xs
xsm
sm
md
lg

ตีฆ้องร้องป่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องการผู้อุปถัมภ์

เรียนบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา

ด้วยข้าพเจ้า นายธีรพงศ์ สิทธิเชนทร์ ข้าราชการบำนาญเหตุทุพพลภาพ ภูมิลำเนา 27 หมู่ 6 ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช 80260 ขาดปัจจัยในการเป็นสมาชิกนิตยสารธรรมลีลา แต่เป็นสมาชิกนิตยสารธรรมลีลาประเภทผู้รับการอุปถัมภ์ หมายเลขสมาชิก ID.12023/2555 ปีที่ผ่านมา ผู้อุปถัมภ์คือ คุณพลาธิป ขนุนนิล

นิตยสารธรรมลีลาหมดอายุลงในฉบับที่ 186 ประจำเดือนมิถุนายน 2559 ยังไม่ทราบเลยว่า คุณพลาธิป ขนุนนิล จะรับเป็นผู้อุปถัมภ์นิตยสารธรรมลีลาต่อหรือไม่ ถ้าคุณพลาธิป ขนุนนิล ไม่รับเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อ ทางบรรณาธิการกรุณาช่วยหาผู้อุปถัมภ์นิตยสารธรรมลีลาต่อให้ด้วย จักขอบพระคุณมาก

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
นายธีรพงศ์ สิทธิเชนทร์


เรียนคุณธีรพงศ์ ผู้ที่รับเป็นสมาชิกอุปถัมภ์ต่อเนื่องให้คุณอีก 1 ปีคือ คุณพลาธิป ขนุนนิล จาก กทม.

เรียนท่านผู้อ่าน คุณธีรพงศ์ได้แนบเอกสารทางราชการในการเป็นข้าราชการบำนาญเหตุทุพพลภาพมาด้วย ทำให้ทราบว่าคุณธีรพงศ์เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา อาจจะเป็นครู หรือข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่งที่มีส่วนทำให้การศึกษาของไทยเจริญงอกงามมาจนทุกวันนี้ ท่านก็คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถือเป็นผู้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ให้กับประเทศชาติ ท่านเป็นปราชญ์ที่ทรงภูมิความรู้ในศาสตร์หลายแขนง อาทิ ศึกษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ท่านมีผลงานที่ทรงคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติมาต่อเนื่องยาวนาน เช่น เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนแรก เพื่อให้เป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาวิชาครูเป็นหัวใจสำคัญ รวมทั้งริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญในแวดวงการศึกษา ทั้งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2500-2512 ท่านได้วางนโยบายด้านการศึกษาของชาติ และสร้างสรรค์งานการศึกษาไว้อย่างมากมาย

ความที่ท่านเป็นผู้แตกฉานในด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานประพันธ์รวม 207 เรื่อง ที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ใน พ.ศ. 2530 ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ต่อมา พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลอาเซียน สาขาวรรณกรรม และได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่ง

และวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ท่านได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลดีเด่นและเป็นบุคคลสำคัญใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสารมวลชน

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับรางวัลเกียรติคุณอื่นๆอีกมากมาย แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ท่านได้คิดค้นและประดิษฐ์ปฏิทินล้านปีขึ้นเป็นคนแรกของไทย ในขณะที่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2467

ขอฝากกลอนบทหนึ่งของท่านไว้เป็นข้อคิด ดังนี้

ตระเวนไปอยากได้การศึกษา จนยุโรปอเมริกาก็ถ้วนทั่ว
มนุษย์เชี่ยวเชิงวิชาอย่างน่ากลัวแต่ใจคนจะชั่วไม่เปลี่ยนแปลง
ระลึกคุณพระพุทธสุดประเสริฐสงบเกิดแก่ใจได้รู้แจ้ง
ฝึกฝนจิตส่วนร้ายหายรุนแรงศึกษาแหล่งที่แท้อยู่แค่ใจ


หนังสือเป็นเสมือนของขวัญล้ำค่า

เจริญพรบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา

ตามที่อาตมาภาพได้รับหนังสือนิตยสารธรรมลีลา เป็นประจำเสมอมา โดยมีผู้อุปถัมภ์คือ คุณจิตราพร ชีพเป็นสุข ขออนุโมทนาสำหรับกุศลเจตนาของคุณโยม ที่เล็งเห็นประโยชน์ในการมอบวิทยาทาน เป็นการเพิ่มบารมี

ในช่วงปี 58-59 มีโครงการวิทยบริการของเรือนจำกลางบางขวาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ มมร. อาตมาได้มีโอกาสไปช่วยให้ความรู้กับนักศึกษาในโครงการดังกล่าว หนังสือจึงเป็นเหมือนของล้ำค่าที่นักศึกษาต้องพึ่งพิงอาศัย โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังใจ ได้ให้นักศึกษาสวดมนต์ไหว้พระ เจริญบทพุทธมนต์ ซึ่งมีหลายเล่มของหนังสือที่โยมสมัครให้ กล่าวถึงเรื่องมนตร์ ได้ยกที่มาและความสำคัญของบทสวด ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ร่วมโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง

ขอมอบบุญกุศลที่ได้ให้ความรู้ และความดีที่นักศึกษาร่วมกันเรียนรู้ปฏิบัติ เป็นพลวเสริมส่งให้คุณจิตราพร ชีพเป็นสุข มีชีวิตที่ประสบแต่ความสุข ขอให้เจริญตามธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนานเทอญ

ขออนุโมทนา

พระครูปลัดเกษม
สำนักศาสนศึกษาวัดบางขวาง จ.นนทบุรี


นมัสการพระคุณเจ้า เนื่องจากสมาชิกอุปถัมภ์ของพระคุณเจ้าใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่คุณจิตราพร ชีพเป็นสุข ผู้อุปถัมภ์เดิม ได้ต่ออายุสมาชิกอุปถัมภ์ถวายท่าน เป็นเวลาอีก 1 ปี เพื่อร่วมทำบุญในการให้ธรรมเป็นทาน

เรียนท่านผู้อ่าน โครงการวิทยบริการของเรือนจำกลางบางขวางนั้น เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พ.ศ.2556 ในการนี้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ต้องขัง ได้รับการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังใกล้ชิดศาสนา เข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอน ซึ่งถือเป็นการขัดเกลาจิตใจผู้ต้องขังเป็นอย่างดี

ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงส่งเรื่องมายังมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) ขออนุมัติเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) สาขาวิชาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา นำร่องให้แก่ผู้ต้องขังภายในเรือนจำบางขวาง จำนวน 1 ห้องเรียน ทางมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจึงอนุมัติดำเนินการ “โครงการวิทยบริการ เรือนจำกลางบางขวาง” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557

ส่วนวัดบางขวางมีประวัติว่า สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยาง” ตั้งอยู่ปลายคลองบางสีทอง ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เห็นว่าการเดินเรือตามลำแม่น้ำที่มีอยู่นั้นเป็นการอ้อม ทำให้เสียเวลา จึงโปรดให้ขุดคลองจากวัดเขมาภิรตารามถึงปากลำแม่น้ำอ้อม คลองบางสีทองจึงถูกตัดขาดไป แต่ต้นคลองยังคงเรียกว่าคลองบางสีทอง แต่ปลายคลองเรียกชื่อใหม่ว่า “คลองบางขวาง” อาจเป็นด้วยเหตุที่คลองนี้ขวางหน้าในการขุดแม่น้ำนั้นเอง ดังนั้น วัดบางยางจึงถูกเรียกตามชื่อคลองว่า “วัดบางขวาง” สังกัดธรรมยุติกนิกาย


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น