“เทพชัย” ลั่น “TPBS” เปิดกว้างในการรับพนักงาน ไม่สนคนอำนาจเก่า-ใหม่ เจ้าตัวยันไม่ทิ้งผู้จัดเดิมของ “TITV” หากใครมีนโยบายทำรายการสอดคล้องกับ “ทีวีสาธารณะ” ตนยินดีรับไว้ พร้อมย้ำต้องการทำสถานีเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนทุกชนชั้น เปล่าทำเพื่อสร้างเรตติ้งให้เท่าของเดิม
หลังจากที่ “ทีไอทีวี” ถูกเปลี่ยนสภาพเป็น “ทีวีสาธารณะ” โดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ (23 ม.ค.) คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวซึ่งประกอบด้วย "ขวัญสรวง อติโพธิ" ประธานคณะกรรมการนโยบาย ,"เทพชัย หย่อง" ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ,"อภิชาต ทองอยู่" , "ณรงค์ ใจหาญ" ,"นวลน้อย ตรีรัตน์" คณะกรรมการ รวมถึงอดีตผู้บริหารทีไอทีวีและ "ธนา ทั่วประโคน" ตัวแทนจากกรมประชาสัมพันธ์ ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าของทีวีสาธารณะแห่งนี้ภายใต้ชื่อชั่วคราว “TPBS” ที่ตึกชินวัตร 3
โดยมีใจความหลักสำคัญกล่าวถึงประเด็นการว่าจ้างพนักงานว่าทางคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวได้รับทราบจากทางคณะกฎหมายของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งได้แจ้งแล้วว่าสัญญาผูกพันพนักงานซึ่งได้จ้างพนักงานไอทีวีเพื่อดำเนินกิจการกับกรมประชาสัมพันธ์ได้ยุติไปก่อนที่พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 ม.ค. 51 ทั้งที่เซ็นสัญญาแล้วและไม่ได้เซ็นสัญญาฉะนั้นฐานะของทาง TPBS เลยไม่มีเงื่อนไขผูกพันที่จะต้องรับพนักงานของTITV ซึ่งได้ทำสัญญากับกรมประชาสัมพันธ์เอาไว้
ทั้งนี้ “เทพชัย หย่อง” ได้กล่าวเสริมถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่าตนมีนโยบายเปิดกว้างในการรับพนักงาน
“ด้วยความจำเป็นที่ TPBS จะต้องออกอากาศให้ทัน 1 ก.พ.ซึ่งเป็นวันที่น่าจะออกอากาศเป็นกึ่งทางการแต่หลังจากเม.ย.ไปแล้วจะมีภาพของทีวีสาธารณะชัดเจนมากขึ้นเพราะฉะนั้นความจำเป็นในช่วงนี้ทำให้เราต้องมีความรีบเร่งที่จะรับพนักงานมาทำหน้าที่ของทุกฝ่าย”
“มีการพูดคุยกับทุกฝ่ายว่าถ้ามีกำหนดการที่ชัดเจนว่าถ้าออกอากาศ 6 ชั่วโมงในเบื้องต้นในวันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ข่าว 2 ชั่วโมงครึ่งมีรายงานสดอยู่บ้าง คงจะต้องใช้พนักงานของทุกส่วน ส่วนจำนวนจะเป็นเท่าไหร่ สิ้นสัปดาห์นี้น่าจะรู้แล้วว่าพนักงานคนไหนบ้างที่จะมาร่วมงานกับเรา ซึ่งจะมีคนในทีไอทีวีเดิมและคนภายนอก ผมเชื่อว่าคนในทีไอทีวีไม่น้อยมีความสามารถและทัศนคติดี”
เมื่อถามต่อว่าทางผอ.เองกลัวหรือไม่ที่อาจจะมีคนอำนาจเก่าเข้ามาร่วมงานด้วย เจ้าตัวตอบด้วยน้ำเสียงขบขันนิดๆว่า...
“ผมไม่รู้ว่าที่ทีไอทีวีมีคนแบบนั้นด้วยเหรอ ก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการไม่รับทราบเหมือนกันว่ามีคนทางด้านการเมืองอยู่เพราะนี่เป็นองค์กรสื่อ ไม่เชื่อว่ามีคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักการเมืองอยู่ในสังคมนักข่าว”
“เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานในการคัดเลือกคนมาทำงานก็คือประสบการณ์ ทัศนคติที่สอดคล้องกับการเป็นทีวีสาธารณะด้วยความตั้งใจ ผมว่านี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ส่วนเขาจะชอบใครไม่ชอบใครทางด้านการเมืองผมว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
“ส่วนเรื่องคนทีไอทีวีที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่เกี่ยวแต่คุณต้องมีความเชื่อว่าทีวีสาธารณะเกิดขึ้นได้แต่ถ้าคุณมีทัศนคติว่าไม่เห็นด้วยกับมันพวกเขาเหล่านั้นก็ไม่มาสมัครไง ก็ไม่เป็นไรก็ไม่ได้ว่าอะไรกัน”
ส่วนกรณีที่มีผู้จัด,ผู้ผลิตรายการได้รับความเดือดร้อนจากการที่ “ทีไอทีวี” แปลงเป็นสภาพ “ทีวีสาธารณะ” นั้น นายเทพชัยบอกตนรับไว้พิจารณาหมดหากรายการสอดคล้องกับนโยบายของสถานี
“ตอนนี้ผู้จัดที่เป็นทีไอทีวีเดิมและรายอื่นมาติดต่อเยอะมากนะครับ ในเฉพาะหน้าทางคณะกรรมการได้คุยกันว่ามีผู้ผลิตรายการที่เคยทำให้กับทีไอทีวีก่อนหน้านี้และหลายรายการเนื้อหา สาระรูปแบบสอดคล้องความเป็นทีวีสาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อยกลางๆซึ่งเขาทำด้วยความตั้งใจดี”
“ของเก่าที่มีการถามกันอยู่ที่ทำเอาไว้แล้วซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์ก็ยังตอบไม่ละเอียดเพราะว่าที่จริงแล้วเรายังไม่รู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามีรายการไหนบ้างที่สัญญาค้างคาอยู่ มีบางรายการที่กรมประชาฯว่าจ้างและผลิตทำเสร็จหมดแล้วแต่ยังไม่ได้ออกอากาศบางส่วน”
“มีละครเรื่องถึง2เรื่องน่ะผมจำไม่ได้เรื่องอะไร เขาสร้างมาแล้วแต่ออกอากาศไปครึ่งเดียวเองแต่กรมประชาฯจ่ายเงินไปเรียบร้อยแล้วซึ่งก็แน่นอนเราได้ของในมือน่ะ จ่ายแล้วก็ควรเอามาใช้ประโยชน์ใช่มั้ยครับ”
ลั่นเตรียมเรียกผู้ผลิตรายเก่ามาเกือบหมด ไม่สนบริษัทเล็กหรือใหญ่
“เราคิดว่าผู้ผลิตหลายรายซึ่งมีรายการเด็กนะถ้าเขาลงทุนไปแล้วบางรายเขาไปทำสัญญากับหน่วยราชการแต่เขาไม่มีที่ออกน่ะ เราก็ต้องเรียกรายเหล่านี้เป็น 30-40 รายดูว่าแต่ละรายนะดูเนื้อหาเป็นหลัก”
“เราไม่สนใจว่าเขาไปผูกพันกับใครไว้อย่างไร เนื้อหาเขาเรื่องสุขภาพ เด็ก ครอบครัวดูแล้วมันสอดคล้องกับความเป็นทีวีสาธารณะเราต้องมาพิจารณาว่าเราจะซื้อเขาดีมั้ย คุณลงทุนไปเท่าไหร่อาจจะซื้อในราคาที่ต้องต่อรองกันหน่อย ดูแล้วสมเหตุสมผล ผมก็หวังว่าคนเหล่านี้แหละอนาคตก็จะมาผลิตรายการให้กับทีวีช่องนี้อีก”
“เพื่อความแฟร์ก็ต้องเรียกมาดู คงพูดได้เต็มที่ว่ายึดเนื้อหารายการเป็นที่ตั้ง ถามว่าจะไม่อิงบริษัทใหญ่เล็กใช่หรือไม่ผมพูดตามตรงผมไม่เคยรู้จักบริษัทไหนเป็นการส่วนตัวเลย เห็นชื่อผมยังไม่รู้จักด้วยซ้ำแต่ขณะเดียวกันรายอื่นๆที่ไม่เคยมีรายการกับทีไอทีวีที่ยื่นเสนอเข้ามาก็คงทำกันเป็นขั้นเป็นตอนไป”
นายเทพชัยกล่าวต่อไปว่าในการคัดสรรรายการลงผังจำเป็นต้องทำอย่างโปร่งใสเพื่อป้องกันการครหา
“อย่างไรก็ตามเราก็ต้องตั้งคณะกรรมการรายการขึ้นมาเพื่อเกิดความโปร่งใส ที่เราห่วงที่สุดคืออาจจะมีคำครหาได้ว่ามีใครเล่นพรรคเล่นพวกมีเส้นสายหรือเปล่าเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในทีวีบ้านเรา”
“แต่ช่องนี้ในฐานะที่เป็นคนดูแลสถานีอยู่ผมให้ความมั่นใจได้ว่าทุกรายการหยิบยกขึ้นมามันต้องอธิบายได้ พนักงานที่ทำงานในทีไอทีวีก็มีสิทธิ์มานั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วยเพื่อให้มีความมั่นใจว่าการคัดเลือกทุกรายการอยู่บนพื้นฐานเนื้อหาสาระคุณภาพและมีประโยชน์กับสังคมจริงๆ”
“ต้องห้ามมีโฆษณาและห้ามมีเนื้อหาที่ส่งเสริมสิ่งที่ไม่ค่อยงดงามมากนัก เท่าที่ผ่านๆมาพอมองได้ว่าพอเป็นทีวีสาธารณะแล้วผมเชื่อว่าประชาชนจับตาดูใกล้ชิด ถ้ามีกระแสว่ารายการนี้ออกมาได้อย่างไร ทำไมคนนี้พูดจาแบบนี้ อันนี้เหมือนมีโฆษณาแฝงรึเปล่าซึ่งตรงนี้เป็นหลักการเบื้องต้นที่เรายอมไม่ได้เป็นอันขาด”
“และใครก็ตามที่เข้ามาเสนอรายการหรือยอมมาร่วมรายการกับเราต้องอยู่บนพื้นฐานนี้ ตอนนี้ผมกำลังอยู่ในขั้นตอนการลิสต์รายชื่อทั้งของเก่าและของใหม่ที่เข้ามาอยู่ ต้องขอระยะเวลาสักระยะหนึ่งเพราะถ้ารีบเร่งไปจะเกิดการครหาได้”
ต่อกระแสข่าวที่ว่าจะมีการนำรายการ “ถอดรหัส” และ “ย้อนรอย” มาออกอากาศใน “TPBS” นายเทพชัยปฏิเสธข่าวว่า...
“จริงๆรายการถอดรหัส, ย้อนรอยมันดีมากแต่เราต้องหาทางดัดแปลง มันต้องใช้ชื่อใหม่ไง ใช้ชื่อเดิมไม่ได้เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของเขาน่ะ ทุกรายการต้องมีชื่อใหม่ เป็นรูปแบบใหม่หมด อาจจะต้องดูความเข้มข้น”
“ถอดรหัสเองทำอย่างไรถึงจะแปลกใหม่จากที่ผ่านมา ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าจะออกย้อนรอยคุณต้องปรับอีกเยอะนะ เพราะสถานีนี้เป็นทีวีโฉมใหม่ ต้องแตกต่างจากช่องปกติ”
ผอ.ย้ำถึงจุดประสงค์และเป้าหมายในการทำ “ทีวีสาธารณะ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทยเอาไว้ว่า...
“คือชาวบ้านทุกชนชั้นเปิดมาแล้วรู้สึกว่าเขาสามารถเรียนรู้ส่วนอื่นๆจากสังคมได้จากการดูทีวีช่องนี้ มันต้องมีตั้งแต่ระดับไฮโซจนถึงชนชั้นล่าง คนต้องมีความรู้สึกว่านี่เป็นทีวีที่ทุกคนดูได้ ไม่ใช่เปิดมามีแต่เรื่องน้ำตา เรื่องยากลำบากซึ่งมันไปไม่รอดแน่ ถามว่าแล้วมันจะบาลานซ์กันอย่างไร ก็อยู่ที่ความสามารถของคนที่มาช่วยทำนะ”
“ส่วนที่อ.จอน อึ๊งภากรณ์บอกว่าจริงๆเรตติ้งช่องนี้ต้องไม่แพ้ช่องเดิมที่ทำ เป้าหมายของเราคือต้องการให้มีคนดูเยอะที่สุดเท่าที่ทำได้แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ยึดการมีคนดูเป็นที่ตั้งอันดับ 1อย่างเดียว ผมยกตัวอย่างเสมอว่าภาพยนตร์ที่ได้รางวัลตุ๊กตาทองไม่จำเป็นต้องมีคนดูล้นโรงแบบหนังชาวบ้านๆทั่วไป”
“เพียงแต่ว่าเป็นหนังที่คนยอมรับว่าดี มีคุณค่า คนจะอ้างอิงได้ ดูแล้วให้แรงบันดาลใจ อาจจะมีคนดูครึ่งหนึ่งของละครน้ำเน่าก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรามีเรื่องเยอะเรารวมกลุ่มของคนดูที่ชอบแต่ละเรื่องมันก็ไม่น้อย”
“ดีกว่าสร้างเรื่องทั้งเรื่องแล้วมันไม่ค่อยมีสาระมากนัก มีแต่ความหวือหวาอย่างเดียวมันก็ไม่มีประโยชน์”