xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : อาหารของนิวรณ์ (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ปญฺจ นีวรณา อาหารฏฐิติกา อาหารํ ปฏิจฺจ
ติฏฺฐนฺติ อนาหารา โน ติฏฐนฺตีติ.

บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณาเรื่องนิวรณ์และอาหารของนิวรณ์ เพื่อเป็นเครื่องอบรมสติปัญญา ส่งเสริมการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของท่านสาธุชนเป็นลำดับไป

ตามบาลีนิพนธ์ที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้น แปลเนื้อความว่า นิวรณ์ ๕ ประการ ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร อาศัยอาหารจึงตั้งอยู่ได้ ไม่มีอาหารตั้งอยู่ไม่ได้ ดังนี้

นิวรณ์เป็นกิเลสอย่างกลาง เรียกว่า ปริยุฏฺฐานกิเลส แปลว่า กิเลสกลุ้มรุมใจ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจ ไม่แสดงออกภายนอก เมื่อแสดงออกภายนอกก็กลายเป็นกิเลสอย่างหยาบ เรียกว่า ทุจริตกิเลส แต่นิวรณ์นี้เป็นกิเลสอย่างกลาง เป็นเครื่องกลุ้มรุ้มใจ แปลตามศัพท์ว่าเครื่องกั้น แปลให้ได้ใจความในทางปฏิบัติว่า เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี คือไม่ให้พิจารณามองเห็นทางที่จะประพฤติความดีให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

ไม่พึงเข้าใจว่า นิวรณ์นี้กั้นจิตในทางธรรมปฏิบัติเท่านั้น แม้ในทางโลกนี้ก็เป็นเครื่องกั้นจิต นักเรียนนักศึกษาเป็นคนมีนิวรณ์มาก ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นข้อที่ได้เรียนได้ศึกษามาแล้ว ในเวลาเข้าสอบรู้สึกว่าอึดอัด แม้ได้เห็นข้อสอบที่เคยผ่าน ที่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็ชวนให้สงสัย นี้เป็นเรื่องของนิวรณ์

เพราะฉะนั้น นิวรณ์นี้กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ทั้งในทางโลกทั้งในทางธรรม ไม่ใช่เฉพาะในทางธรรมเท่านั้น ในทางโลกก็เช่นเดียวกัน คนที่ทำการงานอะไรดี ศึกษาเล่าเรียนดี สอบไล่ได้คะแนนสูง แสดงว่าผู้นั้นมีนิวรณ์น้อย หรือมีกำลังจิตสูงกว่า นิวรณ์เป็นเครื่องกั้นจิตใจ เพราะฉะนั้น พึงทราบเรื่องของนิวรณ์ก่อน แล้วจึงทราบเรื่องอาหารของนิวรณ์ในภายหลัง นิวรณ์มี ๕ คือ

๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม
๒. พยาบาท ความปองร้ายผู้อื่น
๓. ถีนมิทธะ ความอ่อนแอ ท้อแท้ ง่วงเหงา
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในทางประพฤติปฏิบัติของตน
นิวรณ์ทั้ง ๕ ตัวนี้ ความก็เด่นชัดอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายให้มาก

กามฉันท์ ท่านมีอุปมาไว้ว่า เมื่อครอบงำจิตใจของผู้ใดแล้ว ทำให้จิตใจของผู้นั้นมืด หม่นหมองเหมือนน้ำที่ผสมด้วยสี น้ำตามปกติใสสะอาด ตักใส่ขันโตๆ แล้วมองดูเงาหน้าก็เห็น คือมองดูเงาหน้าแทนกระจกเงาก็ได้ เห็นเงาหน้าของตัวเราเอง แต่ถ้าน้ำนั้นถูกผสมด้วยสี เรามองดูเงาหน้าในน้ำนั้นไม่เห็น เพราะถูกสีผสมเสียแล้ว น้ำเปลี่ยนสีฉันใด จิตใจก็ฉันนั้น ตามปกติของจิตใจนั้นเหมือนน้ำที่ใสสะอาด แต่เพราะกามฉันท์เข้าครอบงำ กามฉันท์จึงมาผสมจิตใจให้เป็นสี มองไม่เห็นอรรถเห็นธรรม หรือมองเห็นข้อความที่สูงละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปไม่ได้ ที่ท่านอุปมานี้ ท่านอุปมาเป็นลักษณะของตัวนิวรณ์ให้เห็นว่าปิดกั้นจิตได้อย่างไร

พยาบาท อุปมาเหมือนน้ำที่เดือดเพราะต้มด้วยไฟ น้ำตามปกติใสสะอาดมองดูเงาหน้าได้ แต่ถ้าใส่ภาชนะแล้วต้มให้เดือดด้วยแรงไฟ น้ำเดือดกระเพื่อมอยู่เสมอ มองดูเงาหน้าไม่ได้ฉันใด พยาบาทเมื่อเกิดขึ้นก็กลุ้มรุมใจทำให้เดือดพล่านเหมือนน้ำเดือด ไม่สามารถจะมองเห็นความดีที่พึงก้าวไปถึงฉันนั้น

ถีนมิทธะ ท่านอุปมาเหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่ข้างบน น้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่ข้างบนนั้น แม้จะใสสะอาดมองดูเงาหน้าได้ แต่เพราะจอกแหนปิดบังไว้ มองดูเงาหน้าไม่ได้ แม้จะแหวกออกขณะหนึ่ง พอปล่อยมือจอกแหนก็กลับเข้ามารวมกลุ่มเหมือนอย่างเดิม ไม่สามารถที่จะมองดูเงาหน้าได้ฉันใด จิตใจที่ถูกถีนมิทธะครอบงำก็ฉันนั้น มีอาการปกปิดเหมือนจอกแหนปิดน้ำ ให้เห็นอรรถเห็นธรรมเห็นคุณความดีที่อยู่เบื้องหน้าไม่ได้

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ อุปมาเหมือนน้ำที่เป็นคลื่น น้ำที่ใสสะอาดปราศจากเปือกตมตะกอน แต่ถ้ามีคลื่น เรามองหน้าในน้ำนั้นไม่เห็น เพราะมันเป็นคลื่น น้ำกระเพื่อมอยู่ไม่นิ่งไม่ปกติ จะมองดูเงาหน้าไม่ได้ฉันใด จิตใจที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำก็ฉันนั้น มองเห็นอรรถเห็นธรรมชั้นสูงไม่ได้ เพราะจิตใจกระเพื่อมอยู่เสมอ ประเดี๋ยวกระเพื่อมอย่างนั้น ประเดี๋ยวกระเพื่อมอย่างนี้ แสดงอาการไม่แน่นอนอยู่เสมอ

วิจิกิจฉา อุปมาเหมือนน้ำที่มีเปือกตม น้ำขุ่นมีเปือกตมนั้นมองดูเงาหน้าไม่ได้ฉันใด จิตใจที่วิจิกิจฉาครอบงำก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นอรรถเห็นธรรม หรือคุณความดีที่สูงขึ้นไปฉันนั้น นี้อุปมาอาการที่นิวรณ์ปิดกั้นจิต

อีกอุปมาหนึ่ง ท่านอุปมาอาการที่นิวรณ์เกิดขึ้นแล้วแสดงอาการของจิตใจอย่างไร

กามฉันท์ อุปมาเหมือนคนเป็นหนี้ผู้อื่นนั้น จิตใจไม่เปล่าไม่ว่าง นึกถึงหนี้อยู่เสมอที่จะต้องใช้ดอกเบี้ย ถ้าผิดสัญญาแล้วก็อาจจะเกิดเรื่องเกิดความ ขึ้นโรงขึ้นศาล จะอยู่ในที่ไหน ไปในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี เมื่อกามฉันท์ครอบงำแล้ว ย่อมนึกถึงอาการอย่างนี้ เหมือนกับคนนึกถึงความเป็นหนี้ฉะนั้น

พยาบาท ท่านอุปมาว่าเหมือนคนเป็นโรค ธรรมดาว่าคนเป็นโรคนั้นห่วงว่าตนเป็นโรคอยู่เสมอ กิจบางอย่างจะทำได้ก็รู้สึกว่าทำไม่ได้ เพราะนึกว่าตนเป็นโรค โรคบางอย่างเป็นเหตุให้พะวักพะวน ให้รู้สึกว่าเกาะตัวอยู่เสมอ เช่นโรคเกี่ยวกับอาการปวด เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ หรือโรคคัน เป็นห่วงเป็นกังวล นึกอยู่เสมอว่าเราเป็นโรคฉันใด คนที่พยาบาทครอบงำจิตใจก็ฉันนั้น จิตใจรู้สึกว่าเป็นโรค รู้สึกว่าร้อน รู้สึกว่าเดือดร้อน รู้สึกว่ากรุ่นอยู่เสมอ

ถีนมิทธะ อุปมาเหมือนคนถูกขังในเรือนจำ คือ ติดเรือนจำ ความง่วง ความเหงา ความซึม ความหาวนอนนั้น อุปมาเหมือนคนติดเรือนจำ คนที่ติดเรือนจำอยู่ในคุกในตะรางนั้น รู้สึกว่าไม่มีอิสระเสรีแก่ตนฉันใด คนที่ถีนมิทธะครอบงำก็ฉันนั้น รู้สึกว่าไม่เป็นอิสระเสรีแก่ใจในการปฏิบัติ ในเวลาที่จะฟัง เช่น ฟังเทศน์ฟังสวดก็ง่วง ก็ซึม ก็หงอยเสีย อย่างพระเวลาอยู่ดีๆ ปกติก็ไม่ง่วง ครั้นเข้าสวดมนต์ หรือฟังปาฏิโมกข์ ก็มักจะง่วง มักจะซึม เข้าโรงเรียนก็มักจะง่วง มักจะซึม เพราะฉะนั้น อาการนี้เหมือนกับคนติดเรือนจำ รู้สึกว่าหลุดพ้นไม่ได้

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ท่านอุปมาเหมือนคนที่เป็นทาสของผู้อื่น คนที่เป็นทาสนั้น เสียอิสระเสรี ทำอะไรไม่ได้ตามใจปรารถนา จะไปไหนก็กลัวเจ้ากลัวนายจะคอยติดตาม จะถูกดุถูกว่า อะไรเหล่านี้เป็นต้นฉันใด คนที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำก็ฉันนั้น รู้สึกว่ามีอะไรสะกิดใจไม่ให้เป็นอิสระเสรี ให้รำคาญใจอยู่เสมอ

วิจิกิจฉา ท่านอุปมาว่าเหมือนคนเดินทางไกล คนเดินทางไกลนั้น ไม่มีหวังว่าจะถึงที่สุดตามประสงค์ และไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร ยิ่งเดินไปก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งเกิดความสงสัยเคลือบแคลงยิ่งขึ้น ฉันใด จิตที่มีวิจิกิจฉาก็ฉันนั้น ไม่แน่ว่าอย่างนี้จะถูก อย่างนั้นจะถูก ทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ เกิดความลังเลสงสัยในทางปฏิบัติของตน ประเดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ หนักเข้าสงสัยมากเข้าก็อาจจะสงสัยถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือไม่มีจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จิตใจก็อยู่คงที่ ไม่ก้าวหน้าเหมือนคนเดินทางไกล ไม่มีหวังว่าตนจะถึงที่สุดทาง

นิวรณ์ ๕ ประการนี้ ท่านได้อุปมาไว้สำหรับให้สังเกตอาการที่จิตใจมืดในเวลาที่ถูกครอบงำอย่างหนึ่ง ให้สังเกตในเวลาที่จิตใจถูกนิวรณ์ครอบงำแล้วแสดงอาการอย่างไรๆ นั้นอย่างหนึ่ง คือ อย่างต้นท่านอุปมาว่า กามฉันท์เหมือนน้ำที่ถูกผสมสี พยาบาทเหมือนน้ำเดือด ถีนมิทธะเหมือนน้ำมีจอกแหน อุทธัจจกุกกุจจะเหมือนน้ำมีคลื่นกระเพื่อมเป็นระลอก วิจิกิจฉาเหมือนน้ำที่ขุ่นข้นด้วยเปือกตม

และอาการของจิตใจในเวลาที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ กามฉันท์มีอาการของใจเหมือนคนเป็นหนี้ผู้อื่น พยาบาทเหมือนคนมีโรคประจำตัว ถีนมิทธะเหมือนคนถูกจองจำ อุทธัจจกุกกุจจะเหมือนคนเป็นทาสของผู้อื่น วิจิกิจฉาเหมือนคนเดินทางไกล

ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีว่า นิวรณ์นี้มีอาหารจึงเกิดขึ้น ไม่มีอาหารเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร ไม่มีอาหารก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มีอยู่ได้เพราะอาหาร ไม่มีอาหาร นิวรณ์ก็ไม่มี เรานึกอย่างนี้ แม้กิเลสตัวอื่นก็คงมีอาหารเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เราทำความเข้าใจว่า กิเลสทุกตัว คงจะมีอาหารเช่นเดียวกับนิวรณ์เหมือนกัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย พระพรหมมุนี (วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.๙) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น