xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสันถาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

28 กรกฎาคม
ทรงพระเจริญ


4 กรกฎาคม
ทรงพระเจริญ


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นิตยสารธรรมลีลา


วันสำคัญทางพุทธศาสนาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 นี้ มี 2 วันด้วยกัน คือ วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 19 กรกฎาคม และวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นวันแรกที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร เพื่อประกาศสัจจธรรม เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะสมบูรณ์ เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้แสดงธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เมื่อปี 2520 ใจความตอนหนึ่งว่า

“...อาสาฬหบูชา เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เราจึงถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระองค์ได้เปิดโลกให้สว่างด้วยปัญญา ให้โลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติ อันจะนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน...

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นเรื่องสำคัญสูตรหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนา...

อริยสัจจ์สี่ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ เป็นสัจจะ เป็นของจริงแท้ที่มีปรากฏอยู่ในชีวิตของเราตลอดเวลา ประกอบด้วย หนึ่ง ความทุกข์ สอง เหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมา สาม การดับทุกข์ได้ สี่ ข้อปฏิบัติที่จะเป็นทางให้เกิดความพ้นทุกข์

เรื่องของอริยสัจจ์ทั้งสี่ประการนี้ พูดเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนในเรื่องอื่นที่ไกลไปจากชีวิตของเราแต่ละคน พระองค์ทรงชี้ลงมาที่ตัวของเรา ให้เราศึกษาทำความเข้าใจภายในตัวของเราเอง…”


ในส่วนของวันเข้าพรรษานั้น พระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญา ได้ให้หลักคิดไว้ว่า

“...ในฤดูการเข้าพรรษา เราควรจะถือว่า เป็นสัจจฤดู คือเป็นฤดูแห่งการทำจริง เป็นฤดูกาลแห่งการก้าวหน้า เป็นฤดูแห่งการขูดเกลาตัวเราให้ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนญาติโยมทั้งหลายว่า ในฤดูกาลเข้าพรรษา ให้เราตั้งจิตอธิษฐานว่า เราจะทำอะไร ในเรื่องที่จะเป็นไปเพื่อความขูดเกลา เพื่อสร้างเสริมชีวิตจิตใจให้ดีให้งามขึ้น

...อย่าอยู่โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำอะไร พรรษามันจะผ่านพ้นไปโดยไม่ได้ประโยชน์ แต่ควรจะได้ตั้งใจว่าจะทำอะไร เช่นตั้งใจว่าจะตักบาตร ถวายอาหารแก่พระทุกเช้า จะไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน จะนั่งสงบใจทุกคืนก่อนนอน...

สุดแล้วแต่เลือกว่าจะอธิษฐานอะไร ให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์จิตใจ เป็นไปในทางที่เจริญงอกงามด้วยศีลด้วยธรรมในทางพระพุทธศาสนา ให้จิตใจเรา สะอาด สว่าง สงบ ขึ้นนั่นแหละ จึงจะเป็นการดี...”


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559)
กำลังโหลดความคิดเห็น