xs
xsm
sm
md
lg

Daratt : เรายังจะรักกันได้อยู่ไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ในทุกๆ แขนงที่จะใช้ผลงานของตัวเองเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดตลอดจนความในใจที่ตัวเองมีต่อเรื่องราวต่างๆ ให้คนอื่นๆ ได้รับรู้รับฟัง...

...จอห์น เลนนอน สื่อสะท้อนความใฝ่ฝันอันสูงสุดของตัวเองไว้ในเพลง Imagine ขณะที่ Dust in the Wind ของคณะแคนซัส ก็คือโลกทัศน์ของคนที่กำลังมองลึกเข้าไปสู่สัจธรรมของชีวิต เช่นเดียวกับภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของเปโดร อัลโมโดวาร์ ที่คล้ายจะส่งเสียงกับคนดูอยู่เสมอๆ ว่า ชีวิตนั้นเป็นความเศร้าถึง 3 ใน 4 ส่วน...

ทุกๆ คนล้วนมีความในใจที่จะบอกกล่าว และมีเรื่องราวที่อยากจะสื่อสาร

“มะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน” ก็ดูจะไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากนี้...

แล้ว “มะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน” ที่ว่านี่เป็นใครมาจากไหนหรือ?

ครับ, คงต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา คนดูหนังชาวไทยในวงกว้างอาจจะไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อของซาเลห์ ฮารูน มาก่อน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะถึงอย่างไร เราก็จะได้ทำความรู้จักกับเขาคนนี้แล้วในบรรทัดถัดจากนี้ พร้อมกับผลงานภาพยนตร์ที่น่าชื่นชมของเขา

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะลัดเลาะเข้าไปในเนื้องานของซาเลห์ ฮารูน ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเบื้องต้นเล็กน้อยว่า ซาเลห์ ฮารูน นั้นเป็นคนประเทศ “ชาด” (Chad) โดยกำเนิด ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าประเทศที่มีชื่อว่า “ชาด” นี่มันมีอยู่ในโลกด้วยหรือ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์โลกมาพอสมควร ย่อมรู้กันว่า “ชาด” เป็นชื่อของประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในแถบแอฟริกากลาง

ด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นทะเลทราย รวมทั้งไม่มีทางออกที่ติดกับทะเล บวกรวมกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ขัดสนขาดแคลน ทำให้ชาดเป็นประเทศที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และอาจจะเนื่องมาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจนี้ด้วยส่วนหนึ่งจึงทำให้ “ชาด” ไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างเป็นระบบ ขณะที่โรงหนังก็มีให้ดูเพียงโรงเดียวเท่านั้นสำหรับประชากรทั้งประเทศ

เมื่อไม่มีทั้งโรงหนังรองรับ และไร้องค์กรที่จะเกื้อหนุนด้านการเงิน คนทำหนังชาวชาดที่อยากทำหนังจึงต้องดิ้นรนหาทางให้ตัวเองด้วยการขอทุนจากประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส และถ้าจะพูดถึงคนทำหนังที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจริงๆ นั้นมีเพียง 2 คน คือ “อิสสา แซซ โคเอโล” และ “มะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน” คนนี้

ที่ผ่านมา ซาเลห์ ฮารูน เริ่มสร้างชื่อให้กับตัวเองด้วยผลงานเรื่องแรก Bye Bye Africa เมื่อปี 1999 ก่อนจะตอกย้ำความรุ่งโรจน์บนเส้นทางสายนี้ด้วย Abouna หรือในอีกชื่อหนึ่ง Our Father (ปี 2002) ที่มีโอกาสฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์และออกฉายในหลายประเทศทั่วโลก

จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซาเลห์ ฮารูน ก็พาผลงานเรื่องที่สาม Daratt ทะลุเข้าไปคว้ารางวัล Special Jury Prize ในเทศกาลหนังเมืองเวนิซ ขณะที่เว็บไซต์ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Rottentomatoes ก็เทคะแนนให้หนังเรื่องนี้ไปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

Daratt เป็น 1 ในหนัง 7 เรื่องที่ได้รับเลือกและสนับสนุนด้านทุนสร้างโดยโครงการ New Crowded Hope ในวาระเฉลิมฉลอง “250 ปี โมสาร์ต” (หนัง 7 เรื่องนี้มี “แสงศตวรรษ” ของอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล รวมอยู่ในนั้นด้วย)

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์แห่ง “ชาด” ที่ผมเล่ามายืดยาวข้างต้นนั้น ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งมิได้เอ่ยถึง และมันก็เป็นสิ่งเดียวกันซึ่งมีความสำคัญสูงมากต่อการ “เข้าถึง” แก่นสารในหนังของซาเลห์ ฮารูน

โดยมุมมองในทางประวัติศาสตร์ ประเทศ “ชาด” นั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน (โดยเฉพาะการต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส) แต่ที่นับเป็นความขมขื่นใจมากที่สุดสำหรับชาวชาดส่วนใหญ่นั้นสืบเนื่องเกี่ยวพันกับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษซึ่งยุติลงไปพร้อมๆ กับการที่รัฐบาลได้ออกประกาศนิรโทษกรรมให้กับอาชญากรทุกคน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “ความแค้น” ของคนที่สูญเสียญาติสนิทมิตรสหายในช่วงก่อนหน้านั้นจะเลือนหายไปด้วยพร้อมกับควันปืนแห่งสงคราม และ Daratt ก็เริ่มออกสตาร์ตตัวเองด้วยการสะท้อนให้เห็นถึงความแค้นที่ว่านี้...

“อาติม” (Atim ในภาษาอาหรับแปลว่า “เด็กกำพร้า”) เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งสูญเสียพ่อไปในช่วงสงครามกลางเมือง พ่อของเขาถูกฆ่าตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแม่ อาติมรับรู้เรื่องราวแห่งความสูญเสียนี้จากญาติที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวคือปู่ และแน่นอน เมื่อกฎหมายพึ่งพาไม่ได้ (เพราะมีการประกาศนิรโทษกรรมไปแล้ว) ทางเลือกสุดท้ายที่ผู้เฒ่าฝากความหวังไว้ก็คืออาติม

ความแค้นนี้ผลักดันให้เด็กหนุ่มวัย 16 ปีพกพาปืนเดินทางจากบ้านไปหลายไมล์ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้แค้นแทนพ่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในลำดับต่อมาก็คือ อาติมได้พบว่า “นาสซารา” อดีตมือสังหารบิดาของเขานั้น บัดนี้ เป็นเพียง “ชายแก่ๆ” คนหนึ่งซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมปังขายอยู่กับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อาติมเกิดความลังเล...

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าหนังยอดเยี่ยมมากๆ ในการผูกเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงภายในความคิดของตัวละครอย่างอาติม เพราะหลังจากที่เขาแกล้งทำทีเข้าไปทำงานรับจ้างทำขนมปังให้กับนาสซาราเพื่อให้ตัวเองได้ใกล้ชิดเหยื่อมากขึ้น แต่จากการได้เข้าไปอยู่ในระยะประชิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้อาติมได้มองเห็นชีวิตอีกหลายๆ ด้านของนาสซาราจนเขามิอาจตัดใจลั่นไกปืนลบล้างรอยแค้นให้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่มีโอกาสอยู่หลายครั้ง (และหนังก็ค่อยๆ เล่าให้เราเห็นว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น)

และถ้าไม่เป็นการคิดมากไปเอง ผมว่าการที่หนังไม่ใส่ดนตรีประกอบอะไรเลย และปล่อยให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างเงียบงัน (ด้วยบทพูดที่น้อยมาก) ก็อาจจะถือเป็นการสะท้อนในทางหนึ่งถึงความรู้สึกเคียดแค้นในใจของอาติมที่ถูกซ่อนไว้อย่างมิดชิด และมันไม่เคย “ส่งเสียง” ให้นาสซาราได้ยินเลย (สิ่งที่น่าขันแต่เจ็บปวดสุดๆ ก็คือว่า ขณะที่อาติมกำลังคิดแผนการชั่วร้ายอยู่ในใจ แต่อีกฝ่ายกลับไม่เคยแม้แต่จะระแคะระคายเลยว่า ตนเองกำลังถูกปองร้ายถึงขั้นเอาชีวิต มากกว่านั้นแล้ว นาสซารายังรู้สึกชื่นชอบในตัวอาติมถึงขั้นอยากได้เขามาเป็นลูกเลี้ยงเสียอีก)

ขณะเดียวกันนั้น จากจุดเริ่มต้นที่คนดูแทบทุกคนคงคาดหวังว่าจะได้เห็นการแก้แค้นอย่างสาแก่ใจของเด็กหนุ่มที่สูญเสียพ่อ แต่พอหนังเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่า คนดูทุกๆ คนก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจขึ้นมาแล้วเหมือนกันว่าสิ่งที่อาติมกำลังจะลงมือนั้นมันถูกต้องแน่แท้จริงหรือ? (นี่คือความเหนือชั้นของซาเลห์ ฮารูน ที่แยบยลในการดึงคนดูให้เข้าไปยืนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับอาติมที่ก็กำลังเกิดลังเลสงสัยกับภารกิจของตัวเองเช่นกัน)

ความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับคนดู ผมว่าก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างหนาแน่นในใจของอาติม มันเป็นการต่อสู้ขัดขืนกันระหว่าง “มโนธรรม” กับ “ความเคียดแค้น” และระหว่าง “ความเห็นอกเห็นใจ” กับ “ความมุ่งร้ายอย่างรุนแรง” ที่ยากจะคาดเดาได้ว่าฝ่ายไหนจะ “เข้มแข็ง” กว่ากัน
พูดอย่างรวบรัด Daratt อาจจะถูกตีความโยงใยไปถึงแง่มุมทางสังคมการเมืองอย่างไรก็ได้ แต่อีกประเด็นที่เด่นชัดที่สุด ผมว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งตั้งหน้าตั้งตาจะไปฆ่าคนอีกคน แต่เมื่อได้ไปสัมผัสกับตัวตนและชีวิตของ “เป้าหมาย” ในหลากหลายแง่มุมแล้ว ความตั้งใจเดิมก็เริ่มหันเหเปลี่ยนทิศทางจนกระทั่งเกิดการพลิกผันอย่างสุดขั้วในตอนจบ

ซาเลห์ ฮารูน ทำให้ผลงานชิ้นนี้ทรงพลังและงดงามตราตรึงด้วยการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงเนื้อในเบื้องลึกของหัวจิตหัวใจมนุษย์ที่แม้แต่ฆาตกรใจเหี้ยมก็ยังมีด้านที่อ่อนไหวและบอบบางซุกซ่อนอยู่...หัวจิตหัวใจของมนุษย์ที่ต่อให้หยาบกระด้างอย่างถึงที่สุด แต่อย่างน้อยๆ คงจะมีบ้างบางห้วงขณะที่สะทกสะท้อนและรู้สึกรู้สาในความอ่อนหวานงดงามของชีวิต และที่สำคัญ “ห้วงขณะ” แบบนี้ แม้จะเล็กน้อยและแสนสั้น แต่บางทีมันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงได้เช่นกัน ดังที่ Daratt บอกเล่าให้เราได้เห็น...

Daratt ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Dry Season ซึ่งหมายถึงฤดูกาลที่แห้งแล้งไร้ฝน แต่เอาเข้าจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ถึงกับ “เหือดแห้ง” ไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยที่สุด “มโนธรรม” ในใจของเด็กหนุ่มก็ยังคงมีชีวิตอยู่แม้ในฤดูที่แล้งร้อน (ภาพทะเลทรายร้อนระอุ มองเห็นพยับแดดระยิบระยับนั้น ดูชื่นเย็นลงไปถนัดใจ เมื่อเราได้สัมผัสกับมโนธรรมนั้น)

กล่าวสำหรับชนชาวชาด เราคงมิอาจคาดเดาหรือกระทั่ง “รู้สึก” ได้จริงถึงความปวดร้าวในอดีตของพวกเขาทั้งหมด แต่ในฐานะของคนที่มีสายเลือดชาดคนหนึ่งซึ่งผ่านพ้นความเจ็บปวดจากบาปกรรมรวมหมู่ที่ประเทศชาดก่อไว้เมื่อคราครั้งนั้น ซาเลห์ ฮารูน ก็ส่งผ่าน “ความในใจ” ของเขาไว้ในงานชิ้นนี้ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนระดับหนึ่งว่า ท่าทีที่เคยเคร่งเครียดเกลียดแค้นอย่างสุดขีดนั้น บัดนี้ มันเริ่มคลายตัวเบาบางลงไปบ้างแล้ว

ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นเรื่องของ “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ได้หรือเปล่า?

แต่เสียงปืนสองนัดสุดท้ายนั้น แม้จะดังกึกก้องไปทั่วท้องทะเลทราย แต่ถึงยังไง มันก็ยังดังน้อยกว่าอยู่หลายเท่า ถ้าเทียบกันกับเสียงแห่งอภัยทานในใจของอาติม...
กำลังโหลดความคิดเห็น