xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : ความเป็นมาของ “อุโบสถศีล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า อุโบสถ (อ่านว่า อุโบสด เขียนตามคำบาลีว่า อุโปสถะ) เป็นศัพท์บัญญัติทางพระพุทธศาสนา แยกกล่าวเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. อุโบสถสำหรับภิกษุสงฆ์ ได้แก่ การสวดปาติโมกข์ของพระภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน คือทุกวันจันทร์เพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ แรม ๑๕ หรือแรม ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด โดยเรียกการประชุมสวดปาติโมกข์ว่า การทำอุโบสถ (อุโบสถกรรม หรือเรียกว่า สังฆอุโบสถ) เพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย เป็นพระพุทธบัญญัติ และจัดเป็น อธิสีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติชั้นสูง ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จัดเป็นศีลที่ยิ่งกว่าสูงกว่าศีลทั่วไป เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครสามารถบัญญัติได้

๒. อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ แปลว่า การอยู่จำ การเข้าจำ หมายถึง การรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควร มีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้นของคฤหัสถ์ อันมีลักษณะเป็นการอยู่จำ คือหยุดประกอบกิจการงานของฆราวาส เช่น ทำนา ทำไร่ เป็นต้น ไว้ชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญกุศลกรรมทำความดีพิเศษตามหลักพระศาสนา ในกาลที่กำหนดนิยม คือ วันขึ้นและวันแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญหรือวันจันทร์ดับ

อุโบสถที่จะกล่าวรายละเอียดในที่นี้ คือ อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ คือ อุบาสกอุบาสิกา เรียกเต็มว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือ ศีล ๘ ข้อ (อัฐศีล) คือศีลที่กำหนดรักษาเป็นพิเศษเฉพาะคราวของคฤหัสถ์ เพื่อฝึกควบคุมกายและวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขอย่างสูงในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น จึงเรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ ซึ่งจัดเป็นบุญสิกขาประการที่ ๒ ในบุญสิกขา ๓ ที่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์คืออุบาสกอุบาสิกา พึงนิยมหาโอกาสประพฤติตามสมควร

ความเป็นมาของอุโบสถ
อุโบสถนั้นปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล คือ เป็นเรื่องที่คนในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติตรัสรู้ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว เพราะถือกันว่าเป็นเรื่องหยุดพักประชุมปรึกษาหารือกัน หรือประชุมทำความดี ดังหลักฐานเรื่องเล่าถึงความเป็นมาในอุโปสถขันธกะแห่งพระวินัยปิฎกมหาวรรค ปฐมภาค (พระไตรปิฎกเล่ม ๔) ความว่า

สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ พวกปริพาชก (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง) ประชุมกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ มีคนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขา แล้วเลื่อมใสขอบวชเป็นสาวกของปริพาชกเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า แม้พระสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ

พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมเพรียงกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ”

ต่อมาพระภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉยๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย จึงถูกติเตียนค่อนขอดว่าเหมือนพวกสุกรใบ้ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ” พระภิกษุสงฆ์จึงปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนับแต่นั้นมา

ในอดีตกาล ครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตรัสรู้โพธิญาณ) ก็ได้เคยใช้สัจจบารมีรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัดถึงขั้นเสียชีวิต และได้รับผลแห่งการรักษาอุโบสถนี้มาแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาคังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต (คัมภีร์อรรถกถาชาดก ขยายความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗) ซึ่งในที่นี้นำมากล่าวโดยสรุปความว่า

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเรียกพวกคนที่รักษาอุโบสถมา แล้วตรัสว่า “พวกเธอทั้งหลายทำความดีแล้วที่รักษาอุโบสถ พวกเธอผู้รักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถให้ครบเวลา เพราะว่าบัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดือน ยังได้ยศใหญ่มาแล้ว”

พวกอุบาสกและอุบาสิกาที่รักษาอุโบสถฟังเช่นนั้นแล้ว จึงพากันกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนั้นให้ฟังเป็นทิฏฐานุคติ (แบบอย่างแห่งการประพฤติดีที่เห็นชัดเจน) พระพุทธองค์จึงทรงนำนิทานชาดกมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารจิตใจสะอาด ชอบทำบุญบริจาคทาน และภรรยา บุตรธิดา บริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงโคของเศรษฐีนั้น ล้วนเป็นผู้เข้าจำอุโบสถเดือนละ ๖ วัน ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนยากจนมีอาชีพรับจ้าง อยู่อย่างอัตคัดขัดสน วันหนึ่งได้เข้าไปยังบ้านของเศรษฐีนั้นเพื่อขอทำงาน

เศรษฐีนั้นบอกเงื่อนไขว่า “ทุกคนในบ้านนี้ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถ ถ้าเธอรักษาได้ ก็ทำงานได้”

ด้วยความที่มุ่งแต่จะทำงาน ชายโพธิสัตว์จึงยอมรักษาศีลอุโบสถ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าศีลนั้นคืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร เมื่อทำงานก็ตั้งใจทำงานแบบถวายชีวิต เป็นคนว่าง่าย ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อนนอนทีหลังเจ้านายเสมอ

ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้มาสั่งว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้วจะได้รักษาอุโบสถ”

ฝ่ายชายโพธิสัตว์ตื่นนอนแล้วได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนั้นเป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้ว ต่างรักษาอุโบสถกัน แม้เศรษฐีพร้อมภรรยาและบุตรธิดาก็ได้อธิษฐานอุโบสถ ไปยังที่อยู่ของตน แล้วนั่งนึกถึงศีลอยู่

ชายโพธิสัตว์ทำงานตลอดวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมา แม่ครัวนำอาหารไปให้ รู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า “วันอื่นๆเวลานี้มีเสียงดัง วันนี้คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด”

ครั้นทราบว่าทุกคนสมาทานอุโบสถ ต่างอยู่ในที่ของตน จึงคิดว่า “เราคนเดียว ไม่มีศีลในท่ามกลางของผู้มีศีล จะอยู่ได้อย่างไร เราจะอธิษฐานอุโบสถในตอนนี้ จะได้หรือไม่หนอ”

จึงเข้าไปถามเศรษฐี ได้รับคำตอบว่า “เมื่อรักษาอุโบสถตอนนี้จะได้อุโบสถครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า”

ชายโพธิสัตว์บอกว่า “ครึ่งเดียวก็ได้” จึงสมาทานศีลกับเศรษฐี อธิษฐานอุโบสถ เข้าไปยังที่อยู่ของตนนอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาสิ่งต่างๆมาให้ ก็ไม่ยอมรับประทาน ยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียศีล

ในขณะใกล้จะสิ้นชีวิต พระเจ้าพาราณสีเสด็จประพาสพระนครมาถึงที่นั้น ชายโพธิสัตว์ได้เห็นพระสิริแห่งพระเจ้าแผ่นดิน จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีนั้น เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้วทรงได้รับการขนานนามว่า “อุทัยกุมาร” และได้ครองสิริราชสมบัติในกรุงพาราณสี สืบแทนพระราชบิดาในกาลต่อมา

จากข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ยกมากล่าวโดยสรุปนี้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า อุโบสถนั้นมีปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อของวันที่เจ้าลัทธินั้นๆ กำหนดไว้เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตนด้วยการงดอาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงบัญญัติอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือคู่มือพุทธศาสนิกชน
โดยกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


ศีล 8 ข้อ มีดังนี้
๑. ไม่ฆ่าสัตว์และไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
๒. ไม่ลักเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓. ไม่เสพเมถุน (ไม่ร่วมประเวณี)
๔. ไม่พูดปด
๕. ไม่ดื่มสุราเมรัย
๖. ไม่กินอาหารในเวลาบ่ายและกลางคืน (ไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน)
๗. ไม่แสดงการรื่นเริงและแต่งตัว (ไม่สนใจสิ่งบันเทิงเริงโลกีย์)
๘. ไม่นอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น