xs
xsm
sm
md
lg

15 หนังลืมไม่ลงของ "พอล นิวแมน" (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จะมีนักแสดงซักกี่คนที่สามารถฝากผลงานอันทรงคุณค่าเอาไว้ได้ทั้ง 6 ทศวรรษที่อยู่บนเส้นทางมายา เหมือนดัง "พอล นิวแมน" ดาราใหญ่ที่ลาโลกไปด้วยวัย 83 ปีด้วยโรคแทรกซ้อนจากมะเร็งปอด เพื่อเป็นสดุดีการจากไปของเขา ทาง Entertainment Weekly ได้จัดทำบทความเกี่ยวกับผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขา มาดูกันว่า 15 ผลงานที่ทรงคุณค่าที่นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ได้ฝากเอาไว้เป็นมรดกของโลกมีเรื่องอะไรกันบ้าง

SOMEBODY UP THERE LIKES ME (1956)

หลังจากผลงานเปิดตัวที่ไม่สวยนักอย่างเรื่อง The Silver Chalice ในปี 1954 โชคก็มาเข้าข้างนักแสดงหนุ่มหล่อวัย 30 ปีในตอนนั้นเสียที เมื่อทางค่ายวอร์เนอร์ต้นสังกัดได้ปล่อยตัวเขาให้กับทางเอ็มจีเอ็มเพื่อเป็นการยืมตัว หลังจากโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดที่เกิดกับ เจมส์ ดีน ที่เคยตกลงในการรับบท ร็อคกี กราเซียโน นักมวยแชมเปี้ยนรุ่นมิดเดิลเวท ซึ่งนิวแมนไม่ต้องเสียเวลาคิดเป็นครั้งที่ 2 แม้ว่าเขารับแสดงทั้งๆ ที่จมูกโด่งแย้งกับภาพลักษณ์ของนักมวยเจนสนามและสำเนียงที่ฟังยังไงก็ไม่ใช่ชาวนิวยอร์ก แต่เขาก็ได้มอบการแสดงที่เป็นการแจ้งเกิดแก่วงการสำหรับเขาอย่างเต็มตัวในผลงานประวัติชีวิตอันเข้มข้นของ โรเบิร์ต ไวส์ เรื่องนี้ ในบทบาทนักมวยที่สมบทบาทเช่นเดียวกับความอ่อนหวานเมื่อถึงฉากรัก นิวแมนแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่าเขายอดเยี่ยมที่สุดในการแสดงเป็นชายที่กระเสือกกระสนในการพลักดันตัวให้เป็นคนที่ดียิ่งกว่า ซึ่งการแสดงในเรื่องนี้ทำให้หยุดหายใจได้เลยทีเดียว แม้ว่าจะเจอคำครหาจากนักวิจารณ์บางคนว่าเขา "แทบจะลอกแบบมาจาก มาร์ลอน แบรนโด" และตั้งคำถามกันว่า "เขาจะทนทุกข์ไปตลอดกาล" กับการเลือกที่จะเดินภายใต้เงาของแบรนโดอย่างนี้ แต่ที่ไม่ต้องกังวลก็คือด้วยมาดอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา เขามีเส้นทางของตัวเองรออยู่ข้างหน้าอยู่แล้ว (ถ้าคุณดูเรื่องนี้แล้วกระพริบตา อาจจะไม่ได้เห็นนักแสดงใหญ่อีกรายอย่าง สตีฟ แม็คควีน ที่มาเล่นเป็นเพื่อนในแก๊งของร็อกกีด้วย)

CAT ON A HOT TIN ROOF (1958)

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณตัดบทตัวละครเกย์ที่เก็บกดออกจากหนังที่เกี่ยวกับเกย์ที่เก็บกด? มันเซอร์ไพรส์มากๆ เรื่องมันเกิดขึ้นในสมัยที่มันมีกฏที่เข้มงวดที่ส่งให้นักเขียนและผู้กำกับ ริชาร์ด บรู๊คส์ ต้องดัดแปลงเหตุผลที่แท้จริงที่ตัวละครเอกของเรื่องอย่าง บริค สามีที่เอาแต่ดื่มเหล้าทั้งวันและไม่ยอมแตะต้องเมียคนสวยที่ร้อนสวาทที่อยู่ข้างกายแม้แต่ครั้งเดียว แต่นิวแมนได้ชดเชยมันด้วยการแสดงพร้อมกับแก้วเหล้าที่ทั้งแสนเศร้าและน่าหวาดหวั่น กู้หนังเรื่องนี้คืนมาด้วยการบรรยายถึงสิ่งที่อยู่ในใจของบริค ที่เขาเล่นได้เข้าขากับ อลิซาเบธ เทเลอร์ ที่ทำหน้าที่นักแสดงสมทบได้อย่างวิเศษ เป็นแบบอย่างของวงการที่พิสูจน์ว่าพลังของนักแสดงที่แท้จริงสามารถเพิ่มพลังให้กับบทที่เต็มไปด้วยข้อแม้มากมายแค่ไหน ถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่ส่งเขาเข้าชิงออสการ์จาก 8 ครั้งที่จะตามมา เช่นเดียวกับยกสถานะของเขาให้เป็นซูเปอร์สตาร์

THE HUSTLER (1961)

ถือเป็นบทบาทการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ พอล นิวแมน ในบทนักเลงพูลอย่าง แฟสต์ เอ็ดดี เฟลสัน ที่ลองดีท้าแข่งกับมือวางระดับประเทศอย่าง มินเนโซตา แฟตส์ ในการแสดงที่ถ่ายทอดตัวละครไอ้ขี้แพ้ที่ล้มแต่ไม่เคยท้อ ในผลงานที่รวมองค์ประกอบอันยอดเยี่ยมของนักแสดงอย่าง แจ็คกี เกลียสัน, ไปเปอร์ ลอรี และงานกำกับภาพของ ยูจีน สชูฟทัน ที่ใช้ควันบุหรี่ในการเปลี่ยนฉากในหนังขาวดำเรื่องนี้ได้อย่างวิเศษ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การแสดงอันทรงพลังของนิวแมนที่มอบให้กับบทอันยอดเยี่ยม ที่ส่งให้เขาเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 2 แต่กว่าจะได้มาครองต้องใช้เวลาถึง 25 ปี และความช่วยเหลืออีกเล็กน้อยจาก มาร์ติน สกอร์เซซี

HUD (1963)

ในบทบาทที่สุดยอดและซับซ้อนที่สุดที่เขาเล่นในช่วงแรกของเส้นทางอาชีพ ที่ส่งให้เขาเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 3 ในบทคาวบอยหนุ่มผู้เห็นแก่ตัว, เซ็กซี่, ใจดำ และชั่วช้า ได้เฝ้าดูวัยรุ่นและความเป็นมนุษย์ของเขาไปหายไปพร้อมกับฝุ่นของฟาร์มปศุสัตว์ในเท็กซัส ซึ่งทศวรรษต่อมานิวแมนได้วิจารณ์การแสดงของเขาเองว่ายังแสดงความเสื่อมทรามทางจริยธรรมของฮัดได้ไม่ตรงเป้าพอ เพราะความหล่อเหลาและมีเสน่ห์ของเขาได้บดบังความเคียดแค้นและเลวทรามของตัวละครไว้เบื้องหลัง แต่นั้นก็เป็นการแสดงที่กลั่นออกมาจากเบื้องลึกในตัวเขามากกว่าครั้งไหนๆ

COOL HAND LUKE (1967)

ในเรื่องที่เขารับบทเป็น ลุค ในวัย 42 ที่ดูเหมือนหนุ่ม 28 มากกว่า กล่าวถึงเรื่องราวของขี้คุกที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบ และเป็นบทที่เป็นที่มาของแนวทาง "คนนอกที่รวบรวมฝูงชน ก่อนจะกลายสภาพเป็นผู้ไถ่บาปเยี่ยงพระเจ้า" ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนังออสการ์อย่าง One Flew Over the Cuckoo's Nest ทั้งฉากที่เร้าอารมณ์ในตอนที่ ลุคไม่แพ้ในฉากต่อยมวย, ลุคป่วนผู้คุมด้วยการปล่อยให้เหล่านักโทษทำงานหนักยิ่งขึ้น และตอนที่เขาท้าที่จะกินไข่ 50 ลูก และเขาก็ยอดในฉากที่ต้องนิ่งๆ แต่บีบคั้นอารมณ์อย่างตอนที่ลุคร้องเพลงและร้องไห้หลังจากรู้ข่าวการตายของแม่ ที่ส่งให้เขาได้ชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 4

BUTCH CASSIDY AND THE SUNDANCE KID (1969)

ผลงานการร่วมแสดงเพียงแค่ 2 ครั้งของ พอล นิวแมน และ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ที่นอกจากจะเป็นหนังคาวบอยระดับดังถล่มทลายแล้ว มันยังเป็นหนังคู่หูของสองหนุ่มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ความยอดเยี่ยมของผลงานยังรวมไปถึงดนตรีประกอบชั้นครูของ เบิร์ต บาคารัค งานเขียนบทอันมีชั้นเชิงของ วิลเลียม โกล์ดแมน ที่ดัดแปลงหนังคู่หูอย่าง Jules and Jim และ Bonnie and Clyde ไปสู่แนวทางใหม่ ที่จะมีคนเลียนแบบหลังจากนั้นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องเราจะได้เห็นการเข้าขากันอย่างดีของนิวแมนและเรดฟอร์ด โดยเฉพาะภาษากายอันแยบยลที่พวกเขาสื่อสารกัน การสวมบทเป็นบุชของเขาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นยอดแห่งดาราแอ็คชั่น ที่มีลูกศิษย์นำไปเรียนรู้มากมายตั้งแต่ จอร์จ คลูนีย์, แบรด พิตต์, บรูซ วิลลิส, แม็ต เดมอน  และอีกนับไม่ถ้วน

THE STING (1973)

ผลงานเรื่องเดียวจากยุค 70 แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นหนังเรื่องเดียวของเขาที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หลังจาก 4 ปีกับเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid ที่เขาไม่ประสบความสำเร็จกับผลงานเท่าไหร่ จนกระทั้งผู้กำกับ จอร์จ รอย ฮิล และ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ที่ร่วมงานกันในเรื่องที่แล้วส่งบทที่เกี่ยวกับเรื่องชวนหัวในยุคสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เรื่องราวของคู่หูจอมต้มตุ๋นที่ร่วมมือกันโค่นเจ้าพ่อแห่งชิคาโก แม้เรื่องนี้จะเด่นอยู่ที่เรดฟอร์ดเป็นส่วนใหญ่ แต่นิวแมนก็รับเล่นเพราะติดใจในเนื้อหา และเป็นโอกาสที่นิวแมนจะได้แสดงฝีมือในบทสมทบกับคู่หูของเขาได้อย่างวิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น