• ข้อ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นแยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ธรรมภายใน
๒. ธรรมภายนอก
๓. ธรรมในธรรม
๑. ธรรมภายใน อธิบายธรรมภายใน ในที่นี้หมายเอาฝ่ายชั่วก็มี ฝ่ายดีก็มี แต่ในที่นี้หมายเอานิวรณธรรมอันเป็นฝ่ายชั่วมี ๕ อย่างคือ
๑. กามฉนฺท ความพอใจรักใคร่
๒. พยาบาท ความพยาบาท
๓. ถีนมิทฺธ ความหงุดหงิดโงกง่วง
๔. อุทฺธจฺจ กุกฺกุจฺจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจ
นิวรณธรรม ๕ ประการนี้ เป็นได้ทั้งส่วนภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น
๑. จิตประกอบด้วยกามฉันทะแล้ว คือ เกิดความรักใคร่ ยินดีอยู่แต่ในจิตใจ ยังไม่ได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายสัมปยุต (ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง)
๒. จิตประกอบไปด้วยความหงุดหงิดไม่ชอบแล้ว แต่มิได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๓. จิตหดหู่หงุดหงิดโงกง่วง เมื่อเกิดขึ้นในทางจิตใจ ยังมิได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๔. จิตฟุ้งซ่านรำคาญคิดกลุ้มโดยลำพัง ยังมิได้ไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๕. จิตสงสัยลังเลไม่แน่ใจ คิดอะไรไม่ตลอดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นอยู่โดยลำพังตนเองเท่านั้น
ถ้านิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ มีกำลังยังอ่อนอยู่ ยังไม่ได้แล่นไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกแล้ว ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายในนี้หนึ่ง
๒. ธรรมภายนอก ธรรมภายนอกก็แล่นออกมาจากภายในนั้นเอง คือ
๑. จิตคิดชอบใจรักใคร่ได้เกิดขึ้นแล้ว แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นนี้หนึ่ง
๒. จิตหงุดหงิดไม่ชอบเกิดขึ้น แล้วแล่นไปกำหนดจดจำไว้ในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิ แล้วเกิดความไม่ปรารถนาในสิ่งเหล่านั้น อยากให้สิ่งเหล่านั้นวิบัติไป
๓. จิตหดหู่โงกง่วงได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก เมื่อกำหนดจดจำได้แล้วก็ยิ่งให้เป็นเหตุเกิดความง่วงหนักขึ้น
๔. จิตหงุดหงิดฟุ้งซ่านได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เหมือนกัน
๕. จิตลังเลไม่ตกลงสงสัยอยู่ได้เกิดขึ้นในใจ แล้วปล่อยให้แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูปารมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายนอก
ธรรมเหล่าใดเมื่อเกิดขึ้นในมโนทวารในครั้งแรกเรียกว่าธรรมภายใน เมื่อกำเริบแรงกล้าขึ้นแล้วก็แล่นไปสู่อายตนะภายนอก เรียกว่า ธรรมภายนอก
๓. ธรรมในธรรม คำที่ว่าธรรมในธรรมนั้นหมายเอา ส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนั้น เพราะนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการนั้นมิได้เกิดขึ้นในขณะจิตอันเดียวกัน
ฉะนั้น ให้หยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณ์มากำหนดพิจารณาก็ได้ เป็นต้นว่า กามฉันทะได้เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งสัมปชัญญะประจำจิตใจ ตั้งสติประคองจิตกับธรรมนั้นๆ อย่าหวั่นไหว อย่าให้ความปรารถนาใดๆเกิดขึ้น ทำจิตของตนให้เข้มแข็งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว อย่าไปเหนี่ยวอารมณ์อื่นมาแทรกแซง อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา ก็ให้ใช้เพ่งลงไปเฉพาะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นแล้ว อย่าละเลิกซึ่งความเพียรของตน เมื่อทำได้เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้เจริญธรรมในธรรม
ธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นฝักใฝ่อกุศลธรรม เป็นเครื่องกีดกั้นเสียซึ่งคุณธรรมอย่างอื่น เป็นต้นว่าญาณ หรือวิปัสสนาญาณ และโลกุตตระเป็นเบื้องหน้า ฉะนั้น ผู้ต้องการความหลุดพ้นไปจากธรรมทั้งหลายนั้นแล้ว จำเป็นจะต้องทำจิตของตนให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อน ที่จะทำจิตให้ตั้งมั่นได้นั้นจะต้องสร้างคุณธรรม ๓ อย่าง ให้เกิดขึ้นในตน คือ
๑. สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้มีไว้ประจำใจของตน
๒. สติ ความระลึกได้ ให้ประคองไว้ซึ่งจิตของตนกับอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดกับตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับจิต ประคองจิตไว้อย่าให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น
เมื่อเห็นว่าจิตกับอารมณ์เหล่านั้นเชื่องช้า แล้วก็ให้ใช้อาตาปี อันเป็นข้อที่ ๓ ต่อไป คือ ความเพียรเพ่งพิจารณาความเท็จจริงของธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ถ้ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง อย่าเพิ่งละทิ้งซึ่งความเพียรของตน เพ่งพิจารณาจนกำลังปัญญานั้นแก่กล้า ก็จะได้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จะเป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ธรรมในธรรมก็ตาม ก็จะมีแต่ความเกิดขึ้นและเสื่อมไป ความดับไป หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น
ขึ้นชื่อว่าสังขตธรรมแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพแห่งความจริงคือ อนิจฺจตา เป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขตา เป็นทุกข์ ทนอยู่ได้ยาก อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ย่อมเปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามธรรมดาธรรมชาติ นักปราชญ์ที่มีปัญญาหายึดเป็นแก่นสารตัวตนไม่ ท่านแลเห็นได้ราวกะว่ากงจักรหรือล้อรถ คนใดเข้าไปเกาะอยู่กงจักรนั้น กงจักรนั้นก็เหยียบบี้บีฑา
เพราะฉะนั้น กัลยาณชนผู้หวังความสุขในพระพุทธศาสนาอันแท้จริง ควรเอาคุณธรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้วนั้น มาไว้ประจำใจของตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ปราศจากสังขารที่เรียกว่า อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่แท้ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีอาการหมุนเวียนเกิดดับ ธรรมอันเป็นอสังขตะนี้ย่อมมีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่ไม่มีนักปราชญ์ใดในโลกที่จะรู้ได้ นอกจากผู้ที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา
ฉะนั้น ผู้ประสงค์พ้นทุกข์อันแท้จริง ควรที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้นด้วยความเพียรของตนเอง เมื่อผู้ปฏิบัติได้ใช้สัมปชัญญะประจำใจแล้ว ก็จะรู้ได้ถึงสภาพแห่งจิต สติ มีประจำตนอยู่ อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาให้มีประจำไว้ในตน จึงจะเป็นผู้ไม่ลุ่มหลงอารมณ์
ธรรมดาคนเราไม่ค่อยจะรู้สึกสภาพแห่งตน จึงไม่รู้ได้ในธรรมารมณ์อันเป็นส่วนที่เกิดกับตน แล้วก็แล่นเข้าไปยึดอารมณ์ทั้งหลาย จึงกลายเป็นวัฏฏสงสาร เวียนวนอยู่อันไม่มีที่สิ้นสุด จุดหมายวัฏฏสงสารในที่นี้ จะย่นย่อได้มาไว้เฉพาะตัวตน เป็นต้นว่า ความไม่รู้สภาพแห่งจิตเดิมนั้นเป็นกิเลสวัฏฏ จัดเป็นอวิชชาข้อแรก จึงเป็นเหตุให้เกิดกรรมวัฏฏ ได้แก่ สังขาร วิปากวัฏฏเข้าไปเสวยอารมณ์ทั้งหลายกลายเป็นวัฏฏะ ๓ ดังนี้
จะอุปมาวัฏฏะ ๓ ดังนี้คือ อวิชชาเป็นดุมเกวียน สังขารเป็นกำเกวียน อารมณ์เป็นกงเกวียน อายตนะภายนอกเปรียบเหมือนวัด อายตนะภายในเป็นเครื่องสัมภาระ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเหมือนคนขับ ต่อจากนั้นก็ขนของขึ้นใส่ กล่าวคือกิเลสทั้งหลาย แล้วก็จะตีกันไปปฏักจี้เข้าไป วัวก็จะวิ่งแล่นลากกันไป ขึ้นเขาไปด้วย ลงห้วยไปตาม ในที่สุดก็จะกระจายไปคนละแห่ง ที่เรียกว่าตาย เหตุนั้นจำเป็นต้องให้รู้เข้าถึงสภาพแห่งจิตอันเป็นเพลาที่ไม่หมุนไปตามเครื่องสัมภาระทั้งหลายนั้น เรียกว่าวิวัฏฏะ เมื่อใครทำได้เช่นนี้ เป็นหนทางกระชั้นกะทัดรัดไม่เนิ่นช้า
ตัวอย่างในสมัยโบราณ พระภิกษุและอุบาสิกาทั้งหลาย บางทีนั่งเทศน์อยู่ บางทีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ บางองค์ก็ดูซากศพอยู่ แต่ทำไมท่านจึงสำเร็จได้ เหตุนี้ก็สันนิษฐานได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้เพียรเพ่งพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่นั้น โดยไม่ต้องถอยไปถอยมา ถอยออกถอยเข้า วางไว้โดยธรรมดาธรรมชาติ บางเหล่าก็เข้าใจกันเสียว่า ต้องให้ละอารมณ์ทั้งหมดจึงจะทำจิตได้ แต่แท้ที่จริง จิตก็หลงอารมณ์นั้นแหละส่วนมาก เมื่อหลงที่ตรงไหน ให้พิจารณาที่ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตรงหลงนั้นจะให้ละโดยหลบหนีนั้น เป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปก็จะกลับมาหลงอารมณ์เก่านั้นอีก
เหตุนั้นผู้มีปัญญาจะทำภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ย่อมทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติได้ทุกสถาน ไม่มีอาการว่านอกผิดในถูก นอกถูกในผิด ในละเอียดนอกหยาบ ความเห็นเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ท่านที่มีปัญญา ปัญญาแปลว่าความรอบรู้หรือความรู้รอบ จึงเรียกว่าปัญญาสมบูรณ์
รู้รอบนั้น รู้ในก่อนแล้วไปรู้นอก รอบรู้นั้น รู้นอกก่อนแล้วแล่นเข้าถึงใน จึงเรียกว่าผู้มีปัญญา ข้างนอกทำให้เข้าถึงในได้ หยาบทำให้ละเอียดได้ อดีตอนาคตทำให้เข้าถึงปัจจุบันได้ เพราะท่านเป็นผู้ประสมส่วนของมรรคให้เสมอกัน คือ สติ สัมปชัญญะ อาตาปี ทำหน้าที่แห่งตนอันเป็นหนทางพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง เมื่อใครปฏิบัติได้โดยอาการเช่นนี้ ก็สามารถบรรลุคุณธรรมได้ทุกอิริยาบถ จะมีปรากฏได้แต่สภาวทุกข์ สภาวธรรม เห็นได้เช่นนี้เรียกว่า ยถาภูตญาณ เห็นจริงตามสภาพแห่งความจริงดังนี้
(อ่านต่อฉบับหน้าสรุปใจความย่อสติปัฏฐาน ๔)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นแยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ธรรมภายใน
๒. ธรรมภายนอก
๓. ธรรมในธรรม
๑. ธรรมภายใน อธิบายธรรมภายใน ในที่นี้หมายเอาฝ่ายชั่วก็มี ฝ่ายดีก็มี แต่ในที่นี้หมายเอานิวรณธรรมอันเป็นฝ่ายชั่วมี ๕ อย่างคือ
๑. กามฉนฺท ความพอใจรักใคร่
๒. พยาบาท ความพยาบาท
๓. ถีนมิทฺธ ความหงุดหงิดโงกง่วง
๔. อุทฺธจฺจ กุกฺกุจฺจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจ
นิวรณธรรม ๕ ประการนี้ เป็นได้ทั้งส่วนภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น
๑. จิตประกอบด้วยกามฉันทะแล้ว คือ เกิดความรักใคร่ ยินดีอยู่แต่ในจิตใจ ยังไม่ได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายสัมปยุต (ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง)
๒. จิตประกอบไปด้วยความหงุดหงิดไม่ชอบแล้ว แต่มิได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๓. จิตหดหู่หงุดหงิดโงกง่วง เมื่อเกิดขึ้นในทางจิตใจ ยังมิได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๔. จิตฟุ้งซ่านรำคาญคิดกลุ้มโดยลำพัง ยังมิได้ไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๕. จิตสงสัยลังเลไม่แน่ใจ คิดอะไรไม่ตลอดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นอยู่โดยลำพังตนเองเท่านั้น
ถ้านิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ มีกำลังยังอ่อนอยู่ ยังไม่ได้แล่นไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกแล้ว ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายในนี้หนึ่ง
๒. ธรรมภายนอก ธรรมภายนอกก็แล่นออกมาจากภายในนั้นเอง คือ
๑. จิตคิดชอบใจรักใคร่ได้เกิดขึ้นแล้ว แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นนี้หนึ่ง
๒. จิตหงุดหงิดไม่ชอบเกิดขึ้น แล้วแล่นไปกำหนดจดจำไว้ในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิ แล้วเกิดความไม่ปรารถนาในสิ่งเหล่านั้น อยากให้สิ่งเหล่านั้นวิบัติไป
๓. จิตหดหู่โงกง่วงได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก เมื่อกำหนดจดจำได้แล้วก็ยิ่งให้เป็นเหตุเกิดความง่วงหนักขึ้น
๔. จิตหงุดหงิดฟุ้งซ่านได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เหมือนกัน
๕. จิตลังเลไม่ตกลงสงสัยอยู่ได้เกิดขึ้นในใจ แล้วปล่อยให้แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูปารมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายนอก
ธรรมเหล่าใดเมื่อเกิดขึ้นในมโนทวารในครั้งแรกเรียกว่าธรรมภายใน เมื่อกำเริบแรงกล้าขึ้นแล้วก็แล่นไปสู่อายตนะภายนอก เรียกว่า ธรรมภายนอก
๓. ธรรมในธรรม คำที่ว่าธรรมในธรรมนั้นหมายเอา ส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนั้น เพราะนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการนั้นมิได้เกิดขึ้นในขณะจิตอันเดียวกัน
ฉะนั้น ให้หยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณ์มากำหนดพิจารณาก็ได้ เป็นต้นว่า กามฉันทะได้เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งสัมปชัญญะประจำจิตใจ ตั้งสติประคองจิตกับธรรมนั้นๆ อย่าหวั่นไหว อย่าให้ความปรารถนาใดๆเกิดขึ้น ทำจิตของตนให้เข้มแข็งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว อย่าไปเหนี่ยวอารมณ์อื่นมาแทรกแซง อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา ก็ให้ใช้เพ่งลงไปเฉพาะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นแล้ว อย่าละเลิกซึ่งความเพียรของตน เมื่อทำได้เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้เจริญธรรมในธรรม
ธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นฝักใฝ่อกุศลธรรม เป็นเครื่องกีดกั้นเสียซึ่งคุณธรรมอย่างอื่น เป็นต้นว่าญาณ หรือวิปัสสนาญาณ และโลกุตตระเป็นเบื้องหน้า ฉะนั้น ผู้ต้องการความหลุดพ้นไปจากธรรมทั้งหลายนั้นแล้ว จำเป็นจะต้องทำจิตของตนให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อน ที่จะทำจิตให้ตั้งมั่นได้นั้นจะต้องสร้างคุณธรรม ๓ อย่าง ให้เกิดขึ้นในตน คือ
๑. สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้มีไว้ประจำใจของตน
๒. สติ ความระลึกได้ ให้ประคองไว้ซึ่งจิตของตนกับอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดกับตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับจิต ประคองจิตไว้อย่าให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น
เมื่อเห็นว่าจิตกับอารมณ์เหล่านั้นเชื่องช้า แล้วก็ให้ใช้อาตาปี อันเป็นข้อที่ ๓ ต่อไป คือ ความเพียรเพ่งพิจารณาความเท็จจริงของธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ถ้ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง อย่าเพิ่งละทิ้งซึ่งความเพียรของตน เพ่งพิจารณาจนกำลังปัญญานั้นแก่กล้า ก็จะได้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จะเป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ธรรมในธรรมก็ตาม ก็จะมีแต่ความเกิดขึ้นและเสื่อมไป ความดับไป หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น
ขึ้นชื่อว่าสังขตธรรมแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพแห่งความจริงคือ อนิจฺจตา เป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขตา เป็นทุกข์ ทนอยู่ได้ยาก อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ย่อมเปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามธรรมดาธรรมชาติ นักปราชญ์ที่มีปัญญาหายึดเป็นแก่นสารตัวตนไม่ ท่านแลเห็นได้ราวกะว่ากงจักรหรือล้อรถ คนใดเข้าไปเกาะอยู่กงจักรนั้น กงจักรนั้นก็เหยียบบี้บีฑา
เพราะฉะนั้น กัลยาณชนผู้หวังความสุขในพระพุทธศาสนาอันแท้จริง ควรเอาคุณธรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้วนั้น มาไว้ประจำใจของตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ปราศจากสังขารที่เรียกว่า อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่แท้ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีอาการหมุนเวียนเกิดดับ ธรรมอันเป็นอสังขตะนี้ย่อมมีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่ไม่มีนักปราชญ์ใดในโลกที่จะรู้ได้ นอกจากผู้ที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา
ฉะนั้น ผู้ประสงค์พ้นทุกข์อันแท้จริง ควรที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้นด้วยความเพียรของตนเอง เมื่อผู้ปฏิบัติได้ใช้สัมปชัญญะประจำใจแล้ว ก็จะรู้ได้ถึงสภาพแห่งจิต สติ มีประจำตนอยู่ อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาให้มีประจำไว้ในตน จึงจะเป็นผู้ไม่ลุ่มหลงอารมณ์
ธรรมดาคนเราไม่ค่อยจะรู้สึกสภาพแห่งตน จึงไม่รู้ได้ในธรรมารมณ์อันเป็นส่วนที่เกิดกับตน แล้วก็แล่นเข้าไปยึดอารมณ์ทั้งหลาย จึงกลายเป็นวัฏฏสงสาร เวียนวนอยู่อันไม่มีที่สิ้นสุด จุดหมายวัฏฏสงสารในที่นี้ จะย่นย่อได้มาไว้เฉพาะตัวตน เป็นต้นว่า ความไม่รู้สภาพแห่งจิตเดิมนั้นเป็นกิเลสวัฏฏ จัดเป็นอวิชชาข้อแรก จึงเป็นเหตุให้เกิดกรรมวัฏฏ ได้แก่ สังขาร วิปากวัฏฏเข้าไปเสวยอารมณ์ทั้งหลายกลายเป็นวัฏฏะ ๓ ดังนี้
จะอุปมาวัฏฏะ ๓ ดังนี้คือ อวิชชาเป็นดุมเกวียน สังขารเป็นกำเกวียน อารมณ์เป็นกงเกวียน อายตนะภายนอกเปรียบเหมือนวัด อายตนะภายในเป็นเครื่องสัมภาระ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเหมือนคนขับ ต่อจากนั้นก็ขนของขึ้นใส่ กล่าวคือกิเลสทั้งหลาย แล้วก็จะตีกันไปปฏักจี้เข้าไป วัวก็จะวิ่งแล่นลากกันไป ขึ้นเขาไปด้วย ลงห้วยไปตาม ในที่สุดก็จะกระจายไปคนละแห่ง ที่เรียกว่าตาย เหตุนั้นจำเป็นต้องให้รู้เข้าถึงสภาพแห่งจิตอันเป็นเพลาที่ไม่หมุนไปตามเครื่องสัมภาระทั้งหลายนั้น เรียกว่าวิวัฏฏะ เมื่อใครทำได้เช่นนี้ เป็นหนทางกระชั้นกะทัดรัดไม่เนิ่นช้า
ตัวอย่างในสมัยโบราณ พระภิกษุและอุบาสิกาทั้งหลาย บางทีนั่งเทศน์อยู่ บางทีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ บางองค์ก็ดูซากศพอยู่ แต่ทำไมท่านจึงสำเร็จได้ เหตุนี้ก็สันนิษฐานได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้เพียรเพ่งพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่นั้น โดยไม่ต้องถอยไปถอยมา ถอยออกถอยเข้า วางไว้โดยธรรมดาธรรมชาติ บางเหล่าก็เข้าใจกันเสียว่า ต้องให้ละอารมณ์ทั้งหมดจึงจะทำจิตได้ แต่แท้ที่จริง จิตก็หลงอารมณ์นั้นแหละส่วนมาก เมื่อหลงที่ตรงไหน ให้พิจารณาที่ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตรงหลงนั้นจะให้ละโดยหลบหนีนั้น เป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปก็จะกลับมาหลงอารมณ์เก่านั้นอีก
เหตุนั้นผู้มีปัญญาจะทำภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ย่อมทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติได้ทุกสถาน ไม่มีอาการว่านอกผิดในถูก นอกถูกในผิด ในละเอียดนอกหยาบ ความเห็นเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ท่านที่มีปัญญา ปัญญาแปลว่าความรอบรู้หรือความรู้รอบ จึงเรียกว่าปัญญาสมบูรณ์
รู้รอบนั้น รู้ในก่อนแล้วไปรู้นอก รอบรู้นั้น รู้นอกก่อนแล้วแล่นเข้าถึงใน จึงเรียกว่าผู้มีปัญญา ข้างนอกทำให้เข้าถึงในได้ หยาบทำให้ละเอียดได้ อดีตอนาคตทำให้เข้าถึงปัจจุบันได้ เพราะท่านเป็นผู้ประสมส่วนของมรรคให้เสมอกัน คือ สติ สัมปชัญญะ อาตาปี ทำหน้าที่แห่งตนอันเป็นหนทางพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง เมื่อใครปฏิบัติได้โดยอาการเช่นนี้ ก็สามารถบรรลุคุณธรรมได้ทุกอิริยาบถ จะมีปรากฏได้แต่สภาวทุกข์ สภาวธรรม เห็นได้เช่นนี้เรียกว่า ยถาภูตญาณ เห็นจริงตามสภาพแห่งความจริงดังนี้
(อ่านต่อฉบับหน้าสรุปใจความย่อสติปัฏฐาน ๔)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)