ศาลแพ่งพิพากษา “เวิร์คพอยท์” เบี้ยวเงินบริษัทออแกไนซ์ สั่งชดใช้ 1.7 ล้านบาท ด้านคู่กรณีสุดแค้นบอกจะยื่นอุทธรณ์ต่อ เพื่อให้ได้ค่าเสียหายที่น่าพอใจ แฉแหลกเวิร์คพอยท์ใช้หลักฐานปลอมขึ้นศาล ประกาศไม่ขอร่วมงานด้วยอีก เผยคนที่รู้จักเลิกดูรายการเวิร์คพอยท์แล้ว
ตกเป็นข่าวฉาวเมื่อสองปีก่อนกรณี “บริษัท อะเบาท์ ไอเดีย” ออกมาแฉว่า “บริษัท เวิร์คพอยท์” เบี้ยวการจ่ายค่าจ้างจัดงาน “มหกรรมแก้จน” จนเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 9 ล้านบาท หลังจากต่อสู้กันมาสองปี ในที่สุดศาลแพ่งก็มีคำสั่งตัดสินให้บริษัท เวิร์คพอยท์ จำเลยที่ 1 แพ้คดี เนื่องจากมีความผิดตามที่โจทก์ยื่นฟ้องมาจริง โดยให้จำเลยชดใช้หนี้เป็นจำนวนเงิน1,757,534 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปของเงินต้นดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง
ส่วน “ปัญญา นิรันด์กุล” ในฐานะจำเลยที่ 2 และ “นุวัทฐ จั่นบำรุง” จำเลยที่ 3 ศาลได้มีวินิจฉัยว่า เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 1 มิใช่ฐานะส่วนตัว จึงมีคำตัดสินไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายนับล้านบาท 1.7 ล้านบาท
ซึ่งหลังจากศาลตัดสิน ทางด้าน “คุณศศิธร เผ่าสัจจ” ผู้บริหารบริษัท อะเบาท์ ไอเดีย ได้กล่าวถึงเรื่องราวและความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า จะไม่ยอมจบเรื่องนี้ ขอยื่นศาลอุทธรณ์สู้คดีต่อไปจนกว่าผลลัพธ์จะเป็นที่พอใจ พร้อมกับแฉแหลก ว่า เวิร์คพอยท์ใช้เอกสารปลอมมาเป็นหลักฐาน ประกาศไม่ร่วมงานกับบริษัทนี้อีก เผยคนรู้จักเลิกดูรายการของเวิร์คพอยท์แล้ว
“ศาลตัดสินไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2550 ให้ทางบริษัท เวิร์คพอยท์ มีความผิดจริงและต้องชดใช้ค่าเสียหายกับทางบริษัท อะเบาท์ ไอเดีย เป็นจำนวนเงิน 1,757,534 บาท แต่ที่ยังไม่เป็นข่าว เพราะว่าเรารอดูว่าทางโน้นเขาจะมีการมาเจรจาตกลงกับเราหรือเปล่า แต่มันกลายเป็นว่าเขาก็เงียบหายไปไม่โทร.มา ไม่สนใจเราเลย เรื่องนี้คงต้องมีการยื่นคำร้องไปที่ศาลอุธรณ์ต่อ”
“เรื่องค่าเสียหายที่ศาลตัดสินมาเป็นจำนวนเงินเท่านี้ มันอาจเป็นเพราะว่าบางทีตัวเลขมันไม่ชัวร์คงต้องไปอธิบายให้ศาลอุทธรณ์เข้าใจเรื่องตัวเลขใหม่ ถ้าเป็นจำนวนเงินเท่านี้เราได้มา เราก็ยังเป็นหนี้อยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีอีกบริษัทที่เขามารับทำงานนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จทางบริษัท เวิร์คพอยท์ เลยติดต่อให้เรามาทำต่อ โดยที่เราไม่ได้รู้เรื่องตื้นลึกหนาบางว่ามันเป็นอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บริษัทที่เขาทำมาก่อนหน้านี้เขาทำเอกสารให้จ่ายเงินเข้าบริษัทเขาเองไม่ได้สั่งจ่ายให้บริษัท เวิร์คพอยท์ เมื่อขายบูธได้เงินก็เลยเข้ากระเป๋าเขา แต่เราไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเราเห็นว่าสองบริษัทนี้เขารู้จักกันมาก่อนเขาคงมีการคุยกันมาก่อนแล้ว”
“ส่วนบริษัท อะเบาท์ ไอเดีย ด้วยความที่เราซื่อสัตย์เราทำตรงไปตรงมาเลยทำเอกสารให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบริษัท เวิร์คพอยท์ โดยตรง แต่พอเกิดเรื่องทางบริษัท เวิร์คพอยท์ เขากลับไปพูดโกหกแก้ตัวในศาล ว่า ไม่เคยรู้จักกับบริษัทที่มาทำก่อนหน้านี้มาก่อนเลย ฉะนั้น ทางบริษัท อะเบาท์ ไอเดีย ต้องรับผิดชอบเงินในส่วนที่บริษัทก่อนหน้านี้ เชิดไปเป็นจำนวน 1,300,000 บาท ทั้งที่เงินค่าจ้างจัดงาน 9 ล้านบาท เรายังไม่ได้เลย เขาโยนให้เราเป็นแพะสมรู้ร่วมคิด เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รู้จักกัน ซึ่งทางเรามีหลักฐานเอกสารยืนยันว่าเขารู้จักกัน แต่มันเกิดปัญหาว่าเราหาตัวบริษัทนี้ไม่เจอ”
“ถ้ากันพูดตามความจริง เรารับจ้างทำงานแล้วงานก็สำเร็จ งานที่ออกมาก็ดีมากดังมาก บริษัทเขาก็ได้รับชื่อเสียงมากมายแถมยังได้รับรางวัลอีเว้นท์อะวอร์ดอีกด้วย ดังนั้นเราควรที่จะได้รับค่าจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่นี่เขาไม่ยอมจ่ายให้เรา ก่อนหน้าที่จะฟ้องมีการนัดไกล่เกลี่ยกันหลายเดือน แต่ว่ามันเหมือนเขายื้อไม่จริงใจกับการมาไกล่เกลี่ยบอกว่า ต้องรอผู้ใหญ่มาประชุมก่อน พอมาเจอกันอีกครั้งก็บอกทางผู้ใหญ่ยังไม่ว่างที่จะประชุม เราก็ไม่ได้รับคำตอบที่แน่นอนสักที”
“คนที่รับหน้าที่มาไกล่เกลี่ยทุกครั้งจะเป็นคุณเป็ด นุวัทฐ จั่นบำรุง ส่วนทางด้านคุณตา ปัญญา นิรันกุลเคยเจอในงานครั้งหนึ่งเข้าไปคุยบอกว่า เรื่องจัดงานเกมแก้จนที่มีปัญหาอยู่พี่ตาจะช่วยยังไงได้บ้างไหม เขาก็ตอบกลับมาว่า พี่ช่วยใครไม่ได้หรอก สั่งใครในบริษัทไม่ได้เลย และก็บอกว่าบริษัทอะเบาท์ ไอเดีย ไม่จ่ายเงินเข้ามาในบริษัทเวิร์คพอยท์ เราก็ชี้แจงว่า เราไม่จ่ายได้ยังไง เราจ่ายเข้าบริษัทเวิร์คพอยไปแล้วตั้ง 10 ล้าน หลักฐานการโอนเงินก็มี”
“พยายามถามว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันหรือเปล่า พี่ตาลองไปเป็นประธานหัวโต๊ะแล้วเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งประชุมเคลียร์กันได้ไหม หรือจะให้เราก้มกราบลงตรงนี้ก็ได้ต่อหน้าคนเยอะๆ ขอร้องให้ช่วยหน่อยเถอะ เขาก็ยืนยันว่าไม่ได้หรอกเขาไม่สามารถสั่งใครได้ และยังหันมาถามเราว่าควรจะทำอย่างไรดี ตรงนี้มันต้องเป็นเราถามไม่ใช่เหรอ”
“ด้วยความที่เราไว้ใจเขา เพราะเห็นว่าเขาเป็นบริษัทใหญ่มีชื่อเสียงเราเชื่อมั่นในภาพพจน์บริษัท เชื่อมั่นในตัวคุณปัญญา นิรันกุล คงไม่มาโกงเราหรอกกับเงินแค่นี้เราเลยพลาดกับเรื่องของเอกสารสัญญาคือ ทางคุณนุวัทฐ บอกว่าเอกสารฉบับนี้จะไม่มีผลทางกฎหมายแค่เซ็นต์ให้ทางบอร์ดเบิกเงินให้เราเท่านั้นเอง อ่านดูมันก็ไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกว่าเป็นสัญญา เพราะถ้าเป็นสัญญาต้องระบุว่าเราเป็นใครทำหน้าที่รับผิดชอบอะไรและต้องมีค่าปรับกัน อ่านในครั้งแรกมันไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเลย”
“แต่พอขึ้นศาลมันกลายเป็นว่า เขาเอาเอกสารฉบับนั้นมาอ้างอิงเป็นสัญญา ซึ่งเราคิดว่าเขาต้องปลอมเอกสารนั้นขึ้นมาแน่นอนดูได้จากเวลาที่เราพิมพ์แต่ละหน้ามันต้องได้เหมือนกันสัก 20 บรรทัดเท่าๆ กัน และมีที่อยู่ข้างล่างที่อยู่หัวจดหมายเป็นแบบฟอร์มของแต่ละที่ แต่ในสัญญาฉบับที่เห็นในศาลสมมุติว่าหน้าแรก 20 บรรทัด แต่หน้า 2-4 กลายเป็นว่าล้นมาถึง 28 บรรทัดสุดหน้ากระดาษเลย แต่พอมาหน้าสุดท้าย คือหน้า 5 กลับมีแค่ครึ่งหน้าแล้วเป็นลายเซ็นเราเลย”
“ตรงนี้เขาไปแก้ตัวในศาลว่า เป็นการแก้ไขสัญญากันใหม่ ซึ่งเขาเป็นระดับบริษัทมหาชนถ้าจะมีการแก้ไขสัญญากันใหม่ก็ต้องแก้ให้มันสวยงามและเท่าๆ กันทุกหน้า แต่นี่จงใจแก้จนมาติดกับที่อยู่ ที่สำคัญมีข้อหนึ่งเพิ่มขึ้นมาว่าถ้าทางเราจัดงานนี้ไม่สำเร็จเราจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมทั้งเงินที่เขาลงทุนด้วย ขอถามหน่อยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ใครจะกล้าเซ็นชื่อลงไปในสัญญาฉบับนั้น แถมในสัญญาก็ไม่ระบุจำนวนเงินลงทุนด้วยนะว่าเท่าไหร่เชื่อว่าถ้าใครเห็นสัญญาข้อนี้ไม่มีใครเซ็นหรอก เกิดคุณบอกว่าคุณลงทุนไปพันล้านทำไงล่ะ มันเป็นในลักษณะว่าเขามาเติมที่หลังมากกว่า ทางศาลเลยตัดสินให้เอกสารฉบับนี้เป็นโมฆะ”
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องมารังแกกัน เขาจัดงานอีกครั้งเขาก็กำไรแล้ว เขาเคยเรียกเราไปคุยครั้งหนึ่งว่าจะไปจัดงานอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากว่าเหล่าบรรดาสปอนเซอร์ถามหา เพราะงานครั้งที่แล้วดังมาก แต่เขามีเงื่อนไขให้ทางเราออกเงินทุนทั้งหมด ถ้ากำไรให้หักทุนคืนเราก่อนแล้วค่อยแบ่งกำไรกัน”
“ฟังดูแล้วเหมือนดีจังเลย แต่งงว่าเอาอะไรคิด เราจะเอาเงินที่ไหนไปจัดในเมื่อเขายังไม่จ่ายค่าจ้างตรงนี้ให้เราเลย แล้วถ้าจัดงานสำเร็จมาเขาได้ทั้งชื่อเสียงได้ทั้งเงิน ส่วนหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายให้เรา ขอให้เขาจ่ายมาแค่ครึ่งหนึ่ง 4 ล้าน เราจะยอมไปจัดให้เขาอีกครั้งหนึ่ง แต่เขาไม่เอาพอมาเจอเรื่องสัญญาที่เขาปลอมมาขึ้นศาล ยิ่งหมดความเชื่อถือบริษัทนี้ไปใหญ่เลยที่ผ่านมาเราไว้ใจเขามากเกินไป”
“ตั้งแต่ทำงานมายังไม่เคยเจอแบบนี้เราท้อนะ แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ถ้าไม่ได้เงินก้อนนี้เราก็ต้องมารับภาระเป็นหนี้บริษัทอื่นที่เราดิวงานด้วยในครั้งนั้น บางบริษัทที่เขาดีเข้าใจเราก็โอเค แต่บางรายที่เขาไม่เข้าใจเราไม่รู้จะอธิบายยังไงต้องปล่อยให้เขาฟ้องร้องต้องยอมแพ้ เพราะเราไม่มีเงินจ่ายเขาจริงๆ ถ้าเขาจะมายึดทรัพย์เราต้องยอม เพราะเราเป็นบริษัทไม่ใหญ่ เราจะเอาเงินทุนจากไหนมาจ่าย ถ้าไม่ได้ค่าจ้างจากบริษัทเวิร์คพอยท์”
“เรื่องนี้คงไม่ยุติแค่นี้แน่นอนเราต้องดำเนินการยื่นเรื่องไปศาลอุธรณ์ในวันที่ 13 มกราคม 2551 รอให้ศาลพิจารณาอีกครั้งเพื่อหาความยุติธรรม ส่วนเรื่องค่าเสียหายทางเราไม่ต้องการมากมายขอเรียกร้องเท่าที่เราควรจะได้เอามาจ่ายเงินคนที่เขามาทำงานให้ละกัน เพราะว่าทำงานมายังไม่ได้เงินเลยมันถือเป็นบทเรียนและเสียความรู้สึกมากๆ และไม่คิดที่จะร่วมงานกับบริษัทนี้อีก คนที่รู้จักเราก็เลิกดูรายการบริษัทนี้ไปหมดแล้ว เขาไม่อยากที่จะส่งเสริม หลายๆ คนที่เขารู้เรื่องเขายังงงว่า บริษัทใหญ่ขนาดนี้ไม่น่าทำไปได้”
“ส่วนเรื่องที่ทางบริษัทเวิร์คพอยท์เขาฟ้องเรียกค่าเสียหายทางเราสามสิบล้าน ตรงนี้ทางศาลตัดสินสั่งยกฟ้องไปแล้ว แต่ได้ยินแว่วๆ มาว่า เขาเตรียมจะฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์เราอีกคดีหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ตรงนี้เรายินดีที่จะพิสูจน์สู้คดี”
“เวิร์คพอยท์” ไม่หวั่นภาพลักษณ์เสีย อ้างคนเราผิดพลาดกันได้
ทางด้านผู้บริหารเวิร์คพอยท์คนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตัดสินดังกล่าวว่า คดียังไม่สิ้นสุดจะให้บอกว่าใครแพ้หรือชนะคงไม่ถูก เผยไม่คิดว่าคำตัดสินของศาลจะทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหาย บอกคนเราสามารถทำงานผิดพลาดกันได้
“ผมต้องขอเรียนแบบนี้นะครับว่าตอนนี้คดียังไม่สิ้นสุด คดียังอยู่ในขั้นตอนของศาลเพราะทางโน้นเขาอุทธรณ์ ฉะนั้นจะให้บอกว่าใครชนะใครแพ้คงจะยังไม่ถูกต้อง และถ้าให้มองกันจริงๆ แล้วทำไมเราไม่ต้องจ่าย 9 ล้านล่ะ ถ้าเขาคิดว่าถูกทำไมไม่จบที่ 1.7 ล้าน ในเมื่อศาลก็ตัดสินไปแล้ว ผมพูดได้แค่นี้แหละ คือรายละเอียดที่ว่าทำไมเท่านี้หรืออื่นๆ มันมีเยอะกว่านี้ ถามว่ายินดีจ่ายมั้ย ก็ในเมื่อเขาไม่พอใจรับในจำนวนนี้ เราไม่พอใจจ่าย ตัวเลข 1.7 ล้าน มันก็ไม่มีความหมายแล้ว”
ผลการตัดสินครั้งนี้อาจส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของเวิร์คพอยท์ เพราะก่อนหน้านี้เวิร์คพอยท์ก็เคยตกเป็นข่าวฉาวแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทกับ “แห้ว บิ๊กบราเธอร์" และ “นันทขว้าง สิรสุนทร” อย่างไรก็ตามผู้บริหารเวิร์คพอยท์มั่นใจว่า ไม่น่าส่งผลกระทบต่อบริษัท บอกการทำงานก็ย่อมจะผิดพลาดได้เป็นธรรมดา
“ไม่คิดว่าจะส่งผลกับภาพลักษณ์บริษัทหรอกครับ ผมทำความเข้าใจว่า มันเหมือนกับงานหนึ่งชิ้นที่เราทำล้มเหลว แต่มันไม่ได้หมายถึงทั้งหมด เวิร์คพอยท์ก็ยังต้องดำเนินกิจการต่อไป รายการอื่น งานด้านอื่นที่เราเคยทุ่มเทยังไง เราก็ยังยึดมั่นแนวทางนั้นอยู่ ก็เหมือนกันกับที่หนังสือพิมพ์โดนฟ้องแล้วแพ้นั่นแหละ มันไม่ได้หมายความว่าฉบับนี้เลว เพราะข่าวอื่นที่เขานำเสนอที่สร้างสรรค์ที่ไม่มีปัญหามันก็มี และทุกคนก็ยังต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป มันหยุดไม่ได้เพราะเป็นอาชีพเรา ส่วนคำตัดสินแพ้หรือชนะเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับและปฏิบัติตามแค่นั้นเอง”
“การทำงานมันย่อมมีข้อผิดพลาดทั้งนั้น ซึ่งพอเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เราก็ต้องแก้ไขไป เราก็ต้องทำงานทำหน้าที่ของเราไป ส่วนข้อผิดพลาดเราก็ต้องเอามาแก้ไข เอามาปรับปรุงไม่ให้เกิดขึ้นอีก และชดใช้ในสิ่งที่ศาลตัดสินว่าผิดให้ดีที่สุด”
“อย่างกรณีของนันทขว้าง (นันทขว้าง สิรสุนทร) ไม่ใช่เรื่องโกงแต่มันเป็นการทำงานไม่เรียบร้อย เพราะว่าหนึ่งเขาไปรอแล้วไม่เจอกัน แล้วเราไม่ได้ทำเองแต่ให้บริษัททัวร์เป็นคนจัดการ ซึ่งโอเคสุดท้ายเราก็ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด แต่เราไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดข้อผิดพลาด เพียงแต่บางครั้งการทำงานมันก็ย่อมมีบ้าง และเราต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความพอใจในทุกฝ่าย”
“ถ้าใครจะมองว่าไม่ควรมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ก็แสดงว่าคนคนนั้นไม่เคยทำงาน ผมอธิบายแบบนี้ว่ามีใครทำงานแล้วไม่ผิดพลาดบ้าง แต่สิ่งที่ทำได้คือเอาสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียน”