สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ฝ่ายคู่บารมีซึ่งได้นำพุทธศาสนาเข้าไปตั้งในจิตตนคร และได้นำพรรคพวกเข้าสมัครทำงานกับนครสามีแล้วหลายคน ได้พิจารณาเห็นว่า สมุทัยกำลังส่งมิจฉาทิฐิเข้าปลุกปั่นชาวจิตตนครอย่างหนัก คอยถ่วงให้เนิ่นช้า ทำให้วนเวียน ด้วยวิธีแสดงนิทรรศการ สร้างไตรภูมิโลกขึ้นชวนให้เข้าชม อันวิจิตรพิสดาร ซับซ้อน ยอกย้อน ยิ่งกว่านิทรรศการใดๆ ในโลกทั้งสิ้น แม้จะไม่สามารถปลุกปั่นชาวจิตตนครได้ทั้งหมด ก็ทำให้ลังเลหันเหียนไปได้ไม่มากก็น้อย ที่หลงเชื่อไปก็มี
การที่ปลุกปั่นไม่ได้ทั้งหมดนั้น ก็เพราะพรรคพวกของคู่บารมีได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วมากคน คอยป้องกัน เช่น ศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ตลอดถึงธรรมสำหรับเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลาย เช่น โยนิโสมนสิการ ทำให้ชาวจิตตนครมีจิตใจที่ตั้งมั่นเข้มแข็งขึ้น ทั้งมีศีลเป็นต้นเป็นเกราะป้องกันตนในภายนอก มีโยนิโสมนสิการที่นับว่าเป็นตัวปัญญาเป็นเกราะป้องกันภายใน แต่เพื่อให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงส่งคู่ปรับโดยตรงของมิจฉาทิฐิเข้าไปช่วยอีกผู้หนึ่ง คือ สัมมาทิฐิ โดยนำเข้าหานครสามี ขอสมัครเข้าทำงานในจิตตนคร นครสามีก็ได้รับไว้ให้เป็นผู้กำกับสมองเมือง คือ ปัญญา และทวารทั้ง ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ด้วย ตามที่คู่บารมีประสงค์
ฝ่ายสัมมาทิฐิเมื่อเข้าไปอยู่ประจำงานในจิตตนคร ก็ได้สอนแนะนำชาวจิตตนครให้สำนึกอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรสธิดา ทรงเป็นมิ่งขวัญหลักชัย เป็นแก่นเป็นแกน เป็นที่รวมใจ รวมสามัคคีแห่งประเทศชาติ ทรงอุปถัมภ์พระบวรพุทธศาสนา และศาสนาที่มาอาศัยพระบรมโพธิสมภารทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ได้พระราชทานอารักขาแก่ประเทศชาติทุกภาษาที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทั้งปวง
ได้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมให้เป็นไปในประชาชนทุกแห่งหนทั่วไปทั้งหมด อย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ได้พระราชทานพระราชดำริในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ในทุกๆด้าน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้ละเว้นการที่ควรเว้น ให้กระทำการที่ควรทำในโอกาสต่างๆ แสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงรอบรู้และหลักแหลมเหนือคนทั้งปวงในกิจการและเรื่องราวทั้งหลาย
ดังเช่นที่ได้พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า
“การพัฒนานั้นมีความจำเป็นต่อบุคคล ต่อมนุษย์ทุกคน เพราะว่าทุกคนต้องการความก้าวหน้า ต้องการมีฐานะดีขึ้น และทำให้มีความสุขในกายในใจได้ แต่ปัญหาการพัฒนามีมากและแบ่งเป็นส่วนใหญ่ได้ ๓ อย่าง คือ ความปลอดภัย ความสงบของส่วนรวม วิชาการในด้านที่จะทำงานและความสามัคคีซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะให้สามารถดำเนินงานตามหลักวิชาให้สำเร็จลุล่วง ให้เป็นผลแก่ตัวเราและแก่หมู่คณะ
ฉะนั้น การที่มีการประชุมเยาวชนและมีการประชุมที่ปรึกษาเยาวชน ซึ่งจะไปพยายามแนะนำช่วยกันสร้างบ้านเมืองให้เจริญ โดยมีทางราชการเป็นผู้อำนวยโอกาสให้ทุกคนได้มีความรู้ขึ้น จึงเป็นการดีอย่างยิ่ง และการที่ผู้เข้ามารับการศึกษาและการประชุมครั้งนี้ ทางราชการมิได้จ้างเกณฑ์มา ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ชอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะเห็นว่าแต่ละคนตั้งใจจะสร้างบ้านเมือง เหมือนกับแต่ละคนสร้างตนเองให้ก้าวหน้า ให้เจริญ ให้มีความปลอดภัย”
ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาราษฎร์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งโดยสถลมารค ชลมารค อากาศมารค แม้ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลทุรกันดารเต็มไปด้วยภยันตราย ก็มิได้ทรงย่อท้อ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทั้งปวง
พระราชทานทุกสิ่งทุกอย่างตามความจำเป็นต้องการที่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ มิให้เกิดความขาดแคลนบกพร่อง จึงพากันเกิดกำลังกายกำลังใจร่วมสามัคคีกันดำรงรักษาประเทศชาติ และดำเนินเร่งรัดพัฒนา
คู่บารมีและสัมมาทิฐิได้กล่าวสดุดีเล่าถึงพระราชกรณียกิจทั้งปวงอยู่เนืองๆ แม้องค์พระบรมครูเองก็ได้ตรัสไว้ว่า “ราชา มุขํ มนุสฺสานํ พระราชาเป็นประมุขแห่งมนุษย์ทั้งหลาย”
นอกจากนั้น สัมมาทิฐิก็ได้แสดงประกาศว่ากรรมมี คือ ใครทำดีก็เป็นกรรมดี ใครทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว มิใช่ว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ ใครทำแล้วก็เป็นอันทำ คือเป็นกรรมดังกล่าว และกรรมนี้เองเป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆ ตามประเภท คือ กรรมดีเป็นเหตุให้เกิดผลดี กรรมชั่วเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว
ฉะนั้น ผลดีผลชั่วต่างๆ ที่ทุกๆคนได้รับ จึงมีกรรมนี่แหละเป็นเหตุ หาใช่ไม่มีเหตุมิได้ คือมิใช่เป็นความบังเอิญ หรือความมาประจวบเหมาะกันเข้า เหมือนอย่างรถสองคันมาชนกัน เมื่อกรรมมี ผลของกรรมมี จึงมีคนดีคนชั่ว ตามกรรมที่แต่ละคนทำ จึงมีมารดาบิดาผู้ที่มีพระคุณเหลือล้นแก่บุตรธิดา มิใช่เป็นเพียงแต่ชายหญิงสืบพันธุ์กันมาเท่านั้น เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีพรหมวิหารธรรมแก่บุตรธิดา มีสังคหวัตถุ มีทาน ปิยวาจา เป็นต้น แก่บุตรธิดา เมื่อว่าตามหลักกรรม จึงเป็นผู้ประกอบกรรมดีแก่บุตรธิดา เป็นคนดีของบุตรธิดา ดังที่เรียกว่าผู้มีพระคุณ ควรที่บุตรธิดาจะพึงมีกตัญญูกตเวที
นอกจากนี้ ก็มีพระอริยเจ้า มีผลของการบูชาต่างๆ ตลอดถึงมีโลกนี้โลกหน้า มีนรกสวรรค์ อันหมายถึงภูมิเป็นที่ไปอันมีทุกข์หรือมีสุขมาก สัมมาทิฐิได้สอนให้มีความเชื่อในกรรม ในผลของกรรม ในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน และสอนให้มีความเชื่อในความตรัสรู้ของพระบรมครูพุทธเจ้า ข้อหลังนี้สัมมาทิฐิได้สอนเน้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเชื่อในความตรัสรู้ของพระบรมครูแล้ว ก็จะทำให้มีความเคารพเชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งทรงสอนในเรื่องกรรมดังกล่าวอยู่ด้วย
ที่สัมมาทิฐิสอนให้เชื่อในกรรมนั้น นับว่าเป็นการสอนที่มุ่งผลสำคัญอย่างที่สุด ถ้าการสอนนั้นสำเร็จผล คือสามารถทำให้มีผู้เชื่อได้มาก ก็ย่อมจะเกิดผลดีอย่างหนึ่ง ผู้เชื่อในกรรมจักไม่ทำกรรมโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบก่อน เพราะย่อมกลัวผลของกรรมไม่ดี ถ้าพิจารณาไม่รอบคอบ ทำกรรมลงไปโดยไม่แน่ใจว่าเป็นกรรมดี กลับเป็นการทำกรรมชั่ว ผลที่ได้รับย่อมจักเป็นผลชั่ว ทุกคนย่อมกลับจะได้รับผลชั่ว ที่กล้าทำกรรมชั่วกันอยู่มากมายในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่เชื่อกรรมจริง ไม่เชื่อว่ากรรมดีจะให้ผลดีจริง และกรรมชั่วจะให้ผลชั่วจริง
ขอยํ้าให้เข้าใจว่า การไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อในผลของกรรม ไม่เชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน นี่แหละที่เป็นเหตุให้คนไม่ทำแต่ความดีอย่างเดียว แต่กลับทำความชั่วได้ต่างๆนานา ก็เมื่อไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เสียแล้ว ก็เห็นความสำคัญของการพิจารณาก่อนจะทำกรรมใดๆ ให้เป็นการยุ่งยากลำบากทำไม ย่อมจะพอใจทำไปตามปรารถนาที่เห็นว่าง่าย สะดวก และเหมือนได้ผลดีเสียอีกด้วย
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายน่าจะได้อบรมความเชื่อตามสัมมาทิฐิสอนไว้ คือเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน ผู้ใดอบรมความเชื่อนี้ให้เกิดขึ้นได้หนักแน่นมั่นคงไม่คลอนแคลนเพียงใด จิตของผู้นั้นย่อมเป็นจิตที่พ้นจากผลของกรรมชั่วเพียงนั้น ย่อมจักมีความสงบเยือกเย็น พ้นทุกข์พ้นร้อนเพียงนั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ฝ่ายคู่บารมีซึ่งได้นำพุทธศาสนาเข้าไปตั้งในจิตตนคร และได้นำพรรคพวกเข้าสมัครทำงานกับนครสามีแล้วหลายคน ได้พิจารณาเห็นว่า สมุทัยกำลังส่งมิจฉาทิฐิเข้าปลุกปั่นชาวจิตตนครอย่างหนัก คอยถ่วงให้เนิ่นช้า ทำให้วนเวียน ด้วยวิธีแสดงนิทรรศการ สร้างไตรภูมิโลกขึ้นชวนให้เข้าชม อันวิจิตรพิสดาร ซับซ้อน ยอกย้อน ยิ่งกว่านิทรรศการใดๆ ในโลกทั้งสิ้น แม้จะไม่สามารถปลุกปั่นชาวจิตตนครได้ทั้งหมด ก็ทำให้ลังเลหันเหียนไปได้ไม่มากก็น้อย ที่หลงเชื่อไปก็มี
การที่ปลุกปั่นไม่ได้ทั้งหมดนั้น ก็เพราะพรรคพวกของคู่บารมีได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วมากคน คอยป้องกัน เช่น ศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ตลอดถึงธรรมสำหรับเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลาย เช่น โยนิโสมนสิการ ทำให้ชาวจิตตนครมีจิตใจที่ตั้งมั่นเข้มแข็งขึ้น ทั้งมีศีลเป็นต้นเป็นเกราะป้องกันตนในภายนอก มีโยนิโสมนสิการที่นับว่าเป็นตัวปัญญาเป็นเกราะป้องกันภายใน แต่เพื่อให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงส่งคู่ปรับโดยตรงของมิจฉาทิฐิเข้าไปช่วยอีกผู้หนึ่ง คือ สัมมาทิฐิ โดยนำเข้าหานครสามี ขอสมัครเข้าทำงานในจิตตนคร นครสามีก็ได้รับไว้ให้เป็นผู้กำกับสมองเมือง คือ ปัญญา และทวารทั้ง ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ด้วย ตามที่คู่บารมีประสงค์
ฝ่ายสัมมาทิฐิเมื่อเข้าไปอยู่ประจำงานในจิตตนคร ก็ได้สอนแนะนำชาวจิตตนครให้สำนึกอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรสธิดา ทรงเป็นมิ่งขวัญหลักชัย เป็นแก่นเป็นแกน เป็นที่รวมใจ รวมสามัคคีแห่งประเทศชาติ ทรงอุปถัมภ์พระบวรพุทธศาสนา และศาสนาที่มาอาศัยพระบรมโพธิสมภารทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ได้พระราชทานอารักขาแก่ประเทศชาติทุกภาษาที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทั้งปวง
ได้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมให้เป็นไปในประชาชนทุกแห่งหนทั่วไปทั้งหมด อย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ได้พระราชทานพระราชดำริในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ในทุกๆด้าน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้ละเว้นการที่ควรเว้น ให้กระทำการที่ควรทำในโอกาสต่างๆ แสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงรอบรู้และหลักแหลมเหนือคนทั้งปวงในกิจการและเรื่องราวทั้งหลาย
ดังเช่นที่ได้พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า
“การพัฒนานั้นมีความจำเป็นต่อบุคคล ต่อมนุษย์ทุกคน เพราะว่าทุกคนต้องการความก้าวหน้า ต้องการมีฐานะดีขึ้น และทำให้มีความสุขในกายในใจได้ แต่ปัญหาการพัฒนามีมากและแบ่งเป็นส่วนใหญ่ได้ ๓ อย่าง คือ ความปลอดภัย ความสงบของส่วนรวม วิชาการในด้านที่จะทำงานและความสามัคคีซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะให้สามารถดำเนินงานตามหลักวิชาให้สำเร็จลุล่วง ให้เป็นผลแก่ตัวเราและแก่หมู่คณะ
ฉะนั้น การที่มีการประชุมเยาวชนและมีการประชุมที่ปรึกษาเยาวชน ซึ่งจะไปพยายามแนะนำช่วยกันสร้างบ้านเมืองให้เจริญ โดยมีทางราชการเป็นผู้อำนวยโอกาสให้ทุกคนได้มีความรู้ขึ้น จึงเป็นการดีอย่างยิ่ง และการที่ผู้เข้ามารับการศึกษาและการประชุมครั้งนี้ ทางราชการมิได้จ้างเกณฑ์มา ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ชอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะเห็นว่าแต่ละคนตั้งใจจะสร้างบ้านเมือง เหมือนกับแต่ละคนสร้างตนเองให้ก้าวหน้า ให้เจริญ ให้มีความปลอดภัย”
ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาราษฎร์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งโดยสถลมารค ชลมารค อากาศมารค แม้ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลทุรกันดารเต็มไปด้วยภยันตราย ก็มิได้ทรงย่อท้อ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทั้งปวง
พระราชทานทุกสิ่งทุกอย่างตามความจำเป็นต้องการที่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ มิให้เกิดความขาดแคลนบกพร่อง จึงพากันเกิดกำลังกายกำลังใจร่วมสามัคคีกันดำรงรักษาประเทศชาติ และดำเนินเร่งรัดพัฒนา
คู่บารมีและสัมมาทิฐิได้กล่าวสดุดีเล่าถึงพระราชกรณียกิจทั้งปวงอยู่เนืองๆ แม้องค์พระบรมครูเองก็ได้ตรัสไว้ว่า “ราชา มุขํ มนุสฺสานํ พระราชาเป็นประมุขแห่งมนุษย์ทั้งหลาย”
นอกจากนั้น สัมมาทิฐิก็ได้แสดงประกาศว่ากรรมมี คือ ใครทำดีก็เป็นกรรมดี ใครทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว มิใช่ว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ ใครทำแล้วก็เป็นอันทำ คือเป็นกรรมดังกล่าว และกรรมนี้เองเป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆ ตามประเภท คือ กรรมดีเป็นเหตุให้เกิดผลดี กรรมชั่วเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว
ฉะนั้น ผลดีผลชั่วต่างๆ ที่ทุกๆคนได้รับ จึงมีกรรมนี่แหละเป็นเหตุ หาใช่ไม่มีเหตุมิได้ คือมิใช่เป็นความบังเอิญ หรือความมาประจวบเหมาะกันเข้า เหมือนอย่างรถสองคันมาชนกัน เมื่อกรรมมี ผลของกรรมมี จึงมีคนดีคนชั่ว ตามกรรมที่แต่ละคนทำ จึงมีมารดาบิดาผู้ที่มีพระคุณเหลือล้นแก่บุตรธิดา มิใช่เป็นเพียงแต่ชายหญิงสืบพันธุ์กันมาเท่านั้น เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีพรหมวิหารธรรมแก่บุตรธิดา มีสังคหวัตถุ มีทาน ปิยวาจา เป็นต้น แก่บุตรธิดา เมื่อว่าตามหลักกรรม จึงเป็นผู้ประกอบกรรมดีแก่บุตรธิดา เป็นคนดีของบุตรธิดา ดังที่เรียกว่าผู้มีพระคุณ ควรที่บุตรธิดาจะพึงมีกตัญญูกตเวที
นอกจากนี้ ก็มีพระอริยเจ้า มีผลของการบูชาต่างๆ ตลอดถึงมีโลกนี้โลกหน้า มีนรกสวรรค์ อันหมายถึงภูมิเป็นที่ไปอันมีทุกข์หรือมีสุขมาก สัมมาทิฐิได้สอนให้มีความเชื่อในกรรม ในผลของกรรม ในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน และสอนให้มีความเชื่อในความตรัสรู้ของพระบรมครูพุทธเจ้า ข้อหลังนี้สัมมาทิฐิได้สอนเน้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเชื่อในความตรัสรู้ของพระบรมครูแล้ว ก็จะทำให้มีความเคารพเชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งทรงสอนในเรื่องกรรมดังกล่าวอยู่ด้วย
ที่สัมมาทิฐิสอนให้เชื่อในกรรมนั้น นับว่าเป็นการสอนที่มุ่งผลสำคัญอย่างที่สุด ถ้าการสอนนั้นสำเร็จผล คือสามารถทำให้มีผู้เชื่อได้มาก ก็ย่อมจะเกิดผลดีอย่างหนึ่ง ผู้เชื่อในกรรมจักไม่ทำกรรมโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบก่อน เพราะย่อมกลัวผลของกรรมไม่ดี ถ้าพิจารณาไม่รอบคอบ ทำกรรมลงไปโดยไม่แน่ใจว่าเป็นกรรมดี กลับเป็นการทำกรรมชั่ว ผลที่ได้รับย่อมจักเป็นผลชั่ว ทุกคนย่อมกลับจะได้รับผลชั่ว ที่กล้าทำกรรมชั่วกันอยู่มากมายในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่เชื่อกรรมจริง ไม่เชื่อว่ากรรมดีจะให้ผลดีจริง และกรรมชั่วจะให้ผลชั่วจริง
ขอยํ้าให้เข้าใจว่า การไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อในผลของกรรม ไม่เชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน นี่แหละที่เป็นเหตุให้คนไม่ทำแต่ความดีอย่างเดียว แต่กลับทำความชั่วได้ต่างๆนานา ก็เมื่อไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เสียแล้ว ก็เห็นความสำคัญของการพิจารณาก่อนจะทำกรรมใดๆ ให้เป็นการยุ่งยากลำบากทำไม ย่อมจะพอใจทำไปตามปรารถนาที่เห็นว่าง่าย สะดวก และเหมือนได้ผลดีเสียอีกด้วย
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายน่าจะได้อบรมความเชื่อตามสัมมาทิฐิสอนไว้ คือเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน ผู้ใดอบรมความเชื่อนี้ให้เกิดขึ้นได้หนักแน่นมั่นคงไม่คลอนแคลนเพียงใด จิตของผู้นั้นย่อมเป็นจิตที่พ้นจากผลของกรรมชั่วเพียงนั้น ย่อมจักมีความสงบเยือกเย็น พ้นทุกข์พ้นร้อนเพียงนั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)