ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนค่อนข้างยุ่งกับภารกิจใหม่ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ นอกเหนือจากการทำรายการธรรมะ รายการสุขภาพ ทำโครงการท่องเที่ยว ท่องธรรม ดูแลเว็บไซต์ Dhammapiwat.com ฯลฯ
ผู้เขียนยังมีงานใหม่ที่ท้าทายไม่แพ้กัน นั่นคือการเป็น “ผู้จัดการร้านกาแฟ” ครับ ร้านกาแฟที่ว่า เป็นของชาว NEWS 1 ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง ท่านใดที่ผ่านไปมาย่านถนนพระอาทิตย์ ก็แวะเวียนมาจิบกาแฟ ดื่มชา และสนทนาธรรมกันได้ครับ
ฉบับนี้ จึงขอเล่าเรื่องราวของร้านกาแฟในแง่มุมของธรรมะกันสักหน่อยครับ
หลักใหญ่ใจความของการทำร้านกาแฟ คือผู้เขียนต้องการสร้าง “ชุมชน” (Community) ของคนคอเดียวกันให้เกิดขึ้น อย่างร้าน “COCO Chaophraya” (โคโค่ เจ้าพระยา) ที่ผู้เขียนดูแลอยู่ ตั้งใจว่าจะให้เป็น “ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องของธรรมะกับเรื่องสุขภาพตามแนวทางวิถีพุทธ” ครับ
ผู้เขียนเชื่อว่า ในการทำกิจการงานใด หากเรามีความมุ่งมั่นจะไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเพียรของเรา อีกทั้งยังตรงตามชื่อของคอลัมน์ “ธรรมาภิวัตน์” ซึ่งแปลว่า “การแพร่หลายแห่งธรรม” นั่นย่อมหมายถึงธรรมะมีอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ “ร้านกาแฟ”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี เคยมีข่าวฮือฮาว่า พระภิกษุที่วัดก้างปลา ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็น “บาริสต้า” ผู้ชงกาแฟให้ญาติธรรมได้ดื่มกิน ณ ร้าน “กาแฟบุญ” ซุ้มเครื่องดื่มเล็กๆ ในบริเวณวัด วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ร้านกาแฟเป็นศูนย์กลางในการดำรงตนในธรรม เป็นกุศโลบายในการดึงคนเข้าวัด เพื่อกล่อมเกลาจิตใจ และใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนธรรมะระหว่าง “พระภิกษุ” ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือเป็น "บาริสต้า” กับบรรดาญาติธรรมทั้งหลาย รวมทั้งอ่านหนังสือธรรมะดีๆ ที่ให้ข้อคิดและแนวทางการดำเนินชีวิต
พระครูสิทธิปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสันก้างปลา กล่าวกับทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th) ว่า
“ร้านกาแฟคนมีบุญ เป็นเหมือนห้องรับแขกของวัด ที่เปิดรับทุกคนโดยไม่เลือกยากดีมีจน ไม่มีเงินก็เข้ามาดื่มกาแฟ สนทนาธรรมได้ เป็นการประยุกต์เอาวัฒนธรรมสมัยใหม่ อย่างเช่นร้านกาแฟที่ทุกคนนิยม มาไว้ภายในวัด วัตถุดิบต่างๆ ญาติโยมเป็นผู้บริจาค และวัดแห่งนี้ก็เป็นของทุกคน เปิดบริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด มีทั้งห้องแอร์ และอินเตอร์เน็ตให้บริการ หรือสนใจจะนั่งสูดอากาศบริสุทธิ์ด้านนอก กลางสวนลำไย ใกล้แอ่งน้ำก็ได้”
แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์อยู่ไม่น้อยทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ของร้านกาแฟคนมีบุญ แต่กระนั้นการเผยแผ่ธรรมะ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในศาสนสถาน ก็ได้กลายเป็นแรงขับดันให้ผู้เขียนในการสร้างร้านกาแฟ เพื่อแบ่งปันประโยชน์ให้กับศาสนชนในทางอ้อม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ผู้บริหารได้กรุณามอบไว้ให้นั่นคือ “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด” ครับ
คุณผู้อ่านคิดเหมือนกันไหมครับว่า ชีวิตคนเรานั้น จะว่าไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครื่องดื่มร้อนๆถ้วยหนึ่ง บางครั้งเราก็ผสมนู่นนี่นั่นลงไป “คน” ให้เข้ากันแล้วดื่ม จนบางทีเราลืมนึกถึง “แก่นแท้แห่งการดื่ม” ว่า ไม่จำเป็นต้องมีหลายสิ่งปะปนแล้วคนจนยุ่งเหยิงแยกรสชาติไม่ออก
เพราะแท้จริงแล้ว ชีวิตอาจจะเป็นเพียงใบชาเพียงหยิบมือ หรือเมล็ดกาแฟบดสักช้อน กลั่นในอุณหภูมิที่ร้อนพอเหมาะ ไหลลงในแก้วแล้วยกดื่ม... เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
คนที่ไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิต ดำเนินภารกิจไปเรื่อยเปื่อย เพียงเพื่อหวังให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน เปรียบไปก็เหมือนกับใช้น้ำอุ่นชงกาแฟสด ไม่สามารถกลั่นเอาความหอมและจิตวิญญาณของกาแฟออกมาได้เต็มที่
ในขณะที่บางคนบนหนทางของชีวิต ต้องพบกับอุปสรรคขวากหนาม ทุกข์ยากลำเค็ญ อดมื้อกินมื้อ พบกับความโชคร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ชีวิตมีแต่เรื่องทุกข์ร้อน แต่ก็สู้ไม่ถอย เปรียบเสมือนกาแฟร้อนที่กลั่นผ่านระดับความดันของไอน้ำที่เหมาะสม เติมลงในแก้วทีละหยด.. ทีละหยด.. จนเต็มแก้ว นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนผ่านช่วงจังหวะของวันเวลาที่เป็นบททดสอบใหญ่ กลั่นกรองความหมายของคำว่า “มนุษย์” ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ชีวิตของเขาล้วนค่อยๆ กลั่นความหมายออกมาด้วยสติปัญญาอันแรงกล้า จนกลายมาเป็นวิถีแห่งผู้สำเร็จจนกลายเป็นเศรษฐีในที่สุด
คุณบอย “วิสูตร แสงอรุณเลิศ” นักเขียนและนักพูดผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก เคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊ค (https://www.facebook.com/wisoot.sangarunlert) เล่าเรื่อง “ถ้าคุณจะเลียนแบบ 'เปลือก] ของชีวิตเศรษฐี” ไว้ว่า
"ถ้าคุณจะเลียนแบบ "เปลือก" ของชีวิตเศรษฐี ชีวิตคุณก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องประกอบไปด้วยรถสปอร์ต บ้านหลังโตพร้อมสระว่ายน้ำ ช้อปปิ้งเมืองนอก กินอาหารแพงทุกมื้อ ที่เหนื่อยหน่อยก็เพราะทั้งหมดที่ว่า "มันใช้เงินเยอะ
แต่ถ้าคุณอยากได้ "แก่น" ของชีวิตเศรษฐี ชีวิตจะเหนื่อยน้อยลง และมีหนทางให้คุณเลือกขึ้น เพราะรถ บ้าน อาหาร และการเดินทางเป็นเรื่องที่มีก็ดี แต่ไม่มีขนาดนั้นก็ได้ แม้เรื่องเงินยังเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราต้องทุ่มเทให้"
ในทัศนะของคุณวิสูตร ระบุถึงแก่นของ “ชีวิตเศรษฐี” ว่ามีอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ครับ
1. มีชีวิตที่ออกแบบเองได้ ไม่ต้องขออนุญาตใคร ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ไม่ตกอยู่ใต้ความคิดเห็นของใคร รู้สึกว่าควบคุมชีวิตได้เต็มที่
2. ได้ทำงานที่ตนเองรักและเป็นงานที่สร้างรายได้ดี เพื่อให้มีเงินพึงจับจ่ายใช้สอยได้ตามความปรารถนา อาจไม่ถึงกับต้องทุกความปรารถนา แต่ก็ตอบความปรารถนาส่วนใหญ่ได้ มีเงินเหลือเก็บทุกเดือน เพื่อนำไปประกันความเสี่ยงของชีวิต เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจอื่นๆ
3. มีสมดุลชีวิตที่ดี ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา มีเวลาให้ตัวเองดูแลสุขภาพ กินอาหารมีคุณภาพ มีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาออกเดินทาง มีโอกาสพบปะผู้คนเก่งๆ
สรุปได้ว่า ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เศรษฐีผู้ร่ำรวยเงินที่จะถูกจัดอันดับโดยนิตยสารการเงินระดับโลกชื่อดัง แต่นี่แหละคือ “เศรษฐีผู้ได้ใช้ชีวิตคุ้มค่า สมกับที่เกิดมา”
ดังนั้น ย้อนกลับไปในช่วงต้นที่ผู้เขียนบอกว่า ต้องการสร้าง “ชุมชน” ของคนเก่ง ดี มีความสุข และมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน นั่นคือเรื่องธรรมะกับสุขภาพ สามารถใช้ร้านกาแฟ “โคโค่ เจ้าพระยา” มาเป็นสถานที่กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนเกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายในการดำเนินชีวิต มีหลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยตนเอง ก็นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างชีวิตใหม่ให้กับ “ว่าที่เศรษฐี” ทั้งหลายได้ครับ
วันนี้คุณพร้อมจะเป็นเศรษฐีหรือยังครับ?
ถ้าพร้อมแล้ว … เรียนเชิญมาที่ “ร้านโคโค่ เจ้าพระยา” อาคารอนุรักษ์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี นิวส์วัน ถนนพระอาทิตย์ ได้เลยครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)