ความสุดท้ายถึงละครออนไลน์
ก่อนวายชนม์ของ “กาญจนา นาคนันทน์”
เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2555 ค่ายโนพลอบเล็ม ทำละครเรื่อง "ธรณีนี่นี้ใครครอง" เป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรก ปี 2541 / แอนดริว เกร็กสัน - ปิยธิดา วรมุสิก) ซึ่งนำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ และ อุรัสยา เสเปอร์บันด์ กำลังจะแพร่ภาพออกอากาศทางช่อง 3 ละครออนไลน์จึงมีความจำเป็นต้องติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์และบทโทรทัศน์ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้ยกหูโทรศัพท์ทางไกล ไปถึงจันทบุรี ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก และยังเป็นครั้งเดียวมาถึงวันนี้ สำหรับการติดต่อกับคุณยายใจดี "กาญจนา นาคนันทน์" หรือนามจริงตามบัตรประจำตัวประชาชนว่า "นงไฉน ปริญญาธวัช"
นามปากกาอื่น อาทิ ธวัชวดี , น.ฉ.น. , ดนัยศักดิ์
นับถึงวันนี้ คุณยายเสียชีวิตด้วยโรคชราและมะเร็ง ในวัย 93 ปี !
นงไฉน ปริญญาธวัช เพิ่งผ่านพ้นวันคล้ายวันเกิดได้เพียง 21 วัน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขา วรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2555
การติดต่อในครั้งนั้น ท่านได้กรุณาส่งจดหมายมา 2 ครั้ง ครั้งแรกถึงนรวัชร์ อีกครั้งถึง "กิ๊ก" เลขาฯ ซึ่งดูแลเรื่องการเงินและจัดส่งเอกสารลิขสิทธิ์ ความทั้ง 2 ฉบับนี้และพ็อกเก็ตบุ้ก นวนิยายเรื่อง "ไปรษณีย์ทำหล่น" (สนพ. พลอยจันท์) ทางละครออนไลน์เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และในโอกาสนี้ จึงถือโอกาสสแกนลายมือของคุณยายและเรื่องราวที่ท่านเล่ามาในจดหมาย แล้วจะรู้ว่า โลกของนักเขียนนวนิยายรุ่นเก่านั้น มีความคลาสสิก น่ารัก ขนาดไหน !?
29 สิงหาคม 2555 ท่านบอกว่า "ตอนนี้กำลังเตรียมตัวตายค่ะ ... เวลานี้ ดิฉันอายุ 92 แล้วนะคะ เบื่อเต็มที" และ บอกว่า เรื่องค่าลิทธิ์ที่ทางละครออนไลน์โอนไปให้นั้นเข้า "กองทุน กาญนา นาคนันทน์"
"ผู้ใหญ่ลี - ผู้กองยอดรัก" สุดยอดละครจากปลายปากกา
แม้ว่า งานเขียนของคุณยายนงไฉน หรือ กาญจนา นาคนันทน์จะมีความหลากหลาย และมีนวนิยายหลายเรื่องที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นละครโทรทัศน์ เช่น ธรณีนี่นี้ใครครอง, กุ้งนาง, ขโมยที่รัก,ผู้กองยอดรัก, เกวลีสอยดาว, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา,ชื่นชีวานาวี เป็นต้น
คัดอีกชั้นให้เหลือผลงานระดับหัวกะทิ ที่ถูกนำมาทำเป็นละครนับครั้งไม่ถ้วน เช่น ผู้ใหญ่ลีกับนางมา และผู้กองยอดรัก
นวนิยายเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" แต่งขึ้นเมื่อปี 2506 ตีพิมพ์ในนิตยสาร"สตรีสาร" ในปี 2508 และหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นผู้แนะนำให้รวมเล่มกับ "แพร่พิทยา"
มีเกร็ดเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้ว่า
"เมื่อ พ.ศ. 2486 ดิฉันออกไปเป็นครูที่จังหวัดชัยภูมิ อยากเป็นนักเขียนเหลือเกิน แต่ไม่ทราบว่าจะเขียนเรื่องอะไร... มีผู้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่ลีไปประชุมที่อำเภอ ท่านสั่งให้เลี้ยงสุกรทุกบ้าน เป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ... ผู้ใหญ่ลีกลับจากประชุมแจ้งแก่ลูกบ้าน ลูกบ้านต่างก็ไม่ทราบว่า "สุกร" คืออะไร ในที่สุด เขาก็ช่วยกันคิดและสรุปเอาอย่างแยบคายว่า "สุนัข" แปลว่า "หมาใหญ่" ส่วน "สุกร" คงแปลว่า "หมาน้อยแน่ๆ" ...
ท่านทราบเรื่องนี้ เมื่อปี 2486 คาดว่าเหตุการณ์จริงน่าจะอยู่ในปี 2484 หรือใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลก สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลได้ประกาศให้ราษฎรทำอะไรหลายๆอย่าง เช่น ให้เลิกกินหมาก เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ประกาศรัฐนิยมสร้างวัฒนธรรม ให้ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ กินก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ... เธอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ใหญ่ลีคงจะให้ร่วมมืออย่างจริงจังผู้หนึ่ง !!
เพลง ผู้ใหญ่ลี ซึ่งเขียนคำร้อง - ทำนองโดย พิพัฒน์ บริบูรณ์ โด่งดังมากในปี 2508 น่าจะมาจากอิทธิพลของนวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งเขียนในปีเดียวกัน โดยเพลงได้กล่าวย้อนถึง ปีสมมติของเรื่องผู้ใหญ่ลี ที่พ.ศ. 2504 ซึ่งห่างไกลจากความจริงไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ประสบความสำเร็จในการเป็นละครโทรทัศน์มาถึง 6 ครั้ง เป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวในปี 2528 กำกับการแสดงโดย สักกะ จารุจินดา ในนาม ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตรและจินตรา สุขพัฒน์
ส่วนละครโทรทัศน์นั้น เริ่มจาก ปี 2514 ทางช่อง 4 บางขุนพรหม (มีชัย วีระไวทยะ - ผาณิต กันตามระ), ปี 2520 ทางช่อง 9 อสมท. (นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ - กนกวรรณ ด่านอุดม) , ปี 2530 ทางช่อง 3 (ทูน หิรัญทรัพย์ - เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์), ปี 2539 ทางช่อง5 (อนันต์ บุนนาค - บุษกร พรวรรณะศิริเวช) ปี 2546 ทางไอทีวี (อัมรินทร์ นิติพน - ณัฐณิกา ธรรมปรีดานันท์) และปี 2552 ทางช่อง 3 (ทฤษฎี สหวงษ์ - เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์)
นวนิยายชุด "ผู้กอง" (ผู้กองยอดรัก /ยอดรักผู้กอง / ผู้กองอยู่ไหน) ถือว่า เป็นผลงานสุดๆของกาญจนา นาคนันทน์อีกเรื่องหนึ่ง งานชุดนี้ เคยเป็นละครโทรทัศน์มาถึง 6 ครั้ง และภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง
ละครทั้ง 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2515 ทางช่อง 4 บางขุนพรหม (ผู้กองยอดรัก / ชุมพร เทพพิทักษ์ - กนกวรรณ ด่านอุดม) , ปี 2522 ทางช่อง 5 (ผู้กองยอดรัก / นิรุตต์ ศิริจรรยา - ดวงใจ หทัยกาญจน์) , ปี 2531 ทางช่อง 9 (ผู้กองยอดรัก - ยอดรักผู้กอง - ผู้กองอยู่ไหน / ทูน หิรัญทรัพย์ - สาวิตรี สามิภักดิ์) , ปี 2538 ทางช่อง 9 (ผู้กองยอดรัก - ยอดรักผู้กอง/ วรุฒ วรธรรม - ชลิตา เฟื่องอารมย์) , ปี 2545 ทางช่อง 3 (ผู้กองยอดรัก - ยอดรักผู้กอง / ศรราม เทพพิทักษ์ - กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ) และ ปี 2550 ทาง ไอทีวี (ผู้กองยอดรัก / เกียรติกมล ล่าทา - ไดอาน่า จงจินตนาการ)
ภาพยนตร์ 2 ครั้งในปี 2516 (ผู้กองยอดรัก /สมบัติ เมทะนี - สุภัค ลิขิตกุล), ปี 2524 (ยอดรักผู้กอง /จตุพล ภูอภิรมย์ - เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์)
ผลงาน และกิจกรรมอื่น
นอกเหนือจากนวนิยายหลายเรื่องที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นละครโทรทัศน์แล้ว ยังมีงานด้านอื่นๆ เช่น บทความ สารคดี เรื่องสั้น และบทกวี ด้วยท่านเป็นผู้ชำนาญในงานเขียนทั้งหลาย
- เริ่มพิมพ์งานประพันธ์ในหนังสือ "นครสาร" เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2489
- ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีแรงบันดาลใจแต่งนวนิยายเรื่องแรก คือ "จุดหมายปลายทางของกานดา" ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารตลอด 1 ปีเต็ม ใช้นามปากกาว่า "กาญจนา นาคนันทน์" แต่ผู้พิมพ์คิดว่าเป็นชื่อจริง จึงได้กรุณาตัดให้เป็น " ก. นาคนันทน์"
- ผลิตผลงานการประพันธ์ต่อเนื่อง มีเรื่องยาวทั้งสิ้นประมาณ 50 เรื่อง , เรื่องสั้นกว่า 100 เรื่อง
- ล่าสุดได้ประพันธ์ นวนิยายเกี่ยวกับพระประวัติของ "พระนางสุพรรณกัลยา"
- หนังสือประเภทสารคดี เช่น "คุณป้าท่องโลก"
- หนังสือแปล เช่นแปลจากนิทานรัสเซีย เรื่อง "นิทานคุณย่า"
- หนังสือประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน เรื่อง "เขาชื่อเดช"
- หนังสือชุดพุทธศาสนาและจริยธรรม เขียนให้กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง "พี่ชาย" และ "หนูน้อยกลอยใจ"
- หนังสือสะท้อนชีวิตในสังคมไทยของหนุ่มสาวชาวไร่ คือ "หัวใจที่เบ่งบานด้วยความรัก"
- หนังสือที่ได้รับรางวัลจากธนาคารกรุงเทพ คือ "บุญส่ง" และ "บ้านหนูอยู่หาดเสี้ยว"
- ส่งหนังสือเข้าประกวดในงานวันสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการ หลายครั้งเช่น ธรณีนี่นี้ใครครอง (ประเภทสะท้อนชีวิตในสังคมไทย) พ.ศ. 2518 / แม่ - ไต้ฝุ่นมาแล้ว (พายุเกย์) พ.ศ. 2519 /สามดรุณ พ.ศ. 2521
งานเขียนส่วนใหญ่แล้ว จะยึดหลักในการเขียนเพื่อยกระดับความคิด และสิ่งแวดล้อมต่างๆในสังคม เกี่ยวกับ ปรัชญา ศาสนา และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และมนุษย์ เพื่อให้สังคมและโลกนี้ดำรงอยู่อย่างสันติสุข และหวังจะช่วยขจัดสิ่งเลวร้ายให้หมดสิ้น หรือบรรเทาเบาบางลงเพื่อดำรงอยู่ของความดีในมนุษยชาติ
งานสาธารณะกุศล
ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ จ. จันทบุรี ได้ทำประโยชน์ ในด้านการป้องกันและต่อต้านการถูกข่มขืน อันสืบเนื่องจากคดีข่มขืนและฆาตกรรมนักเรียนชั้น ป.2 ของโรงเรียนบ้านกระทิงทอง อ.โป่งน้ำร้อน จ. จันทบุรี โดยได้ประพันธ์หนังสือเรื่อง "แด่น้องหญิงด้วยดวงใจ" และแจ้งสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ ขอเดินทางไปกับคุณระเบียบ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโป่งน้ำร้อน ไปบรรยายตามโรงเรียนประถมศึกษา และแจกหนังสือให้หลังบรรยาย
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งกองทุน "กาญจนา นาคนันทน์" ขึ้น เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาและตอบแทนคุณแผ่นดิน ตลอดจนช่วยเหลือ นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ยากไร้และขาดโอกาส ส่วน "ห้องสมุดกาญจนา นาคนันทน์" นั้นเพื่อรวบรวมผลงานของท่านทั้งหมด และมีหนังสือเก่าๆ หายากไว้บริการชุมชนอีกด้วย
สำหรับศพของคุณป้านงไฉน ปริญญาธวัช ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดนากะชาย หมู่ 12 ต. ทรายขาว อ.สอยดาว จ. จันทบุรี เป็นเวลา 7 วัน
ทีมข่าว ละครออนไลน์