xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยละคร "บุญเพ็ง" พิศวาสฆาตกรรม!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามรอยละคร "บุญเพ็ง" พิศวาสฆาตกรรม!?

วันที่ 19 สิงหาคม 2462 นายบุญเพ็งถูกประหารชีวิตที่วัดภาษี ริมคลองแสนแสบ ทุกวันนี้คือ "ย่านเอกมัย" ทางด้านถนนเพชรบุรีตัดใหม่
วันที่ 8 มีนาคม " The Angles นางฟ้าล่าผี ปี 2" แพร่ภาพทาง “MONO 29” (โมโน ทเวนตี้ไนน์)ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.30-21.30 น. ซีรีส์ชุดนี้มีเค้าโครงจาก "ผีบุญเพ็ง" ซึ่ง "วินัย ไกรบุตร" รับบทบาทนี้
ที่ว่ากันว่า "เป็นฆาตกรต่อเนื่อง" นั้น เป็นเรื่องที่พูดและลือกันไปเอง...
"ลือว่า มีหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อของบุญเพ็งหลายราย และหญิงสาวเหล่านั้นทยอยหายตัวไปพร้อมหีบเหล็กที่หายไปเรื่อยๆ จนถึงมีการหั่นศพหญิงสาว" เรื่องที่พูดกันไปนี้ ทำให้ "บุญเพ็ง" กลายเป็นเรื่อง "ฆาตกรโรคจิต - พิศวาสฆาตกรรม" ซึ่งมี "สีสัน" เหมาะกับการทำหนังและละครเป็นอย่างยิ่ง !?
สมัยนั้น ยังไม่มีการใช้ "นามสกุล" - - "นายบุญเพ็งหีบเหล็ก" จึงเป็นฉายาที่เรียกตามเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้น
ความจริง ! นายบุญเพ็งฆ่าเพียง "นายล้อม" และ "นางปริก" เท่านั้น และทั้ง 2 คดี มีผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย ! ไม่ได้ลงมือเพียงคนเดียว
.....

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ...
ปลายปีนั้น .... พ.ศ. 2460 ชาวบ้านในละแวกคลองบางกอกน้อย ซึ่งมีอาชีพในการงมกุ้ง จับปลาในคลองนั้น ได้พบหีบเหล็กใบหนึ่งที่จมอยู่ในคลองแห่งนั้น
"ข้าว่า พวกคนรวยคงจะเอาสมบัติมีค่า ทองหยองทั้งหลายแหล่ ใส่หีบมาโยนฝากน้ำ ตอนมีสงคราม แรงน้ำมันคงพัดมาถึงนี่" ชาวบ้านผู้พบหีบเหล็กใบนั้นกล่าวสันนิษฐาน
ชาวบ้านคนอื่นๆ ต่างตื่นเต้นกับหีบเหล็กใบนั้นเป็นนักหนา ด้วยคิดว่า เป็นหีบมหาสมบัติสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เมื่อเปิดหีบออก ทุกคนที่มามุงดู ต่างทำหน้าสยอง ขนลุก เมื่อเห็นศพชายคนหนึ่งในสภาพเน่าเปื่อยในหีบนั้น!?
.....
นายบุญเพ็ง เกิดปีขาลในเพชฌฆาตฤกษ์ เป็นคนท่าอุเทน มณฑลอุดร (สมัยนั้น แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล มณฑลอุดร จะกินพื้นที่ อุดรธานี, ขอนแก่น, เลย, นครพนม, หนองคาย, สกลนคร) ต่อมา บุญเพ็งได้เข้าพระนคร และร่ำเรียนไสยเวทเมื่ออายุ 15 ปีกับสัปเหร่อคนหนึ่ง เริ่มบวชเรียนในบวรพุทธศาสนาเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดเทวราชกุญชร แต่ประพฤติไม่เหมาะสมจึงถูกไล่ออกจากวัด ย้ายมาอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อแรกเจ้าอาวาสไม่ยอม แต่พระบุญเพ็งให้คำมั่นว่าจะกลับตัว กลับใจ ประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย เจ้าอาวาสจึงยอม
บุญเพ็งใช้วัดและผ้าเหลืองเป็นเกราะในการประกอบวิชาชีพทางไสยศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา ปรากฏมีผู้เลื่อมใส หลงเชื่อเป็นจำนวนไม่น้อย
แต่ภายหลังถูกจับสึก !! เพราะใช้ "กุฏิ" เป็นที่มั่วสุม กินเหล้า เล่นการพนัน !
ตอนนั้น เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ หารู้ไม่ว่า กุฏิหลังนั้น ยังเป็นที่ "ฆ่า" นายล้อม พ่อค้าเพชร ร่วมกับนายพัน ในฐานะ "ผู้รู้เห็น" และว่าจ้างรถเจ๊กนำหีบเหล็กไปโยนน้ำ !
นายบุญเพ็งฆ่านายล้อม ขณะที่ยังอยู่ในเพศบรรพชิต !
.....
รุ่งเช้าของวันที่ 7 มกราคม 2461 นายบุญเพ็งได้ส่งคนมามอบจดหมายแก่ "นางปริก" ! ตอนนั้น เขาถูกจับสึกแล้ว ...
"ให้แม่ปริกมาตามนัดหมาย เพื่อมารับสร้อยที่ฉันขอยืมไว้คืน" จดหมายบุญเพ็งกล่าวเพียงสั้นๆไว้แค่นั้น ... หลังจากนั้น นางปริกก็ไปตามนัดหมาย เพื่อจะเอาสร้อยคอทองคำมีน้ำหนักเส้นละ 10 บาท จำนวน 2 เส้นนั้นมาคืน
ทำไม !? นางปริกจึงไว้เนื้อเชื่อใจนายบุญเพ็ง
นางปริก เป็นภรรยาของนายปลั่ง (ขุนสิทธิคดี) ฐานะร่ำรวย จึงเก็บสะสมเครื่องทอง เครื่องเพชรไว้เป็นจำนวนมาก ความสนิทชิดเชื้อนั้น น่าจะเป็น "ลูกค้า" คนหนึ่งของนายบุญเพ็ง ผู้ชำนาญในด้านเวทมนตร์ อาคม มหาเสน่ห์ ทางไสยศาสตร์ บ้างก็ว่านางปริกได้ลักลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ตั้งแต่สมัยนายบุญเพ็งยังบวชอยู่
วันที่ 12 มกราคม 2461 ยามเย็น ตะวันคล้อยต่ำ แสงสีส้มจับขอบฟ้า ...
บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏหีบเหล็กใบหนึ่งลอยมาติดที่หน้าวัดไทรม้า จ. นนทบุรี ภายใน พบศพผู้หญิงนางหนึ่ง ในสภาพนั่งยองๆถูกมัดมือมัดเท้า มีมุ้งคลุมห่อศพ และมีอิฐถ่วงในหีบนั้นอีก 8 ก้อน
หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ประจำวันที่ 14 มกราคม 2461 อำมาตย์เอก พระยานนทบุรี นครบาลนนทบุรี ลงประกาศรูปพรรณสัณฐานของผู้ตาย เพื่อสืบหาญาติ !!
ในวันเดียวกันนี้ นายบุญเพ็งก็เข้าพิธีแต่งงานกับนางตาด ! ลูกสาวของนางบัว มีบ้านช่องอยู่ที่ถนนตีทอง
15 มกราคม มารดานางปริกให้การว่า ลูกสาวได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม
"ฉันสงสัยว่า นายบุญเพ็งจะเป็นผู้ฆ่า หมายชิงสร้อยข้อมือทองคำ" นางให้การอย่างนั้น
หีบเหล็กใบที่สอง เป็นศพของ “นางปริก” ผู้ร่วมก่อคดีกับนายบุญเพ็งคือ นายจรัลและสมีเจริญเมื่อนายบุญเพ็งถูกจับ สารภาพว่า ต้องการเงินไปแต่งงานกับนางตาด !
17 กุมภาพันธ์ 2461 เริ่มพิจารณาคดี
สมัยนั้น 1 เมษายน ถือเป็นวันปีใหม่ ....
"คดีหีบลอยน้ำ" ลงหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นอย่างครึกโครม คดีสิ้นสุดเมื่อ 12 สิงหาคม และ 19 สิงหาคม 2462 นายบุญเพ็งถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัวที่วัดภาษี ...
เช้าวันนั้น ชาวบ้านและผู้คนมามุงดูการประหารอย่างเนืองแน่น นายบุญเพ็งไม่ได้มีท่าทีสะทกสะท้าน เสียอก เสียใจกับการประหารแต่อย่างใด นายบุญเพ็งก็ยังเชื่อมั่นในวิชาอาคมของตนเองอยู่ ... แม้เพชฌฆาต จะนำดอกไม้ ธูป เทียนมาใส่มือที่พนมไว้ เขาก็ยังพูดคุย ยิ้มแย้ม ชวนหัวกับผู้คนที่มามุงดูรอบข้างตลอดเวลา
บุญเพ็ง ส่ายสายตามองไปรอบๆบริเวณ เห็นบนต้นไม้ใหญ่ มีเด็กๆ ปีนขึ้นไปดูการประหาร
"เห้ยๆไอ้นู๋ พวกมึงจะปีนขึ้นไปดูทำไมว่ะมาดูข้างล่างนี่ ไอ้ห่า... เดี่ยวตกลงมา ตายก่อนกู จะหาว่าไม่เตือนนะโว้ย" พูดแล้ว บุญเพ็งก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ชอบใจ!
การประหารบุญเพ็งวันนั้น ใช้เพชฌฆาตถึง 3 คน !
เอากำลังของ“เพชฌฆาตฤกษ์” ฝ่ายธรรมมะ เข้าล้าง เพชฌฆาตฤกษ์” ฝ่ายอธรรม
ข้อดีของ เพชฌฆาตฤกษ์ คือ มีดวงสำหรับคุ้มตัวเอง เพราะถ้าใช้คนในฤกษ์อื่นทำการฆ่า จะต้องอาถรรพณ์ให้ "อายุสั้น" เพราะการฆ่าคนคือบาปสูงสุด !
นายบุญเพ็ง เชื่อในเวทมนตร์อาคมทางไสยเวทที่ร่ำเรียนมาหนึ่ง และเชื่อว่า ผู้เกิดในเพชฌฆาตฤกษ์มี “ดวง” คุ้มครองตนอีกหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงไม่มีความเกรงกลัวว่าจะถึงแก่ชีวิตแต่อย่างไร
นายบุญเพ็ง ฆ่าผู้บริสุทธิ์ถึง 2 คน ทำให้ดวงคุ้มครองตนไม่สามารถช่วยตัวเองได้อีกต่อไป !
ในลานประหาร ... เหล่าเพชฌฆาต แต่งกายด้วยเตี่ยวแดง หยักรั้ง สวมเสื้อกั๊กแดงลงยันต์มหาอำนาจ - มหาเดช คาดศีรษะด้วยผ้ายันต์ผืนแดง ... ปี่หลวง ทำเพลงโหยหวน...
ลงดาบครั้งแรก แทบไม่ระหายผิวหนัง
"อ้ายบุญเพ็ง เอ็งมีอะไรดี จงบอกมา" ...
คราวนี้ บุญเพ็งปิดปากเงียบ เพชฌฆาตนึกรู้ จึงตบเข้าที่บริเวณบ่าด้านหลัง ยังผลให้พระที่บุญเพ็งอมซ่อนไว้ กระเด็นหลุดออกจากปากทันที !
" นี่เอง ... ของดี" ว่าแล้ว เพชฌฆาตก็หยิบเอาพระองค์นั้นขึ้นเทิดไว้เหนือหัว บอกกล่าวเจตนา และอาราธนาพระองค์นั้นไปอยู่ยังกอไม้ละแวกนั้น เพื่อให้พ้นจากรัศมีอาคมของนายบุญเพ็ง
นายบุญเพ็ง ขยับปากพึมพำราวพร่ำบ่นเวทมนตร์คาถา ดวงตาบ่งบอกถึงความพยายามในการรวบรวมกำลังของอาคมเป็นครั้งสุดท้าย
เพชฌฆาตลงดาบอีกครั้ง ร่างบุญเพ็งกระตุก ยกมือขึ้นสูง เลือดพุ่งเป็นสาย อ้าปากจะร้อง...
ดาบแรก หัวยังไม่หลุดจากบ่า ! ผู้คนที่มามุงดูการประหารต่างร้องวี๊ดว้ายด้วยความเสียวไส้ ...
ทันใดนั้น เพชฌฆาตดาบสองก็ฟันอีกครั้งจนหัวนายบุญเพ็งหลุดจากบ่า กลิ้งไปตามทาง ...
หลังประหาร เมื่อมีการเผาศพ ปรากฏว่า ร่างกายส่วนอื่นๆไหม้ไฟทั้งหมด ยกเว้นรอยสักยันต์กลางแผ่นหลังที่ไม่ไหม้ ... เมื่อแรก เถ้ากระดูกได้เก็บไว้ในเจดีย์ถายในวัด ต่อมาที่บริเวณเจดีย์นั้นได้รื้อถอนไป จึงได้ปั้นหุ่น และสร้างศาลา ผู้ออกเงินในการสร้างศาลานี้ มีจารึกชื่อ กำกับบนศาลาว่า "อนุสรณ์ นางสมพร ใจเพชร" 4 ธันวาคม 2520
เรื่องของ “บุญเพ็งหีบเหล็ก” ผ่านมา 98 ปีแล้ว ....บันทึกของวัดภาษี ระบุว่า
"สมัยก่อนทางราชการได้ใช้พื้นที่ป่าช้าท้ายวัดเป็นแดนประหารนักโทษด้วยการตัดคอ ภายหลังได้ยกเลิกเปลี่ยนมาเป็นการยิงเป้าแทน จากหนังสือสยามโบราณบันทึกไว้ว่า นักโทษที่ถูกทางการประหาร ด้วยการตัดคอ คนสุดท้ายในป่าช้าท้ายวัด ชื่อ น.ช. บุญเพ็ง หรือที่รู้โดยทั่วไปว่า "บุญเพ็งหีบเหล็ก"
รูปปั้นนายบุญเพ็งคือ อนุสรณ์การตัดหัวนักโทษเป็นคนสุดท้ายของวัดแห่งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึง "บาปบุญคุณโทษ" แต่ไม่ใช่ทิพยภาวะที่ว่า "จอมขมังเวทย์ ช่วยให้พ้นคดีความ จุดธูป 9 ดอก" ตามที่ใครไม่รู้ ! ติดไว้แต่อย่างไร !? 

โลกมายาของ "บุญเพ็ง หีบเหล็ก"
"พยุง พยกุล" สร้าง "บุญเพ็งหีบเหล็ก" มาถึง 3 ครั้ง - ปี 2510 แสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ปริศนา ชบาไพร, แมน ระพล, ชฎาพร วชิรปาณี, ปี 2523 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ปริศนา ชบาไพร, ไพโรจน์ ใจสิงห์, สุพรรณี จิตเที่ยงและล่าสุด 2557 นำแสดงโดย เปิ้ล-ไอริณ ศรีแกล้ว-ดีเจแมน พัฒนพล กุญชร ณ อยุธยา
* โปสเตอร์หนังจาก www. drpaween.com

ในปี 2547 เคยเป็น VCDนำแสดงโดย พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์, ชโลมจิต จันทร์เกตุ, ทัดทรวง มณีจันทร์
2558 เปลว ศิริสุวรรณ ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ - ผู้เขียนบท - กำกับการแสดง ได้ทำซีรีส์“The Angels นางฟ้าล่าผี ปี 2” ทาง “MONO 29” (โมโน ทเวนตี้ไนน์)
อาพิม (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีความสามารถและได้รับการถ่ายทอดไสยศาสตร์ลึกลับมาจากตระกูลจะมาร่วมกับกลุ่ม Angles ในการปราบผีตนนี้บอกว่า
"คนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของไทยคือซีอุย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 มี ฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่งที่ใช้ความเป็นผู้ถือศีลบังหน้าหลอกลวงชาวบ้าน มันชื่อว่า บุญเพ็ง / บุญเพ็งเปิดอาศรมล่อลวงผู้หญิงหลายรายให้มาทำเสน่ห์ ถึงบุญเพ็งจะมีคาถาอาคมจริง แต่ด้วยความที่เป็นคนมักมากในกามและหลงใหลบูชาภูติผี จึงลงมือฆ่าหญิงสาวบางคนที่พึงพอใจเพื่อเก็บวิญญาณไว้เป็นทาส / เหยื่อของบุญเพ็งมีด้วยกันหกคน คนแรกชื่อ กิ่งแก้ว เป็นเมียของอาจารย์ที่ตัวเองไปร่ำเรียนวิชา สุดท้ายก็แตกหักกันและไปแย่งเมียเขามา, คนที่สองเป็นเศรษฐีนี ลูกผู้ดีเก่าที่มาทำเสน่ห์ชื่อ พร, คนที่สามและสี่เป็นหญิงรักหญิงซึ่งสังคมในเวลานั้นไม่ยอมรับจึงมาขอให้บุญเพ็งช่วยสมในความรักชื่อ หม่อน กับ ไหม, คนที่ห้าชื่อ นังช้อย เป็นขี้ข้าในเรือนของบุญเพ็งสภาพศพอนาถมากเพราะบุญเพ็งฆ่าเธอขณะตั้งท้องได้เจ็ดเดือนเพราะคิดว่าเธอมีชู้, คนสุดท้ายเป็นเด็กสาวที่พ่อ แม่ส่งมาขัดดอกที่กู้เงินจากบุญเพ็งชื่อ กลอย/ ทุกคนจะถูกบุญเพ็งฆ่าแล้วมัดตราสังด้วยด้ายสายสิญจ์สีแดง จากนั้นเอาศพยัดใส่ไว้ในหีบเหล็กแล้วนำไปฝังดิน" ...

นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด















กำลังโหลดความคิดเห็น