xs
xsm
sm
md
lg

Prince Caspian: เคารพตามหนังสือ แต่ไม่เสียความนับถือตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


By...Feel Lost/So Free

การล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของ The Golden Compass หนังแฟนตาซีที่เสียทั้งแฟนหนังและแฟนหนังสือไปพร้อมๆ กัน เป็นตัวอย่างที่ดีว่าไม่ใช่หนังที่สร้างจากหนังสือที่ประสบความสำเร็จจะเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทางรายได้เสมอไป หลังจากที่โลกแห่งจินตนาการของหนังสือได้โลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การมาถึงของ "เข็มทิศทองคำ" อาจจะเป็นการบอกทิศทางว่ายุคทองของเหล่าอัศวินและสัตว์พูดได้กำลังเข้าสู่ช่วงอัสดงเต็มทีแล้ว

เมื่อเรามองไปที่ตารางรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศของ The Chronicles of Narnia: Prince Caspian คงพอจะเห็นภาพได้อย่างดี หลังจากภาคที่แล้ว The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe ทำรายได้รอบโลกไว้อย่างสวยงามเกินคาดกว่า 744 ล้านเหรียญ ทำรายได้แทบจะไม่ต่างจาก The Lord of the Rings หรือ Harry Potter ที่สร้างกระแสไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่ตัวหนังได้รับความนิยมชมชอบจากแฟนหนังมากกว่าแฟนหนังสือ แต่พอมาถึงภาคนี้ที่ทิ้งห่างไปถึง 3 ปี รายได้เปิดตัวที่ไม่อลังการเหมือนแต่ก่อนไม่ยากที่จะทำให้คอหนังที่ยังไม่ได้ชมตัดสินไปแล้วว่าผลงานเรื่องนี้คงไม่ต่างจากงานดัดแปลงแฟนตาซีอันจืดชืด ไร้จินตนาการ ขาดความเป็นตัวของตัวเองเหมือนหลายๆ เรื่องที่ทำออกมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ (The Golden Compass, Eragon, The Seeker: The Dark Is Rising, Harry Potter and the Order of Phoenix ฯลฯ)

หากแต่คงจะพูดได้ยากว่า "เจ้าชายแคสเปี้ยน" มีความน่าสนใจน้อยขนาดนั้น เพราะเทียบกันแล้วการผจญภัยครั้งใหม่นี้สนุกสนานกว่าการเข้าสู่ "เมืองในตู้เสื้อผ้า" ครั้งก่อนมากมายนัก

The Chronicles of Narnia: Prince Caspian อภินิหารตำนานแห่งนาร์เนีย: เจ้าชายแคสเปี้ยน ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมสุดคลาสสิกของ ซี.เอส. ลูอิส นักเขียนอังกฤษ อดีตสหายเก่าของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เจ้าของตำนานแหวนวงนั้น ซึ่งเล่าเรื่องราวของ ปีเตอร์ ซูซาน เอ็ดมันด์ และลูซี่ 4 พี่น้องที่ได้กลับไปยังดินแดนนาร์เนียอีกครั้งตามความต้องการของ แคสเปี้ยน เจ้าชายหนุ่มซึ่งตอนนี้ชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย เวลาในนาร์เนียใด้ล่วงเลยผ่านไปมากกว่า 1 พันปี ยุคทองของนาร์เนียก็ได้สูญสลาย ณ เวลานี้นาร์เนียถูกปกครองโดย ราชามีราซ ผู้ไร้ความปราณีและมีแผนที่จะกำจัดเจ้าชายแคสเปี้ยนเพื่อให้ลูกชายได้ครองบัลลังก์ ปีเตอร์และแคสเปี้ยนจึงต้องร่วมกันกอบกู้นาร์เนียให้พ้นจากอำนาจทรราชครองเมือง

จะว่าไปแล้ว ความเข้มข้นในเนื้อหาต้นฉบับของ Prince Caspian เมื่อเทียบกับ 4 เล่มหลัก (หรือแม้แต่ 7 เล่ม) อาจจะดูน่าตื่นเต้นและเข้มข้นน้อยที่สุดของซีรีส์ทั้งหมด แต่ข้อดีของมันก็คือมันยังเหลือช่องว่างมากมายให้ แอนดรูว์ อดัมสัน ที่กลับมารับหน้าที่ผู้กำกับและร่วมเขียนบทในภาคนี้ ที่ยังคงสไตล์เก็บรายละเอียดทุกอย่างจากหนังสือเป็นหลัก ได้พัฒนาการเล่าเรื่องจากภาคก่อนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ที่ไม่ได้เดินตามรอยหนังสือมากเกินจนขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ผลงานที่ออกมาดูแล้วไม่อึดอัด และมีเสน่ห์กว่าภาคก่อนอย่างมาก

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือตัวนักแสดงนำเด็กๆ ทั้ง 4 คนที่คราวนี้ทั้งวัยวุฒิและบทบาทหน้าที่ในการเล่าเรื่องพัฒนากันไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะที่การบรรยายในหนังสือพี่น้องพีเวนซีส์โตขึ้นจากเล่มก่อนเพียงปีเดียว แต่การที่ฉบับหนังภาคนี้ทิ้งห่างภาคก่อนถึง 3 ปี หลายคนในที่นี่จึงดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งสอดคล้องกับการที่ทั้ง 4 เคยทำหน้าที่เป็นจอมราชาและราชินีปกครองดินแดนนาร์เนียกันมาอยู่หลายสิบปีก่อนที่จะกลับมาอยู่ในร่างของเด็กอีกครั้ง ในฉบับหนังจึงเป็นเหตุเป็นผลดีที่เราไม่ได้เห็นลูซี่ "เดินรั้งท้ายและร้องไห้อย่างขมขื่น" จากความผิดหวังส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไป

ขณะที่ผู้มาใหม่ของภาคนี้อาจจะสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกับสาวกของหนังสือ เมื่อเจ้าชายน้อยแคสเปี้ยนอายุ 13 ปี กลายเป็นพ่อหนุ่มสุดหล่อ เบน บาร์นส์ วัยเบญจเพส(ระหว่างถ่ายทำ)ไปซะแล้ว แต่ด้วยคางบุ๋มและคุณภาพของหน้าตา วัยที่เพิ่มมาทำให้เรื่องราวการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์ในเรื่องที่มีหนูและคนแคระเป็นพันธมิตรดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น และพร้อมสำหรับการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่กว่าในภาคต่อไป

การที่เรื่องราวซักเรื่องจะมีความน่าสนใจแค่ไหน บางครั้งคุณสมบัติของตัวเอก (protagonist) อาจจะไม่มีความสำคัญเท่าคุณภาพของตัวร้าย (antagonist) ในเรื่องนั้นๆ ยิ่งการต่อสู้ที่เกิดกับตัวโกงที่ร้ายกาจและแยบยลเท่าไหร่ ชัยชนะที่ได้มายิ่งจะมีความหมายต่อผู้ติดตามมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในนาร์เนียภาคล่าสุดนี้แสดงให้เห็นได้ชัดจากตัวละครฝ่ายอธรรมชาวเทลมารีนส์ในเรื่องนี้ หลังจากพวกเขาได้ถูกบรรยาย ณ ที่นี้ให้เป็น "ชาวอิตาเลียนในบ้านเรือนและชุดเกราะแบบสแปนิช" ซึ่งทั้งหมดเมื่อรวมกับไดอาล็อกอันแข็งขันได้ยกระดับความเข้มข้นของสงครามครั้งนี้ไปอีกระดับหนึ่งทีเดียว

และตัวละครที่ขาดไม่ได้ที่จะพูดถึงคือเหล่าชนเผ่านาร์เนียทั้งหลายที่เป็นเหตุผลที่หนังเรื่องนี้แตกต่างจากตำนานเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะที่กลายเป็นขวัญใจของหนูๆ ไปแล้วอย่าง รีพีชิ้พ เจ้าหนูอัศวินที่ทำให้นึกไปถึงสจ๊วร์ต ลิตเติ้ลบวกกับพุช อิน บูช เจ้าแมวจอมกวนจาก เชล็ก ผลงานสร้างชื่อของ แอนดรูว์ อดัมสัน ก็ไม่ปาน ขณะที่อารมณ์ขันที่หยอดมาตลอดที่ทำให้เหล่าสัตว์พูดได้ดูไม่แปลกแยกจากบรรดาตัวละครที่เป็นคนจริงๆ ความสง่างามของเหล่าเซนทอร์ก็เพิ่มความน่าเกรงขามให้กับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี

อีกคนที่กลับมาอย่างเซอร์ไพรส์ได้แก่ดาราสมทบหญิงออสการ์คนล่าสุดอย่าง ทิลดา สวินตัน ที่ทำให้การปรากฏตัวเพียงไม่กี่นาทีของแม่มดขาวให้อะไรกับผู้ชมได้มากกว่าการดูกราฟฟิกที่ไร้วิญญาณ(หรือแย่กว่าด้วยการให้ตัวประกอบแสดงแทน) และช่วยให้สถานะของเธอในโลกของตัวละครจากวรรณกรรมไม่ต่างจาก เคท แบลนเช็ต ทำเอาไว้กับ กาลาเดรียล

ในฐานะวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นแม่แบบของวงการมากว่าครึ่งศตวรรษ แง่คิดที่เป็นวรรคทองของสาวน้อยลูซีที่เกิดจากประสบการณ์ที่เธอได้เรียนรู้จากดินแดนที่สัตว์ไม่ได้แปลกแยกจากผู้คน แต่เจรจาได้ดังมนุษย์จริงๆ สะท้อนแนวคิดของตัวผู้เขียนที่มีต่อความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ของเราๆ นี้เอง ที่ยังคงย้ำเตือนถึงคำกล่าวของโทลคีนผู้เป็นสหายกับลูอิสว่าบางครั้งเรื่องราวที่นำเสนอในเชิงเทพนิยายก็แสดงความจริงอันเกิดขึ้นในสังคมได้คมชัดยิ่งกว่า

"...มันน่าเสียวไส้แค่ไหน ถ้าหากซักวันหนึ่งในโลกของเราเองน่ะ มนุษย์เกิดมีจิตใจป่าเถื่อนเหมือนสัตว์ที่นี่ แต่โดยร่างกายภายนอกแล้วก็ยังคงมีความเป็นมนุษย์ กระทั่งดูเผินๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าใครเป็นใคร..."

แม้สารเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำมาถ่ายทอดอย่างชัดเจนในฉบับของอดัมสัน แต่ในเรื่องราวที่ผ่านมุมมองของเขาเองได้เจาะลึกไปถึงการเผชิญหน้าของ 2 กษัตริย์รุ่นเยาว์อย่างปีเตอร์และแคสเปี้ยน ในช่วงที่ชาวนาร์เนียนต้องการผู้นำอย่างแท้จริงเพื่อต่อสู้กับอริที่แข็งแกร่งกว่าทั้งกำลังและประสบการณ์ ความตึงเครียดบนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ปูพรมมาตั้งแต่เจอหน้ากันมาปะทุเอาในฉากโต้แย้งอันเผ็ดร้อน เหมือนกับสิ่งที่อดัมสันต้องการจะบอกกับแฟนหนังรุ่นเยาว์ส่วนใหญ่ของนาร์เนียว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะต้องเผชิญหน้า เพียงเพื่อจะมาประนีประนอมกันภายหลังเพื่อเป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่า

แต่หัวใจสำคัญที่สุดที่ทั้งตัวหนังสือและหนังมีร่วมกัน คือการเป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงคุณสมบัติผู้นำที่ดีที่ไม่หนีปัญหาเป็นทางออก ขณะที่เด็กทั้ง 4 เข้ามาสู่ดินแดนนาร์เนียผ่านทางตู้เสื้อผ้าเมื่อปีก่อนนั้น พวกเขามีทางเลือกมากกว่านี้ที่จะหันหลังกลับ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางเดิมๆ ของมัน แต่การกลับมาครั้งนี้ที่ต้องเผชิญกับอันตรายที่มากกว่า พวกเขามาพร้อมกับหน้าที่เพื่อปกป้องดินแดนที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยสร้างความรุ่งโรจน์เอาไว้ โดยไม่เอาความเป็นเด็กจากอีกโลกหนึ่งมาเป็นข้ออ้างในการหันหลังให้กับภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กๆ ทั้ง 4 ที่จะทำให้ลุลวง นอกจากศรัทธาที่มีในหัวใจของพวกเขา (อัสลาน)

แม้ว่าการกลับมาครั้งนี้ของนาร์เนียจะได้รับการตอบรับที่ไม่อบอุ่นนักทั้งจากแฟนหนังและนักวิจารณ์ทั่วไป แต่สำหรับแฟนนาร์เนียแล้ว ความทุ่มเทของผู้สร้างที่เห็นได้จากการเล่าเรื่อง, การแสดง, ฉากการต่อสู้ และสปเชียล เอฟเฟค ได้สร้างความอุ่นใจว่าอย่างน้อย The Voyage of the Dawn Treader ที่จะเปิดกล้องกันปลายปีนี้จะเป็นอีกโปรแกรมที่คุ้มค่าแก่การรอคอยอย่างแน่นอน

เสียงเพลง The Call ของ เรจินา สเป็คเตอร์ ที่ดูเหมือนว่าจะมาก่อนเวลาอันควรในช่วงท้ายเรื่อง ไม่ต่างจากการกระชากผู้ชมให้กระเด็นออกมาจากโลกแห่งจินตนาการอย่างรวดเร็วไปซักหน่อย แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกได้เหมือนทุกครั้งถึงการอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากดินแดนนาร์เนียเมื่อถึงกระดาษแผ่นสุดท้ายของเล่ม ที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนักกับการลุกจากเก้าอี้จากฉบับภาพยนตร์ของเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น