xs
xsm
sm
md
lg

สายรุ้งต้นรัตนโกสินทร์ “สมร้าก & ตุย” ก่อนปักธง! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สายรุ้งต้นรัตนโกสินทร์ “สมร้าก & ตุย” ก่อนปักธง!

#Happy Pride Month 2024 VOL 1
เรื่อง : นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด


เรารู้จักผู้หลากหลายทางเพศผ่าน “ขันที” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานในหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ : ราชอาณาจักรสยาม โดย ซีมอง เดอ ลู ลาแบร์ แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร เรื่องราวของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่แค่ในวรรณคดี , นิทานพื้นบ้าน,ตำนานเทพเจ้าที่เล่าสืบกันมาเท่านั้น บุคคลที่ชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นยุค-สมัย หรือ ชนชั้นใด อยู่ใกล้เราแค่เอื้อม ในยุค “สมบูรณาญาสิทธิราช” ซึ่งเคร่งครัดในระเบียบประเพณี วิธีการปฏิบัติ ก็มีเรื่องราวของคนที่รสนิยมทางเพศแตกต่างจากคนในสังคมปกติ .... ในอดีตมีหลายเรื่องถูกซุกซ่อนไว้ และเลือนหายไปตามเวลา บางเรื่องมีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่มาก ในยุคแรก เริ่มต้นที่แวดวงชนชั้นสูง ทุกเรื่องมีบันทึก มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ทุกคนมีสีสัน ชวนสนุก ชวนเศร้า น่าติดตามทั้งสิ้น !

บุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้ เสมือนสิ่งยืนยันที่จดแจ้งให้รู้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแต่เพศชาย-หญิงเท่านั้น ! การแสดงตัวตนผ่านเรื่องราวของเขาและเธอ คือ การประทับรอยเท้าแห่งความแตกต่าง ไม่มีถูก ไม่มีผิด ผู้รู้ซึ้งย่อมเห็นความงดงามในความต่างนี้

‘หม่อมเป็ดสวรรค์’ เลสเบี้ยน สมร้าก สมัยร.3!

ไม่นานจากนี้ เราจะได้ชมละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” ซึ่งสะท้อนความรักในรูปแบบที่หลากหลาย ภายใต้บรรทัดฐานของความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกของไทยพีบีเอส ที่จะกล่าวถึงคนที่มีตัวตนจริง ในตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าวิลาส) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3

บริษัท แม็กซ์ เมจิก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดย สถาพร นาควิไลโรจน์ เป็นทั้งผู้จัดและผู้กำกับฯ เขียนบทโดย ฐนธัช กองทอง ในละครเรื่องนี้ มี “บุคคลในประวัติศาสตร์” ทั้งหมด 11 ตัว ได้แก่

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี (สินจัย เปล่งพานิช) : “พระราชธิดา” ของสมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 , พระองค์เป็น “พระชายา” ของสมเด็จวังหน้าในรัชกาลที่ 3 (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ) มีพระโอรสหนึ่งพระองค์คือ “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์”

หม่อมขำ /หม่อมเป็ด (อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์) : หม่อมห้ามของสมเด็จเจ้าวังหน้า (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ) ผู้เลือกทำตามหัวใจตัวเอง ยอมสละทุกอย่างเพื่อหญิงที่เธอรัก เป็นคนที่มีเสน่ห์ เก่งงานครัว

หม่อมสุด /คุณโม่ง (เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ) : หม่อมห้ามของสมเด็จเจ้าวังหน้า (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ) อ่านออกเขียนได้ เก่งด้านกวี ท่าทีก๋ากั่นเหมือนผู้ชาย เป็นข้าหลวงใกล้ชิดพระองค์เจ้าวิลาศ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ)

พระองค์เจ้าวิลาส / กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (มณีรัตน์ คำอ้วน) : พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 เป็นสตรีสูงศักดิ์ที่ทั้งเก่งและทันสมัย พระสิริโฉมงดงาม มีพระทัยโอบอ้อมอารี รักศิลปะทุกแขนง

เจ้าจางวางหมอ / กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท (นนทัช ธนวัฒน์ยรรยง) : พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เป็นหมอถวายพระโอสถเจ้านาย ศึกษาวิชาแพทย์แบบดั้งเดิมและวิชาการแพทย์สมัยใหม่

พระองค์เจ้าสังข์ / พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (กิติกร โพธิ์ปี) : รูปงาม สุขุม อ่อนโยน เป็นน้องชายของพระองค์เจ้าวิลาศ มีพระธิดาซึ่งประสูติแต่หม่อมงิ้วคือหม่อมเจ้าโสมนัส ต่อมาภายหลัง พระธิดาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4

หม่อมงิ้ว (ชุติมา สิงห์ใจชื่น) : เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหม่อมมารดาในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุนทรภู่ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) : เป็นกวีที่มีชื่อเสียง มีช่วงชีวิตอยู่ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 ดังคำกล่าวที่ว่า “กวีสี่แผ่นดิน”

คุณสุวรรณ (หัสสยา อิสริยะเสรีกุล) : กวีสมัยรัชกาลที่ 3 มีใจรักการแต่งกลอนมาแต่เด็ก ถวายตัวทำราชการฝ่ายในตามเหล่าสกุล เป็นกวีที่มีฝีปากคมกล้า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปาน (ณภัค เจนจิตรานนท์) : ใฝ่รู้ หัวดี เรียนรู้ได้ไว มีไหวพริบ เห็นพ่อแม่ตายด้วยโรคระบาด จึงฝันอยากเป็นหมอเพื่อช่วยชีวิตคน

คุณพุ่ม (อริศรา วงษ์ชาลี) : คุณพุ่มเป็นธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ 3 เป็นกวีหญิงโสดฝีปากกล้า มีสำนวนกลอนเด่น มีความสามารถทางการว่าสักวาและเพลงยาว มีคารมคมคายมาก ได้สมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง”

เรื่องราวในครั้งกระโน้นมีว่า ...
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สนใจงานศิลปะ โดยเฉพาะงานกวี ทรงชุบเลี้ยงกวีหลายท่านในตำหนัก เช่น สุนทรภู่ , คุณสุวรรณ งานเด่นๆของคุณสุวรรณ กวีหญิงผู้ไม่เหมือนใครคนนี้ มีไม่กี่เรื่อง เช่น พระมะเหลเถไถ (งานเสียดสี เขียนรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่อ่านแล้วเข้าใจ) , อณุรุทร้อยเรื่อง (นำเรื่องจากวรรณคดี 51 เรื่อง และ 144 ตัวละครมาร้อยเรื่องใหม่) , เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และ เพลงยาวเรื่อง พระอาการประชวร กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เพลงยาว 2 เรื่องหลังนี้ เป็นการบันทึกเรื่องราวของวิถีชีวิตของสาวชาววัง รวมถึงการ “เล่นเพื่อน” (เลสเบี้ยน)ไว้ด้วย กรมหมื่นฯ สิ้นพระชนม์ลงเมื่อปี 2388 คุณสุวรรณจึงย้ายออกจากตำหนักตามประเพณี ท่านถูกคนสมัยนั้นกล่าวหาว่า พิกลจริต (วิกลจริต) เข้าทำนองเสียจริต มีสติฟุ้งซ่าน จนปี 2418 สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ถึงแก่อนิจกรรม ในวัย 67 ปี

หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นความรักแบบเลสเบี้ยนของ “หม่อมสุด และ หม่อมขำ” เดิมที ทั้งสองเป็น “นางห้าม” ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ครั้นท่านสิ้นพระชนม์ ทั้งสองก็ย้ายมารับราชการในพระตำหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในพระบรมมหาราชวัง หม่อมสุดรู้หนังสือ เขียนกาพย์กลอนได้ ท่านจึงให้อ่านบทกลอนถวายตอนบรรทม หม่อมสุดมีบุคลิกอย่างชาย พูดจาไม่เกรงใจใคร ! ส่วนหม่อมขำ เป็นสาวน้อยเรียบร้อย ยามเดินกระมิดกระเมี้ยน เหตุที่นางฟันหลอจึงเอากะลามะพร้าวมาทำเป็นฟันปลอม แล้วเอาเส้นไหมผูกเข้ากับฟันแท้ ฟันหลุดให้เป็นที่อับอายแก่เจ้าตัวเสมอ ยังมีเรื่องเปิ่นๆ ขำๆ ของนางอีกเยอะ!

ทั้งสองผูกจิตเสน่หา... คืนหนึ่งเมื่อหม่อมสุดอ่านกลอนถวายท่านเสร็จ ก็คิดว่า เจ้านายหลับแล้ว ! จึงดับเทียน เอาผ้าคลุมเข้ากอดจูบกับหม่อมขำ ทรงเห็นเหตุการณ์ที่หม่อมสุดเอาผ้าคลุมคล้ายเชิดสิงโตที่ปลายเท้า จึงตั้งชื่อว่า “คุณโม่ง” ส่วนฉายาหม่อมขำเรียก “หม่อมเป็ด” เพราะท่าเดินกระมิดกระเมี้ยน! (อ่านในกลอนเพลงยาว หน้า 9)

ทั้งคู่ บางวันมีเรื่องแง่งอนกัน บางวันทะเลาะเบาะแว้งกัน เมื่อเรื่องเข้าหูท่าน ก็เรียกมาไต่สวนแต่เมื่อยอมรับผิด ท่านก็ให้อภัยไม่ถือโทษ นี่คือเรื่องราวย่อๆของ “เลสเบี้ยน” คู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ คู่นี้ “รอด” ! สมร้าก จ้า
...
‘เจ้าหญิงยวงแก้ว’ เลสเบี้ยน น้อยใจ โดดตึก

ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นตึกในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักแห่งนี้ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระประยูรญาติและเจ้านายฝ่ายเหนือเสด็จมาประทับอยู่ด้วย โปรดเกล้าฯ ให้ทุกพระองค์แต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา ไว้ผมมวย รวมทั้งยังโปรดฯ ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ ส่วนพระองค์นั้นทรงสีซอและดีดจะเข้ได้ไพเราะมาก

พระประยูรญาติในตำหนัก อาทิ เจ้าหญิงทิพวัน ณ เชียงใหม่, เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่, เจ้าหญิงยวงแก้ว สิโรรส, เจ้าหญิงคำเที่ยง ณ เชียงใหม่, แม่นายบุญปั๋น พิทักษเทวี, เจ้าหญิงฟองแก้ว ณ เชียงใหม่, เจ้าหญิงยวงคำ ณ เชียงใหม่, เจ้าหญิงบัวระวรรณ (บึ้ง) ณ เชียงใหม่ และนัดดาน้อยๆอีก 2 ท่านคือ เจ้าหญิงลัดดาคำ ณ เชียงใหม่ , เจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่

เจ้าหญิงยวงแก้ว สิโรรส อาภัพมาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อแม่แยกกัน พ่อคือ เจ้าน้อยคำคง สิโรรส ท่านเป็นผู้อื้อฉาวในตำนาน นักเลงใหญ่แห่งนครเชียงใหม่ จนมีฉายาว่า “เจ้าน้อยค่ำคน” ค่ำคน หมายถึง ข่มเหงชาวบ้าน นั่นเอง!

เมื่ออายุ 7 ขวบโดยเสด็จ "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี" เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง ... 12 ปีผ่านไป ... เป็นสาวรุ่นวัย 19 หน้าตาดี นิสัย เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว แสนงอน แต่ดุดัน ! ราวกับถอดแบบจาก “เจ้าน้อยคำคง สิโรรส” ผู้เป็นพ่อ

ในปี 2449 เจ้าหญิงยวงแก้ว ไปชอบพอกับ ม.ร.ว. วงค์เทพฯ ซึ่งอยู่ตำหนักใกล้ๆกัน ซึ่งนางสาวหุ่นเป็นอีกคนในเกมรักนี้ และถือโอกาสโพทนาให้ร้ายไปทั่วทุกตำหนักข้างเคียงว่า เจ้าหญิงยวงแก้วเอาของล้ำค่าที่เจ้าดารารัศมีประทานให้ ไปปรนเปรอกับม.ร..ว. วงค์เทพ จนหมดสิ้น!

บรรดาข้าหลวง นางในตำหนักได้ข่าวนี้ ก็รีบแจ้นมากราบทูลเจ้าดารารัศมีว่า “เจ้าหญิงยวงแก้วเจอหลอกต้มตุ๋นแน่ๆ ถึงได้กล้าทำขนาดนี้” พระราชชายาซึ่งรักและเป็นห่วงเจ้าหญิงยวงแก้วมาก เพราะดูแลมาตั้งแต่เด็ก จึงเรียกมาอบรม ดุ เข้ม แอบขู่เล็กๆว่า ให้เอาของที่ให้ไปคืนมาทั้งหมด อีก 7 วันจะมาไต่สวนคดีความกันใหม่ และจะลงโทษให้สมความผิด แล้วส่งกลับไปอยู่เชียงใหม่”! ทำให้นางเสียใจมาก ...

ใครๆก็เชื่อ เรื่องปั้นแต่งของนางสาวหุ่นกันหมด เรื่องรักเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องตลก และนิยายรักต้องห้าม มีคนเดียวที่เชื่อในความบริสุทธิ์ของนางคือ เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ ซึ่งลงมาจากเมืองเหนือในคราวเดียวกันเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนนั้น เจ้าหญิงบัวชุมผู้นี้ ได้แต่งงานกับเจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม)ไปแล้ว คืนนั้นเจ้าหญิงบัวชุมมาพักที่ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เนื่องจากสามีไปราชการที่เชียงใหม่ ! เจ้าหญิงบัวชุมคิดว่า คำปลอบใจต่างๆคงให้ข้อคิดกับนางให้ได้คลายความเครียดลงบ้าง โดยหารู้ไม่ว่า ขณะที่เจ้าหญิงบัวชุมหลับสนิท ! เจ้าหญิงยวงแก้วก็ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเอาความตายพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนเอง เพราะไม่มีใครตัดสินให้ความยุติธรรมแก่นาง!

เธอก้าวเท้าขึ้นไปบนตึกชั้นสูงสุดของตำหนัก ... “ข้ามิได้ทำผิด ดังคนแกล้งใส่ความ” ! แล้วนางก็กระโดดจากตึกสู่พื้นเบื้องล่าง! ร่างของนางถูกหามส่งโรงพยาบาล โดยออกมาทางประตูผี สำราญราษฎร์ และสิ้นใจตายก่อนถึงโรงพยาบาล ....

“เลสฯ” รุ่นบุกเบิก ตุยแล้ว หนึ่ง!

พระองค์เจ้าไกรสร ทรงสวาทกับโขนผู้ชาย!

ป้าย “พระประวัติ” ในศาลากรมหลวงรักษ์รณเรศ วัดปทุมคงคาวรวิหาร ซึ่งประดิษฐาน “แท่นสำเร็จโทษ” จารึกว่า
กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรส ลำดับที่ ๓๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.๑) และลำดับที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว นามเดิม “พระองค์เจ้าชายไกรสร”
ประสูติ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๕๓ ตรงกับวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๔
ในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กำกับกรมสังฆการี
ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ กำกับกรมวัง
ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นแม่กองสร้างป้อม กำแพงเมืองฉะเชิงเทรา และสร้างเมืองฉะเชิงเทราใหม่ เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านทิศตะวันออก พร้อมกันนี้ได้สร้างวัด ชื่อ วัดเมือง
ในรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานนามวัดเมืองใหม่ว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” (แปลว่า วัดที่อาว์ของเจ้าแผ่นดินสร้าง) ในคราวเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๔๕๑
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก จุลศักราช ๑๒๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ส. ๒๓๙๑ พระชันษา ๕๘ ปี
กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นต้นสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ก.ศ.ร. กุหลาบ บันทึกไว้ว่า “พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตะกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ” วารสารภาษาอังกฤษชื่อ Siam Repository ว่า “ทรงมีความรู้ด้านพุทธศาสนาอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ”

เรื่องพระองค์เจ้าไกรสร เป็นเรื่องที่มีสีสัน หลากหลายเรื่องราว แม้ว่า บางมุมของท่านถูกโฟกัสเรื่อง “ทรงสวาทกับโขนผู้ชาย” แต่วาระสุดท้ายที่ท่านถูกประหารชีวิตนั้นทรงมีความผิดอื่นๆอีกมาก เช่น เกลี้ยกล่อมหาไพร่พลซ่องสุม ส่อพิรุธว่าจะขบถ หลังสิ้นรัชกาลที่ 3 ทรงกล่าวว่า "ถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร" ,ปัญหาของท่านกับ “พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) มีอยู่เนืองๆ, ชำระคดีของราษฎรไม่ยุติธรรม , รับสินบนจากโจทก์และจำเลย , เบียดบังเงินเบี้ยหวัดและเงินขึ้นวัดพระพุทธบาทปีละหลายสิบชั่ง , นอกจากนี้ ยังมีบ่าวอีกหลายคนถูกลงโทษประหารในคราวเดียวกัน
การตัดสินโทษประหารชีวิตหม่อมไกรสร ก็เพื่อตัดปัญหาการชิงราชบัลลังก์หลังสิ้นรัชกาลที่ 3 และปูทางให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สืบสันตติวงศ์ในเวลาต่อมา

วาระสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถอดยศจาก “กรมหลวง” เป็น “หม่อมไกรสร” ลงพระอาญาด้วยการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร นับเป็นราชวงศ์องค์สุดท้ายที่โดนสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้ , พระรูปของท่าน มีประดิษฐานใน ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ ในฐานะผู้สร้างวัดเมือง (ปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์) จ. ฉะเชิงเทรา

พระองค์เจ้าไกรสรมีหม่อมหลายคน แต่ไม่ปรากฏชื่อ มีเพียงบุตรชาย-หญิงทั้งสิ้น 11 พระองค์ ทรงเลี้ยงโขนผู้ชายไว้มาก ภายหลังไม่ได้ร่วมหลับนอนกับหม่อมในวังเลย รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้เอาพวกโขนละครมาไต่สวน ได้ความว่า ว่า "...ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชำเรา แต่เอามือพวกละครและมือของพระองค์ท่านกำคุยหฐาน ของทั้งสองฝ่ายจนภาวธาตุเคลื่อน..." พูดง่ายๆก็เหมือนอาการตำน้ำพริก นั่นแหละ ! นี่เป็นรสนิยมทางเพศที่ระบุไว้ในเอกสาร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงจนท่านโดนประหารแต่อย่างใด

ตุยไปแล้ว สอง! จากความผิดทางคดีความ แต่นิยมทรงสวาทกับโขนผู้ชาย !

มีชนชั้นสูงอีกหลายคนซึ่งมีความหลากหลายทางเพศ บ้างก็ตกหล่นไปตามกาลเวลา บางคนเราอาจจะได้แค่ เอ๊ะ ! เพราะคำตอบล่องลอยอยู่ในสายลม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข่าวคราวของประชาชนถูกเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น เกือบ 100 ปี มาพร้อมข่าว และศัพท์แสงต่างๆที่ใช้เรียกคนกลุ่มนี้ แต่ละคำ ล้วนมีความหมายในเชิงลบ-เหยียด ! เช่น ถั่วดำ , ตุ๋ย , ตุ๊ด , ตีฉิ่ง,กะเทย, สาวประเภทสอง, ประเทือง ฯลฯ กลุ่มผู้หลากหลายต้องก้มหน้ารับ “คำเรียก” เหล่านี้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ! เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ปี 2024 ศัพท์ในความหมายเหยียดพวกนี้เริ่มหายไป ชุมชนนี้ขยายตัวมากขึ้นทุกปี จาก “Lesbian, Gay, Bisexual” แต่เดิมขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น LGBTQ+ เป็น LGBTQIAN+ และล่าสุด สังคมก้าวสู่ LGBTQQIP2SAA พร้อมจะเลือกเพศด้วยตัวเอง และมีแนวความชอบเฉพาะตัว !
เราจะขอปิดท้ายกับเขาคนนี้ !

“ประโนตย์ วิเศษแพทย์” สาวประเภทสอง ผู้อาภัพรัก!

ช่วงหนึ่งสังคมใช้และรู้จักคำนี้ “สาวประเภทสอง - กะเทย” แม้จะไม่มีความรู้และความเข้าใจคนกลุ่มนี้ก็ตาม !

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2481 สมาชิกใหม่ของครอบครัว “วิเศษแพทย์” ของพ่อยงค์ วิเศษแพทย์ และหม่อมหลวงบุนนาค (นามสกุลเดิมคือ ฉัตรกุล) เด็กชายประโนตย์ เกิดในครอบครัวนี้ เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน (ประนอมนิตย์, ประโนตย์, ปราณี, นิยมพร และ จันทราทิพย์) ครอบครัวเป็นเศรษฐีที่ดินในย่านสวนพลู มีที่ดินให้คนได้อยู่อาศัย เช่าทำกิน สวนพลูสมัยนั้น ไม่ได้ทันสมัยอย่างทุกวันนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวน ชาวบ้านนิยมปลูก “ใบพลู” กัน ! บางคนปลูกผัก ผลไม้ และเลี้ยงหมู เป็ดไก่ สมัยก่อน จะขนส่ง เข้า-ออก ต้องใช้เรือ

ประโนตย์ เด็กชายกิริยาเรียบร้อย ซึมซับมาจากพี่น้องที่เป็นผู้หญิง ช่วงอายุ 12 โนตย์ต้องขี่จักรยานออกทางเล็กๆเพื่อไปโรงเรียนในกรมฯ (โรงเรียนนาฏศิลป์ -สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) แม่รักลูกชายคนนี้มาก ถึงขนาดต่อเติมบ้านให้เพื่อนๆที่โรงเรียนมาเม้าท์มอยกันที่บ้าน เรียนนาฎศิลป์ ได้ร่ายรำในบท “นางสีดา” ต่อมาได้ใช้ชื่อตัวละครนี้ไปประกวดเวทีสาวประเภทสอง โนตย์เรียนไม่จบ ทางโรงเรียนจับได้ว่าไปลงประกวดจากข่าวหนังสือพิมพ์ แม่ยกรายได้จากค่าเช่าบ้านให้โนตย์เป็นค่าใช้จ่าย สมัยนั้น มีประกวดกันเยอะ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โนตย์นำเส้นผมจากร้านมาทำวิก หน้าอกหน้าใจก็โกยนมให้เกิดร่อง .... ทุกเวทีคว้ามงกุฎมาเสมอ จนได้ฉายาว่า “สีดา นางงาม 50 มงกุฎ” รางวัลเก็บไว้จนเต็มตู้โชว์ สาวสอง พูดกันว่า “ถ้านังโนตย์ลงประกวด ขอบาย ไม่สู้ด้วย” ภายหลัง โนตย์ตัดสินใจลาเวที สละรางวัลให้กับสาวสองคนอื่นๆได้ชื่นชมกับความสวยกันบ้าง !

ในราวปี 2500 มีการประกวดที่บริเวณท่าช้าง นอกจากขันน้ำ พานรองแล้ว ยังเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะได้เงินสดๆอีก 500 บาท เพื่อนของเธอจึงมาชักชวนให้ไปประกวดทิ้งทวนครั้งสุดท้าย แรกๆว่าจะไม่ แต่เจอกล่อมอยู่พักใหญ่ ก็ตกลง! คืนนั้น รางวัลเป็นของเธอ ค่ำคืนนั้น เธอได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่ง เขาชื่อ “บูลย์” หรือ สมบูรณ์ มีอาชีพรับจ้างเข็นผักอยู่ที่ปากคลองตลาด

เธอไม่ได้รังเกียจที่เขามีฐานะต่ำต้อยกว่าครอบครัวเธอ โนตย์อยากจะครองครองเป็นเจ้าของบูลย์ทุกวินาที ลึกๆแล้ว คงกลัวต้องเสียผู้ชายให้กับผู้หญิงแท้ๆ เธอกลายเป็นคนขี้หึง เขากลับบ้านผิดเวลาไม่ได้เป็นต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ โนตย์ใจร้อน ไม่ไว้หน้า คิดว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของบูลย์ บางครั้งเข้าทุบตีจนต้องไปเย็บถึง 30 เข็ม บูลย์ทนบทบู๊ล้างผลาญมานานถึง 8 ปี ทุกอย่างก็จบลง บูลย์ตัดสินใจมีผู้หญิงคนใหม่ ไม่ร่ำลาและจากโนตย์ไปอย่างไม่ใยดี

โนตย์ใช้ชีวิตไร้จุดหมายไปวันๆ ผ่านค่ำคืนที่เปลี่ยวเหงาด้วยการเที่ยวและดื่มเหล้า เมากับเพื่อน ถึง 2 ปีเต็ม เพื่อให้ “ลืม” คนรัก !

แล้วผู้ชายคนใหม่ก็ก้าวเข้ามาในชีวิตประโนตย์ วิเศษแพทย์ เพื่อนๆเรียกว่า “ชีพ” ชื่อจริงคือ สมชาติ แก้วจินดา เขารับจ้างขับสามล้อ ฐานะยากจน อาศัยอยู่ในสลัมย่านทุ่งมหาเมฆ วันที่เขาขับรถมาส่งโนตย์กับเพื่อน เขามองกระจกส่องหลัง แม้โนตย์เมา ฟุบหลับ และทรุดโทรมไปมาก แต่ก็ยังเหลือเค้าความงามอยู่

โนตย์ลืมบูลย์ได้ เมื่อชีพก้าวเข้ามาในชีวิต แต่พิษรักแรงหึงก็มาอาละวาดอีกจนได้ หนนี้หนักหนาสาหัสกว่าเก่า เพราะชีพหล่อเหลากว่าบูลย์ ที่เพื่อนตั้งชื่อเล่นว่า “ชีพ” มาจากชื่อพระเอก “ชีพ ชูชัย” ในภาพยนตร์เรื่องเล็บครุฑ ที่ลือชัย นฤนาถ เล่นเป็นพระเอก ! ชีพในสมัยนั้น เป็นไอ้ต้าวหนุ่มสุดฮ็อต ขวัญใจแม่ค้าย่านตลาดบางรัก พร้อมประเคน “มาลัย” ถึงหน้ารถให้โดยไม่ต้องซื้อเลย

พอโนตย์รู้เรื่อง “หัวร้อนไฟลุกทันที” อยู่บ้านใส่ชุดไหนไปชุดนั้น บุกตลาดบางรักด่าอาละวาด... แม่งหมด “ไอ้ อี ทุกตัว อย่ามายุ่งกับผัวกู!” จนต้องไปจบคดีกันที่โรงพัก อันที่จริง ... ชีพรักโนตย์มาก หาเงินได้ก็ให้เมียเก็บหมด เพื่อป้องกันข้อครหาว่า มาเกาะเมียกิน ! ต่อมา โนตย์ เช่ารถแถวให้ชีพขับส่งผู้โดยสารแทนรถสามล้อ โดยตัวเธอนั่งคู่เป็นแม่ย่านางคอยเก็บค่าโดยสารและคุมผัวทุกฝีก้าว นับวันชีวิตของชีพเหมือนถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน กระดิกไปไหนแทบไม่ได้ ! ทั้งคู่เคยสาบานรักที่วัดพระแก้ว

“ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน สีดาตายก่อน ชีพจะต้องตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาจะตามไป”

ระยะหลัง โนตย์เริ่มเรียกร้องความสนใจหนักขึ้น เธอดื่มยาฆ่าแมลงหมายจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง หลายวาระ เบื่อหน่ายกับชีวิต อยากตายให้พ้นๆ ! ทั้งที่ชีพไม่เคยนอกใจ แต่กลับบ้านช้าเพราะมีงานต่อเนื่อง

ในที่สุด การกินยาฆ่าแมลงครั้งสุดท้ายก็มาถึง วันนั้น บ้านสวนพลูวุ่นวายกันมาก เพราะต้องเอาโนตย์ไปล้างท้องโรงพยาบาล “ปราโมทย์ คชสุนทร” นักหนังสือพิมพ์ สามีของปรานี น้องสาวของโนตย์ หยิบขวดยาในห้องนอนไปซ่อนไว้บนศาลพระภูมิ ประโนตย์ วิเศษแพทย์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ศพตั้งที่วัดหัวลำโพง เมื่อ 2 พฤษภาคม 2510 ชีพรู้ข่าวในคืนนั้น ร้องไห้อย่างหนักรีบมาที่วัดจะตรงเข้าไปกอดศพ แต่ศาลาปิดแล้ว ทางบ้านตั้งใจไว้ศพโนตย์ 100 วันก่อนเผา

รุ่งขึ้น ซีพบวชเณรอุทิศส่วนกุศลให้โนตย์ ผ่านงาน 3 วันเก็บศพแล้ว ในช่วงเย็น สามเณรชีพได้เดินขึ้นกุฏิบอกหลวงตาว่า อยากสึกคืนนี้ !? หลวงตามองไปเห็นไม่มีเงาหัว เลยบอกว่า “อยู่อีกสักคืนเถอะ พรุ่งนี้เช้าจะสึกให้ มานอนที่กุฏิหลวงตาก่อนก็ได้” สามเณรชีพเดินกลับกุฏิ และปลดจีวรด้วยตัวเอง เดินออกจากวัดหัวลำโพงไปที่บ้านซอยสวนพลูอีกครั้ง

ชีพคงตัดสินใจและเตรียมการบางอย่างในใจแล้ว เขาบอกพี่ๆให้ช่วยนำ พัดลม โทรทัศน์ ไปจำนำ ตอนกลางคืนนอนสะอึกสะอื้นกอดรูปบานใหญ่ที่โนตย์ถ่ายที่ “ห้องภาพฉายาจิตรกร” สมัยที่เป็น “สีดา สาวสวยประเภทสอง”

13 วันต่อมา วันที่ 15 พฤษภาคม อยู่ดีๆ สายตาของชีพคงจะเหลือบไปเห็นขวดยาฆ่าแมลงที่ศาลพระภูมิ จึงนำไปดื่มต่อ โดยเขียนจดหมายสั่งลาทุกคนว่า “ให้ช่วยนำเงินจากการจำนำของไปทำศพผม และให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระดูแลแม่ด้วย”
ณ โรงพยาบาล เขานอนตายบนเตียงที่โนตย์เคยนอนตายเมื่อ 13 วันที่แล้ว

ศพของโนตย์และชีพ ถูกนำมาตั้งไว้คู่กัน ณ ศาลาวัดหัวลำโพงเพื่อทำพิธี หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวนี้เมื่อ 17 พฤษภาคม 2510 หลังงานศพ ครอบครัวของชีพก็ย้ายออกจากสลัมย่านทุ่งมหาเมฆ และไม่พบอีกเลย

ความรักของเขาและเธอเป็นที่มาของเพลง “สีดา” ที่ขับร้องโดย “แจ้” ดนุพล แก้วกาญจน์

ตุยอีกหนึ่ง ! เป็นโศกนาฏกรรมรายที่ 3... ในยุคแรกๆ ขอจบแต่เพียงนี้ ! เพราะหลัง 2510 เรื่องราวของคนในชุมชนนี้เริ่มอยู่ในสายตาของผู้คนในสังคม จากรุ่นสู่รุ่น ! ...

ภาพ - ข้อมูล บางส่วนจากอินเทอร์เน็ต

(สัปดาห์หน้า พบกับ Happy Pride Month 2024 VOL 2)

หมายเหตุ - ข้าหลวง-นางใน (ในรูป) ประกอบด้วย

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระรูป พร้อมด้วยข้าหลวงนางใน
(นั่งล่างสุด นับจากซ้าย)
: คุณบุญปั๋น (คุณหญิงบุญปั๋น ราชไมตรี สิงหลกะ)
: เจ้าทิพวัล ณ เชียงใหม่
: เด็กหญิงแอ๊ว ลูกช่างทำพระเกศา
: เจ้าเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ (นั่งเกาะขา)
: เจ้าฟองแก้ว ณ เชียงใหม่
(บนแถว ๒ นับจากซ้าย)
: เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่
: เจ้าเครือคำ ณ เชียงใหม่ (ท่ายืนซ้าย)
: เจ้าคำเที่ยง ณ เชียงใหม่
: พระราชชายาดารารัศมี
: เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่
: เจ้าบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ (ท่ายืนขวา)
(ยืนกลางบนสุด)
: เจ้ายวงแก้ว สิโรรส
ขอขอบพระคุณเจ้าของภาพ / ลงสี
Cr. S.PHORMMAS COLOURLZATIONS
Cr. ชมรมล้านนาประเทศ
เรียบเรียงโดย : Yung Yung

“LGBTQQIP2SAA” หมายถึง
L – Lesbian (เลสเบี้ยน) กลุ่มผู้หญิงที่สนใจหรือดึงดูดผู้หญิงด้วยกัน
G – Gay (เกย์) กลุ่มผู้ชายที่สนใจหรือดึงดูดผู้ชายด้วยกัน
B – Bisexual (ไบเซ็กชวล) กลุ่มที่สนใจทั้งชายและหญิง
T – Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) ผู้ที่มีเพศสภาพปัจจุบันต่างจากเพศสภาพตอนกำเนิด
Q – Queer (เควียร์) ผู้ไม่ระบุเพศให้ตัวเอง ชอบได้ทั้งหมด
Q – Questioning (เควสชันนิ่ง) ผู้ที่ยังคงสำรวจตัวเอง ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทาฃเพศตัวเอง
I – Intersex (อินเตอร์เซ็กส์) ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับอวัยวะหรือฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง
P – Pansexual (แพนเซ็กชวล) ผู้ที่รักได้ทุกเพศ มีขอบเขตกว้างกว่าไบเซ็กชวล
2S – Two Spirit (ทู สปิริต) กลุ่มที่มีจิตวิญญาณเป็นทั้งเพศชายและเพศหญิงในร่างเดียวกัน
A – Asexual (เอเซ็กชวล) กลุ่มที่ไม่โฟกัสด้านความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศ
A – Allies (แอลลาย) ผู้ที่สนับสนุนและยอมรับในกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีอัตลักษณ์ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

ขันที จากละคร “หนึ่งด้าวฟ้าดียว”

จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์

โปสเตอร์ละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์”

หม่อมสุด /คุณโม่ง(เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ), หม่อมขำ /หม่อมเป็ด (อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์)

 พระองค์เจ้าวิลาส / กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (มณีรัตน์ คำอ้วน)

สุนทรภู่ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์)

คุณสุวรรณ (หัสสยา อิสริยะเสรีกุล)

เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และ เพลงยาวเรื่อง พระอาการประชวร กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ตัวอย่างกลอนเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์

ตัวอย่างกลอนเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์

ใครเป็นใคร ในละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์”

พระมะเหลเถไถ และ อณุรุทร้อยเรื่อง

เบื้องหลังข่าว เจ้าหญิงยวงแก้วกระโดดตึก

หนังสือ เพ็ชร์ลานนา โดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

พระประยูรญาติในตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี  (ใครเป็นใคร ดูจากท้ายบทความ)

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ และ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม)

ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบรมมหาราชวัง

ปกนี้ “ผู้จัดการภาคเหนือ” เคยพิมพ์ หนังสือ เพ็ชร์ลานนา โดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ  วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์

พระประวัติ ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

แท่นประหาร ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

“พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)

ก.ศ.ร. กุหลาบ

ตัวอย่าง วารสารภาษาอังกฤษชื่อ Siam Repository

การแสดงโขนในอดีต

ประโนตย์ วิเศษแพทย์ ลงสีใหม่ โดย KAPP KALP COLORIZATIONS

ภาพนี้แหละ ที่ประโนตย์ถ่ายที่ ห้องภาพ ฉายาจิตรกร”

ครอบครัววิเศษแพทย์

ยามว่างสีดา





โลงศพของ “ชีพและโนตย์”  ตั้งคู่กันที่วัดหัวลำโพง!


กำลังโหลดความคิดเห็น