xs
xsm
sm
md
lg

"เดอะแฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา" จากวรรณกรรมเละเทะสู่ละครเพลงยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บางฉากในละครเพลง เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา
เดอะแฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา
จากวรรณกรรมเละเทะสู่ละครเพลงยิ่งใหญ่
 
บีอีซี -เทโร ซีเนริโอ ร่วมฉลอง 25ปี “เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา” คว้าละครเพลงชื่อดังของโลกมาเปิดการแสดงที่เมืองไทย เรื่องราวของ “ปีศาจอัจฉริยะแห่งวงการเพลงผู้พ่ายรัก” ที่แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ สกัดและคัดกรองเอากระพี้ออกจาก “แก่น” ในนิยายของ “กัสตง เลอรูซ์” จนกลายมาเป็นละครเพลงยิ่งใหญ่ที่โด่งดังไปทั่วโลก มาตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา

ชีวิตและผลงานของ กัสตง เลอรูซ์
กัสตง เลอรูซ์ (Guston Leroux) นักเขียนนิยายชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1868 - 1927 (พ.ศ. 2411 - 2470) พื้นเพอยู่ที่นอร์มังดี เนื่องจากเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง ครอบครัวจึงส่งไปเรียนกฎหมายตั้งแต่อายุ 18 ปี สำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 21 ปี ก่อนพ่อของเขาจะเสียชีวิต ทิ้งมรดกไว้ให้ 1 ล้านฟรังก์ เขาผลาญจนหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 6 เดือน เรียนจบกฎหมายแต่ไปทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักข่าวของ “เอคโค เดอ ปารีส (Echo de Paris) และของเลอมาแตง (Le Matin) ตามลำดับ เขาเป็นนักข่าวในสายอาชญากรรม และเขียนวิจารณ์ละครอยู่บ้าง หลังจากที่เขาตระเวนทำข่าวไปทั่วยุโรป, รัสเซีย, เอเชียและแอฟริกา ปี ค.ศ. 1907 ในวัย 39 ปี เขาตัดสินใจเขียนนวนิยาย งานเขียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องสยองขวัญ สืบสวน ลึกลับ โดยสร้างนักสืบของตัวเองขึ้นมา นิยายของเขามีโครงสร้างราวกับเขาไปอยู่ในเหตุการณ์ และแก้ไขเหตุการณ์นั้นๆด้วยตนเอง แต่งานเขียนส่วนใหญ่เป็นงานลวกและขาดคุณภาพ ดังนั้น งานเขียน 63 เล่มในเวลา 20 ปีจึงไม่มีอะไรน่าประทับใจกับคนอ่าน เขาประสบความสำเร็จครั้งแรก จากนิยายเรื่อง “Le Myste're de la Chambre Jaune” ซึ่งมีนักสืบเป็นตัวเอก เขามีความสุขกับการรับค่าจ้างล่วงหน้าเท่าที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจะจ่ายให้ได้ เรื่อง “The Phantom of the Opera” เป็นเรื่องที่โด่งดังเพราะได้รับการหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์และละครเพลง
เขาเสียชีวิต เมื่อปี ค.ศ. 1927 หลังจากที่หนังเงียบเรื่อง “เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา” ที่แสดงโดย ลอน ซานีย์ เปิดรอบปฐมทัศน์ได้ 2 ปี
นิยายเรื่องนี้ ภาษาฝรั่งเศสคือ “Le Fantôme de l'Opéra” ภาษาอังกฤษคือ “The Phantom of the Opera” มีแปลเป็นไทย ในชื่อ ฟองตง (แฟนธอม)แห่งโอเปรา โดย เรือนตะวัน แสนหลวง ของ คลาสสิก สำนักพิมพ์ และ ปีศาจแห่งโรงอุปรากร โดย ปัทมา อินทรรักขา โดย แพรว สำนักพิมพ์
นอกจากนี้ “เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา” ยังมีนิยายลูกที่ประพันธ์โดยนักเขียนท่านอื่นอีก เช่นThe Phantom of Manhattan โดย Frederick Forsyth แปลไทยชื่อ ปีศาจแห่งแมนฮัตตัน โดย เชาวน สมจิตต์ โดย สำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์บุ๊คส์ , The Phantom โดย Susan Kay ฯลฯ
กัสตง เลอรูซ์ มิได้เอาเรื่องจริงโรยลงไปในเรื่องแต่งอย่างนักเขียนคนอื่นๆ แต่อ้างว่า ทุกตัวอักษรในนิยายเรื่อง “เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา” เป็นเรื่องจริง !! ตอกย้ำอ้างคำสนทนากับพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ อ้างถึงบันทึกที่ได้อ่าน อ้างถึงสมุดบันทึกที่เพิ่งค้นพบโดยตัวของเขาเอง ซึ่งบันทึกนี้ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน
แรงบันดาลใจในการเขียน เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา เนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. 1910 เลอรูซ์ได้ไปเยี่ยมชม “ปารีส โอเปรา เฮ้าส์” และได้ยินคนพูดว่า เมื่อหลายปีก่อน มีปีศาจตนหนึ่งอาศัยอยู่ในโรงละครแห่งนี้ มีของหลายอย่างหายไป มีอุบัติเหตุโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีคนเห็นเงาเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ และรวดเร็วลงไปยังชั้นใต้ดิน แต่ไม่มีใครกล้าตามลงไป วันนั้น... เลอรูซ์มองผ่านตะแกรงลงไปชั้นใต้ดิน เห็นทะเลสาบ ! นั่นเองเป็นที่มาของเรื่องราวของThe Phantom of the Opera หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อหนังที่เรียกขานต่างกันไปว่า “ท่านผีเพลง” หรือ “แฟนทั่ม หน้ากากปีศาจ” เป็นต้น
ย้อนกลับไป ในราวปี ค.ศ. 1893 เมื่อเขาอายุได้ 25 ปี มีเรื่องราวที่เป็นเบาะแสสำคัญที่เคยเกิดขึ้นจริงในปารีส โอเปรา เฮาส์ คือ “ไฟดับ !เพียง 2-3 วินาทีในบริเวณชมละครและเวที” เท่านั้น
โคมระย้า ที่อ้างว่า หนัก 200 ตันร่วงหล่นลงมาก็ไม่เป็นความจริง !! และความจริงโคมระย้าที่ว่านั้น มีน้ำหนักเพียง 7 ตันเท่านั้น และยังแขวนอยู่ที่เดิมจนถึงวันนี้
เรื่องราวของนิยาย มีที่มาของเรื่องราวจากหลายทิศทาง มีเรื่องลึกลับซับซ้อนอธิบายไม่ได้ ข้อมูลที่อ้างว่า เป็นเรื่องจริง ไม่สามารถเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ได้ !! โดยเฉพาะเรื่องเล่าจากคนเปอร์เซียที่เต็มไปด้วยเรื่องตีสีใส่ไข่จนเละเทะ มองแฟนธอมอย่างสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งที่มีนิสัยเกรี้ยวกราด ชาดิสต์ ชอบเห็นความทุกข์ของคนอื่น เป็นฆาตกรต่อเนื่อง ชอบบีบคอด้วยความหฤหรรษ์ ชื่นชมการออกแบบห้องทรมานและเจาะรูแอบมองผู้เคราะห์ร้ายที่กำลังจะตายด้วยความทรมาน แถมยังบอกว่า แฟนธอม บุรุษผู้มีใบหน้าพิกลพิการนี้ เดินทางมาแล้วทั่วโลก และเมื่อเข้ากลับกรุงปารีส ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงอุปรากรแห่งนี้ ภายใต้การกำกับของการ์นิเย ...ซึ่งทั้งหมด เป็นเรื่องเหลวไหล หาสาระใดๆไม่ได้เลย

ปาแลการ์นีเย ฉากหลัง “แฟนธอม”
ปารีส โอเปราเฮ้าส์ หรือ โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย Palais Garnier; Opéra de Paris; Opéra Garnier; Paris Opéra นี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Académie Nationale de Musique - Théâtre de l'Opéra” (สถาบันดนตรีแห่งชาติ - โรงละครเพื่อการแสดงอุปรากร) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “Théâtre National de l'Opéra de Paris” (โรงละครแห่งชาติเพื่อการแสดงอุปรากรแห่งปารีส) จนเมื่อคณะอุปรากรแห่งปารีส (Opéra National de Paris) เลือก “โรงอุปรากรบัสตีย์” ที่สร้างขึ้นใหม่เป็นโรงอุปรากรหลักแล้ว โรงละครแห่งชาติก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ปาแลการ์นีเย” และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Académie Nationale de Musique” (สถาบันดนตรีแห่งชาติ) แต่ความเคยชินก็ยังทำให้ผู้คนรู้จักกันในนาม “โรงอุปรากรปารีส” หรือ “ปารีส โอเปรา เฮาส์”
แต่ต้องยอมรับว่า “ปารีส โอเปรา เฮาส์” นี้ เหมาะที่สุดสำหรับการเป็นฉากหลังของนิยายตื่นเต้น ลึกลับเรื่องนี้ ! เนื่องจากโอเปรา เฮาส์ แห่งนี้มีลักษณะเฉพาะที่ผิดแผก แตกต่างจากโรงโอเปราแห่งอื่น กล่าวคือ มีความสูงถึง 17 ชั้น แต่ตึกที่สร้างบนพื้นดินมีเพียง 10 ชั้นเท่านั้น ส่วน 7 ชั้นที่เหลือสร้างลึกลงไปใต้ดิน ส่วนของโรงละครมีเนื้อที่ 118,500 ตารางฟุต แต่กลับมีที่นั่งชมละครค่อนข้างเล็ก บรรจุผู้ชมได้เพียง 2,156 คน แต่หลังเวทีกลับมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง ประกอบด้วย ห้องแต่งตัว ห้องช่าง โรงอาหาร แผนกเสื้อผ้านักแสดง ตลอดจนที่เก็บข้าวของและอุปกรณ์ประกอบการแสดง เป็นต้น โรงอุปรากรแห่งนี้ มีประตูทั้งสิ้น 2,500 บาน ที่ต้องใช้การตรวจตราเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน ก่อนทศวรรษ 1880 ต้องใช้กำลังคนราว 1,000 - 1,500 คน มาเพื่อการจุดไฟให้สว่างไสวจากโคมรูปกลมที่ใช้แก๊สซึ่งส่งมาตามท่อทองแดง
ในปี ค.ศ. 1858 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เสด็จพร้อมจักรพรรดินี ไปยังโรงอุปรากรเก่า บนถนนรูเลอ เปอเลอติเอร์ (rue le Peletier) ตอนนั้นมีกลุ่มอิตาลีต่อต้านระบบกษัตริย์ชื่อ ออสินี (Orsini) ปาระเบิดใส่พระราชพาหนะ ส่งผลให้คนบาดเจ็บและล้มตายมากกว่า 150 คน ทั้งสองพระองค์ปลอดภัย พระจักรพรรดินียืนยันที่จะทอดพระเนตรอุปรากรต่อ ในเวลาต่อมา นโปเลียนที่ 3 ตัดสินพระทัยว่า ควรจะมีโรงละครแห่งใหม่ ซึ่งมีทางเข้าสำหรับบุคคลวีไอพีเช่นพระองค์ ซึ่งทางเข้านั้นต้องสามารถคุ้มกันได้และปลอดภัยจากระเบิด
เดอะ พรีเฟกต์ ออฟ เดอะ แชน (The Prefect of the Seine) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้วางผังเมืองของบารอน ฮอสส์มานน์ ได้จัดให้มีการแข่งขันสำหรับสถาปนิกฝีมือดี ครั้งนั้นมีการส่งแปลนเข้าประกวด 170 ท่าน ในขณะที่ ชาร์ลส การ์นิเย ซึ่งมีความคิดแปลกใหม่ ได้ทำโครงการแบบอลังการงานสร้างที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
จักรพรรดินีเออเชนีเดอมองติโค ได้ถามการ์นีเยว่าจะสร้างในแบบใด เขาตอบว่า “แบบนโปเลียนที่ 3” โรงอุปรากรนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูบาโรกซึ่งถือเป็นชิ้นเอกแห่งยุค แทนที่จะเป็นอย่างกรีก หรือโรมันที่นิยมกัน
ทะเลสาบที่ กาสตง เลอรูซ์ อ้างว่า เห็นผ่านตะแกรงขณะไปเยี่ยมชม “ปารีส โอเปรา เฮาส์” ถือว่าเป็นอุปสรรคหนึ่ง ตั้งแต่ครั้งที่เริ่มก่อสร้างเลยทีเดียว เพราะพื้นดินในบริเวณนี้เป็นทะเลสาบใต้ดิน การก่อสร้าง ต้องใช้เครื่องสูบน้ำถึง 8 เครื่อง ระดมเร่งสูบน้ำออกทั้งกลางวันและกลางคืน และใช้เวลานานหลายเดือนกว่าดินที่อุ้มน้ำจะแห้ง จากนั้นก็สร้างกำแพงกั้นน้ำซึมเข้ามา ต่อมาไม่ช้านาน น้ำก็คืบคลานเข้ามาอีก จนก่อตัวเป็นทะเลสาบในส่วนที่ต่ำสุดของห้องในชั้นใต้ดิน ซึ่งทุก 2 ปีต้องมีการหย่อนเครื่องวัด และวิศวกรต้องเอาเรือท้องแบนเพื่อค้นหาร่องรอยความชำรุดเสียหาย
ระหว่างการก่อสร้างไม่มีความต่อเนื่อง ทำๆ หยุดๆ เนื่องจากมีปัญหาทางสังคมและการเมืองอื่นๆ เช่น เกิดสงครามฝรั่งเศสกับปรัสเซีย ไปจนถึงการล่มสลายของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส จนเมื่อโรงอุปรากรเดิม คือ Théâtre de l'Académie Royale de Musique (โรงละครแห่งราชสถาบันการดนตรี) ถูกเพลิงไหม้จนไม่เหลือซาก นั่นแหละ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ รวมระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 - 1974 นานถึง 12 ปี และเปิดใช้ เมื่อ 15 มกราคม ค.ศ. 1875

จากนิยายสู่หนังและละครเพลง
ปี ค.ศ. 1911 นิยาย “The Phantom of the Opera” ถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ และรวมเล่ม แต่ไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนัก ปีต่อมา “คาร์ เลมลี” ชาวเยอรมัน นับถือศาสนายิว ผู้เป็นประธาน บ. ยูนิเวอร์แชล พิคเจอร์ได้มาพักผ่อนที่ฝรั่งเศส เขาตื่นตะลึงกับปารีสโอเปรา เฮาส์ ดังนั้น เลอรูซ์ จึงถือโอกาสมอบหนังสือ The Phantom of the Opera ให้กับเขา คาร์ เลมลี ใช้เวลาเพียงคืนเดียวในการอ่านเรื่องราวของปีศาจในโรงอุปรากร และตัดสินใจสร้างเป็นหนังทันที เนื่องจากกำลังควานหาเรื่องที่จะให้ “ลอน ซานีย์” (นักแสดงที่สามารถเปลี่ยนใบหน้าและท่าทางตัวฉกาจ) เล่นเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก เรื่อง ชายหลังค่อมแห่งโบสถ์โนเตรอ ดาม (โนเตรอ ดามแห่งกรุงปารีส) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ วิคเตอร์ ฮูโก หนังเรื่อง “ปีศาจโอเปร่า” ที่ซานีย์เล่นนั้นเป็นหนังเงียบ ออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925 ที่ซานฟรานซิสโก หนังเรื่องนี้ ถ่ายทำที่สตูดิโอของยูนิเวอร์แชลในฮอลลีวูด ปารีสโอเปรา เฮาส์ ถูกจำลองขึ้นที่โรงถ่ายที่ 28 ซึ่งเป็นฉากที่มีความเข้มแข็งมาก และยังอยู่จนถึงวันนี้
จากนั้น เดอะแฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา ก็ถูกดัดแปลงและจัดสร้างกันมาอีกหลายครั้งในหลายรูปแบบ
ปี 1930 มีการอัดบทพูด เพิ่มดนตรี และซาวนด์เอฟเฟกต์ จากเวอร์ชัน ปี 1925
ปี 1943 ยูนิเวอร์แชล จัดสร้างใหม่ เป็นภาพยนตร์สี ผู้รับบท แฟนธอม คือ โคลด เรนส์
ปี 1962 แฮมเมอร์ ฟิล์ม แห่งลอนดอน จัดสร้าง ให้ เฮอร์เบิร์ต ลอม รับบท แฟนธอม
ปี 1983 เป็นรูปแบบละครโทรทัศน์ มี แมกชิมิ เลียน เชลล์ แสดงนำ
ปี 1984 เดือนพฤษภาคม “แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์” (Andrew Lloyd Webber) ได้ชมและอ่านบทวิจารณ์เกี่ยวกับการดัดแปลงบทประพันธ์เรื่อง เดอะแฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา ที่กำกับเป็นละครเพลงโดยชาวอังกฤษของคณะละครเล็กๆ จัดแสดงที่ เดอะเธียเตอร์ รอยัล ในเมืองสแตนฟอร์ด จึงโทร.เรียก “คาเมนรอน แมคอินทอช” เข้ามาคุยเกี่ยวกับไอเดียที่จะสร้างละครเพลงเรื่องนี้ และนั่นคือ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนิยายเรื่องนี้ หลังจากนั้น 9 เดือน เขาได้เจอต้นฉบับ เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปราที่แปลจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษ ในร้านขายหนังสือมือสอง และซื้อมาในราคาเพียง 1 ดอลลาร์เท่านั้น หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาแต่งดนตรีอันแสนโรแมนติกให้กับ “ซาราห์ ไบรท์แมน” ภรรยาใหม่ของเขา
ปี 1985 องก์แรกของละครเพลง ได้แสดงในรูปแบบงานคร่าวๆช่วงต้นให้กับผู้ชมที่ถูกเชิญมา จัดขึ้นที่ ซิดมอนทัน เฟสติวัล ในเมืองแฮมเชียร์ อันเป็นที่ตั้งของบ้านพักในชนบทของเวบเบอร์ ต่อมา ดีไซเนอร์ “มาเรีย ยอร์สัน” ไปเยี่ยมชมปารีสโอเปรา เฮาส์เพื่อหาแรงบันดาลใจในการออกแบบฉากสำหรับละครเรื่องนี้
ปี 1986 แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ลองทำเพลงที่สรุปเรื่องราวในละครเรื่องนี้ เพลง “เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา” ในแบบที่เขาตีความ เพลงถูกเรียบเรียงออกมาในรูปแบบเพลงร็อก และเพลงนี้ขึ้นอันดับ 7 ในชาร์ตเพลง ต่อมาในเดือนมีนาคม มีการเปิดออดิชันคัดเลือกนักแสดง และเริ่มซ้อมกันครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ที่ลอนดอน, เดือนตุลาคม หลังพรีวิวไป 2-3 สัปดาห์ มีการเปิดการแสดงที่ ฮีล มาเจสตีส์ เธียเตอร์ในลอนดอน นำแสดงโดย ซาราห์ และไมเคิล ครอว์ฟอร์ด , บทวิจารณ์เพลง ในหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ พาดหัว “ของขวัญของพระเจ้าที่มอบให้วงการละครเพลง” และได้รับ 3 รางวัลจากเวทีลอว์เนซ์ โอลิเวอร์ หนึ่งในนั้นคือ รางวัลละครเวทีใหม่ยอดเยี่ยม
ปี 1987 อัลบัมเพลงโดยคณะนักแสดงชุดเดิมของละครเพลงออกวางแผงในรูปแบบซีดี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการละครเพลงอังกฤษที่อัลบัมเพลงละครได้อันดับ 1 ในชาร์ตยูเคอัลบัม
ปี 1988 เดอะแฟนธอมฯ เปิดการแสดงในบรอดเวย์ ที่โรงละครมาเจสติกเธียเตอร์ ที่ตั้งอยู่บนถนนเวสต์ที่ 44 และทำรายได้มากถึง 18 ล้านเหรียญ , เดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหญิงไดอานามาชมละครเพลงเรื่องนี้กับ แอนดรู ลอยด์ เวบเบอร์, บริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์สนใจที่จะนำละครเพลงเรื่องนี้ไปทำเป็นหนัง “โจเอล ชูมัคเกอร์” มาพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ครอว์ฟอร์ด ไบรท์แมน และบาร์ตัน โปรดักชั่นที่ลอนดอนมารับบทเดิม, เดอะ แฟนธอมฯ ชนะรางวัลโทนี่ 7 สาขารวมถึงละครเพลงยอดเยี่ยม, ปีเดียวกัน เดอะ แฟนธอมฯ เปิดการแสดงที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นโปรดักชันแรกของเอเชีย ทำการแสดงโดยใช้ภาษาญี่ปุ่นที่ได้รับการดูแลจากครีเอทีฟชุดดั้งเดิม
ปี 1990 เดอะแฟนธอมฯ ในออสเตรเลีย เปิดการแสดงในเมลเบิร์น โดยโปรดักชันนี้เปิดการแสดงอยู่ที่พรินเซสเธียเตอร์นานถึง 2 ปีครึ่ง มีผู้ชมมากกว่า 1.5 ล้านคน
ปี 1999 เดอะแฟนธอมฯ ในทวีปอเมริกาใต้ เปิดการแสดงที่เม็กซิโก
ปี 2002 โจเอล ชูมาคเกอร์ และแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ พบกันอีกครั้ง และตกลงทำละครเพลงเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์
ปี 2004 เดอะแฟนธอมฯ ในทวีปแอฟริกา เปิดแสดงในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้, ภาพยนตร์เรื่อง เดอะแฟนธอมฯ เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่ซีคเฟลด์เธียเตอร์ สัปดาห์เดียวกัน หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโกลเด้นโกลบ 3 สาขาคือ ภาพยนตร์ละครเพลง / ตลกยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม / เพลงประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
ปี 2006 บีบีซีเรดิโอ 2 สำรวจความชื่นชอบของผู้ฟัง ในหัวข้อ “ละครเพลงที่สำคัญที่สุดของประเทศ” ได้รับการโหวตเป็นอันดับที่ 2 , โปรดักชันของบรอดเวย์ เปิดการแสดงติดต่อกันยาวนานที่สุด
ปี 2009 บรอดเวย์โปรดักชั่น ฉลอง 21 ปี รามิน คาริมลู (ผู้รับบทแฟนธอมฯ ในขณะนั้น) ได้เป็นผู้ตัดเค้กกับแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ และนักแสดงทั้งหมด
ปี 2011 บรอดเวย์โปรดักชัน ฉลองครบรอบ 25 ปี

“แฟนธอมฯ” กระหึ่มไทยครั้งแรก
ต้องยอมรับว่า แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ เป็นคนที่เขย่าเอาเรื่องเหลวไหล ไร้สาระจากงานเขียนของกัสตง เลอรูซ์ ออกทั้งหมด ไม่มีเรื่องเล่าของชาวเปอร์เซีย ไม่มีการโยนบาป กล่าวหาแฟนธอมฯ มีการสกัดและตีความใหม่ จากเรื่องเดิมที่มีเรื่องราวของความเกลียดชัง โหดร้าย สยองขวัญ ให้เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมของความรักที่ลุ่มหลงเพียงฝ่ายเดียวของชายใบหน้าอัปลักษณ์ (แฟนธอม ) กับนักร้องเพลงอุปรากรสาวสวย (คริสตีน ดาเอ้) ซึ่งเธอเลือกชายรูปงามผู้สูงศักดิ์ (ราอูล) มากกว่า
ผู้รับบทแฟนธอม คือ “แบรด ลิตเติ้ล” (Brad Little) ส่วน “แคลร์ ลีออน” (Claire Lyon) รับบทเป็น คริสตีน อาร์เอ้
แบรด ลิตเติ้ล ผู้นี้ เคยร่วมงานกับ เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปราของแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 แต่ไม่ใช่บท “แฟนธอม” หากแต่เป็นบท “ราอูล” สำหรับบท “ราอูล” เขายอมรับว่า เป็นบทที่เล่นยาก เพราะไม่มีอะไรน่าสนใจ บทบาทนี้เป็นแค่ท่านเคานท์ผู้อวดดีที่ตกหลุมรักคริสตีนตั้งแต่แรกเห็น และเป็นชายที่คริสตีนตัดสินใจจะหนีไปอยู่ด้วย เพียงแต่ไม่มีการเขียนไว้ในบท ความยากของการแสดงในบทนี้คือ จะแสดงอย่างไรให้ผู้ชมได้คล้อยตามว่า ทำไมคริสตีนถึงรักราอูล
ต่อเมื่อ เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา มีโปรดักชันอินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อเดินทางไปแสดงรอบโลก เขาได้รับการติดต่อจาก แอโรลด์ พรินซ์ ผู้กำกับโด่งดังในละครเวทีให้ไปทำการคัดเลือกนักแสดง ในบท “แฟนธอม”
มีผู้คัดเลือกผ่านเข้ามาถึง 5 คน 4 คนแรกที่เขาได้มีโอกาสฟังการร้องเพลง Music of the Night เขายอมรับว่า ไพเราะและประทับใจมาก จนถึงตัวเขา เพียงเริ่มท่อนแรกได้ไม่กี่ประโยค ก็มีคนบอกให้หยุด และบอกว่า ให้ร้องเพลงโหดกว่านี้ บ้าคลั่งกว่านี้ !! หลังจบเพลง ผู้ทักท้วงได้เดินตามเขาไปยังห้องแต่งตัว แล้วบอกว่า ถ้าคุณได้รับบทนี้ ผมอยากให้คุณนึกถึงสิ่งที่ได้ทำในวันนี้ ! วันรุ่งขึ้น เขาก็ได้รับการตัดสินใจให้รับบทบาทนี้ในทันที
“แฟนธอม” ในสายตาของเขา เป็นปีศาจที่ลุ่มหลงไปกับเสียงดนตรีและหญิงที่เขารัก ซึ่งตัวเขาเองไม่เคยรู้จักความรักมาก่อน … ผู้ชายคนหนึ่งอาศัยในห้องใต้ดินของโรงอุปรากรตั้งแต่ยังเล็ก ถูกปิดกั้นจากสังคมภายนอก สำหรับชีวิตเขานั้น เขาถูกบ่มเพาะมาด้วยโอเปราทั้งหน้าตา ท่าทาง ราวกับโอเปราเป็นโลกแห่งความจริง และพอเขาเห็น คริสตีนครั้งแรก เขาก็ไว้เนื้อเชื่อใจว่า จะรับใครสักคนเข้ามาในชีวิต ทุกอย่างเขาจินตนาการเหมือนโอเปรา จนเมื่อเธอเดินออกจากเขา มันก็กลายเป็นความเจ็บปวด กลับไปสู่โลกของคนที่ขาดความรักอีกครั้ง
เขารับบทนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2,175 รอบ ทั้งเวทีบรอดเวย์และเวทีโรงละครต่างๆ ทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ก่อนหน้านั้น เขา มีประสบการณ์แสดงละครเวทีมาตั้งแต่ปี 1988 ละครเรื่องดังเขาเคยแสดงมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ Fiddler on the Roof, South Pacific และ Les Miserables เป็นต้น
แคลร์ ลีออน สาวออสเตรเลียนเสียงโซปราโน จบการศึกษาด้านดนตรีจาก VCA (Victorian College of The Arts) ในปี 2007 หลังจบการศึกษาได้หนึ่งปี ในปี 2008 เธอทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคณะนักแสดงละครเวทีเรื่อง MY FAIR LADY จากนั้นในปี 2009 เธอเซ็นสัญญาเป็นนักร้องประจำกับคณะโอเปรา ออสเตรเลีย ซึ่งเธอเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในคณะ ขณะเดียวกันเธอร่วมแสดงละครเวทีและจุลอุปรากรกว่า 20 เรื่อง อาทิ Aid A, La Traviata รวมทั้ง Love Never Dies ซึ่งเป็นตอนต่อจาก The Phantom of the Opera จากความช่ำชองประสบการณ์ ความสามารถ เสียงร้องทำให้เธอถูกเลือกให้มารับบทคริสตีน หลังจากที่เธอเพิ่งจะจบการแสดงละครเพลง “Love Never Dies” ได้เพียง 6 เดือน

The Phantom of the Opera จะเปิดการแสดงที่ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ระหว่างวันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 9 มิถุนายน นี้ ราคาบัตร 5,500 - 4,000 - 3,000 - 2,500 - 1,500 บาท ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 02 - 262 - 3838



แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ ผู้ประพันธ์เพลง
แบรด ลิตเติ้ล - แฟนธอม
แคลร์ ลีออน - คริสตีน อาร์เอ้
นิยายเรื่อง The Phantom of the Opera

กัสตง เลอรูซ์ ผู้ประพันธ์นิยาย
ปาแลการ์นีเย ฉากหลัง แฟนธอม

กำลังโหลดความคิดเห็น