ในหนังสือ “ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท)” วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งคณะศิษย์ได้ร่วมเรียบเรียงขึ้น จากงานเขียนเก่าของครูบาอาจารย์ จากธรรมเทศนาของหลวงพ่อในแถบเสียง และการบอกเล่าจากญาติมิตรของท่าน มีอยู่ตอนหนึ่งคือ “ประสบการณ์ในป่าช้า” ของหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นประสบการณ์การปฏิบัติธรรมในสภาพแวดล้อมที่น่าสยดสยอง แต่ท่านก็สามารถเอาชนะความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้ เพราะท่านมีคำตอบให้กับตัวเองแล้วว่า ที่กลัวมากมายนักน่ะ กลัวอะไร...
“ธรรมลีลา” จึงขอนำเรื่อง “ประสบการณ์ในป่าช้า” มาถ่ายทอดเป็นธรรมทานในครั้งนี้
.........
หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงพ่อ(ชา สุภทฺโท)กับคณะ เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา...
วันหนึ่งหลวงพ่อกับคณะเดินทางถึงวัดโปร่งคลอง ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง พื้นดินแห้งเหมาะแก่การพักตามโคนไม้ พระบางรูปในสำนักจึงไปอยู่ป่าช้า เพื่อฝึกฝนตนเอง หลวงพ่อเกิดความสนใจใคร่จะศึกษาดูว่า การอยู่ป่าช้าจะช่วยขัดเกลากิเลสได้อย่างไร
หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า...
“ ...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไปซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตาย เพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจอย่างนี้...
พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกลๆโน่น ความจริงแล้วอยากให้มาอยู่ใกล้ๆเป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอา เดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียในคืนนี้
พอค่ำลงเขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้... คิดอยากจะหนี... เขานิมนต์ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป... มันกลัว... เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน
สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง... จะทำอย่างไรดี... หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆกัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล
พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกลับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่
พอมืดสนิทจริงๆก็มุดเข้ากลดทันที รู้สึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆก็รู้สึกดีใจ ได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อน นั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย
พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่าเรารอดตายแล้ว ดีใจจริงๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน...
ตอนเช้าไปบิณฑบาตคนเดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน!
เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น
กลับจากบิณฑบาตก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่น ได้เดินจงกรม และพักผ่อนเอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว
พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆด้านหน้ากลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด
ช่วงหัวค่ำ ศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรมไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด... นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น
ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังเหมือนตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมากินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ...
พอสักพัก มีเสียงเหมือนคนเดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่... แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ... หลับตาสนิทไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ
มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูกไฟไหม้คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า...
ตายคราวนี้ล่ะ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจนหมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา... ใจหนึ่งเลยถามว่า...
ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร?
กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ
แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน... ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก... หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน
ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ... วิ่งหนีก็ตาย... นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเรา ไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา... กลัวหรือไม่กลัว... ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...
พอคิดได้อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ... ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ... ใจมันสูงขึ้น... สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ... เปรียบไม่ถูก
พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย...
ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ พอฝนหยุด... เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย... ร้องไห้... นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า... น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด... อย่าให้มันมีอยู่
เมื่อคิดได้อย่างนี้... เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัดเรื่องเกิดขึ้นมา... พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน... ความทุกข์ที่นั่งตากฝน... ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย... นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น
สว่างขึ้นมา ลืมตาครั้งแรกมองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะเพราะมันปวดตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ... ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างใน คงขาดหมดแล้ว... ขาดก็ขาด... ตายก็ตายไปซิ... ตายเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติแบบนี้ตายก็ตาย...
ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที
คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ...”
หลังคืนสยองผ่านไป โดยมิรู้ว่าอาคันตุกะลึกลับผู้นั้นคือใคร เหตุใดจึงมาเยี่ยมเยือนด้วยอาการดุร้ายน่ากลัวเช่นนั้น... หลวงพ่อไม่กล่าวถึงมัน ท่านกลับเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของการต่อสู้ให้ถึงที่สุด... สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า
“ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี!”
เมื่อหลวงพ่อพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าช้าได้เจ็ดวัน ก็มีอาการป่วยหนัก จึงออกมาพักรักษาตัวที่สำนักท่านอาจารย์คำดี พักอยู่ประมาณ 10 วัน อาการก็ทุเลาลง แม้ร่างกายอ่อนล้าเพราะพิษไข้ แต่จิตใจกลับกล้าแกร่งองอาจยิ่งนัก เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคคือ ความกลัวตายในคืนนั้นได้ ด้วยความอดทนและภูมิปัญญา...
หลังจากอาการไข้สร่างซาลง มีพละกำลังกลับคืนมา ก็กราบลาท่านอาจารย์คำดี เดินทางมาพักอยู่ในป่าใกล้บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พักอยู่ที่นั่นหลายวัน อาการไข้หายเป็นปกติ
แต่อาการไข้ใจจากไฟราคะ ที่ถูกควบคุมความร้อนแรงไว้ด้วยการหลีกเร้นและภาวนา กลับถูกจุดให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยม่ายสาวผู้รวยรูปลักษณ์และทรัพย์สิน นางมาถวายอาหารและพูดคุยด้วยทุกวัน จนจิตใจหลวงพ่อหวั่นไหวไปตามแรงจริตที่นางแสดงออก ซึ่งส่อถึงความรู้สึกอันพิเศษเกินขอบเขตที่อุบาสิกาจะพึงมีต่อพระ...
หลวงพ่อชั่งใจว่าจะเอาอย่างไรดีอยู่หลายวัน กระทั่งคืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาพิจารณาไป สังเกตเห็นใจตัวเองเอนเอียงไปทางนางมากขึ้นทุกที จึงตัดสินใจลุกขึ้นเก็บบริขารในกลางดึกของคืนนั้น แล้วเดินไปปลุกปะขาวแก้ว ซึ่งกำลังหลับสบายอยู่ในกลด ปะขาวแก้วสะดุ้งตื่น ลุกขยี้ตา ถามอย่างงัวเงียว่า “ไปพรุ่งนี้ไม่ได้หรือครับ”
“ไม่! จะไปเดี๋ยวนี้แหละ” หลวงพ่อตอบอย่างเด็ดขาด เพราะตรึกตรองดีแล้วว่า ถ้าไม่หนีคืนนี้คงจะเสียทีแก่นางแน่
หลายปีต่อมา หลังจากหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ครั้งหนึ่งท่านได้เยี่ยมลูกศิษย์ที่สำนักสาขาแถวบ้านต้อง ระหว่างพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับญาติโยม ท่านปรารภถึงความหลัง และพูดถึงการปฏิบัติของตัวเองในสมัยก่อนอย่างขำๆ ว่า...
“การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายแนว แต่แนวที่มันยากนำอีหลีก็เรื่องแม่ออกนี่ล่ะ” (การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายอย่าง แต่ที่ยากกับมันจริงๆ ก็เรื่องผู้หญิงนี่แหละ)
(ขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ
“ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)”)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
“ธรรมลีลา” จึงขอนำเรื่อง “ประสบการณ์ในป่าช้า” มาถ่ายทอดเป็นธรรมทานในครั้งนี้
.........
หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงพ่อ(ชา สุภทฺโท)กับคณะ เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา...
วันหนึ่งหลวงพ่อกับคณะเดินทางถึงวัดโปร่งคลอง ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง พื้นดินแห้งเหมาะแก่การพักตามโคนไม้ พระบางรูปในสำนักจึงไปอยู่ป่าช้า เพื่อฝึกฝนตนเอง หลวงพ่อเกิดความสนใจใคร่จะศึกษาดูว่า การอยู่ป่าช้าจะช่วยขัดเกลากิเลสได้อย่างไร
หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า...
“ ...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไปซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตาย เพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจอย่างนี้...
พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกลๆโน่น ความจริงแล้วอยากให้มาอยู่ใกล้ๆเป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอา เดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียในคืนนี้
พอค่ำลงเขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้... คิดอยากจะหนี... เขานิมนต์ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป... มันกลัว... เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน
สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง... จะทำอย่างไรดี... หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆกัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล
พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกลับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่
พอมืดสนิทจริงๆก็มุดเข้ากลดทันที รู้สึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆก็รู้สึกดีใจ ได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อน นั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย
พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่าเรารอดตายแล้ว ดีใจจริงๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน...
ตอนเช้าไปบิณฑบาตคนเดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน!
เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น
กลับจากบิณฑบาตก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่น ได้เดินจงกรม และพักผ่อนเอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว
พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆด้านหน้ากลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด
ช่วงหัวค่ำ ศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรมไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด... นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น
ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังเหมือนตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมากินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ...
พอสักพัก มีเสียงเหมือนคนเดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่... แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ... หลับตาสนิทไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ
มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูกไฟไหม้คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า...
ตายคราวนี้ล่ะ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจนหมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา... ใจหนึ่งเลยถามว่า...
ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร?
กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ
แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน... ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก... หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน
ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ... วิ่งหนีก็ตาย... นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเรา ไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา... กลัวหรือไม่กลัว... ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...
พอคิดได้อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ... ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ... ใจมันสูงขึ้น... สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ... เปรียบไม่ถูก
พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย...
ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ พอฝนหยุด... เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย... ร้องไห้... นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า... น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด... อย่าให้มันมีอยู่
เมื่อคิดได้อย่างนี้... เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัดเรื่องเกิดขึ้นมา... พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน... ความทุกข์ที่นั่งตากฝน... ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย... นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น
สว่างขึ้นมา ลืมตาครั้งแรกมองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะเพราะมันปวดตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ... ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างใน คงขาดหมดแล้ว... ขาดก็ขาด... ตายก็ตายไปซิ... ตายเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติแบบนี้ตายก็ตาย...
ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที
คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ...”
หลังคืนสยองผ่านไป โดยมิรู้ว่าอาคันตุกะลึกลับผู้นั้นคือใคร เหตุใดจึงมาเยี่ยมเยือนด้วยอาการดุร้ายน่ากลัวเช่นนั้น... หลวงพ่อไม่กล่าวถึงมัน ท่านกลับเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของการต่อสู้ให้ถึงที่สุด... สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า
“ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี!”
เมื่อหลวงพ่อพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าช้าได้เจ็ดวัน ก็มีอาการป่วยหนัก จึงออกมาพักรักษาตัวที่สำนักท่านอาจารย์คำดี พักอยู่ประมาณ 10 วัน อาการก็ทุเลาลง แม้ร่างกายอ่อนล้าเพราะพิษไข้ แต่จิตใจกลับกล้าแกร่งองอาจยิ่งนัก เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคคือ ความกลัวตายในคืนนั้นได้ ด้วยความอดทนและภูมิปัญญา...
หลังจากอาการไข้สร่างซาลง มีพละกำลังกลับคืนมา ก็กราบลาท่านอาจารย์คำดี เดินทางมาพักอยู่ในป่าใกล้บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พักอยู่ที่นั่นหลายวัน อาการไข้หายเป็นปกติ
แต่อาการไข้ใจจากไฟราคะ ที่ถูกควบคุมความร้อนแรงไว้ด้วยการหลีกเร้นและภาวนา กลับถูกจุดให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยม่ายสาวผู้รวยรูปลักษณ์และทรัพย์สิน นางมาถวายอาหารและพูดคุยด้วยทุกวัน จนจิตใจหลวงพ่อหวั่นไหวไปตามแรงจริตที่นางแสดงออก ซึ่งส่อถึงความรู้สึกอันพิเศษเกินขอบเขตที่อุบาสิกาจะพึงมีต่อพระ...
หลวงพ่อชั่งใจว่าจะเอาอย่างไรดีอยู่หลายวัน กระทั่งคืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาพิจารณาไป สังเกตเห็นใจตัวเองเอนเอียงไปทางนางมากขึ้นทุกที จึงตัดสินใจลุกขึ้นเก็บบริขารในกลางดึกของคืนนั้น แล้วเดินไปปลุกปะขาวแก้ว ซึ่งกำลังหลับสบายอยู่ในกลด ปะขาวแก้วสะดุ้งตื่น ลุกขยี้ตา ถามอย่างงัวเงียว่า “ไปพรุ่งนี้ไม่ได้หรือครับ”
“ไม่! จะไปเดี๋ยวนี้แหละ” หลวงพ่อตอบอย่างเด็ดขาด เพราะตรึกตรองดีแล้วว่า ถ้าไม่หนีคืนนี้คงจะเสียทีแก่นางแน่
หลายปีต่อมา หลังจากหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ครั้งหนึ่งท่านได้เยี่ยมลูกศิษย์ที่สำนักสาขาแถวบ้านต้อง ระหว่างพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับญาติโยม ท่านปรารภถึงความหลัง และพูดถึงการปฏิบัติของตัวเองในสมัยก่อนอย่างขำๆ ว่า...
“การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายแนว แต่แนวที่มันยากนำอีหลีก็เรื่องแม่ออกนี่ล่ะ” (การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายอย่าง แต่ที่ยากกับมันจริงๆ ก็เรื่องผู้หญิงนี่แหละ)
(ขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ
“ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)”)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย กองบรรณาธิการ)