xs
xsm
sm
md
lg

Lars and the Real Girl : ชายผู้ตกหลุมรักตุ๊กตายาง

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ดิฉันทำมาหากินกับหนังมาเป็นเวลาพอสมควร การประเมินค่าว่าหนังเรื่องใดดี เรื่องใดไม่ดี และการคิดหัวแตกว่า มันดีอย่างไร ไม่ดีตรงไหน เป็นส่วนหนึ่งของงานที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของดิฉันมาโดยตลอด

กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมา ดิฉันพบว่า มีหนังจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนตัวดิฉันเอง ไม่สามารถประเมินความดี-ความด้อยของมันได้ – อย่างน้อยก็ไม่ได้อย่างยุติธรรม เพราะหนังทำให้เราตกหลุมรักมันอย่างหัวปักหัวปำ จนเรายินดีมองข้าม มองไม่เห็น หรือบ่อยครั้งไม่กระทั่งสนใจจะมองหา ว่ามันมีข้อด้อยรอยตำหนิหรือไม่ และอยู่ตรงไหนบ้าง

Stand by Me, A River Runs Through It, My Best Friend’s Wedding, Chungking Express, Before Sunrise, Before Sunset, 2 Days in Paris, Field of Dreams, Little Giants, Betty Blue, Mediterraneo, หนังชุด Lethal Weapon ฯลฯ ล้วนเข้าข่ายนี้สำหรับดิฉันทั้งสิ้น

ล่าสุด ดิฉันได้ Lars and the Real Girl เป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม

หนังเป็นผลงานของ เครก จิลเลสพี ผู้กำกับหนังโฆษณาที่ระหกระเหินอยู่กับการทำหนังขายสินค้ามาร่วม 20 ปี และเพิ่งจะผันตัวมาทำหนังยาวเอากับเรื่องนี้ ส่วนบทหนังนั้นเป็นฝีมือ แนนซี โอลิเวอร์ คนเขียนบทหญิงซึ่งเคยมีผลงานในซีรีส์ดังอย่าง Six Feet Under มาก่อน

หนังเข้าฉายที่อเมริกาเมื่อปีที่แล้ว (บ้านเรา แผ่นลิขสิทธิ์ใกล้ออกแล้ว) ได้รับเสียงชื่นชมอย่างหนาหู ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (แพ้ Juno), ลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทตลก/เพลง (ไรอัน กอสลิง – ซึ่งสุดท้ายก็พ่ายให้กับ จอห์นนี เดปป์ จาก Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street) อย่างไรก็ตาม หนังก็สามารถคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม จาก National Board of Review มาครองได้สำเร็จ อีกทั้งยังมีชื่อติดอันดับ ’หนังแห่งปี’ ของนักวิจารณ์หลายสำนัก

ลาร์ส ในชื่อเรื่อง คือชายหนุ่มวัยราว 30 ซึ่งอาศัยอยู๋ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอเมริกา เขายึดโรงรถซอมซ่อของบ้านเป็นที่พักพิง ส่วนตัวบ้านจริงนั้น มีพี่ชายกับพี่สะใภ้ซึ่งกำลังตั้งท้อง พำนักอยู่

หนังเล่าว่า ลาร์สเป็นคนที่มีบุคลิกภาพค่อนข้างจะแปลกประหลาด เขาปฏิเสธการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทุกคนในเมือง ไม่เว้นกระทั่งพี่ชายและพี่สะใภ้ที่คอยไปมาหาสู่ถามสารทุกข์สุกดิบของเขาด้วยความเอาใจใส่เป็นประจำ ลาร์สหลีกเลี่ยงการสุงสิงกับทุกคน พูดกับทุกคนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระนั้นก็ตาม เมื่อใดที่เขาเห็นใครต้องการความช่วยเหลืออยู่ตรงหน้า (อาทิ คนแก่ที่กำลังถือของหนัก) เขาจะปรี่เข้าไปเสนอตัวช่วยเหลือโดยไม่ลังเลเลยสักนิด

คุณสมบัติข้อหลังนี่เองที่ทำให้ผู้คนในเมืองยังรักใคร่เอ็นดูลาร์ส และยอมรับในความเป็นคนที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจเข้าใจและเข้าถึงของเขา

ต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อลาร์สพาหญิงสาวชื่อ เบียงกา เข้ามาสู่ชีวิต

ชายหนุ่มกับหญิงสาวเป็นของคู่กัน นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สาเหตุที่ทำให้ใครๆ อ้าปากค้างอย่างอึ้งรับประทาน ก็เนื่องจากว่า เบียงกา หญิงสาวที่ลาร์สแนะนำว่าเป็นคนรักของเขานั้น ไม่ใช่ผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อและชีวิตเหมือนมนุษย์มนาปรกติ แต่แท้จริงแล้วมันคือ ตุ๊กตายาง อุปกรณ์เพื่อความสำราญทางเพศที่วางขายกันเกลื่อนบนอินเตอร์เนตนั่นเอง

ในสายตาของทุกคน เบียงกาคือของเล่นวิตถารอย่างแน่นอนที่สุด อีกทั้งยังเป็นเครื่องยืนยันความผิดปรกติของลาร์สที่ชัดเจนที่สุดด้วย

แต่สำหรับตัวลาร์สเองแล้ว เขาไม่ได้เห็นว่าเบียงกาคือตุ๊กตายาง แต่เขาเชื่อของเขาจริงๆ ว่าเธอคือมนุษย์ ลาร์สปฏิบัติกับเบียงกาอย่างให้เกียติ พูดคุยเรื่องต่างๆ ให้เธอฟัง ฟังสิ่งที่เธอพูด ปรนนิบัติดูแลอย่างดี ทำทุกอย่างที่ผู้ชายสักคนพึงกระทำต่อผู้หญิงที่ตัวเองรัก

เรื่องราวถัดจากนี้เล่าถึงการรับมือของชาวเมืองต่อ ‘ความท้าทาย’ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในเมืองเล็กๆ ที่มีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของการพบปะ เบียงกาคือความวิบัติสุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับทุกคน ลาร์สก็ยังเป็นชายหนุ่มแสนดีน่าเอ็นดูเกินกว่าที่จะประณามรังเกียจได้ลงคอ เช่นนี้แล้ว ทุกคนจึงต้องมาสุมหัวทำความตกลงกันว่า ควรจะเลือกจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร

พร้อมกันนั้น หนังก็ทยอยเปิดเผยปมในใจของลาร์สให้ผู้ชมรับรู้ทีละเล็กละน้อยด้วยว่า แท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเขา จึงได้ทำให้เขาหวาดกลัวการสร้างสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในเบื้องต้น จนลงท้ายก็เลือกที่จะผูกพันใกล้ชิดกับตุ๊กตายาง แทนที่จะเป็นผู้หญิงจริงๆ สักคนอย่างที่เห็น

ครั้งแรกที่อ่านเรื่องย่อ ดิฉันคาดเดาล่วงหน้าว่า Lars and the Real Girl น่าจะเป็นหนังเพี้ยนสุดโต่ง โฉ่งฉ่าง ขำกลิ้ง อย่างไรก็ตาม ผลการพิสูจน์จริง ดิฉันพบว่าตัวเองคาดผิดไปไกลโข

เพราะเอาเข้าจริง หนังไม่ได้เน้นความขำขันของการที่คนไปรักกับวัตถุแปลกประหลาดเลยสักนิด (ที่น่ารักก็คือ หนังทำให้ความรักของลาร์สดูปรกติมากขึ้น ด้วยการนำมันไปเปรียบเทียบกับคนที่จับหมาแมวใส่เสื้อผ้า คนที่พูดคุยกับตุ๊กตุ่นตุ๊กตา รวมถึงพวกที่บริจาคเงินให้องค์การประหลาดๆ แล้วตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริง คนพวกนั้นประหลาดน้อยกว่ากันเสียเมื่อไหร่) นอกจากนั้นยังปราศจากความพยายามที่จะยัดมุขตลกจะแจ้ง หนังเลือกที่จะนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่างในทางที่เรียบและง่าย ไม่มีส่วนใดหวือหวา ไม่มีอะไรบ้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ในความเห็นของดิฉัน Lars and the Real Girl ไม่ใช่ตลก แต่หากบอกว่า มันเป็นหนัง ‘ฟีลกู๊ด’ ที่ทำให้ผู้ชมยิ้มบางๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ก็น่าจะถูกต้องตรงกับสิ่งที่มันเป็นมากกว่า

ระหว่างที่ดู ดิฉันนึกถึง Juno เป็นระยะๆ มานึกดูทีหลัง เหตุที่เป็นอย่างนั้นน่าจะเพราะทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นหนังที่มองโลกในมุมบวกด้วยกันทั้งคู่

ในขณะที่ Juno บอกผู้ชมว่า การหยุดตีอกชกหัวและตัดพ้อต่อว่าความผิดพลาด –ไม่ว่าจะของตัวเองหรือของใคร- แล้วหันมามองเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ จะทำให้เราฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ ของชีวิตไปได้ในที่สุด Lars and the Real Girl ก็ชี้ให้ผู้ชมเห็นว่า ความรักนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด สำคัญต่อมนุษย์มากแค่ไหน และเมื่อใดก็ตามที่ความรักเกิดขึ้นในหัวใจแล้ว คนหนึ่งคนสามารถทำอะไรเพื่อคนที่ตนรักได้บ้าง

หนังเรื่องนี้ไม่มีผู้ร้าย ทุกคนในเรื่องล้วนเป็นคนดี เป็นคนที่พยายามจะทำความเข้าใจแม้ในเรื่องที่ตนไม่อาจเข้าใจ เป็นคนที่พร้อมจะทำเพื่อคนอื่น แม้เรื่องที่ต้องทำจะขัดแย้งกับความเชื่อของตน เป็นคนที่ยอมช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่ ทั้งที่ไม่มีทีท่าว่าตนจะได้สิ่งใดตอบแทนกลับคืน

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจ ล้วนมี ‘ความรัก’ เป็นพื้นฐานด้วยกันทั้งสิ้น

หนังมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่อธิบายปมปัญหาในใจของลาร์สได้ครบถ้วน

ในฉากดังกล่าว ลาร์สพาเบียงกาไปฟังเทศน์ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ หลังเสร็จพิธี ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังจะขึ้นรถกลับบ้าน หญิงชราคนหนึ่งซึ่งรักใคร่เอ็นดูลาร์สไม่แพ้ใครๆ ก็นำดอกไม้ประดิษฐ์กระเช้าหนึ่งมามอบให้เบียงกา ลาร์สเห็นดังนั้นก็กล่าวขอบคุณด้วยความยินดี และทันทีที่หญิงชราลับสายตาไป เขาก็พูดกับเบียงกาว่า “มันไม่ใช่ดอกไม้จริงหรอก ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะมันจะได้ไม่มีวันวันตายจากเราไป”

คำพูดของลาร์ส อธิบายเหตุผลที่เขาเลือกที่จะรักเบียงกา แทนมนุษย์ผู้หญิงจริงๆ สักคนได้อย่างครบถ้วน

เพราะคนนั้นมีอายุขัย และความรักของคน –ในความเชื่อของลาร์ส- ก็มีวันหมดอายุ แต่เบียงกาและความรักของเธอ ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว เบียงกาไม่มีวันตาย และเบียงกาไม่มีวันหมดรักเขา

แปลกที่ว่า บ่อยครั้ง เพราะความรักแท้ๆ เราจึงอยู่ได้ แต่ก็มีไม่น้อย ที่ความรักอีกเช่นกัน ทำให้เราแทบจะอยู่ไม่ได้

อาจเพราะความรักสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตจริงๆ กระมัง ยามที่มันไม่อยู่ในที่ที่เคยอยู่ เราจึงมองไม่เห็นทางว่า จะอยู่อย่างที่เคยอยู่อีกต่อไปได้อย่างไรกัน

ไม่ว่าจะอย่างไร ลงท้าย หนังก็ทำให้ผู้ชมตระหนักว่า แท้จริงแล้ว ความรักก็ไม่ได้ต่างจากมนุษย์เท่าใดนัก

ความรักต้องการการทำความเข้าใจ ต้องการการยอมรับมันอย่างที่มันเป็น และเหนืออื่นใด ความรักจากคนคนหนึ่ง ไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยความรักของคนอีกคนหรือสิ่งอื่นใดได้

หากความรักมีวันหมดอายุจริงอย่างที่ลาร์สคิด นั่นก็เป็นเงื่อนไขที่เราจำต้องยอมรับ

เพราะท้ายที่สุด เรื่องที่เศร้าที่สุดของชีวิต ก็หาใช่การที่ความรักหมดอายุขัยและตายจากเราไป

แต่มันคือการที่เราหมดอายุขัย โดยที่หัวใจไม่เคยสัมผัสความรักเลยแม้แต่ครั้งเดียว






กำลังโหลดความคิดเห็น