xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตชาวนาไทย

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ปีนี้ ผมได้หนังไทยมาแผ่นหนึ่ง คือเรื่อง “ด้วยเกล้า” ที่เขียนบทและกำกับโดย คุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล หนังเรื่องนี้ผมอยากดูมานานแล้วตั้งแต่แรกฉายเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่จำได้ว่า ตอนนั้นหนังเข้าในเวลาที่สั้นมาก ฉายอยู่ไม่นานก็ออกจากโรงไป

ผมจึงพลาดไม่ได้ดูด้วยความรู้สึกเสียดาย และก็รอว่าเมื่อไหร่จะได้ดู ฉะนั้น พอได้เป็นหนังแผ่นมาจึงอาศัยวันหยุดยาวนี้นั่งดู และพอดูจบก็เกิดคิดถึงชาวนาไทยขึ้นมา

แต่ก่อนที่จะพูดถึงชาวนาไทยในหนังเรื่องนี้กับชาวนาไทยในยุคข้าวกำลังมีราคาแพงนั้น ผมมีข้อสังเกตอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมา

คือสงสัยว่า หนังเรื่องนี้ในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันที่มีต่อการเกษตรของไทยแทบจะตลอดเรื่องก็ว่าได้ แต่ทำไมที่เมื่อได้ฉายเมื่อกว่า 20 ปีก่อนหนังจึงไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ พูดอีกอย่างคือมีคนดูน้อย

และพอกลับมาฉายอีกครั้งในช่วงสั้นๆ เมื่อปีที่แล้วเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของในหลวง หนังก็ยืนโรงได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่เราก็เห็นอยู่ว่าพสกนิกรมีความยินดีต่อวโรกาสนี้กันทั้งประเทศ

ผมพยายามหาคำตอบให้กับความสงสัยของตัวเอง แล้วมีความเห็น (ส่วนตัว) ว่า หนังเรื่องนี้ออกจะดูยากกว่าหนังทั่วไป คือเป็นหนังที่มีนัยอยู่ 2 ชั้น

ชั้นแรก หนังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวนาที่อยู่ทางภาคเหนือของไทยกับเศรษฐินีเงินกู้คนหนึ่งที่ใจไม้ไส้ระกำ ในชั้นนี้หนังทำให้ดูเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร คือทำให้เห็นว่า ฝ่ายชาวนานั้นซื่อสัตย์และจริงใจ แต่ยากจนข้นแค้น และต่างก็เป็นลูกหนี้ของเศรษฐินีแทบทั้งนั้น ส่วนเศรษฐินีเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ ไม่มีความเมตตาปรานีใดๆ ทั้งสิ้น

ชั้นต่อมา หนังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชาวนากับโครงการพระราชดำริต่างๆ ของในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ ในชั้นนี้แหละที่ผมเห็นว่าหนังดูยาก เพราะด้วยข้อจำกัดทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย หนังจึงไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์ที่ว่าออกมาให้เห็นได้อย่างตรงๆ

ทุกอย่างหากไม่สะท้อนออกมาเป็นนามธรรม เช่น การแสดงความจงรักภักดีเป็นคำพูดที่ยังไงเสียก็ยังเป็นคำพูด ส่วนที่เป็นรูปธรรมนั้นก็ยังออกมาเป็นเชิงสัญลักษณ์เสียอีก เช่น การที่หัวหน้าครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่งเฝ้าเพียรพยายามเพาะพันธุ์เมล็ดข้าวหลวงที่ได้จากพิธีแรกนาขวัญไว้ในที่นาของตนเอง จนเวลาผ่านไปกว่าสิบปี ก็ใช้เมล็ดพันธุ์นี้ที่ขยายจนเต็มหลายกระบุงมาปลูกในที่นาของตน เป็นต้น

นอกจากความสัมพันธ์ที่ว่าแล้ว สิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ บทสนทนาของตัวละคร ที่หนังจะต้องระมัดระวังพอสมควร เพื่อไม่ให้การแสดงความจงรักภักดีใดๆ ของชาวนาเหล่านี้ต้องไปกระทบกับความสัมพันธ์ในชั้นแรก พูดง่ายๆ คือ โครงการหลวงจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาสักปานใดก็ตาม ประโยชน์นั้นจะต้องไม่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับเศรษฐินีเงินกู้ เพราะโดยประเพณีแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมมิอาจเป็นปฏิปักษ์กับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

ตรงนี้หากว่ากันถึงความเป็นหนังแล้ว หนังเรื่องนี้ทำได้ดีมากในเรื่องของการวางจังหวะจะโคนบทสนทนาของเหล่าตัวละครต่างๆ และหลายตอนเป็นบทสนทนาที่ผมอยากเรียกว่ามีลักษณะ “วิภาษวิธี” สูงมาก

แต่ก็เพราะอย่างที่ว่าแหละครับ หนังจึงดูค่อนข้างยาก ใครที่ไม่รักหนังจริงๆ คงเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ “หนัก” เอาการไม่น้อย ครับ...ก็เหมือนกับหนังไทยอีกหลายเรื่องแหละครับ ที่ไม่ว่าเนื้อหาจะดีหรือก้าวหน้าเพียงใด ผลการตอบรับก็ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ

นั่นเป็นคำตอบต่อข้อสงสัยของผม จะผิดจะถูกยังไงก็พิจารณากันไป และการพิจารณาที่ดีก็คงหนีไม่พ้นด้วยการหาหนังเรื่องมาดู ส่วนใครที่ได้ดูแล้วก็ลองดูซ้ำอีกครั้ง ว่าที่ผมว่ามานั้นถูกหรือผิด

แต่ถ้าใครที่ไม่เคยดูเลยและไม่ใช่คอหนัง (ไทย) ผมก็ขอเตือนไว้ก่อนว่า ถึงท่านจะดูโดยไม่ต้องคิดซับคิดซ้อนเป็นชั้นๆ อย่างที่ว่า ท่านก็ควรระมัดระวังเอาไว้ด้วยการเตือนตัวเองว่า ท่านกำลังดูหนังเรื่องที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ไม่ใช่เพิ่งสร้างปีนี้หรือเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น หากจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันแล้วทำให้ท่านต้องรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา ก็ไม่ใช่ความผิดของคนสร้างนะครับ (ฮา)

ที่นี้กลับมาที่ประเด็นชาวนาในหนังกับชาวนาในปัจจุบันที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น ซึ่งผมต้องขอบอกก่อนว่า ตอนที่ผมดูหนังเรื่องนี้นั้น ผมดูเพราะอยากดู ไม่ใช่ดูเพราะมีเจตนามาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันไม่ แต่พอดูจนจบแล้ว ผมก็พบว่า ชาวนาในหนังกับในปัจจุบันนั้นมีปัญหาทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน

ที่ว่าเหมือนกันก็คือ ชาวนายังคงเป็นหนี้เป็นสินอยู่เหมือนเดิมครับ ไม่ว่าจะเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน แต่ที่ต่างกันคือ เจ้าหนี้ของชาวนาเริ่มเปลี่ยนจากเศรษฐีในหมู่บ้านมาเป็นหน่วยงานของรัฐมากขึ้น

โดยในข้อที่ต่างกันนี้ยังมีรายละเอียดอยู่อีกว่า การเป็นหนี้รัฐนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะแรก เป็นหนี้ธนาคารของรัฐ ลักษณะนี้เป็นมานานหลายสิบปีแล้ว และเป็นลักษณะที่มีเงื่อนไขเฉพาะว่า หนี้นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการผลิตเท่านั้น ไม่ใช่หนี้ที่ให้อิสระแก่ชาวนาไปโดยสิ้นเชิง

ลักษณะต่อมา เป็นหนี้ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นหนี้ที่ให้อิสระแก่ชาวนามากกว่าลักษณะแรก คือเมื่อชาวนาได้เงินมาแล้วก็สามารถนำไปสร้างหรือทำอะไรก็ได้

การเป็นหนี้รัฐนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ หนี้รัฐไม่ได้สร้างแรงกดดันให้แก่ชาวนามากนักเมื่อเปรียบเทียบกับหนี้ที่กู้จากเศรษฐีนายทุน แรงกดดันดังกล่าวมีทั้งในเรื่องดอกเบี้ยที่สูง เรื่องโอกาสที่ที่ดินจะตกเป็นของเศรษฐีเงินกู้หากชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้ให้ เป็นต้น

ส่วนข้อเสียคือ การเป็นหนี้ที่มีแรงกดดันน้อยนี้มีความอ่อนไหวต่อจิตสำนึกของชาวนาอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย คือถ้าชาวนานำเงินที่ได้มาสร้างผลผลิต ไม่ว่าผลผลิตนั้นจะดีหรือไม่ดี ขายได้หรือไม่ได้ ย่อมถือว่าชาวนานำเงินมาใช้ถูกทาง แต่ถ้าชาวนานำเงินมาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับอัตภาพของตนเอง หรือไม่ก่อประโยชน์โภคผลอันใดๆ (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าไม่เกิดผลิตภาพ) แล้ว การเป็นหนี้นั้นก็ย่อมนำมาซึ่งความหายนะทั้งแก่ชาวนาและประเทศชาติ
ถึงตรงนี้ ผมคงไม่บังอาจกล่าวว่าการเป็นหนี้นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ที่ผมสนใจก็คือ การที่ชาวนายังเป็นหนี้ซ้ำซากเช่นนี้ในด้านหนึ่งเท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายรัฐจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลชุดไหนก็ตาม

ตรงนี้แหละที่ทำให้เห็นว่า แม้ชาวนาในหนัง “ด้วยเกล้า” จะมีความสุขในตอนจบ แต่ความสุขนี้ก็เป็นไปตามอัตภาพ และเป็นชีวิตชาวนาเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผิดกับตอนนี้ที่ชาวนาต้องเผชิญกับกระแสต่างๆ จากภายนอกเข้ามารุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัตน์ จนทำให้ชาวนาแทบตั้งตัวไม่ติด

ใครที่พลาดไปหากไม่ตายทั้งเป็นก็ตายจริงๆ คือฆ่าตัวตาย

แต่ที่ผมไม่แน่ใจก็คือว่า ถ้าชาวนาในหนังยังมีชีวิตมาถึงทุกวันนี้แล้ว เขาและครอบครัวจะต้านกระแสโลกาภิวัตน์ได้หรือไม่ อย่างไร และภายใต้กระแสนี้เขาจะกลับไปเป็นหนี้เป็นสินอีกหรือไม่ ที่ผมไม่แน่ใจก็เพราะ หนึ่ง ชาวนาในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นหนี้เป็นสินกันแทบทั้งนั้น สอง เนื่องจากตัวละครในหนังเป็นชาวนาภาคเหนือ ผมจึงไม่รู้ว่าเขาจะเป็นดังชาวนาภาคเหนือทุกวันนี้หรือไม่ ที่นิยมชมชอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ เพราะถ้าเขานิยมจริง ก็แสดงว่า ชีวิตเศรษฐกิจในภาคเกษตรของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปจากในหนังด้วย

และสาม ไม่ว่าชาวนาจะมีหนี้หรือไม่มี หรือจะยังคงชีวิตเศรษฐกิจแบบเดิมหรือแบบประชานิยมก็ตาม ผมก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่า ข้าวที่ราคาดีในตอนนี้จะทำให้ชีวิตชาวนาดีตามขึ้นไปด้วยหรือไม่

ก่อนที่จะจบบทความ ผมขอเล่าอะไรบางอย่างเป็นการปิดท้าย คือในหนังซึ่งมีเศรษฐินีเงินกู้เห็นแก่ตัวและหน้าเลือดนั้น ผมเคยรู้มานานนับสิบปีแล้วว่า ถ้าเป็นภาคกลางกับภาคใต้แล้ว เศรษฐินีเลือดคนนี้คงถูกยิงทิ้งไปตั้งแต่กลางเรื่องแล้วละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น