรษะงวยงง (บางคนถึงกับคลื่นไส้) เมื่อหนังฉบับเต็มเข้าฉายจริง รองมาคือ Diary of the Dead หนังใหม่ของ จอร์จ เอ. โรเมโร ปรมาจารย์หนังซอมบี้

และสุดท้ายก็คือ [REC] ผลงานในสังกัด Filmax สตูดิโอจากสเปนที่โดดเด่นในด้านการทำหนังสยองขวัญเป็นพิเศษ เรื่องนี้

[REC] เป็นผลงานกำกับร่วมกันของ โฮเม บาลาเกโร และ ปาโก ปลาซา (คนแรกเคยทำ Fragile และ Darkness ซึ่งเข้าโรงฉายในบ้านเราทั้งสองเรื่อง ส่วนคนหลังเคยทำหนังที่ไปดังตามเทศกาลหนังสยองขวัญจำนวนไม่น้อย)

ทั้งคู่เล่าว่า ตอนที่รู้ข่าวว่า Cloverfield จะใช้วิธีการนำเสนอแบบเดียวกัน พวกเขาถ่ายทำ [REC] เสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการตัดต่อ

แน่นอน ฟังข่าวทีแรก พวกเขารู้สึกอึ้งไปเล็กน้อย เพราะหวั่นจะถูกครหาว่าไปลอกความคิดคนอื่นมา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อได้ข่าวว่า จอร์จ เอ. โรเมโร ก็จะใช้วิธีการเดียวกันกับ Diary of the Dead ด้วย พวกเขาก็รู้สึกเบาใจขึ้น นึกในใจว่า ‘อ้อ สงสัยเทรนด์นี้กำลังมา’ ถึงได้มีคนทำหนังหลายคนคิดจะทำอะไรคล้ายๆ กัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงกันพอดี

ตัวเอกของ [REC] คือ แองเจลา พิธีกรสาวของรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวของคนกลางคืนและภาพชีวิตยามค่ำคืนในนครหลวงของสเปน

ในการบันทึกเทปวันนั้น กลุ่มคนที่เป็นหัวข้อของรายการคือ พนักงานดับเพลิงกะดึก ซึ่งต้องอยู่โยงเฝ้ายามขณะที่คนทั้งเมืองกำลังหลับไหลอย่างเป็นสุข

แองเจลาเดินทางไปศูนย์ดับเพลิงพร้อมตากล้องชื่อ พาโบล (เราจะเห็นเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบผ่านกล้องซึ่งเขาเป็นผู้ถ่าย) หนังใช้เวลาราว 10 นาทีแรกไปกับการพาผู้ชมทัวร์ศูนย์ดับเพลิง โดยมีแองเจลาทำหน้าที่ไกด์ เธอพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ พาเราไปดูห้องอาหารรวม ห้องนอน กิจกรรมยามว่างของพนักงาน ฯลฯ

คืนนั้นทำท่าจะจบลงแบบไม่มีอะไร จนกระทั่งจู่ๆ กริ่งสัญญาณก็ดังขึ้น ทางศูนย์ได้รับแจ้งจากผู้เช่าพักในตึกอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งว่า ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาจากห้องใกล้เคียง ผู้เช่าในห้องต้นเหตุนั้น เป็นหญิงชราที่อาศัยอยู่ตามลำพัง พลเมืองดีคาดว่าเธอน่าจะประสบเหตุร้ายแรงบางอย่าง และต้องการให้เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยบุกเข้าไปช่วยเหลือ (ก่อนหน้านี้หนังบอกกล่าวปูพื้นไว้แล้วว่า งานที่พวกบุรุษดับเพลิงต้องทำนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ใช่การบรรเทาเหตุเพลิงไหม้ แต่มันครอบคลุมสารพัดอย่าง บางครั้งต้องทำกระทั่งช่วยแมวลงจากต้นไม้)

แองเจลาและพาโบลจึงติดรถบุรุษดับเพลิง 2 คนไปยังที่เกิดเหตุ ที่นั่น พวกเขาพบผู้เช่าพักอพาร์ตเมนต์ห้องอื่นๆ ในตึกเดียวกัน พกพาความตระหนกตกใจปนสงสัย มารวมตัวสังเกตการณ์อยู่ที่โถงชั้นล่าง

และเมื่อทีมช่วยเหลือบุกขึ้นไปชั้นบน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ภายในห้องต้นเหตุ พวกเขาก็พบหญิงชรา –เจ้าของเสียงกรีดร้อง- ยืนโงนเงนคล้ายกับจะไม่รับรู้ความเป็นไปของสถานการณ์รายรอบ

หญิงชรายังไม่ตาย แต่ร่างของเธอเลอะเทอะเกรอะกรังไปด้วยเลือด เจ้าหน้าที่เห็นดังนั้นจึงรุดตรงเข้าไปหาเธอหวังจะให้ความช่วยเหลือ หารู้ไม่ว่า ร่างโชกเลือดที่ยืนอยู่ตรงนั้น แท้จริงแล้วหาใช่มนุษย์อีกต่อไป แต่มันคือซอมบี้กระหายเลือด ที่พร้อมจะจู่โจมสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่พบเจอ แล้วกัดกินแทะทึ้ง จนกระทั่งเหยื่อสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์ และต้องกลายเป็นพวกเดียวกับมัน

ตามระเบียบปฏิบัติทั่วไป หนังซอมบี้ส่วนใหญ่มักจะให้ตัวละครมนุษย์หาตึก อาคาร หรือสถานที่ปิดล้อมสักสถานที่ เป็นที่กบดานหลบซ่อนตัว พวกเขาจะขังตัวเองไว้ในนั้นเพื่อตั้งหลักและรอคอยความช่วยเหลือ ขณะที่ฝูงซอมบี้ตะเกียกตะกายรอเขมือบอยู่ข้างนอก (ใน The Night of the Living Dead เป็นบ้านพักหลังหนึ่ง, Dawn of the Dead เป็นห้างสรรพสินค้า)

จากนั้นก็จะมีจุดพลิกผันอะไรสักอย่าง เช่น ใครสักคนป่วย พบสัญญาณผู้รอดชีวิตตกค้างอยู่ข้างนอก ขาดอุปกรณ์สื่อสารที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนภายนอก ฯลฯ ทำให้ตัวละครเหล่านั้นจำต้องเสี่ยงอันตรายออกไปผจญฝูงซอมบี้ข้างนอกนั่น

[REC] กลับเลือกที่จะไม่ทำตามระเบียบปฏิบัติดังกล่าว หนังสร้างเงื่อนไขให้มนุษย์กับซอมบี้จำต้องถูกปิดล้อมอยู่ในสถานที่เดียวกัน กล่าวคือ ขณะที่ทีมกู้ภัย แองเจลากับพาโบล และผู้เช่ารายอื่นๆ ยังตกใจไม่ทันเสร็จกับความโหดเหี้ยมของซอมบี้หญิงชรา ก็ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยตำรวจ-ทหารติดอาวุธและทีมแพทย์ เดินทางมาที่ตึกแล้วปิดกั้นทางเข้าออกเอาไว้ทุกทาง โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหญิงชรานั้น แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากเชื้อโรคชนิดหนึ่ง (ซึ่งพวกเขายังไม่รู้ชัดว่าเป็นเชื้ออะไรและจะรักษาอย่างไร) และเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย พวกเขาจึงจำเป็นต้องขังทุกคนไว้ข้างใน จนกว่าจะหาทางรับมือกับมันได้ พร้อมกันนั้นยังขู่ไว้เสร็จสรรพว่า หากใครทำดื้อดึงคิดจะฝ่าออกมา เจ้าหน้าที่จะยิงให้ดับดิ้นอย่างไม่ปราณี

สิ่งที่หนังทำ จึงเหมือนเป็นการสร้างเงื่อนไขแบบ ‘สองเด้ง’ ให้ตัวละคร หนังผลักทุกคนให้อยู่ในภาวะจนมุม (ครั้งแรกที่ดิฉันเห็นตัวละครมนุษย์แก้ปัญหาด้วยการขังซอมบี้ไว้ในบ้าน คือ ในหนังซอมบี้ขำวายป่วงเรื่อง Dead Alive ของ ปีเตอร์ แจ็กสัน)

นอกจากนั้นยังสร้างแต้มต่อให้พวกซอมบี้ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ด้วยการให้พวกมันมีความคล่องแคล่วว่องไว ปราดเปรียว และมีพละกำลังเหนือมนุษย์ (ถ้าไม่นับ Dawn of the Dead ฉบับรีเมก ซอมบี้ในหนังแทบทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นพวกเคลื่อนไหวช้าทั้งสิ้น)

ทั้งหมดนั้นถือเป็นการสร้างความเข้มข้นให้กับหนัง มันส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกกดดัน ลุ้นระทึก และเกิดความรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครเพิ่มมากขึ้นไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ เมื่อบวกรวมกับการหยิบยืมวิธีการของเรียลิตี้ ทีวี มาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด การใช้กล้อง –ที่พาโบลเป็นผู้ถ่าย- แทนสายตาผู้ชม ทำให้เราแทบจะรู้สึกเหมือนตัวเองคือ พาโบล เสียเอง เป็นตากล้องที่กำลังบันทึกภาพ และประสบเหตุการณ์สยองขวัญเหล่านั้นด้วยตัวเอง (การที่หนังให้ผู้ชมได้ยินแค่เสียง แต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาตัวละครตัวนี้เลย เปิดช่องให้เราจินตนาการว่าตัวเองเป็นเขาได้)

เมื่อจับองค์ประกอบทั้งหมดมาเขย่ารวมเป็นเนื้อเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ [REC] เป็นหนังที่ทำให้ผู้ชมเกิด ‘อารมณ์ร่วม’ ได้อย่างยอดเยี่ยม (ล่าสุด หนังถูกฮอลลีวูดจับไปรีเมกเรียบร้อยแล้ว ใช้ชื่อว่า Quarantine)

ถ้าจะมีส่วนใดที่ส่วนตัวแล้วดิฉันรู้สึกติดขัดอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นช่วงที่หนังพยายามจะอธิบายที่มาที่ไปของการเกิดซอมบี้ในครั้งนี้ ในความเห็นของดิฉัน คนดูรับรู้และรับได้อยู่แล้วว่า ในโลกของหนังเรื่องนี้ ซอมบี้มีอยู่จริง โดยไม่ต้องการคำอธิบายให้เยิ่นเย้อมากความ

แต่การที่หนังพยายามจะให้คำอธิบายกับมัน ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างจะไร้ชั้นเชิง (คือ ให้ตัวละครไปพบข่าวที่ตัดจากหนังสือพิมพ์แล้วพูดประกอบ) อีกทั้งยังทำในช่วงเวลาที่จำกัด นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ชมเกิดความกระจ่างแต่อย่างใดแล้ว มันยังกลายเป็นเนื้อหาส่วนที่สร้างความสับสนให้ผู้ชม และที่ร้ายที่สุดก็คือ มันทำให้อารมณ์ของหนังซึ่งกำลังพุ่งสู่ความอึดอัดและตื่นเต้นสุดขีด มีอันต้องสะดุดไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รอยตำหนิดังกล่าว ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมของมัน [REC] อาจไม่ใช่หนังที่โดดเด่นในแง่ของเนื้อหาสาระ อาจไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเป้าหมายเพื่อหยิบยื่นสัจธรรมหรือแง่คิดอันใดที่จะเป็นประโยชน์ในการกล่อมเกลาจิตใจหรือสมองของผู้ชม

แต่หากมองมันในแง่ของ ‘หนังเพื่อความบันเทิง’ แล้ว ถือว่ามันทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนตัวดิฉันเอง กล่าวได้ว่า นี่คือหนังที่สนุกติดอันดับต้นๆ ของหนังทั้งหมดที่ได้ดูในปีนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น