xs
xsm
sm
md
lg

ดีไซเนอร์ฮ่องกงพร้อมส่ง “เมด อิน ไชน่า” โกอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้เห็นสินค้าผลิตในจีนเชิดหน้าชูตาอย่างสง่าผ่าเผยบนเวทีแฟชั่นโลก แต่ล่าสุดดีไซเนอร์ดาวรุ่งชาวฮ่องกง “โดเรียน โฮ” มีความคิดที่จะดันสินค้า “ผลิตในจีน” หรือ “เมด อิน ไชน่า” กรุยทางสร้างชื่อไปทั่วโลก

โฮกระโดดเข้าสู่ธุรกิจชุดแต่งงานสไตล์ตะวันตกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย โดยเขาได้สร้างแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงขึ้นมาสำหรับจำหน่ายชุดสูทและชุดเจ้าสาวสำเร็จรูปไปทั่วเอเชีย สหรัฐฯ และเร็วๆ นี้ก็มีแผนจะบุกตลาดยุโรปด้วย

“มีน้อยคนที่จะสามารถควักกระเป๋าซื้อหาชุดสูทวาเลนติโน่มาใส่ได้ พูดตามตรงแทนที่จะไปซื้อสูทวาเลนติโน่ชุดเดียวแสนแพง พวกเขาสามารถเอาเงินมาซื้อชุดสูทของเราได้ 2-3 ชุดเลยทีเดียว” โฮวัย 37 กล่าว ทั้งนี้ คอลเลกชั่นของโฮมักจะมีชื่อของตัวเองรวมอยู่ด้วย อาทิ โดเรียน โฮ คูเชอร์, โดเรียน โฮ ไบรดอล คอลเลกชั่น และโดเรียน โฮ คอลเลกชั่น เป็นต้น

ตามที่ทราบมา ชุดสูทของโฮนั้นนำเข้าผ้ามาจากยุโรป และตัดเย็บในโรงงานของเขาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน พร้อมทั้งยังให้ช่างฝีมือเยี่ยมรับหน้าที่ปักเย็บลูกปัดประดับชุดด้วย โดยดีไซเนอร์ชาวฮ่องกงเล่าว่า เพราะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำของจีนนั่นเอง ทำให้เขาสามารถนำทุนที่เหลือไปซื้อหานำเข้าผ้าไหม ลูกไม้ เครื่องประดับ คุณภาพเยี่ยมจากต่างประเทศได้อีก

แต่...ยังมีปัญหาคาใจอยู่ว่า ลูกค้าจะเต็มใจควักกระเป๋าหลายพันดอลลาร์เพื่อซื้อหาชุดสูทผลิตในจีนหรือไม่

ตามความคิดของบริษัทเสื้อผ้ายุโรปหลายแห่ง พวกเขายังคงตั้งใจออกแบบและผลิตสินค้าไฮเอนด์ในโรงงานภายในประเทศมากกว่าย้ายฐานมาจีน นั่นก็เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งพวกเขายังมองว่าสินค้า “เมด อิน ยุโรป” นั้นยังได้เปรียบคู่แข่งต้นทุนต่ำอย่าง โฮ อยู่มาก

เช่นเดียวกับความคิดของมิเชล พาน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ESSEC ซึ่งมองว่า “โชคไม่ดีที่สินค้าภายใต้ป้าย “เมด อิน ไชน่า” ยังถูกมองว่าเป็น “ของถูก คุณภาพต่ำ” อยู่ ขณะที่สินค้าที่ผลิตในยุโรป อย่างเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และสเปนกลับได้รับความเชื่อถือเรื่องคุณภาพอยู่มาก”

ข้อได้เปรียบสินค้าผลิตในจีน

ก่อนหน้านี้โฮเคยทำงานในบริษัทเสื้อผ้าของพ่อแม่เขา ก่อนจะมาตั้งบริษัทของตัวเอง โดยเขาย้ำว่าเขาสามารถควบคุมดูแลคุณภาพสินค้าได้ทั้งหมด เพราะเสื้อผ้าของบริษัทผลิตในโรงงานของเขาเองที่เมืองเซินเจิ้น ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ติดกับฮ่องกง

“เราสามารถควบคุมราคาได้ เพราะเรามีโรงงานของเราเองที่แผ่นดินใหญ่” โฮกล่าว

แต่เขาก็ยอมรับว่า “การทำธุรกิจในจีนเป็นเรื่องลำบากยิ่งสำหรับดีไซเนอร์ชาวอเมริกันและยุโรป เนื่องจากพวกเขาต้องจ้างโรงงานจีนผลิตสินค้าให้ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักในการควบคุมคุณภาพงาน และหากคุณว่าจ้างแรงงานจีนให้ผลิตสินค้าให้ คุณก็เสี่ยงต่อการถูกก๊อปปี้ไอเดียด้วย

ถึงจะมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจบ้าง แต่บริษัทแฟชั่นฝั่งตะวันตกบางรายก็ยังสนใจเข้ามาผลิตสินค้าในประเทศจีน เนื่องจากต้องการลดต้นทุนการผลิต

ดังเช่น กลุ่มบริษัทแฟชั่นอังกฤษ เบอร์เบอร์รี่ (Burberry) ที่ปิดโรงงานผลิตในเวลส์ และเข้ามาผลิตเสื้อเชิ้ตโปโลที่จีนเมื่อปีที่แล้ว จนทำให้เกิดการประท้วงภายนอกร้านค้าเบอร์เบอร์รี่ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ

ถึงกระนั้นบริษัทแฟชั่นรายอื่นๆ ก็ยังระมัดระวังในการเข้ามาทำธุรกิจในจีน อย่างบริษัท Chloe ซึ่งเผยว่า บริษัทไม่คิดย้ายฐานการผลิตไปจีน แม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้า Chloe จะได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย เนื่องจากเสื้อผ้าของบริษัทตัดพอเหมาะกับรูปร่างเล็กๆ ของสาวเอเชีย โดยยอดขายในเอเชียของบริษัทคิดเป็น 20-30% ของยอดขายทั้งหมดเลยทีเดียว

“ฉันว่าจีนตอนนี้ยังด้อยเรื่องคุณภาพมาก” โซเฟีย อู๋ ผู้จัดการใหญ่ของ Chloe ประจำประเทศจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า แบรนด์หรูยังจะต้องลงทุนอย่างหนักเพื่อควบคุมคุณภาพ และพิสูจน์ว่าการผลิตของจีนนั้นมีคุณภาพ ไม่ใช่เอาแต่แรงงานถูกเข้าว่า

ผู้บริโภคฝั่งตะวันตกอาจเต็มใจจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์เพื่อซื้อชุดกระโปรง “เมด อิน ไชน่า” หากพวกเขามั่นใจว่าแบรนด์ดังยังคงรักษาคุณภาพได้อยู่

แต่สำหรับลูกค้าในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตเร็วสำหรับบริษัทเสื้อผ้าตะวันตก กลับไม่ใช่ “พวกเขาจะตีคืนสินค้าทันทีหากรู้ว่ามันไม่ได้ผลิตจากอิตาลีหรือฝรั่งเศส” อู๋กล่าว “สาวจีนซื้อเสื้อผ้าของเรา เพราะ Chloe เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฝรั่งเศส และความโรแมนติกสไตล์ยุโรป

ซึ่งโฮเองก็เห็นพ้องกับความคิดเห็นของอู๋ และกล่าวว่าเขายังไม่ได้มุ่งเจาะตลาดจีน ถึงแม้ว่าการออกแบบของเขาจะไปเข้าตาลูกค้าชาวจีนหลายคน อาทิ นางเอกสาว ทังเวย จากภาพยนตร์อิโรติกเรื่อง "เล่ห์ราคะ" (Lust, Caution) ของผู้กำกับอั้งลี่ เป็นต้น

เป้าหมายของเขาคือการสร้างแบรนด์ตัวเองให้มีชื่อเสียงในยุโรป ด้วยการนำคอลเล็คชั่นชุดแต่งงานสำเร็จรูปไปเจาะตลาดในปีหน้า และจะมีการแสดงแบบแฟชั่นโชว์ในปารีสและลอนดอนด้วย

นอกจากนี้บริษัทของเขายังมีห้องแสดงสินค้าอยู่ในนิวยอร์ก ฮ่องกง และซิดนีย์ และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ เช่น Saks Fifth Avenue ในสหรัฐฯ และร้านเสื้อหรูทั่วโลกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น