xs
xsm
sm
md
lg

Eagle Eye : ท่าดี...ทีเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ในฐานะคนดูหนังธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งชื่นชมและติดตามผลงานของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ตลอดมา ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ครับว่า ถ้าหากพ่อมดแห่งดรีมเวิร์กส์ได้กำกับ Eagle Eye ด้วยตนเองแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร จะดีหรือด้อยกว่าที่ “ดี.เจ.คารูโซ” ทำให้เราดูหรือไม่อย่างไร?

ก็อย่างที่รู้กันครับว่า แรกเริ่มเดิมที โปรเจคต์หนังเรื่องนี้เกิดมาจากก้อนไอเดียของสปีลเบิร์กตั้งแต่ช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว และเขาก็ตั้งใจไว้ว่าจะลงมือกำกับ Eagle Eye เอง เพียงแต่ที่ผ่านมา ผู้กำกับขาใหญ่ยังไม่มี “เวลาว่าง” ให้กับมันมากพอ เพราะมัวไปยุ่งอยู่กับโปรเจคต์อื่นๆ ที่บิ๊กกว่า (เช่น อินเดียน่า โจนส์ ภาคล่าสุดที่ฟันรายได้ไปเหนาะๆ 3 ร้อยกว่าล้านดอลลาร์ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา) ชะตากรรมของ Eagle Eye จึงตกไปอยู่ในมือของ “ดี.เจ.คารูโซ” ผู้กำกับที่เคยทำหนังอย่าง Disturbia ให้เราดูมาแล้วเมื่อปีก่อน

ไม่ขี้เหร่เลยครับกับผลงานชิ้นที่สองของคารูโซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงว่า โจทย์ข้อแรกซึ่งหนังกำหนดให้กับตัวเองคือความเป็นแอ็กชั่น ก็ต้องยอมรับว่า Eagle Eye พาตัวเองบรรลุถึงเป้าหมายนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากจะแอ็กชั่นกันเกือบทุกๆ 5 นาทีแล้ว แอ็กชั่นหลายๆ ฉากก็รีดเค้นอารมณ์ลุ้นระทึกจากคนดูได้เป็นอย่างดี แม้ว่าฉากมันส์ๆ เหล่านี้จะมีให้เห็นเกลื่อนกลาดในหนังพวก Terminator, James Bond, Borne รวมไปจนถึง Transformer และ Die-Hard ก็ตามที (ขณะที่คนปากดีบางคนก็เหน็บแนมแบบแสบๆ คันๆ เหมือนกันว่า Eagle Eye ทำราวกับตัวเองได้รับการซัพพอร์ตจากพวกบริษัทเครื่องยนต์ยังไงยังงั้น เพราะแอ็กชั่นเกือบทุกฉากของพี่ท่านล้วนพัวพันและพึ่งพารถยนต์กับเครื่องจักรกลแทบทั้งสิ้น)

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความเป็นแอ็กชั่น Eagle Eye ยังมีสัดส่วนของ Thriller และ Suspense รวมอยู่ด้วยในขณะเดียวกัน ผ่านเรื่องราวลึกลับที่พยายามโน้มน้าวคนดูให้เกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงต่อผลพวงด้านลบที่เกิดขึ้นตามมาจากวิวัฒนาการอันล้ำหน้าของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียที่ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่นักก็ตาม (ประเด็นทำนองนี้ เราจะเห็นได้ในหนังหลายๆ เรื่อง อย่าง Jaws, Cellular, I Robot, Stealth หรือแม้กระทั่ง Phone Booth ของโจเอล ชูมัคเกอร์ รวมไปจนถึง 2001 : A Space Odyssey ของสแตนลี่ย์ คูบริกส์ นั่นก็ด้วย)

โดยคร่าวๆ Eagle Eye เล่าถึง “เจอร์รี่” (ไชอา ลาบัฟ) กับ “ราเชล” (มิเชล โมนาแกน) หนึ่งหนุ่มโสดกับหนึ่งสาวหม้ายลูกติดที่ไม่เคยเกี่ยวดองอะไรกันเลย แต่ในที่สุด กลับต้องมาลงเอยตกที่นั่งลำบากเดียวกัน เมื่อพวกเขาได้รับโทรศัพท์แปลกประหลาดจากหญิงสาวลึกลับคนหนึ่งซึ่งทำตัวราวกับเป็นพระเจ้า บงการพวกเขาให้ทำโน่นทำนี่พร้อมทั้งข่มขู่สำทับด้วยว่า ถ้าไม่ทำตาม ชีวิตพวกเขาจะต้องพบกับหายนะ (แม้เราจะรู้สึกดีใจแทนหนุ่ม Underdog ต๊อกต๋อยอย่างเจอร์รี่อยู่บ้างที่จู่ๆ ก็มีเงินเป็นล้านๆ ไหลมาอยู่ในบัญชี แต่เราก็ดีใจได้แป๊บเดียว เมื่อรู้ว่า เงินก้อนนั้นมันกลายเป็น “ทุกขลาภ” อย่างใหญ่หลวง)

ครับ ด้วยเรื่องราวเท่าที่เล่ามา เราจะเห็นว่า หนังเรื่องนี้มี “ปม” สำคัญๆ อยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ หญิงสาวลึกลับที่เป็นเจ้าของเสียงในโทรศัพท์นั้น ซึ่งถือเป็น Suspense ของหนังที่ตั้งใจให้คนดูคาดเดาและเกิดความรู้สึกอยากติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาว่า ต้นทางของเสียงลึกลับนั้นมาจากไหนกันแน่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือว่า ทั้งๆ ที่หนังตั้งท่ามาอย่างดีในการ “เก็บ” ความลับที่ว่านี้ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง แต่พอถึงตอนเฉลย หนังกลับเปิดเผยความลับแบบง่ายๆ จนดูธรรมดาเกินไป ขณะที่บางคนอาจเดาได้ถึง “ต้นทาง” ของเสียงนั้นตั้งแต่หนังยังไม่คลี่คลายคำตอบด้วยซ้ำ แน่นอน เมื่อรู้คำตอบแล้ว ที่เหลือก็แค่ดูต่อไปให้จบ (เหนืออื่นใด ผมว่าคนดูส่วนหนึ่งคงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับประเด็นทำนองนี้อีกแล้ว หลังจากที่ผ่านมา “เนื้อหา” แบบนี้มีหนังหลายๆ เรื่องพูดถึงมาเยอะแล้ว)

ผมคิดว่า หนังในแนว Suspense ก็มีสูตรสำเร็จที่ไม่ซับซ้อนอะไรนัก โดยหลักๆ ก็อยู่ที่การผูกปมและคลี่คลายความจริงที่ช็อกในตอนจบ โอเคว่า Eagle Eye มีเรื่องที่น่าช็อกอยู่แน่นอน (ซึ่งก็คือ พลานุภาพด้านมืดของความไฮเทค) แต่ปัญหาจริงๆ ของหนังมันอยู่ที่ “วิธีการคายความลับ” มากกว่าที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันไม่ได้เป็นเรื่องน่าตกตะลึงหรือน่าขนลุกอะไรเลย ความเป็นทริลเลอร์ของหนังจึงลดน้อยลงไปด้วยประการประมาณนี้ แล...

เหนืออื่นใด ผมก็ไม่อยากจะเชื่อว่ามีใครบ้างไหมที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะเกิดนึกกลัว “ผลพวง” ที่พ่วงมากับเทคโนโลยี เหมือนที่ A.I.หรือ 2001 : A Space Odyssey เคยทำให้เรารู้สึกขนลุกมาแล้ว (แต่ก็น่าแปลกที่มีฉากๆ หนึ่งซึ่ง “บังเอิญเหมือน” มากๆ ระหว่าง Eagle Eye กับ 2001 : A Space Odyssey เพราะในขณะที่สแตนลี่ย์ คูบริกส์ ให้ตัวละครของเขาถอดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ตัวเก่ง ดี.เจ.คารูโซ ก็มีฉากถอดชิ้นส่วนความจำของเจ้าเครื่องจักรกลที่เป็นตัวปัญหาเช่นกัน)

ครับ พูดไปก็คล้ายคนที่จ้องแต่จะจับผิด แต่ทว่า ด้วยเครดิตของหนังที่มีทั้งคำว่า Action, Thriller และ Suspense รวมอยู่ด้วยนั้น ผมว่า Eagle Eye ตอบโจทย์ข้อแอ็กชั่นได้เด่นและดีที่สุด ส่วนที่เหลือนอกจากนั้น เป็นเพียง “ความฝัน” ที่ยังไปไม่ถึง และแน่นอนที่สุด ตอนจบของหนังก็ดูห้วนเกินไป ซึ่งจริงๆ ผมว่าน่าจะจบได้ดีกว่านี้ อย่างเช่น แทนที่จะให้ตัวละครสองตัวที่ล้มลุกคลุกคลานผ่านความเลวร้ายมาด้วยกันจูบปากกัน (ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งไปแล้ว ประมาณว่า...คิดอะไรไม่ออกในตอนจบก็ให้คู่พระนางกอดจูบกันซะ แฮปปี้เอ็นดิ้งมั่กๆ) ก็อาจจะไปจบด้วยการเน้นย้ำที่แก่นสารหลักของหนังซึ่งพูดถึง “ด้านลบ” ของความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี แบบนี้น่าจะดีกว่าไหม?

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามกันอย่างพื้นๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมากว่า Eagle Eye เป็นหนังที่ดูสนุกหรือเปล่า? สั้นๆ ชัดๆ เลยครับว่าสนุก แบบไม่รู้สึกเสียดายตังค์ค่าตั๋วเลย (ไม่ใช่ดูฟรีพร้อมแถมตังค์อย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมคงรวยไปแล้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีกรีความลุ้นระทึกชนิดที่แทบจะไม่มีการพักยกนั้น ผมว่าคารูโซก็ทำได้ดีจนเกือบจะใกล้เคียงกับ The Bourne Ultimatum (หนังแอ็กชั่นอันดับหนึ่งของปีที่แล้ว...ในความคิดของผม) ซึ่งที่บอกว่า “เกือบใกล้เคียง” ก็เพราะว่าในขณะที่ The Bourne Ultimatum รักษาระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ให้เราลุ้นระทึกไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมกับมีช่วงพีคสุดๆ ทิ้งท้าย แต่ Eagle Eye ดูจะออกอาการแผ่วปลายอย่างเห็นได้ชัด (ตั้งแต่ช่วงที่คู่พระนางยืนงงอึ้งในร้านขายเครื่องเสียงเป็นต้นไป) ไม่รู้คนอื่นจะคิดยังไง แต่ผมว่าช่วง 30-40 นาทีแรกของหนังดูลุ้นระทึกที่สุดซึ่งถือว่าผิดปกติของสูตรหนังแอ็กชั่นทั่วๆ ไปที่มักจะวางลีลาแอ็กชั่นมันส์ๆ ไว้ตอนท้ายเรื่อง

ทั้งนี้ ความเฉียบขาดที่สุดของ Eagle Eye คงต้องยกให้เทคนิคการตัดต่อที่ทำได้ “เนี้ยบ+เนียน” ทั้งภาพและเสียง ซึ่งเครดิตหลักๆ ต้องยกให้สปีลเบิร์กกับลูกทีมอีก 4-5 คนที่มาช่วยกันโปรดิวซ์ (ขณะเดียวกัน ใครอยากดื่มด่ำอรรถรสของซาวน์เอฟเฟคต์ดีๆ หนังเรื่องนี้มีให้แน่นอน ซึ่งถ้าจะให้ดี ดูในโรงดิจิตอลจะเพอร์เฟคต์มาก)

นอกเหนือไปจากนี้ ผมว่าส่วนที่ดีอีกอย่างของ Eagle Eye อยู่ที่ตัวเนื้อหาของหนังที่คิดไกลไปถึงวันข้างหน้าซึ่งไม่แน่ว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้น (แม้จะไม่ใช่เรื่องอัพเดทใหม่กิ๊กก็ตามที) และผมก็ไม่แปลกใจเลยครับที่ไอเดียนี้มีสปีลเบิร์กเป็นคนต้นคิด เพราะก็อย่างที่เรารู้ครับว่า จะหามนุษย์คนไหนที่รุ่มรวยจินตนาการความฝันในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างสปีลเบิร์กได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ขณะที่ “จินตนาการ” ในหนังเรื่องก่อนๆ ของสปีลเบิร์กอาจจะมองการณ์ไกลไปถึงแค่วันที่เทคโนโลยี “เลียนแบบ” คน (อย่าง A.I.) แต่ Eagle Eye ไปไกลกว่า เพราะมันพูดถึงวันที่เครื่องยนต์กลไกต่างๆ อาจขึ้นมามีอำนาจเหนือมนุษย์และคอนโทรลชะตากรรมของโลก (คิดเล่นๆ นะครับว่า ถ้าหาก A.I.คือผลลัพธ์ดีๆ ที่เทคโนโลยีมีต่อมนุษย์ Eagle Eye ก็น่าจะเป็นผลพวงในทางร้ายของนวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น)

เหนืออื่นใด ประเด็นหนึ่งซึ่งหนังจับโยงเข้ากันได้อย่างดีกับสภาพสังคมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีก็คือ เรื่องของ “สิทธิส่วนบุคคล” ที่ดูจะถูกคุกคามมากขึ้นทุกวัน อย่างน้อยที่สุด การที่หนังถ่ายจับไปที่ภาพในกล้องวงจรปิดหลายครั้งหลายหน ก็เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่า โลกใหม่ในยุคนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเหลือเป็น “ความลับ” ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวของคนแต่ละคน (และหนังก็พูดประเด็นนี้ออกมาโต้งๆ ว่า มันมีการแอบดักฟังโทรศัพท์ของชาวบ้าน ซึ่งก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของคนอื่น)

ครับ ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้บอกว่ากล้องวงจรปิดเป็นนวัตกรรมชั่วร้ายแต่อย่างใด (เพราะอย่างน้อยๆ มันก็ช่วยให้ตำรวจจับโจรได้ง่ายขึ้น จริงไหม?) แต่เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า ความก้าวหน้าของสิ่งเหล่านี้แม้มันจะทำให้ชีวิตเราตื่นเต้นบันเทิงใจไปกับความไฮเทคบ้าง แต่บางที มันก็นำมาซึ่งปัญหาอันน่าปวดหัวบางอย่างสู่สังคมของเราอย่างไม่อาจปฏิเสธ จริงหรือเท็จประการใด ดูกรณีของน้อง “โฟร์-มด” เป็นตัวอย่าง...
กำลังโหลดความคิดเห็น