3 เมษายน 1882 โรเบิร์ต ฟอร์ด เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ยิง เจสซี เจมส์ เสียชีวิต
ณ เวลานั้น เจสซี เจมส์ถือว่าเป็น ‘บุรุษนอกกฎหมาย’ ที่โด่งดังที่สุดในยุค เขากับพวกก่อคดีทั้งปล้นและฆ่ามานับไม่ถ้วน มีถ้อยคำร่ำลือเรื่องราวของเจสซี เจมส์ อยู่มากมาย ทั้งเรื่องที่พอจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง และเรื่องที่เป็นการพูดเองเออเองตามจินตนาการของผู้เล่าล้วนๆ
ความเห็นของชาวอเมริกันที่มีต่อเจสซี เจมส์ นั้นแตกต่างกันไป บ้างเห็นว่าเขาเปรียบได้กับ ‘โรบินฮู้ด’ นักบุญของคนยาก บ้างคิดว่าเขาคือปีศาจเลือดเย็น ฆ่าคนได้โดยไม่ต้องกะพริบตา หากินบนความเดือดร้อนของคนอื่น ขณะที่อีกไม่น้อยมองเจสซี เจมส์ ไม่ต่างจาก ‘วีรบุรุษ’ เขาเจ๋ง เขาเท่ รักการผจญภัย ทั้งยังกล้าที่จะท้าทายกฎหมาย
แต่ไม่ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับเป็นเสียงเดียวกันก็คือ เจสซี เจมส์เป็นบุรุษที่ยิ่งใหญ่และได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น
ทันทีที่โรเบิร์ต ฟอร์ด ประกาศตัวว่าเขาปลิดชีพเจสซี เจมส์ ลงแล้ว เขาจึงกลายเป็นเป้าสนใจของชาวอเมริกันทั้งประเทศในชั่วพริบตา
ชื่อเสียงหลั่งไหลมาสู่เขา เงินทองเดินทางมาหาเขา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ชื่อโรเบิร์ต ฟอร์ด กลายเป็นชื่อที่ติดปากผู้คน มากกว่าชื่อของท่านประธานาธิบดีเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงและสถานภาพวีรบุรุษ ก็ไม่อยู่กับโรเบิร์ต ฟอร์ด เนิ่นนาน ไม่นานหลังจากนั้น ทันทีที่รายละเอียดเรื่องวันสังหารได้รับการเผยแพร่ออกไป –ไม่ว่าจะเป็นการที่เขายิงเจสซี เจมส์ ขณะที่อีกฝ่ายไม่มีอาวุธติดกาย ทั้งยังเป็นการยิงจากด้านหลัง, เรื่องที่เขาทรยศหักหลังวางแผนขายเพื่อนร่วมแก๊ง, สถานที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านพักของเจมส์ ขณะที่ลูก-เมียเขายังอยู่ในบ้าน อีกทั้งตัวฟอร์ดเองก็เพิ่งอาศัยที่ซุกหัวนอนและข้าวแดงแกงร้อนของบ้านหลังนี้ประทังชีวิตมาหมาดๆ รวมทั้งสาเหตุที่เขาตัดสินใจสังหารเจมส์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะความโลภ ต้องการเงินค่าหัวที่ทางการตั้งให้เท่านั้น
ทั้งหมดนั้นทำให้ทุกคนหันมามองโรเบิร์ต ฟอร์ด ด้วยสายตาใหม่ เป็นสายตาที่แฝงแววหมิ่นแคลน เยาะหยัน และเหยียดหยาม ไม่มีใครเห็นว่านี่คือการกระทำที่กล้าหาญอีกต่อไป แต่ทุกคนตั้งฉายาให้เขาใหม่ เป็น ‘ไอ้ขี้ขลาดโสโครก’ และพากันเรียกเขาเช่นนั้น จากรุ่นสู่รุ่น เรื่อยมาจนทุกวันนี้
The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ผลงานกำกับของ แอนดรูว์ มินิก มีเหตุการณ์วันสังหารเจสซี เจมส์ เป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมด
หนังเปิดเรื่องที่การพบครั้งแรกของโรเบิร์ต ฟอร์ด กับเจสซี เจมส์ - พาผู้ชมไปทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ – นำไปสู่วันสังหาร – แล้วปิดท้ายด้วยการเล่าถึงชีวิตของฟอร์ด ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้น
คำถามสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ว่า โรเบิร์ต ฟอร์ดสังหารเจสซี เจมส์ ‘อย่างไร?’ แต่อยู่ที่ ‘เหตุใด’ เขาจึงทำเช่นนั้น?
เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันก็คือ โรเบิร์ต ฟอร์ดนั้น คลั่งไคล้และเทิดทูนบูชาเจสซี เจมส์ อย่างยิ่ง เขาเสพติดตำนานวีรบุรุษจอมโจรผู้นี้มาตั้งแต่เด็ก เขารู้เรื่องของเจสซี เจมส์ มากกว่าที่ใครๆ รู้ เขาฝันจะได้พบฮีโร่ในดวงใจผู้นี้อย่างน้อยก็สักครั้ง ฝันจะได้เข้าแก๊ง ฝันจะได้รับโอกาสให้ร่วมผจญภัยเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจมส์ ฝันว่าสักวันจะใครๆ จะพากันพูดถึงเขา เหมือนอย่างที่พูดถึงเจมส์ บ้าง
แล้ววันหนึ่ง ความฝันแรกของโรเบิร์ต ฟอร์ด ก็กลายเป็นจริง เมื่อ ชาร์ลส์ ฟอร์ด พี่ชายของเขา ได้รับเลือกให้ร่วมปล้นขบวนรถไฟที่บลูแคต ฟอร์ดติดสอยห้อยตามพี่ชายไปด้วย เขาได้เห็นเจมส์ในระยะประชิด ได้ฟังเสียงเจมส์ชัดๆ กับหู ได้สำรวจอากัปกิริยาต่างๆ ของเจมส์ด้วยตาตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความสุขที่สมหวัง ก็มลายหายวับในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อฟอร์ดพบว่า เจมส์ไม่ได้ใยดีอะไรเขานัก ทั้งยังไม่ได้ให้ค่าต่อความภักดีของเขา เขาเป็นที่จดจำเพียงฐานะ ‘น้องชายชาร์ลี’ มีตำแหน่งเป็นแค่ไอ้กระจอกสักคนในแก๊ง ไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจให้ร่วมปล้น และที่ร้ายที่สุดก็คือ ความหลงใหลคลั่งไคล้ที่เขามีต่อเจมส์ กลับทำให้เขากลายเป็นตัวตลกสำหรับทุกคน
มากกว่านั้น คือ การได้ใกล้ชิดกับเจสซี เจมส์ ทำให้ภาพของวีรบุรุษจอมโจรที่ฟอร์ดเคยเห็นมลังเมลืองในความฝัน เริ่มจะหม่นมัวขะมุกขะมอมลงตามลำดับ
เขาพบว่า แท้จริงแล้ว เจมส์ก็เป็นแค่มนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ไม่ใช่เทพบุตร ไม่ใช่ฮีโร่ ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่น่าหลงใหลมากมาย แต่เป็นคนธรรมดาๆ ซึ่งมีด้านมืด มีฝันร้าย มีข้อบกพร่อง วีรกรรมยิ่งใหญ่หลายต่อหลายเรื่องที่คนพูดถึงเขา ที่จริงก็แค่นิทานเล่าเอามันที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง นอกจากนั้น เจสซี เจมส์ในวันนี้ ยังฉายแววโรยราและสับสนอย่างเห็นได้ชัด เขาเหนื่อยกับการปล้น แต่ก็หวาดระแวงเกินกว่าจะวางมือ และไม่รู้ว่าจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ตรงไหน
น่าสนใจที่มีผู้วิเคราะห์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจสซี เจมส์ กับโรเบิร์ต ฟอร์ด นั้น มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องของ พระเยซู และ ยูดาส อิสคาริโอท หนึ่งในสาวกคนสนิท อยู่ไม่น้อย (บางคนไปไกลกว่านั้นโดยชี้ว่า เรื่องของเจสซี เจมส์ มีกรอบเนื้อหาเดียวกับเรื่องของพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิล แต่ขณะที่พระเยซูออกเดินทางเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ เจสซี เจมส์กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม)
เดิมทีเดียว ยูดาสคือผู้ที่จงรักภักดีและเทิดทูนพระเยซูอย่างยิ่ง แต่แล้ววันหนึ่ง เขากลับพลิกผันสถานภาพตัวเองกลายเป็น ‘ผู้ทรยศ’ ยูดาสชี้ตัวพระเยซูให้ทหารโรมันจับ เป็นเหตุให้พระองค์ถูกตรึงกางเขน และสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด
มีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของการทรยศครั้งนี้อยู่หลายกระแส ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เป็นเพราะยูดาสเกิดความโลภ ปรารถนาจะได้เงินสินบนจำนวน 30 เหรียญทองที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาล่อ
อย่างไรก็ตาม บางคนก็สันนิษฐานไว้ซับซ้อนกว่านั้น โดยบอกว่า เป็นได้ที่ยูดาสอาจรู้สึก ‘ริษยา’ ที่เห็นพระเยซูเป็นศูนย์กลางความรักของผู้คน หรือมิฉะนั้น สาเหตุก็อาจเกิดจากเขารู้สึก ‘ผิดหวัง’ ในตัวพระเยซู ทั้งในข้อที่ว่า เขา –และเหล่าสาวก- หวังไว้ว่า พระเยซูคือผู้ไถ่บาปที่จะนำพาพวกเขาไปสู่อาณาจักรใหม่ แต่แล้วจู่ๆ พระองค์กลับพูดถึงความตายของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการทำลายความหวังนั้นลงอย่างราบคาบ รวมถึงการติดสอยห้อยตามพระเยซูเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ยูดาสเห็นบางด้านบางมุมของพระองค์ ที่แตกต่างบิดพลิ้วไปจากภาพเลิศลอยมหัศจรรย์ที่เขาเคยเทิดทูนบูชามาโดยตลอด
อีกสมมติฐานหนึ่งที่แม้จะแหวกแนวอยู่สักหน่อย ทว่าก็ได้รับการพูดถึงแพร่หลายไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ แท้จริงแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องซึ่งพระเยซูและยูดาสตกลงกันไว้ก่อนแล้ว กล่าวคือ พระเยซูตระหนักดีว่า การที่ตนจะทำหน้าที่ไถ่บาปให้มวลมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘สละกายเนื้อ’ เสียก่อน ดังนั้น จึงมอบหมายยูดาสให้ทำหน้าที่ชี้ตัวพระองค์ให้ทหารโรมันจับตัว ซึ่งนั่นหมายความว่า ยูดาสก็ไม่อาจนับว่าเป็นผู้ทรยศ ทว่าเขาคือ ‘ผู้เสียสละ’ ที่ยอมให้ใครๆ ประณาม และแบกรับความรู้สึกผิดเอาไว้กับตัวแต่เพียงผู้เดียว
จะเป็นความโลภในลาภยศ ความริษยา ความผิดหวัง หรือเป็นเรื่องที่รู้กัน แต่จำต้องทำเพื่อ ‘ปลดปล่อย’ อีกฝ่ายให้เป็นอิสระ... ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้อธิบายมูลเหตุจูงใจที่ทำให้โรเบิร์ต ฟอร์ด ลงมือสังหารเจสซี เจมส์ ได้ทั้งสิ้น
ข้อดีของหนังคือ การเปิดช่องให้ผู้ชมวิเคราะห์ตีความได้เต็มที่ โดยทำหน้าที่เพียงหยิบยื่นความเป็นไปได้ 3-4 ข้อให้ผู้ชม แต่ไม่พยายามจะด่วนสรุปฟันธงหรือชี้นำโน้มน้าวว่าข้อใดถูกต้องที่สุด
แอนดรูว์ โดมินิก ผู้กำกับ ใช้เวลากับการปูพื้นให้ผู้ชมเข้าใจตัวละครสำคัญทั้งสองของเรื่อง –คือ โรเบิร์ต ฟอร์ด และเจสซี เจมส์- พอสมควร เรื่องราวของแต่ละคน และความรู้สึกนึกคิดที่ทั้งคู่มีต่อกัน ได้รับการบอกกล่าวด้วยลีลาที่นิ่ง เรียบ ปราศจากความเร่งร้อน
จังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องเช่นนี้ เมื่อบวกรวมกับงานด้านภาพที่สวยชนิดชวนตะลึง และเสียงบรรยายโดยบุคคลที่สาม ซึ่งทำหน้าที่บรรยายเหตุการณ์และอธิบายความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละคร แบบคนที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างกระจ่างแจ้ง ทั้งเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกทั้งยังเลือกสรรถ้อยคำได้อย่างสละสลวย รวมถึงการทำให้ภาพของเจสซี เจมส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเรื่อง มีลักษณะคล้ายกับจะเป็นตัวละครในเรื่องเล่าหรือตำนาน - ก็ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกราวกับกำลังฟัง ‘นิทานปรัมปรา’ ชั้นดีสักเรื่อง
หรือหากใครจะเปรียบเปรยให้ยิ่งใหญ่กว่านั้นว่า มันคือ ‘บทกวี’ ก็ไม่ถือว่าเกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
พ้นจากนี้แล้ว นักแสดงทุกคนในทุกบทบาทยังล้วนแล้วแต่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น แบรด พิตต์ (เจสซี เจมส์), แซม ร็อกเวล (ชาร์ลส์ ฟอร์ด), แซม เชพเพิร์ด (แฟรงก์ เจมส์ - พี่ชายที่ร่วมหัวจมท้ายกับเจสซี เจมส์ มาตั้งแต่ต้น) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่โดดเด่นกว่าใครทุกคน ก็คือ เคซี แอฟเฟลก ในบทโรเบิร์ต ฟอร์ด การแสดงของแอฟเฟลกนั้นยอดเยี่ยมตั้งแต่ฉากแรกจนฉากสุดท้าย สีหน้า แววตา น้ำเสียง และท่าทางการแสดงออกของเขา ทำให้ ‘บ๊อบ ฟอร์ด’ เป็นตัวละครที่ทั้งน่าเห็นใจ น่าสงสาร ถึงขั้นน่าสมเพชเวทนาในหลายๆ ครั้ง และไม่ว่าการกระทำของเขาจะถูกประณามว่าต่ำช้าน่ารังเกียจเพียงใด ทว่าถึงที่สุดแล้ว นี่คือตัวละครที่น่าจดจำ และทำให้ผู้ชมสะเทือนใจได้มากมายมหาศาล
เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ทั้งแอฟเฟลก และตัวหนังเอง ได้รับการเหลียวแลจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ครั้งที่ผ่านมา น้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก
กระนั้นก็ตาม หากเรายังเชื่อกันว่า หนังจะดี ดีได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีรางวัลมารับประกันให้รุงรัง
The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ก็เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาอย่างไม่ต้องสงสัย