นอกจากศึกษาหาความรู้จากในห้องเรียนแล้ว สิ่งที่นิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีในทุกสถาบันแทบทุกชีวิต ต้องประสบและได้ผ่านการปฏิบัติ ก็คือ การ “ฝึกงาน” โดยจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการให้นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ได้มีประสบการณ์การทำงานก่อนจะจบการศึกษาและโบยบินสู่ตลาดงานจริงๆ แต่ก็ไม่อยู่ไม่น้อย ที่โชคร้ายได้ฝึกงานไม่ตรงกับสายงาน หรือบางส่วนที่ได้ฝึกตรงสายงาน แต่ไม่ได้จับงานจริงๆ ทำให้เวลานับเดือนของการฝึกงานต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย
ด้วยปัญหาดังกล่าว บริษัทระยองวิศวกรรมซ่อมบำรุง จำกัด ในเครือ เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงได้จัดโครงการต้นแบบภายใต้ชื่อโครงการ “SCG Model School” เพื่อผลิตช่างเทคนิคป้อนสู่ตลาดงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของจังหวัดระยอง โดยจับมือกับวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดระยองและบริษัทระยองโอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเม็ดพลาสติก คัดเลือกนักศึกษาแผนกปิโตรเคมิคอลของวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดระยอง จำนวนรุ่นละ 20 คน เข้าโครงการ
พลชม จันทร์อุไร กรรมการผู้จัดการบริษัท ระยองวิศวกรรมซ่อมบำรุง จำกัด ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาสาขาปิโตรเคมี ให้มีความพร้อมเมื่อต้องออกสู่ตลาดงานจริง ซึ่งขณะนี้ได้ทำมา 3 รุ่นแล้ว รุ่นแรกที่ฝึกงานเสร็จบางส่วนบริษัท รับเข้าทำงานเลย บางส่วนได้งานที่อื่น และมี 1 รายที่ติดภาระทางทหาร ส่วนรุ่นที่ 2 ก็ฝึกเสร็จแล้วเช่นกันและบางรายบริษัท ก็รับไว้ทำงานต่อเลย และรุ่นที่ 3 อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยเบื้องต้นได้คัดนักศึกษาเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
“ใจจริงเราอยากรับไว้หมดเลย เพราะการฝึกงานของเราเราฝึกน้องๆ เหมือนกับพนักงานใหม่ของเราคนหนึ่ง ไม่ใช่ฝึกแบบเขาเป็นเด็กฝึกงาน พอฝึกเสร็จ 4 เดือน ความสามารถก็เทียบเท่าพนักงานใหม่ที่เพิ่งผ่านโปร แต่ด้วยโครงการไม่มีสัญญาผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น น้องสามารถจะเลือกทำงานกับเราก็ได้ หรือจะไปทำงานที่อื่นที่ถูกใจก็ได้”
ด้านกฤษณ์ ธีระพงศ์โชติ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการนี้ อธิบายต่อถึงการดำเนินการโครงการนี้ว่า หลังจากคัดเลือกนักศึกษา 20 คนแล้ว ทางบริษัทจะพาไปทำกิจกรรม และมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ ระหว่างขณะกำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัย ทั้งกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เช่น การไปสร้างฝายให้ชุมชน สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ รวมถึงกิจกรรมการฝึกฝนจิตใจ เช่น การพาไปนั่งสมาธิ และเมื่อเรียนจบ ถึงเวลาฝึกงาน นักศึกษาทั้ง 20 คนจะถูกส่งมาฝึกที่บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด
“เราเน้นหลักสำคัญ คือ น้องจะต้องได้ความรู้ ได้ฝึกหัดปฏิบัติจริง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความปลอดภัย น้องนักศึกษาทุกคนจะมีพี่ประกบ 1 ต่อ 1 พี่ 1 คน ต่อน้อง 1 คน เวลาออกนอกยูนิตปฏิบัติการจะต้องมีพี่เดินประกบออกไปเสมอ ซึ่งน้องจะปรึกษาพี่ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องงานรวมถึงข้อสงสัยต่างๆ รวมถึงเรื่องส่วนตัว การปรับตัว การวางตัว และการใช้ชีวิตในสังคมการทำงาน”
ในขณะที่ อ.ประยูร คำนวณ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดระยอง ระบุถึงเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาร่วมโครงการ ว่า การคัดเลือกจะไม่มีการสอบ มีแต่การสัมภาษณ์อย่างเดียว อาจารย์ที่สอนทุกท่านร่วมกันพิจารณา เกณฑ์เลือกไม่ได้ใช้เกณฑ์เกรดเป็นหลัก แต่พิจารณาด้านนิสัย บุคลิกภาพ และความจำเป็นของนักศึกษาเป็นส่วนประกอบ เพราะในแต่ละรุ่น นอกจากบริษัทฯ จะให้โอกาสนักศึกษาเข้าไปศึกษาองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานจริงแล้ว ยังมีการให้ทุนจำนวน 4 ทุนต่อรุ่น เป็นค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษาด้วย
และสำหรับมุมมองของนักศึกษาที่ได้โอกาส 4 คน อย่าง ชาตรี เพชรจันทร์, มานพ ทองแท้, นิตินัย เนียมมา และ ธีรวัฒน์ นนท์ไพวัลย์ นักศึกษารุ่นแรกและรุ่นที่สองของโครงการ ที่ฝึกงานเสร็จแล้วเลือกที่จะสมัครงานในบริษัทเลย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของพวกเขา
มานพ หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า “เอ” ระบุว่า ชั้นปีของเขามี 150 คน ล้วนแล้วแต่สนใจอยากเข้าโครงการนี้ แต่ถือว่าเขาโชคดีที่ได้รับเลือก
“ตอนเรียน ม.4-5-6 ผมอยากรู้ว่าสาขาปิโตรเคมีเขาเรียนอะไรกัน อ.แนะแนวก็แนะนำว่าที่ระยองมีเปิด ก็มาเรียน พอเรียนไปก็รู้สึกว่ามันใช่ ตอนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการฯ ก็มีการเตรียมความพร้อมเยอะ ก่อนที่จะเข้าไปฝึกงาน 4 เดือน ได้ทำกิจกรรมเยอะ หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก และพอได้ฝึกงานในสาขาที่จบมา แล้วได้ปฏิบัติจริงๆ ได้องค์ความรู้ พอจบก็ได้งานทำเลย มันเป็นสายงานที่เราสนใจและชอบ ตอนนี้ผมมีความสุขมากครับ”
ในขณะที่นิตินัย หรือ “ถ้ำ” เปิดเผยความรู้สึกแรกตอนได้ฝึกงานว่า ความรู้เชิงทฤษฎีที่ได้จากการเรียนในหนังสือแตกต่างจากการปฏิบัติจริงค่อนข้างมาก และเชื่อว่า หากเขาไม่ได้โอกาสมาฝึกปฏิบัติจริงช่วงก่อนเรียนจบ การเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเขาอาจจะต้องไปเริ่มหัดปฏิบัติใหม่และไม่คล่องเหมือนอย่างนี้
“ฝึกงานวันแรกผมกลัวเครื่องมือนะ กลัวเครื่องจักร ไม่กล้าแตะมันเลย กลัวทำผิด กลัวทำพัง ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนที่เพิ่งปฏิบัติใหม่ๆ เป็นแบบนี้ พี่ๆ ที่ประกบก็ช่วยสอน ให้ความรู้ ถามได้ทุกเรื่อง พี่เค้าให้ความรู้เต็มที่ พอสอนแล้วก็ให้โอกาสเราปฏิบัติจริง
พอเราได้จับเครื่องมือ เครื่องจักร มีส่วนร่วมในการเดินเครื่องผลิตเอง มันก็ภูมิใจเมื่อเหตุงานออกมาเสร็จด้วยการมีส่วนร่วมของเรา ผมว่าการฝึกงานที่มีโอกาสทำงานจริงๆ สำคัญมาก เพราะมันก็มีบางแห่งนะครับ เพื่อนๆ ผมก็มีเล่าให้ฟังว่า ไปฝึกงานได้แค่วิธีถ่ายเอกสารกับวิธีชงกาแฟ น้ำตาลสอง กาแฟสอง อะไรแบบนี้”
ด้านธีระวัฒน์ หรือ “โจ้” บอกเล่าถึงความประทับใจตั้งแต่แรกเข้าโครงการฯ จนได้เป็นอีกหนึ่งตัวจริงในบริษัทว่า รู้สึกดีตั้งแต่โครงการฯ พาไปร่วมสร้างบ้านและสร้างฝายให้แก่ชุมชนแล้ว เพราะเป็นประสบการณ์การให้และการบริการชุมชนที่เขาไม่เคยมีโอกาสทำ และเมื่อถึงเวลาฝึกงาน เขาก็ได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะน้องฝึกงานจะมีพี่คอยดูแลตลอด ทำให้มีโอกาสได้รับคำแนะนำทั้งองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานรวมถึงคำแนะนำอื่นๆ ด้วย
ปิดท้ายที่ “หนึ่ง” หรือ ชาตรี ที่เล่าให้ฟังว่าแม้ว่าโครงการนี้จะมีการเตรียมความพร้อมด้วยกิจกรรมหลายอย่างก่อนจะถึงเวลาฝึกงาน อาจจะทำให้เขาไม่ได้ใช้เวลาสนุกกับเพื่อนๆ แบบนักศึกษาวัยเดียวกัน เพราะต้องไปทำฝาย ไปสร้างบ้าน ไปนั่นสมาธิ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเหนื่อย หากแต่ทุกอย่างเป็นประสบการณ์และโอกาสที่ดี จนเมื่อถึงเวลาฝึกงานที่ได้ปฏิบัติงานจริงเหมือนพนักงานคนหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้เขาได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นไปตามลำดับด้วย