พระนครศรีอยุธยา/อ่างทอง - ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา นำหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมประชาชนร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชากันคึกคัก เช่นเดียวกับชาวอ่างทอง ร่วมทำบุญกันแน่นวัด ขณะที่ดอกบัวแพงปีนี้ยอดจำหน่ายน้อยลง เหตุกระทบแล้งบัวไม่ออกดอก
วันนี้ (30 ก.ค.) ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน และกลุ่มเยาวชนทำบุญตักบาตรเนื่องในวันอาสาฬหบูชากันคักคัก
พร้อมกันนี้ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จุดเทียนส่องธรรม และพระเทพรัตนากร เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทศน์ประวัติความเป็นมาของ “วันอาสาฬหบูชา” เพื่อให้ประชาชนตระหนัก และอยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ส่วนในช่วงเย็นกว่า 500 วัด ในจังหวัดจัดเวียนเทียนพร้อมกันเนื่องในวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย
ส่วนที่ จ.อ่างทอง ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรกันคึกคัก โดยเฉพาะที่วัดโล่ห์สุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง พบมีทั้งกลุ่มวัยรุ่น หนุ่ม สาว พร้อมครอบครัวมาร่วมทำบุญกันเต็มศาลาการเปรียญ บางครอบครัวนำเทียนพรรษา และเครื่องสังฆทานมาถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ อีกทั้งเป็นการสืบสานประเพณีทางพุทธศาสนาของชาวไทย
ส่วนบรรยากาศการซื้อขายดอกไม้สำหรับไหว้พระที่บริเวณตลาดอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เป็นไปอยากคึกคัก โดยประชาชนส่วนใหญ่จะหันมาซื้อดอกกล้วยไม้ และดอกดาวเรืองแทนดอกบัว เนื่องจากปีนี้ดอกบัวมีการนำมาวางขายน้อยมาก สาเหตุมาจากภาวะแล้งทำให้ดอกบัวออกดอกน้อย
สำหรับ “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
“วันอาสาฬหบูชา” ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือ วันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้น ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม หรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ.2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชา จึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรีได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2501 โดยคณะสังฆมนตรี ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล
อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้เป็นวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่นๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อวันอาสาฬหบูชา เทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา