• ความรู้พิเศษที่เกิดแต่ฌาน
อภิญญา ๖ คือ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ทิพพโสต มีหูทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจของผู้อื่น บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ และ อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น
๕ ข้อเบื้องต้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน และเกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้มีอุปนิสัยวาสนาเท่านั้น ส่วนข้อสุดท้ายผู้อาศัยฌานและสมาธิทั้งสองมีกำลังเพียงพอ สนับสนุนเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ไม่ติดไม่หลงอยู่ในฌาน จึงจะทำอาสวะให้สิ้นได้ (เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ)
พึงทราบว่าอาสวักขยญาณ มิใช่อภิญญาโดยตรง และมิใช่วิปัสสนาโดยเฉพาะ หากเกิดแต่กำลังทั้งสองรวมกัน ฌานเป็นโลกิยะไม่สามารถทำอาสวะให้สิ้นได้ แม้สมาธิอย่างเดียวก็ไม่สามารถให้เกิดอภิญญาได้ เพราะอภิญญาเกิดได้ด้วยอำนาจฌานเท่านั้น
เพื่อให้เข้าใจง่าย ผู้มีสมาธิตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิแล้ว ใช้ฌานอันเป็นโลกิยภูมิ (โลกุตตรฌานไม่มี) เป็นเครื่องมือเพื่อให้รู้ในอภิญญา ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตรฌานไปตามกัน เหมือนรองเท้าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรง ก็เรียกว่าฉลองพระบาท ฉะนั้น หาได้เรียกรองเท้าอย่างเดิมไม่
• ความรู้พิเศษที่เกิดแต่สมาธิ
๑. จกฺขุ อุทปาทิ ดวงตาคือความรู้แจ้งในสัจธรรม ซึ่งมองเห็นชัดด้วยตาใน (ปัญญาจักษุ)
๒. ญาณํ อุทปาทิ ญาณวิถีภายใน ซึ่งมิใช่เฉพาะตาเท่านั้น แม้อายตนะทั้งหกก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน
๓. ปญฺญา อุทปาทิ ความรู้แจ้งในไตรลักษณะได้เกิดขึ้นจนหายสงสัย ไม่มีคำว่าอะไรหนอๆ อยู่ในใจ
๔. วิชฺชา อุทปาทิ ความรู้พิเศษอันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวะได้เกิดขึ้นแล้ว
๕. อาโลโก อุทปาทิ แสงสว่างความรู้ทั้งปวงได้ฉายส่องทั่วทั้งโลก ไม่มีอะไรปิดดวงใจ ซึ่งเป็นเหตุให้มืดหลงได้อีกต่อไปแล้ว
ความรู้พิเศษทั้ง ๕ นี้ ได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยสมาธิอย่างเดียว พึงเห็นตัวอย่างคือ เมื่อพระสาวกนั่งฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ได้เกิดขึ้นเฉพาะในที่นั่งนั่นเอง แสดงว่าท่านไม่ได้ฌานมาก่อน แต่ได้สมาธิในขณะที่ตั้งใจน้อมลงฟังธรรมนั้น สมาธิและความรู้ที่เกิดแต่สมาธิจึงจัดเป็นโลกุตตระและเป็นสัมมามรรคด้วย
• วิปัสสนาญาณ ๙ เกิดแต่ฌาน
๑. อุทยัพพยญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคญาณ ปรีชาคำนึงเห็นแต่ความดับของสังขาร
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทาญาณ ปรีชาคำนึงถึงด้วยเบื่อหน่ายในสังขาร
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นเสียจากสังขาร
๗. ปฏิสังขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ
ในวิปัสสนาญาณ ๙ นี้ ๘ ข้อเบื้องต้นมิได้เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรทั้งหมด และเมื่อเกิดก็ไม่เกิดขึ้นตามลำดับดังตัวเลขที่เรียงไว้นั้น อาจเกิดขึ้นเฉพาะญาณใดญาณหนึ่งก็ได้ และแล้วก็เข้าถึงญาณที่ ๙ เลย เพราะญาณทั้ง ๙ นี้เกิดแต่ฌานโดยตรง
๘ ข้อเบื้องต้นมิได้มีคุณพิเศษยิ่งหย่อนกว่ากัน ต่างก็มีฌานเป็นภูมิฐาน ไม่ได้ใช้ไตรลักษณญาณเป็นเครื่องพิจารณาเพ่งเห็นแต่หน้าเดียวตามวิสัยของฌานโดยเฉพาะ
อนึ่ง ของมากอย่างจะนับอะไรเป็นต้นขึ้นหนึ่งก่อนก็ได้ไม่มีปัญหา ส่วนข้อสุดท้ายเป็นเพียงมีคุณพิเศษสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจเท่านั้น
แต่วิปัสสนาญาณนี้ ถ้าฌานที่เป็นรากฐานกล้ามาก ก็อาจให้เกิดวิปลาสไปได้ง่ายด้วย พึงเข้าใจว่าถ้าเป็นปัญญา
วิปัสสนาเกิดแต่สมาธิแล้ว ก็ต้องขึ้นสู่ไตรลักษณะ เอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ทีเดียว
• วิสุทธิ ๗ เกิดแต่สมาธิ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
วิสุทธิ ๗ นี้จะเกิดได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลักก่อน ถ้าหาไม่ก็จะไม่เกิดเลย วิสุทธิข้อต้น คือ ศีล ถ้าสมาธิไม่เป็นหลักยืนตัวอยู่แล้ว จะเป็นศีลวิสุทธิไม่ได้
วิสุทธิ ๗ นี้เหมือนกับวิปัสสนาญาณ ๙ เมื่อจะเกิดหาได้เกิดขึ้นตามลำดับไม่ อาจเกิดวิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ และแล้วจะเกี่ยวเนื่องกันไปทั้ง ๗ เหมือนลูกโซ่ เพราะวิสุทธิทั้ง ๗ จัดเข้าขั้นมรรค เป็นโลกุตตระ แต่ถ้าสมาธิอ่อน จิตก็จะน้อมเข้าไปหาฌาน ซึ่งเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ อาจเกิดขึ้นในระหว่างวิสุทธิใดวิสุทธิหนึ่งได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ปัญญา วิปัสสนาก็จะพิจารณาไตรลักษณะไม่ได้ และจิตก็จะเข้ายึดเอาอารมณ์ของอุปกิเลสนั้นต่อไป
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “โมกขุบายวิธี”)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)