xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : อันตราย!! โรคในช่องปาก ไม่รักษา..เสี่ยงกระทบอวัยวะภายใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยโรคในช่องปาก นำไปสู่อาการอักเสบและติดเชื้อในอวัยวะอื่น เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ แนะป้องกันด้วยหลัก 3อ. 2ส. 1ฟ.

ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคในช่องปากเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป

นอกจากนี้ การติดเชื้อในช่องปากจะนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเชื้อจะเดินทางผ่านกระแสเลือด ท่อน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ เมื่อแพร่กระจายไปสู่ลำคอ หลอดลม และปอด อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้

เมื่อเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อ Helicobacter Pylori ถูกกลืนเข้าสู่ทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทั้งนี้ เชื้อโรคจากช่องปากยังสามารถแพร่กระจายไปสู่รูหู ผ่านทางท่อที่มีติดต่อกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ และนำไปสู่การอักเสบของหูได้

ประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพในช่องปาก และป้องกันปัจจัยเสี่ยงร่วม ด้วยมาตรการ 3อ. 2ส. 1ฟ. โดย 3 อ. คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการทำอารมณ์ให้แจ่มใส ส่วน 2ส. คือ การไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ และ 1ฟ. คือ ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสมด้วยสูตร 2 : 2 : 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดรับประทานอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

ทันตแพทย์สุธา กล่าวต่อว่า โรคต่างๆในช่องปาก อาทิ โรคฟันผุ หากปล่อยให้การผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายออกจากฟันไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ บางครั้งการติดเชื้อจะมีการลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะรุนแรงขึ้น

สำหรับผู้ที่เป็นโรคปริทันต์และมีอาการบวมเข้าไปในช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อบางตำแหน่ง จะกดหลอดลม เป็นเหตุให้หายใจไม่ออก เชื้อโรคจากการอักเสบเป็นหนองของรากฟันกรามบน จะแพร่กระจายเข้าไปในโพรงอากาศหรือไซนัสได้ด้วย เพราะรากฟันกรามบนติดชิดอยู่กับไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของไซนัสตามมา จนสามารถกลายเป็นโรคเรื้อรังได้อีกโรคหนึ่ง และถ้าหากเชื้อนั้นมีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน อาจมีอันตรายรวดเร็วถึงชีวิต เช่น ในรายที่โลหิตเป็นพิษ หรือหากเชื้อมีความรุนแรงน้อย การแพร่กระจายของเชื้อจะทำลายสุขภาพอย่างช้าๆ เมื่อถึงระยะที่ร่างกายอ่อนแอมีความต้านทานโรคต่ำ อาการของโรคจึงจะปรากฏให้เห็น

สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคในช่องปากร่วมด้วย จะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี แต่ถ้าสามารถลดการอักเสบของช่องปากได้ ก็จะทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นด้วย

“ผู้ที่มีโรคประจำตัว และกินยาเพื่อรักษาโรคเป็นประจำ เมื่อมารับบริการทางทันตกรรม ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทราบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เช่น ในรายที่กินยาสลายลิ่มเลือด โดยเฉพาะที่ได้รับยาแอสไพริน อาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากการขูดหินปูน ผู้ที่เป็นโรคไต หรือมีประวัติเคยล้างไต เพราะผู้ป่วยเหล่านี้อาจะเคยได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คนที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคลมชัก ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ ผู้ที่เคยได้รับเคมีบำบัดต้องหมั่นมาพบทันตแพทย์ เพราะผลแทรกซ้อนจากเคมีบำบัดมีผลต่อระบบเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการซีด ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย สามารถเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ ทำให้เกิดแผลในช่องปาก เกิดการติดเชื้อ มีเลือดออก เกิดอาการปวด และกินอาหารไม่ได้”
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น