xs
xsm
sm
md
lg

"ทิฟฟานี" บ้านกลุ่มแรกของ Transgender และ LGBT+ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ทิฟฟานี" บ้านกลุ่มแรกของ Transgender และ LGBT+

Happy Pride Month VOL 3
เรื่อง นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด



วันนี้ “จ๋า” อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน บอกว่า โชคดีมากที่รู้จักพี่ๆ LGBT+ ตั้งแต่เด็ก ... เมื่อพ่อพาลูกสาวคนกลาง ด.ญ. อลิสา วัย 5 ขวบ เข้าบาร์โชว์ลิปซิ้งแห่งหนึ่งที่แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ นับจากวันนั้น ... จนเรียนจบปริญญาโท และมารับหน้าที่กรรมการผู้บริหารบริษัท ทิฟฟานีโชว์ จำกัด และคงเป็นไปได้ว่า นี่คือ “แวว” ที่พ่อเห็นลูกสาวคนนี้มาตั้งแต่วัยเด็กและต้องการให้สานต่อกิจการนี้

ในวัยเด็ก เธอตื่นตาตื่นใจกับการดูโชว์อย่างสนุกสนานที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นบริเวณที่ติดตั้งไฟฟอลโล่ที่จะสาดแสงไฟไปบนเวที ชั้นล่างเป็นที่นั่งดื่มของแขกที่มาเที่ยว ถึงวันนี้ อลิสายังจำภาพประทับใจได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลง ตลอดจนนักแสดงโชว์รุ่นแรกๆทุกคน ... โชว์จบ แต่เธอไม่จบ จำการแสดงบนเวทีกลับไปเต้นที่บ้านกับพี่สาว (ดาริณ) ทุกวัน ส่วนน้องสาว (วรัษยา) ยังเล็กมาก

‘จ๋า อลิสา’ เรียนจบ จากเงินโชว์ทิฟฟานี !

การแสดงลิปซิ้งค์เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นของใหม่และน่าสนใจที่นักท่องเที่ยวฝรั่งนิยมเข้ามาดูกัน ทิฟฟานีเป็นบาร์แห่งเดียวในพัทยาทีเปิดการแสดงประเภทนี้

“วันนึงพ่อก็เล่าให้ฟังว่า ป๊าจะไปชวนเค้ามาอยู่ที่ใหม่ เพราะที่เก่าทางมันเล็กมาก มีปัญหาเรื่องรถ ทางเข้า-ออก รถบัสเข้าไม่ได้ จอดไม่ได้ ป๊าจะสร้างโรงละครให้กับอาอั้งตี๋และคณะ มาอยู่ที่โรงละครทิฟฟานีโชว์ในปัจจุบัน”

สุธรรม พันธุศักดิ์ เข้ามาดูโชว์ที่แหลมบาลีฮาย หลังจากคณะทิฟฟานีกลับจากโชว์ที่เยอรมันแล้ว และเห็นว่า การแสดงนี้จะเป็นแรงเกื้อหนุนให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวในพัทยาได้ จึงใช้เวลาเข้าไปคลุกคลีกับบาร์แห่งนี้จนเกิดความมั่นใจ บาร์เล็กๆที่มีนักแสดงเพียง 8 คน แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ได้ขาด ทั้งที่เส้นทางเข้าบาร์นั้น เล็ก แคบ รถใหญ่เข้าไม่ได้เลย นี่คือ ปัญหาหลักทางธุรกิจของบาร์ที่แหลมบาลีฮายของอั้งตี๋ แซ่ลิ้มผู้ก่อตั้ง นักธุรกิจอย่างสุธรรมมองว่า ถ้าย้ายมาโชว์ในละครที่ทันสมัยกว่า ใหญ่กว่า น่าจะเป็นธุรกิจที่รุ่งโรจน์ในเมืองพัทยาได้ !

ในปีแรก หลังเปิด โรงละคร 500 ที่นั่ง สิ่งที่วาดฝัน กลับไม่เป็นดังคาด ! ตะวันออกกลางมีสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่ละคืนมีแขกบ้าง ไม่มีแขกบ้าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ! ในที่สุด อั้งตี๋ก็ตัดสินใจบอกกับสุธรรมว่า ธุรกิจคงไม่ต่อไม่ไหว อยากถอนตัว และหยุดกิจการ !

สุธรรม จึงขอร้องว่า อย่าเพิ่งถอนตัว ให้เวลาเขาหน่อย เขาพร้อมจะแบกภาระทางการเงิน และการบริหารทั้งหมด แต่ขอให้อั้งตี๋ช่วยควบคุมการแสดง และดูแลเรื่องโปรดักชั่นทั้งหมด ! เพราะเรื่องนี้เขาไม่ถนัด

“ย้ายจากที่แรกมาโรงละคร คุณอาอั้งตี๋ก็ยังทำธุรกิจนี้อยู่นะ จนวันนึงอาอั้งตี๋บอกว่าจะเลิก พ่อยังบอกว่า จะเลิกได้ยังไง เด็กอีกตั้ง 30 ชีวิตจะไปอยู่ไหน พ่อบอกว่า เราต้องให้โอกาสเค้าทำต่อ พ่อเลยมาทำเป็นผู้บริหารเต็มตัว”

เมื่อนักธุรกิจลงมาจัดการ ทุกอย่างก็ดีขึ้นตามลำดับ ยอดขายพุ่ง โรงละครได้ขยายที่นั่งถึง 3 ครั้ง จนเป็น 1 พันที่นั่งดังในปัจจุบัน การแสดงเต็มทุกรอบ จนการชมทิฟฟานีโชว์เป็นส่วนหนึ่งของการมาเยือนของนักท่องเที่ยว

อลิสา พันธุศักดิ์ สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังชวนเพื่อนๆไปดูโชว์ สำหรับเธอแล้ว คิดว่าทุกคนเข้าใจในธุรกิจและเหล่านักแสดง เช่นเดียวกับเธอ ! เพราะการแสดงโชว์ในสมัยนั้น เต็มทุกรอบ ! เธอคิดว่า ทุกคนใจกว้าง ยอมรับความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ได้เช่นเดียวกับเธอ จนเธอมารับตำแหน่ง เมื่อปี 2541 ในฐานะ กรรมการผู้บริหารบริษัท ทิฟฟานีโชว์ เมื่อต้องไปสานต่อธุรกิจของพ่อ ถึงรู้ว่า สังคมไทย ยังมีคนกลุ่มหนึ่งมองว่า การโชว์คาบาเร่ต์เป็นงานกลางคืน เธอทำงานกับพวกกะเทย ! เสียงที่ส่งมา เหมือนเธอไม่ได้ทำงานสุจริตเลย เธอจึงตั้งใจว่า จะต้องแก้ปมนี้ให้ได้ !
คำพูดของพ่อ ประโยคหนึ่งทำให้เธอได้คิด ! และคิดเสมอ มีแรงขับเคลื่อนที่จะต้องพาธุรกิจนี้ไปให้ได้

“พ่อพูดเสมอว่า ที่จ๋าเรียนหนังสือจบได้ จ๋าต้องขอบคุณนักแสดงนะ เพราะเค้าเต้นให้เราเรียนหนังสือ มันก็เลยเป็นจุดที่เราต้องสู้ เพื่อความเข้าใจที่ดี ใครจะไม่เข้าใจ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจไปเรื่อยๆ ขยายผลไปเรื่อยๆ มิสทิฟฟานี และอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ทุกคนที่มีส่วนร่วม ถือว่าได้ช่วยให้เกิดวันนี้ และเป็นภาคภูมิใจระดับหนึ่ง”

เมื่อมองย้อนกลับไป ไม่อาจปฏิเสธว่า ทั้งอั้งตี๋และสุธรรม ได้วางรากฐานให้ทิฟฟานีโชว์ ไม่ใช่แค่เวทีของการแสดงเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เป็นบ้านกลุ่มแรกของ Transgender และ LGBT+ ในประเทศไทยและในเอเชีย เพราะเมื่อก่อนคนกลุ่มนี้ยังถูกกดให้อยู่ในชายขอบของสังคม ใช้ชีวิตอยู่นอกกฎหมายอย่างไร้การยอมรับ และยังถูกมองเป็นกลุ่มคนที่แปลกแยกจากคนปกติ การทำงานโชว์ไม่ได้ต่างจากพนักงานของบริษัททั่วไป ที่ต้องได้รับการดูแลและมีสวัสดิการรองรับภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากทิฟฟานีโชว์แล้ว ยังขยายเสียงรับรู้เป็นวงกว้าง ด้วยการจัดเวที Miss Tiffany’s Universe เพื่อโชว์ศักยภาพของกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ในประเทศไทย และสร้างเวที Miss International Queen ให้เป็นพื้นที่โชว์ศักยภาพของทรานส์เจนเดอร์ทั่วโลก ขยับขยายความเข้าใจออกไปสู่นานาประเทศ ซึ่งสามารถสร้าง World Equality หรือ โลกแห่งความเสมอภาคได้อย่างเห็นรูปธรรม !

อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม - สุภาพ แสงคำชู ร่วมบุกเบิก ‘ทิฟฟานี’

“อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม” (เสียชีวิตแล้ว ในวัย 76 ปี 23 กุมภาพันธ์ 2563) เริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนที่กรุงเทพฯ เป็นบาร์เกย์ ชื่อ “ทิวลิป” มุมถนนคอนแวนต์ สีลม เป็นที่สังสันทน์ของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ส่วนใครพอใจไปกับใคร ได้เลย ! ไม่เกี่ยวกับทางร้าน ในปี 2517 เขาคิดขยับขยายไปเปิดบาร์เกย์ที่พัทยา จึงเทหุ้นขาย นำเงินกำไร 2 หมื่นบาทไปลงทุนต่อ...

ที่แหลมบาลีฮาย มีบาร์ผู้หญิงแห่งหนึ่งชื่อ “ทิฟฟานี” คนเที่ยวน้อย และใกล้ปิดกิจการเต็มที เขาจึงเซ้งต่อ และเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็น “บาร์เกย์” แห่งแรกในเมืองพัทยา ชื่อเดิมสำหรับเขาเชื่อว่า ดีอยู่แล้ว! ทิฟฟานีคือ “เพชรดี มีราคา แสงสวยเป็นประกาย”

ก่อนหน้า ลิปซิ้งค์โชว์ เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่บาร์ทิวลิปในช่วงปีใหม่ จัดเพื่อสมมาคุณลูกค้า จับเด็กผู้ชายในบาร์มาแต่งหญิง ขยับปากร้องเพลง ลูกค้าชอบใจกันมาก อั้งตี๋ตัดสินใจนำการแสดงแบบนี้มาจัดแสดงที่บาร์ทิฟฟานี แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ จึงโทร.หาเพื่อนและบอกให้เพื่อนขึ้นมาหา

เพื่อนคนนั้นคือ “อ๊อด” สุภาพ แสงคำชู เธอคือ นางโชว์คนแรกของประเทศไทยและเอเชีย ทุกวันนี้คือ ผู้อำนวยการฝ่ายการแสดง ทิฟฟานีโชว์พัทยา

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพัทยาเมื่อ 50 ปีก่อน ส่วนใหญ่จะมากันเป็นคู่หญิง-ชายแบบผัว-เมีย เดิน เที่ยว พัก ทุกพื้นที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่มาก ไม่ได้เป็นกรุ๊ปทัวร์อย่างสมัยนี้ สมัยนั้นมีถนนเดียวคือ ถนนเลียบชายหาด ยังไม่มีพัทยาสายสอง -สายสาม พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง การเดินเข้าบาร์ทิฟฟานี ต้องผ่านบาร์เบียร์ บาร์ชกมวย ... อั้งตี๋ เป็นเจ้าของโรงแรมแบบบังกะโลเล็กๆ มีสระน้ำ และมีบาร์โชว์

การตลาดของทิฟานีในยุคนั้น เริ่มต้นจากการให้อ๊อด สุภาพ แจกใบปลิวสีขาว-ดำ ทั่วเมืองพัทยา โดยเฉพาะบริเวณชายหาด เพื่อบอกว่า มี ‘บาร์เกย์’ ที่พัทยาแล้วนะ และจะมีสาวผิวสีมาโชว์ในคืนนั้นๆ

“อ๊อด” สุภาพ แสงคำชู เริ่มต้นจากการโชว์คนเดียว จึงเรียก “วันแมนโชว์” เธอเป็นนักแสดงคนแรกของคณะทิฟฟานี คืนนั้น เธอแต่งเป็นสาวผิวสี ขยับปาก แสดงอากัปกิริยา ท่าทาง ร้องอยู่หลายเพลงราว 1 ชั่วโมง เธอยอมรับว่าเหนื่อยมาก ! แต่ลูกค้ามาเยอะกว่าที่คิดไว้ อั้งตี๋คิดว่า แค่ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ คงไม่พอแล้ว ต้องปรับให้มีโชว์ทุกวัน และรับนางโชว์เพิ่ม! จาก 2 เป็น 3 จนถึง 8 คน ! จนอีกระยะหนึ่ง เพิ่มเป็น 15 คน !

การลิปซิ้งค์ในแต่ละเพลงไม่ใช่ของง่าย ต้องศึกษาท่าทาง ลีลา จังหวะการร้อง แล้วเลียนแบบให้เหมือนกับนักร้องต้นฉบับ
ผ่านเวลาสักระยะหนึ่ง คืนหนึ่ง มีนักธุรกิจชาวเยอรมันมาดูโชว์แล้วชอบใจ จึงทาบทามให้ไปโชว์ที่ประเทศเยอรมัน เซ็นสัญญากัน 3 เดือน การเดินทางในครั้งนี้ ถูกต่อสัญญาเรื่อยมา ทุก 3 เดือน จนปีครึ่ง คณะทิฟฟานีคาบาเรต์โชว์ จึงมีโอกาสกลับเมืองไทยอีกครั้ง และได้ต่อยอดจากความสำเร็จนี้ !

จนเมื่อสุธรรม พันธุมศักดิ์แนะนำให้อั้งตี๋ขยับขยาย เพราะที่แหลมบาลีฮาย ไม่เหมาะ เล็ก-แคบและรถเข้าไม่ได้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจ

โรงละครทิฟฟานีโชว์ เริ่มต้นที่ 500 ที่นั่ง อั้งตี๋ได้ตกลงเช่าโรงละครที่สุธรรมสร้างแห่งนี้ พื้นที่กว้างขวาง เวทีกว้างใหญ่ ทิฟฟานีจึงต้องประกาศและคัดเลือกนางโชว์เพิ่ม เป็น 30คน ! “อ๊อด สุภาพ” หันมาอยู่เบื้องหลัง (ออกแบบเสื้อผ้า, ผลิตโชว์) ทำหน้าที่คัดนางโชว์แต่ละนางด้วยตัวเอง ทุกคนมาพร้อมความสวยและมากความสามารถ นางโชว์ยุคแรกๆ สวยสตรอง เนียนด้วยยาคุม และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคสวยงดงามขึ้น เหตุเพราะคนจีนเริ่มสนใจโชว์แบบนี้ แต่เพราะพื้นที่การแสดงบนเวทีกว้างขวาง ทำให้ต้องรับนางโชว์เพิ่ม เท่ากับ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ! ค่าตัวนักแสดง, ค่าชุดโชว์, ค่าฉากต่างๆบนเวที และอะไรต่อมิอะไรมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นเงาตามตัว ทุกอย่างสำหรับอั้งตี๋ต้องเลิศเลอ เช่น ประดิษฐ์เครื่องสวมหัว (หมวกงิ้ว) ด้วยตัวเอง บางคราว บินไปฮ่องกงเพื่อซื้อขนนกกระจอกเทศก็เคยทำแล้ว ใจใหญ่ -ลงทุนเยอะจนเริ่มเกิดภาวะขาดทุนสะสมเรื่อยมา ! แล้ววันหนึ่ง อั้งตี๋ก็ต้องเอ่ยปากบอกลาธุรกิจกับสุธรรม แต่ในสายตาของนักธุรกิจมองอย่างมั่นใจว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ จึงเข้าซื้อกิจการและบริหารโรงละครเต็มตัว โดยให้อั้งตี๋เป็นหุ้นส่วนและดูแลโชว์ ใช้เวลาช่วงสั้นๆไม่กี่ปีต่อมาก็ขยับขยายโรงละครเป็น 1,000 ที่นั่งอย่างทุกวันนี้

และในราวปี 2526 พิศาล อัครเศรณี มาขอใช้โรงละครถ่ายทำภาพยนตร์ หัวใจทมิฬ ! และนั่นคือ ก้าวแรกที่ ผู้กำกับฯ และ อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม ได้เจอกัน!

พิศาล สอบถามเรื่องราวและชีวิตของ Transgender หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า สาวประเภทสอง อั้งตี๋เห็นการต่อยอดทางธุรกิจ จึงตัดสินใจร่วมหุ้นทางธุรกิจกับพิศาล อัครเศรณี ในนาม “วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน” ผู้อำนวยการสร้าง และนั่นคือ จุดกำเนิดหนังไทยเรื่องแรกของ Transgender ในชุมชนชาว LGBTQIAN+ ที่มีนางโชว์ชื่อดังของทิฟฟานีไปร่วมแสดงหนัง “เพลงสุดท้าย” (2528) และตัวเอก คือนางโชว์ดาวเด่นของยุคนั้น “ต่าย” สมหญิง ดาวราย (ชื่อจริง สมนึก ชาติพุดซา) นักแสดงฝ่ายชายคือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ รับบท “บุญเติม” จบด้วยสมหญิงยิงตัวตายบนเวทีเพราะผิดหวังในความรัก , ต่อด้วยเรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นภาคต่อ ชื่อ “รักทรมาน” (2530) ชีวิตจริงสมหญิงต้องนำนมออก เพื่อรับบทเป็น “สมนึก” น้องชายฝาแฝดของสมหญิง และช่วงนี้ได้โปรโมต ด้วยการให้บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ถ่ายปก และสมหญิง ถ่ายแฟชั่นเชตในของนิตยสารเกย์ ชื่อ “มิถุนา จูเนียร์”(ฉบับที่ 38) , และอีกเรื่องคือ “ผีสำออย” (2533) ได้ปลุกปั้นนางโชว์บนเวทีทิฟฟานีโชว์อีกคน คือ ต้อย เปา ส่วนนักแสดงหลักคือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, พิมพิไล ไชโย และในปี 2549 เพลงสุดท้าย ถูกสร้างอีกครั้ง นำแสดงโดย อารยา อริยะวัฒนา และ วชรกรณ์ ไวยศิลป์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าการสร้างครั้งแรก

นอกจากการดูแลทิฟฟานีโชว์ พัทยาแล้ว ต่อมา อั้งตี๋ แซ่ลิ้มยังได้เปิดบาร์โชว์ชื่อ “เซคั่น ทิป” ติดโรงหนัง โอเอ ถนนราชปรารภ และเปิดบาร์โฮส ชื่อ ไนซ์กายส์ ที่ปาร์คเอเวนิว เอกมัย ในเวลาต่อมา

วันนี้ .... ทิฟฟานีโชว์ พัทยา กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 51 ..... เตรียมตัวให้พร้อมกับงานเฉลิมฉลอง “ 50 ปี โรงละครทิฟฟานีโชว์ พัทยา” เร็วๆนี้ !

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

Happy Pride Month 2024 VOL 1
สายรุ้งต้นรัตนโกสินทร์ “สมร้าก & ตุย” ก่อนปักธง! (มีคลิป) >> https://mgronline.com/drama/detail/9670000049854

Happy Pride Month 2024 VOL 2
Rainbow God เป่าคาถาสระอวยยย... จงมา! (มีคลิป) >> https://mgronline.com/drama/detail/9670000051994

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน กรรมการผู้บริหารบริษัท ทิฟฟานีโชว์ จำกัด

อลิสาและสาวงามจากทิฟฟานี

ส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีในปัจจุบัน









ท่องเที่ยวกับพ่อและแม่

ครอบครัวพันธุศักดิ์

สุธรรม พันธุศักดิ์

อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม (วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน) ผู้บุกเบิก

วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน

“อ๊อด”  สุภาพ แสงคำชู  นักแสดงคนแรกของทิฟฟานีโชว์ตั้งแต่แหลมบาลีฮาย

ทิฟฟานีโชว์ ร่วม 50 ปีที่แล้ว













พิศาล อัครเศรณี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

โปสเตอร์ “เพลงสุดท้าย” (2528)

โปสเตอร์ “รักทรมาน” (2530)

“ต่าย” สมหญิง ดาวราย (สมนึก ชาติพุดซา) นักแสดงโชว์ดาวเด่นของทิฟฟานีในยุคนั้นมาเล่นภาพยนตร์ “เพลงสุดท้าย”


โปรโมท “รักทรมาน” บิณฑ์  บรรลือฤทธิ์ ถ่ายปก นิตยสารเกย์ “มิถุนา จูเนียร์” ฉบับ 38

ในฉบับเดียวกัน สมหญิง ดาวราย ในสไตล์แฟชั่นทอมบอย ลงหน้าใน



สมหญิง ดาวราย ต้องผ่าตัดเอานมออก เพื่อเล่นหนัง “รักทรมาน”

โปสเตอร์ “ผีสำออย” (2533)

โปสเตอร์ “เพลงสุดท้าย” (2549)


กำลังโหลดความคิดเห็น