xs
xsm
sm
md
lg

Island Etude : ทัศนาจร ณ ทะเลหน้ามรสุม

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


เป็นที่ทราบกันตั้งแต่ 1 – 2 เดือนก่อนว่า หนังเรื่อง Lust, Caution ของผู้กำกับ อั้งลี่ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างหนาหูตลอดปี 2007 ที่ผ่านพ้น – ไม่สามารถเป็นตัวแทนของประเทศไต้หวันในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศได้ เนื่องจากมี “ความเป็นไต้หวัน” ไม่เพียงพอ

เหตุผลที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสิทธิ์ของ Lust, Caution ก็คือ มีตำแหน่งสำคัญๆ ของหนังที่ไม่ได้รับผิดชอบโดยคนไต้หวัน อันได้แก่ ผู้กำกับภาพ (โรดริโก ปริเอโต) , ผู้ทำดนตรีประกอบ (อเล็กซองดร์ เดสปลาต์) , ผู้ลำดับภาพ (ทิม สไควเรส) และ ผู้เขียนบท (เจมส์ เชมัส)

ทั้งหมดนั้นอาจมีน้ำหนักเพียงพอในการจัดประเภทว่า Lust, Caution ไม่ได้เป็นหนังจากไต้หวันแท้ๆ โดยคัดค้านกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า หนังเรื่องนี้มีศักดิ์ศรีในการต่อสู้กับหนังจากประเทศอื่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

Island Etude ของผู้กำกับ เอิงเฉิน ถูกแทนที่ในฐานะตัวสำรองเกือบจะทันที แน่นอน ตามการคาดเดาของผม หนังเรื่องนี้คงไปไม่ถึงจุดหมาย และเกือบๆ จะถูกลืมคละเคล้าไปกับหนังต่างประเทศเรื่องอื่นๆ ที่ตกรอบ

พิจารณาอย่างเป็นธรรม Island Etude ก็เป็นหนังที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมทัดเทียม Lust, Caution โดยไม่มีส่วนใดอ่อนด้อยกว่ากัน
ตรงกันข้าม ในขณะที่ Lust, Caution พูดถึงการเมืองและการเพลี่ยงพล้ำเข้าสู่ด้านมืดของมนุษย์ แต่ Island Etude ไม่พยายามข้องแวะถึงการเมืองภายในประเทศเลย อีกทั้งยังนำเสนอถึงด้านที่สว่างสดใส และเชิดชูคุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่

หลังจากเป็นตากล้องมากว่า 20 ปี (เขาเคยกำกับภาพให้หนังของ โหวเสี้ยวเสียน เรื่อง The City of Sadness, Goodbye South, Goodbye เป็นอาทิ) เอิงเฉินทำหนังเรื่องแรกแตกต่างจากผู้กำกับหน้าใหม่คนอื่นๆ กล่าวคือ เขาไม่พยายามยัดเยียดสิ่งที่ดู “เกินจำเป็น” เข้ามา, เล่าเรื่องด้วยสไตล์เรียบง่าย อีกทั้งไม่มีการสรุปรวบยอดแบบสมบูรณ์ รวมถึงไม่นำพาหนังไปในทิศทางที่ซ้ำซาก

หนังเล่าเรื่องของ หมิงซาง (ถังหมิงซาง) เด็กหนุ่มหูพิการที่ตัดสินใจลาเรียนจากวิทยาลัย – 1 เดือนล่วงหน้าก่อนเรียนจบ เพื่อปั่นจักรยานรอบเกาะไต้หวันโดยไม่มีสาเหตุอันแน่ชัด

ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันมีทัศนียภาพที่แปลกตา เกินครึ่งเป็นชายฝั่งน้ำลึกที่เต็มไปด้วยโขดหินและหน้าผา เม็ดทรายมีสีดำตุ่นๆ และท้องฟ้ามีเมฆครึ้มตลอดเวลา โดยเฉพาะหน้ามรสุมแล้ว การขี่จักรยานบนทางด่วนซูหัวซึ่งลัดเลาะเลียบชายฝั่ง คงไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูกต้องนัก

ระหว่างเส้นทางที่ต้องเวียนไปรอบเกาะ หมิงซางได้เจอกับคนแปลกหน้ามากมายตามธรรมเนียมปฏิบัติของหนังในแนวทางโร้ดมูฟวี่ (Road Movie) แต่อย่างที่ได้กล่าวไป ตัวละครรายทางที่ทำให้หมิงซางได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง – ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างจงใจ อันที่จริง หลายช่วงหลายตอนของหนัง เอิงเฉินทำให้มันดูคล้ายหนังสารคดีเสียมากกว่า

กองถ่ายมิวสิควิดีโอคือคนกลุ่มแรกที่หมิงซางได้เจอและเข้าไปสัมผัสถึงปัญหาของพวกเขาอย่างเบาบาง ก่อนที่จะได้เจอปัญหาจริงๆ จากหลักไมล์ในลำดับที่ 2 คือ เด็กหนุ่มนักเรียนนอกที่พยายามปั่นจักรยานไปหาแม่ที่เมืองฮั่วเหลียง

เด็กหนุ่มอารมณ์ร้อนคนนี้ไปอยู่แคนาดาเสียหลายปี และห่างเหินกับแม่อย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะค้านความเห็นแม่เสียทุกเรื่องแล้ว เขายังแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อการเอาใจใส่ของแม่อย่างน่ารังเกียจ

ออกจากฮั่วเหลียงมาสักระยะ หมิงซางได้พบกับหญิงสาวชาวยุโรปตะวันออกที่กำลังรอรถไฟอยู่ที่สถานี ช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างคอยให้รถไฟเที่ยวนั้นมาถึง หมิงซางคอยนั่งอยู่เป็นเพื่อนเธอริมชายหาด

หมิงซางและหญิงสาวพูดคุยกันผ่านจิตสำนึก และทำความรู้จักกันผ่านภาพวาดและไดอารี่ของแต่ละฝ่าย มันเป็นความรู้สึกดีๆ ที่งอกเงยขึ้นอย่างงดงาม - อย่างที่คนแปลกหน้า 2 คนพอจะให้กันได้

ความรักถูกแปลความหมายให้กว้างขึ้นในสถานการณ์ที่สาม หมิงซางปั่นจักรยานไปถึงหอระฆังซ่ายิ่น อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่แสดงความรักต่อครูซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น จนยอมแม้กระทั่งการพลีชีพตนเอง

หนังจำลองเหตุการณ์ในตำนานอย่างง่ายๆ ตามความคิดของหมิงซาง ในตอนที่ไต้หวันถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยบางส่วนถูกส่งไปเป็นครูสอนหนังสือให้กับชาวบ้านในชนบท และเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มต้น ครูเหล่านั้นก็ต้องถูกเกณฑ์กลับเข้ากองทัพ ซ่ายิ่น-เด็กสาวที่แอบหลงรักครูเดินทางไปส่งชายที่รักจนถึงสุดเขตหมู่บ้าน แต่โชคร้ายเกิดพายุ น้ำป่าไหลหลากพัดพาร่างของสาวน้อยหายไปตลอดกาล

ความรักเป็นสิ่งที่น่าพิศวงเหลือเกิน บางครั้งบางคราวมันนำให้เราเดินทางไปในที่ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ซ่ายิ่นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

แต่สำหรับหมิงซาง การเดินทางของเขาถูกแทนความหมายด้วย โจนาธาน ลิฟวิงสตัน: นางนวล ตามแบบนิยายของ ริชาร์ด บาค ที่ถูกเอ่ยขึ้นมาในตอนหนึ่ง การพยายามค้นหาเสรีภาพและความเป็นอิสระจากกรอบที่กักขังเขาอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขเรื่องศักยภาพของร่างกายที่มีไม่เหมือนคนอื่น

การยอมรับถึงตัวตนของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวสำหรับหมิงซาง เราได้เห็นภาพแฟลชแบ็คเพียงสั้นๆ เกี่ยวกับวัยเด็กของเขา ที่แม่ต้องกวดขันให้ฝึกการฟังเสียงมากกว่าอย่างอื่นๆ ปัญหาที่น้อยนิดสิ่งนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับที่สิ่งต้องเจอเมื่อชีวิตเติบโตขึ้น และสิ่งที่เขาหวาดหวั่นว่าจะต้องเจอหลังเรียบจบ

ในตอนหนึ่งหมิงซางได้พอกับอาจารย์ในโรงเรียนประถมสอนคนตาบอดที่เต็มไปด้วยความตระหนกกังวลถึงตัวลูกศิษย์ที่จะต้องออกไปเผชิญโลก และหมิงซางก็ได้สร้างความมั่นใจให้กับเธอด้วยการแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ จะต้องรับมือกับชีวิตของตนเองได้ในที่สุด

ช่วงเวลาที่งดงามอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่หมิงซางไปแวะพักที่บ้านคุณตาที่เมืองเหมยซู และคนทั้งตำบลกำลังจะเฉลิมฉลองเทศกาลเจ้าแม่เหมยซูพอดี เอิงเฉินเก็บภาพบรรยากาศจริงมาไว้ในหนัง ภาพบรรยากาศงานที่วุ่นวาย คนนับร้อยหลั่งไหลมาสักการะเจ้าแม่ - กลับดูเงียบสงบอย่างเหลือเชื่อ และในฉากเดียวกันนี้เอง หมิงซางถึงกับอดร้องไห้ไม่ได้ด้วยความตื้นตัน

การเป็นตากล้องมาก่อนของเอิงเฉินเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ Island Etude มีภาพอันน่าจดจำ ทุกเฟรมภาพสวยด้วยแสงธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อยมาก อันถือเป็นเอกลักษณ์ของเขาตั้งแต่ถ่ายหนังให้ผู้กำกับโหวเสี้ยวเสียน

ภาพชายหาดในฤดูมรสุมเต็มไปด้วยเสียงของความเงียบ อาจเป็นเพราะนักท่องเที่ยวยังน้อย พื้นที่หลายแห่งจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความลึกลับ และเหมือนมีวิญญาณอยู่ในตัวของมันเอง

Island Etude ให้ทั้งอารมณ์ถวิลหา กำลังใจในการดำเนินชีวิต และบ่งบอกอาการหวนไห้จากอีกมุมหนึ่งของไต้หวันในแบบที่ผมไม่เคยเห็นจากหนังเรื่องไหนมาก่อน

หนังดีมากๆ ครับ ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่เกลียดหนัง feel-good มากแค่ไหนก็ตาม



กำลังโหลดความคิดเห็น