xs
xsm
sm
md
lg

แรงขับดันสู่การปฏิรูปหนสองของนายกฯมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: อะนีล เนตโต

(จาก เอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Abdullah’s second-chance reform drive
By Anil Netto
25/04/2008

ด้วยสภาพที่ยังคงทรมานใจกับความเพลี่ยงพล้ำจากการเลือกตั้ง อีกทั้งกำลังเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์อันดุเดือด นายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี แห่งมาเลเซีย ก็กำลังหาทางดึงเสียงสนับสนุนที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา ด้วยการดำเนินโครงการปฏิรูปต่างๆ จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านและ อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นของฝ่ายนี้ต่างหาก ที่กำลังอยู่ในฐานะถือไพ่เหนือกว่าในทางการเมือง ส่วนการรณรงค์มุ่งปฏิรูปครั้งใหม่ของอับดุลเลาะห์กำลังถูกตีตราว่า “น้อยเกินไปและสายเกินไป”

ปีนัง – นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี กำลังดำเนินการอย่างสุดฤทธิ์เพื่อประคับประคองอำนาจการนำของเขาให้อยู่รอดต่อไป เมื่อต้องประสบกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาย่ำแย่ และการท้าทายอย่างน่ากลัวต่อการครองอำนาจของเขา ทั้งที่มาจากภายในและภายนอกพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งเขาเป็นผู้นำอยู่

พวกฝ่ายค้านบุกโจมตีเข้ามาได้ลึกทีเดียวในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยได้ชัยชนะอย่างที่ไม่เคยทำได้ขนาดนี้มาก่อน ด้วยการครองอำนาจเป็นรัฐบาลส่วนท้องถิ่นใน 5 รัฐ, ได้ที่นั่งในรัฐสภา 82 ที่นั่งจากจำนวนทั้งสิ้น 222 ที่นั่ง และได้เสียงประชาชนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนถึงเกือบๆ ครึ่งหนึ่ง พวกผู้นำฝ่ายค้านเวลานี้อ้างว่า พวกเขาสามารถเกลี้ยกล่อมสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 30 คนจากฝ่ายรัฐบาลผสม (ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพรรคต่างๆ ใช้ชื่อว่า แนวร่วมแห่งชาติ “บาริซัน เนชั่นแนล หรือ บีเอ็น โดยมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ) ให้ข้ามมาอยู่กับฝ่ายตน เรื่องนี้ถ้าหากเป็นจริงก็จะทำให้ฝ่ายค้านมีเสียงเพียงพอที่จะช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐมาเลเซียได้

“ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าเถิด เราจะไปถึงตรงนั้น ถ้าไม่ใช่เดือนหน้า, เดือนถัดไป, แล้วถ้ายังไม่ใช่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ... ในวันเมอร์เดกา (วันเอกราช 31 สิงหาคม) หรือวันมาเลเซีย (16 กันยายน) ผมคิดว่าเราคงจะไม่ต้องเลยไปกว่านั้นหรอก” มีรายงานว่า อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำที่โดดเด่นยิ่งของฝ่ายค้านพูดเอาไว้เช่นนี้ โดยเขากำลังทำนายว่าฝ่ายค้านจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แน่นอนในปีนี้

ความเห็นเช่นนี้ของอันวาร์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองขึ้นมาในมาเลเซีย จุดประกายให้มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือด ตั้งแต่ประเด็นที่ว่าการแปรพักตร์เช่นนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเท่ากับการทรยศต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ออกเสียงหรือเปล่า, พันธมิตรฝ่ายค้านควรเดินหน้ากดดันต่อไปในขณะที่กำลังถือไพ่เหนือกว่าหรือไม่, และแน่นอนว่ามีการถกกันว่าการอวดอ้างอย่างห้าวหาญของอันวาร์คราวนี้เชื่อถือได้แค่ไหน

นอกจากนั้นมันยังเท่ากับเป็นการเพิ่มเดิมพันทางการเมืองของอับดุลเลาะห์ ผู้ซึ่งในเร็ววันนี้น่าจะมีคนในพรรคอัมโนลุกขึ้นมาท้าทายการดำรงตำแหน่งประธานพรรคของเขา อันที่จริงมีสมาชิกพรรคบางส่วนกำลังกดดันให้เขาระบุช่วง “ระยะผ่าน” ที่เขายังจะครองอำนาจต่อไปก่อนที่จะส่งมอบต่อให้รองหัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีกลาโหม นาจิบ ราซัค อย่างไรก็ตาม นาจิบเองก็กำลังย่ำแย่ด้วยปัญหายุ่งยากทางการเมืองของตัวเขาเอง และแทบไม่ได้แสดงท่าทีอะไรว่าเขาจะเดินหน้าการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างชนิดที่ชาวมาเลเซียจำนวนมากกำลังวาดหวังกันอยู่ในเวลานี้

เต็งกู ราซาเลห์ ฮัมซาห์ อดีตรัฐมนตรีคลังที่เมื่อปี 1987 เกือบๆ จะสามารถโค่น มหาเธร์ โมฮาหมัด ลงจากเก้าอี้ประธานพรรคอัมโนได้สำเร็จ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกจับตามองว่า น่าจะเสนอตัวลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคในการเลือกตั้งภายในพรรคเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ก็ได้เพิ่มแรงกดดันทางการเมืองของเขา ด้วยการกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางรายการ “ฮาร์ด ทอล์ก” ของโทรทัศน์ บีบีซี เวิลด์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่า “(อับดุลเลาะห์) ต้องไปตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการฟื้นฟูพรรคให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งคราวนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”

เมื่อเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว อับดุลเลาะห์จึงกำลังพยายามดึงเอาเสียงสนับสนุนที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา และเริ่มเดินหน้าการปฏิรูปบางอย่างที่เขาได้เคยให้สัญญาไว้ตั้งแต่ตอนแรกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่เคยหนุนส่งเขาและพันธมิตรรัฐบาลผสมในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2004 โดยการเลือกตั้งตอนนั้น ซึ่งจัดขึ้นในเวลาไม่นานหลังจากเขารับตำแหน่งประธานพรรคอัมโนและนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากมหาเธร์ ทางอับดุลเลาะห์สามารถนำพาแนวร่วมแห่งชาติบีเอ็นไปสู่ชัยชนะชนิดถล่มทลาย โดยกวาดที่นั่งในรัฐสภาไปถึง 91%

การปฏิรูปที่อับดุลเลาะห์เคยลั่นปากว่าจะทำเหล่านี้ มีบางอย่างบางประการ อาทิ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยความเด็ดขาดจริงจังนั้น เห็นกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการตอบสนองความเรียกร้องของประชาชน ซึ่งบางครั้งได้แสดงความต้องการเช่นนี้ด้วยการชุมนุมประท้วงตามท้องถนน ในระหว่างปีท้ายๆ อันวุ่นวาย แห่งช่วงการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจเป็นเวลายาวนานถึง 22 ปีของมหาเธร์

ทว่าความผิดหวังจากการที่มองเห็นกันว่าอับดุลเลาะห์มิได้ทำตามคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ บวกกับความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นมากของบรรดาชุมชนยากจน ตลอดจนความรับรู้ความเข้าใจที่ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการมิได้บรรเทาเบาบางลงไปเลย เหล่านี้คือสิ่งที่พวกผู้รู้บอกว่า เป็นเหตุผลสำคัญๆ ที่ทำให้แนวร่วมบีเอ็นทำได้ค่อนข้างย่ำแย่ในการเลือกตั้งเดือนที่แล้ว

**น้อยเกินไปและสายเกินไป**

หลังความเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้ง อับดุลเลาะห์ก็ได้ประกาศมาตรการและการปฏิรูปในแบบประชานิยมจำนวนหนึ่ง โดยเห็นชัดว่าเป็นความพยายามที่จะเรียกเสียงสนับสนุนของประชาชนหลายๆ กลุ่มกลับคืนมา

ตัวอย่างเช่น ตอนต้นเดือนนี้รัฐบาลของเขาได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่สภาทนายความของประเทศ แล้วก็ใช้งานดังกล่าวประกาศการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งฝ่ายตุลาการ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการแต่งตั้งตำแหน่งผู้พิพากษา

ระบบใหม่ที่ประกาศคราวนี้มีลักษณะของการปฏิรูปโดยเน้นในเรื่องมาตรการในการตรวจสอบและการถ่วงดุล ซึ่งแตกต่างจากการปฏิบัติในอดีตที่ประธานศาลสูงสุดจะเสนอแนะรายชื่อผู้สมควรเป็นผู้พิพากษาตำแหน่งต่างๆ ให้แก่นายกรัฐมนตรี จากนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วก็จะทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

เขาบอกด้วยว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินที่ถือเป็นการชดใช้ด้วยความการุณย์ แก่บรรดาผู้พิพากษาสูงสุดหรือครอบครัวของพวกเขารวม 6 ราย ซึ่งได้เคยถูกสั่งพักงานหรือสั่งปลดออกจากตำแหน่งในปี 1988 ตอนที่พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับมหาเธร์ ในความพยายามอันล้มเหลวที่จะรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการเอาไว้

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์บอกว่าความเคลื่อนไหวของอับดุลเลาะห์ในเรื่องผู้พิพากษาทั้ง 6 คน ยังคงไม่ใช่การออกมาขอโทษอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังคงไม่มีการจัดตั้งคณะสอบสวนอิสระขึ้นมาพิจารณาวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 1988 คราวนั้น ซึ่งผู้อยู่ในแวดวงนี้จำนวนมากชี้ว่า มันคือจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมโทรมในเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความยกย่องนับถืออย่างสูง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายๆ ฝ่ายที่ตั้งคำถามว่า คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งฝ่ายตุลาการชุดใหม่นี้ จะมีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน

ในด้านอื่นๆ นายกรัฐมนตรีผู้เผชิญศึกหนักผู้นี้ยังได้ประกาศว่า เขาจะปรับปรุงยกเครื่องสำนักงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (เอซีเอ) ในปัจจุบัน โดยจะเปลี่ยนไปเป็น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมาเลเซีย ซึ่งจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่เป็นอิสระของทางหน่วยงานปรับปรุงยกเครื่องใหม่แห่งนี้ โดยจะทำหน้าที่เสนอรายงานประจำปีต่อคณะกรรมาธิการชุดใหม่ในรัฐสภาซึ่งดูแลเรื่องการปราบปรามการทุจริตโดยตรง นอกจากนั้นยังจะมีมาตรการใหม่ๆ ในการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ออกมาแฉการทุจริตในหน่วยงานของพวกตน

แต่หน่วยงานนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้ถูกตั้งคำถามกันแล้วว่าจะมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพียงใด อับดุลเลาะห์บอกว่าในที่สุดแล้วเขายังจะเป็น “ผู้รับผิดชอบ” หน่วยงานปราบปรามการทุจริตแห่งใหม่นี้อยู่ดี อีกทั้งเขาจะ “ให้คำปรึกษา” แก่คณะกรรมการที่ปรึกษาในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานใหม่แห่งนี้ ตามที่สื่อรายงาน อับดุลเลาะห์บอกว่า “มันจะต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้รับชอบ ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันใดๆ ขึ้นมา”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีมหาดไทย ไซเอ็ด ฮามิด อัลบาร์ ได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่า อีกไม่นานจะพิจารณาข้อเสนอที่ให้ยกเลิกระเบียบของฝ่ายบริหาร ซึ่งกำหนดให้หนังสือพิมพ์ในมาเลเซียต้องยื่นขอต่อใบอนุญาตเป็นรายปี อันเป็นมาตรการที่ถูกนักวิจารณ์โจมตีว่าทำให้พวกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หันมาเซ็นเซอร์ตัวเอง

ในแนวทางปฏิบัติทำนองเดียวกันนี้เอง เมื่อต้นสัปดาห์นี้ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบจึงได้ตัดสินใจอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬที่ชื่อ มัคคัล โอซาย สามารถตีพิมพ์จำหน่ายได้ใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันเสาร์นี้เป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวเช่นนี้นับเป็นการกลับตาลปัตรการตัดสินใจก่อนหน้านั้นในเดือนนี้ ที่จะไม่ให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ออกใหม่อีก หลังจากถูกกล่าวหากระทำผิดละเมิดระเบียบปฏิบัติหลายประการ อีกทั้งมีการรายงานข่าวที่เป็นการคุกคามความสามัคคีกลมเกลียวทางเชื้อชาติ ทั้งนี้ จากการสำรวจหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับระหว่างการรณรงค์หาเสียงในเดือนที่แล้ว ซึ่งศึกษาโดยคณะทำงานอิสระติดตามตรวจสอบสื่อ ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีการรายงานข่าวของฝ่ายค้านมากที่สุด

นอกจากนั้น ตอนนี้รัฐบาลยังยินยอมที่จะออกใบอนุญาตตีพิมพ์จำหน่ายให้แก่หนังสือพิมพ์ ซัวรา เกออาดิลัน (เสียงแห่งความยุติธรรม) ของพรรคการเมือง เกออาดิลัน ของอันวาร์ ใบอนุญาตนี้จะทำให้ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสามารถขายหนังสือพิมพ์นี้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกพรรค ซึ่งธรรมดาแล้วพวกหนังสือพิมพ์ของพรรคฝ่ายค้านจะต้องถูกขีดวงให้เผยแพร่ได้เพียงเท่านั้น หนังสือพิมพ์รายปักษ์ฉบับนี้กำลังทำยอดขายเพิ่มได้อย่างฮวบฮาบ จาก 30,000 ฉบับก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนที่แล้ว กลายเป็นเกือบ 100,000 ฉบับในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม พวกที่เรียกร้องการปฏิรูปทั้งหลายยังต้องการให้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องต้องขอใบอนุญาตเช่นนี้ไปเลย รวมทั้งกฎหมายการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ด้วย ซึ่งล้วนแต่ให้อำนาจมากเกินไปแก่รัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับใบอนุญาต โดยเมื่อรัฐมนตรีตัดสินใจอย่างใดแล้วก็ถือว่าเด็ดขาดและไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ต่อฝ่ายตุลาการให้ทบทวนแก้ไขได้ นอกจากนั้น พวกเขายังชี้ไปยังพวกกฎหมายที่มุ่งเน้นการลงโทษ อาทิ กฎหมายหมิ่นประมาท, กฎหมายความลับทางราชการ, กฎหมายความมั่นคงภายใน, กฎหมายการปลุกปั่นยุยงให้ขัดขืนอำนาจปกครอง, รวมทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอื่นๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาล้วนแต่โอนเอนไปในทางต่อต้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ซุลกิฟลี เอส เอ็ม อันวาร์ อุลฮาคัว บรรณาธิการของ ซัวรา เกออาดิลัน และก็เป็นนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักนิยมกันอย่างกว้างขวางในนาม ซูนาร์ ได้แสดงความเห็นขานรับเสียงเรียกร้องเหล่านี้ “แทนที่จะบอกขอบคุณนายกรัฐมนตรี คำขอบคุณของผมจะมุ่งไปยังบรรดาผู้อ่านของเรา, ร้านค้าและโรงพิมพ์ ผู้ซึ่งเคยถูกข่มขู่คุกคามมาในอดีต” เขาบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “เราถูกปฏิเสธไม่ยอมออกใบอนุญาตให้อยู่ 3 ปี ดังนั้นคำประกาศของเขาจึงสายเกินไป ... การปฏิรูปเหล่านี้เป็นแค่การปฏิรูปครึ่งๆ กลางๆ มันสายเกินไปและก็น้อยเกินไปด้วย”

ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่าผู้ออกเสียงชาวมาเลเซียเห็นพ้องกับความคิดเห็นเช่นนี้หรือไม่

อะนีล เนตโต เป็นนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองปีนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น