xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๙) มายา-มิจฉาทิฐิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


เมื่อโลกนี้หมุนวนอยู่ แต่ทุกคนที่อยู่ในโลก หาได้รู้ว่าโลกหมุนวนไม่ เมื่อโลกหมุนวนไปหาจุดเก่า คนทั้งปวงก็คิดว่าวันใหม่ สมุทัยได้สร้างมายาขึ้นสำหรับกำบังสัจจะคือความจริง

ไตรภูมิโลกเองก็เต็มไปด้วยมายา ระบบสื่อสารทั้งชั้นนอกชั้นในของจิตตนครก็เต็มไปด้วยมายา เพราะสมุทัยได้ส่งเข้าไปแทรกไว้ทุกหนทุกแห่ง ทำให้ชาวจิตตนครพากันเห็นไปอย่างหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากความจริง ตั้งต้นแต่ตื่นนอนเช้าขึ้น ก็มองเห็นดวงตะวันขึ้นโคจรจากทิศตะวันออกไปตกทางทิศตะวันตก แต่ตามสัจจะที่วิทยาศาสตร์แสดงไว้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ โลกต่างหากโคจรไปรอบดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ สิ่งที่ไกลตาก็เห็นเล็ก ใกล้ตาก็เห็นใหญ่ เช่น ดวงตะวัน เดือนดาว เห็นดวงเล็กนิดเดียว แต่ตามสัจจะหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เสียงต่างๆที่ออกจากปากไปเข้าหูก็เหมือนกัน สร้างเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นได้ไม่น้อย ทำให้รักกัน ช่วยกันก็ได้ ทำให้เกลียดชังกัน ตีกัน รบกันก็ได้ ตามสัจจะก็เป็นสักแต่ว่าเสียงเท่านั้น ทางจิตใจเองก็ยิ่งเต็มไปด้วยความคิดปรุงแต่ง เครื่องปรุงแต่งต่างๆ ในโลกออกมาจากจิตใจก่อนทั้งนั้น

สมุทัยได้สร้างมายาในรูปแห่งสิ่งหนึ่ง เรียกว่า “โลกธรรม” มีอยู่ ๘ สิ่ง คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ อันที่จริง ทั้ง ๘ นี้ เป็นธรรมคือของสำหรับโลก ใครๆที่เกิดมาในโลกก็จะต้องพบด้วยกันทั้งนั้น ไม่ยกเว้นแม้แต่องค์พระบรมครูและพระสาวกทั้งปวง

แต่สมุทัยได้สอดแทรกมายาเข้าไปในจิตใจของคน ทำให้โลกธรรมกลายเป็นอารมณ์เครื่องผูกพันจิตใจให้ยินดีและยินร้าย คือให้ยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้ยินร้ายในอลาภ อยศ นินทา ทุกข์

ทั้งสมุทัยได้ส่งสมุนเอก คือ โลโภ โทโส โมโห เข้าไปอีกด้วย จึงทำให้โลภอยากได้ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างไม่มีอิ่มมีพอ และทำให้มีโทสะในเมื่อต้องถูกขัดขวาง หรือเมื่อประสบสิ่งที่ตรงกันข้าม ไม่เช่นนั้นก็เศร้าเสียใจอย่างไม่
อาจจะยับยั้ง เป็นอันว่าทำให้ยิ่งวุ่นแสวงหากอบกำ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กันอย่างอุตลุด ไม่เป็นอันจะคิดทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์อันแท้จริงแก่ตนและแก่คนอื่น ตลอดถึงส่วนรวมให้สมควร ให้มาก ความสุขความเจริญต่างๆ จึงชะงักงัน หรือบังเกิดขึ้นเนิ่นช้า ควรที่จะเจริญมากและเร็ว ก็กลับน้อยและช้า บางทีกลับเสื่อมถอยหลังไปเสียอีก เพราะมัวแต่วิ่งวุ่นแย่งลาภผลเป็นต้นกันเสีย

คล้ายกับคราวบวชนาค เจ้านาคโยนสตางค์ให้ทาน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันแย่งทานกันชุลมุน สมุทัยเห็นดังนั้นก็หัวร่อร่าเริงชอบใจ ว่าเพียงแต่สตางค์ก็แย่งกันอุตลุดเสียแล้ว เสียแรงเตรียมเครื่องป้องกันไว้มากมาย สมุทัยยังมีกลวิธีดีกว่าโยนทานอีกหลายอย่างนัก สำหรับที่จะหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้า

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรอบรมสติให้มาก เพื่อให้สติเกิดทันเวลา เมื่อความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น ก็จะได้รู้ว่า นั่นคือมายาของสมุทัยกำลังล่อให้เป็นไป จักทำให้เนิ่นช้าในการดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นอำนาจของสมุทัย ได้มีบรมสุข อันเป็นสุขแท้จริง

มิจฉาทิฐิ
อันชาวจิตตนครทุกสัตว์บุคคลตัวตน ต่างก็วนเกิดแก่ตายอยู่แล้วๆเล่าๆ ในไตรภูมิที่เรียกว่าสงสารวัฏฏะ องค์พระบรมครูทรงเห็นเหตุแห่งการวนเวียนเช่นนั้น และได้ทรงแสดงชี้ไว้ชัดแจ้ง เพื่อเป็นทางสำหรับชาวจิตตนครผู้ปฏิบัติตามพระองค์ ให้พ้นจากการต้องวนเวียนดังกล่าว แต่สมุทัยก็พยายามหากลอุบายมาหลอกล่อให้ชักช้า มิให้พ้นไปได้โดยง่าย

ทำไมสมุทัยจึงต้องใช้วิธีหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้า ก็เพราะสมุทัยทราบว่า ชาวจิตตนครมีพื้นเป็นผู้ฉลาด ถ้าปกปิดบิดบังความจริงไม่ดี ก็จะต้องจับความจริงได้ และเมื่อชาวจิตตนครจับความจริงได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละคือกาลอวสานของสมุทัยกับพรรคพวก กับทั้งศาสนาขององค์พระบรมครูก็ได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในจิตตนครแล้ว คู่กับศาสนาของมารหรือของสมุทัยนั่นแหละ

คู่บารมีได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ หลักใหญ่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็คือเผยแผ่ความจริงที่สมุทัยกลัวยิ่งนักว่าใครๆ จะพากันรู้ และโดยเฉพาะก็คือชี้ให้รู้จักตัวสมุทัย พร้อมทั้งพรรคพวกตามเป็นจริง

สมุทัยจึงต้องใช้วิธีทำให้ชาวจิตตนคร ไม่อาจจะรู้ความจริงได้ หรือให้รู้ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ ดังที่เรียกว่าทำให้ชักช้า คือทำมิให้รู้ได้เร็ว แต่ให้ไม่รู้เรื่อยไป นี้เป็นความประสงค์สุดยอด หากไม่ได้อย่างนั้น ก็ให้รู้ช้าที่สุด เพื่อที่ตนจะได้ครองอำนาจตลอดไป หรือนานที่สุด

วิธีที่สมุทัยใช้ตลอดมาเป็นวิธีทำให้ชักช้าทั้งนั้น เช่น สอดแทรกอารมณ์เข้าไปกับระบบสื่อสาร ส่งสมุน เช่น โลโภ โทโส โมโห กับกิเลสตัณหาทั้งหลายเข้าควบคุม สมุนสำคัญซึ่งมีหน้าที่ในทางปิดบังความรู้คือโมโห มีหน้าที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ถือเอาทางผิด

ยังมีอีกผู้หนึ่งเป็นสหายของโมโห คือ มิจฉาทิฐิ มีหน้าที่ทำให้เห็นผิด ซึ่งโมโหจะต้องชักชวนมาด้วยเสมอ มิจฉาทิฐินี้มีหัวรุนแรงมาก คอยชักนำให้เห็นว่าจะทำอะไรทุกอย่างทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ชื่อว่าทำบุญทำบาป ที่ว่าทำอย่างนี้เป็นการทำบุญ ทำอย่างนั้นเป็นการทำบาป เป็นการว่าเอาเองทั้งนั้น อย่าไปคิดว่าทำบุญทำบาป ไม่มีการทำบุญทำบาปที่ไหน บุญบาปไม่เป็นอันทำ ฉะนั้น อยากจะทำอะไรก็ทำไปเถิด อย่าให้ใครเขาเห็นว่าทำผิด และจับเอาตัวไปลงโทษก็แล้วกัน

อนึ่ง สิ่งที่ได้รับอยู่ ทั้งที่น่าชอบใจทั้งที่ไม่น่าชอบใจ เช่นโลกธรรมต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เกิดขึ้นตามความประจวบเหมาะ เหมือนอย่างรถสองคันแล่นมาชนกัน ก็เพราะบังเอิญมาประจวบเหมาะกันเข้า ถ้าคลาดกันเสียนิดหนึ่ง ก็จะไม่เกิดการชนกัน จึงไม่มีเหตุอะไรที่ไหน เหมือนอย่างตัวอย่างนั้น ไม่เห็นมีเหตุอะไรอื่นที่ไหน เช่นที่ว่ากรรมเป็นเหตุ ไม่เห็นมีกรรมเก่าอะไรที่ไหน เป็นเรื่องของรถวิ่งมาชนกันเข้าพอดี ความเกิดลาภยศก็เป็นความประจวบเหมาะเข้าทั้งนั้น ถ้าเป็นความประจวบเหมาะในทางดีก็เรียกว่าเป็นโชคดี เคราะห์ดี คราวดี สมัยดี ถ้าเป็นความประจวบเหมาะในทางร้ายก็เรียกว่าเป็นโชคร้าย เคราะห์ร้าย คราวร้าย สมัยร้าย ก็เห็นๆกันอยู่ดังนี้

ฉะนั้น อะไรๆที่เกิดขึ้นต่างๆ จึงไม่มีเหตุ คือไม่ใช่ผลของเหตุตามที่ว่ากัน ซึ่งไม่มีให้เห็นปรากฏว่าอยู่ที่ไหน นอกจากเป็นความประจวบเหมาะดังกล่าว ถ้าไม่เชื่อก็ลองดู เช่น อยากได้ลาภได้ยศ ก็เร่งประจบผู้ใหญ่เข้า ให้ท่านชอบ ท่านก็จะเร่งเสนอให้ นี้คือความประจวบเหมาะ คือท่านกับตนมาประจวบกันตรงที่ประจบ ก็ได้เลื่อนยศเท่านั้น ฉะนั้น ประจบนี่แหละคือความประจวบ ทำให้เหมาะเข้าเถิด ดีกว่าทำงานดีแต่ไม่ประจบมากมายนัก มิจฉาทิฐิแนะนำดังนี้

คำแนะนำของมิจฉาทิฐิเป็นคำแนะนำให้หลงผิด ให้ชักช้า ไม่อาจปฏิบัติให้พ้นสังสารวัฏฏะได้โดยเร็ว เป็นคำแนะนำที่ตรงกันข้ามกับที่องค์พระบรมครูทรงแนะนำไว้ บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรจะได้พิจารณาให้รอบคอบ อย่ายอมให้มิจฉาทิฐิชักจูงให้หลงผิดไปมากนัก จึงจักสามารถพาตนให้เข้าใกล้ความพ้นจากสังสารวัฏฏะได้เป็นลำดับ ได้รับความสุขเป็นลำดับไปพร้อมกัน

พูดกันเสียตรงๆ สั้นๆ ว่าทุกอย่างไม่มีจริงอยู่เลย จะมีนรกสวรรค์อยู่ที่ไหน และเพราะผู้ที่แสดงเรื่องนรกสวรรค์พาไปดูไม่ได้กระมัง จึงพูดว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ หรือพูดว่ามีให้เห็นอยู่แล้ว คือที่ที่มีสุขมากคือสวรรค์ ที่ที่มีทุกข์มากเช่นคุกตะรางเป็นนรก ฉะนั้น ก็อยู่ในโลกที่อยู่กันนี่แหละ จึงไม่มีนรกสวรรค์ที่ไหน และโลกก็มองเห็นกันอยู่นี่แล้ว เป็นโลกเดี่ยว ไม่มีโลกคู่ที่พูดว่า โลกนี้โลกหน้า

นอกจากนี้ คนเราเกิดมาตามธรรมชาติธรรมดา สืบพันธุ์กันต่อๆมาเหมือนอย่างเรือน้อยพ่วงเรือใหญ่ หรือเหมือนอย่างเรือที่พ่วงกันเป็นแถว ไม่จำเป็นจะต้องนับถือหญิงหรือชายคู่ไหนว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเป็นมารดาบิดา ทั้งเมื่อการบูชาต่างๆ ไม่มีผล ตลอดถึงความประพฤติปฏิบัติต่างๆ ดังที่เรียกว่าประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่เกิดผล จึงไม่มีพระอริยเจ้าในโลก พูดตรงๆ ก็คือ ไม่มีคนดีคนชั่วที่ไหน

มิจฉาทิฐิได้แนะนำอย่างรุนแรงดังนี้ มาตั้งแต่ก่อนพระบรมครูได้ตรัสรู้พระธรรม แต่ชาวจิตตนครก็หาได้เชื่อคำแนะนำนี้ไปทั้งหมด หรือโดยมากไม่ ครั้นองค์พระบรมครูเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม และทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในจิตตนคร ชาวจิตตนครก็พากันรู้ถูกเห็นถูกเข้าใจถูกต้องขึ้นโดยลำดับ พากันรับรองว่ามีบุญมีบาป ทำบุญทำบาปก็เป็นอันทำ ไม่ใช่ไม่เป็นอันทำ สุขทุกข์ความเจริญความเสื่อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละคน ตลอดถึงชีวิตร่างกายจิตใจนี้ เป็นผลเกิดจากเหตุ จึงมีเหตุอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่เกิดขึ้น การปฏิบัติต่างๆ มีผล มีนรกสวรรค์ มีโลกนี้โลกหน้า มีมารดาบิดา มีพระอริยเจ้า ตลอดถึงมีคนดีคนชั่วตามกรรมที่แต่ละคนทำ นี่แหละคือพระพุทธศาสนาที่ทำให้ผู้นับถือเป็นสัมมาทิฐิ

ตรงกันข้ามกับมารศาสนาที่ทำให้ผู้นับถือเป็นมิจฉาทิฐิไปตามผู้แนะนำ น่าแปลกที่มิจฉาทิฐิยังให้คำแนะนำอย่เรื่อยๆ มา แต่นับว่าฉลาด เพราะได้ดัดแปลงรูปการสอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ ที่คนไม่น้อยพากันหลงนับถือ

ทิฐิเป็นเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนทำดีหรือทำชั่ว เมื่อเป็นสัมมาทิฐิคือเป็นความเห็นชอบ ก็ย่อมไม่ทำผิดไม่ทำชั่ว เมื่อเป็นมิจฉาทิฐิคือความเห็นผิด ก็ย่อมทำผิดทำชั่ว การอบรมทิฐิของตนให้เป็นทิฐิที่ดีที่ชอบ จึงเป็นสิ่งควรทำยิ่งนัก จักเป็นเหตุให้ประกอบกรรมดีที่จะให้ผลเป็นความสุขสวัสดีได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น