La Famille Bélier (ลา ฟามิลล์ เบลิเยร์) เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศส ที่มีเนื้อหาว่าด้วยความรักความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว เป็นหนึ่งในผลงานที่เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมา
เรื่องราวแสนน่ารัก เริ่มต้นที่เมืองชนบทแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส “โปล่า เบลิเยร์” สาวน้อยวัยมัธยม มีชีวิตครอบครัวอบอุ่นอยู่กับ โรดอล์ฟ (พ่อ) จิจี้ (แม่) และ เควนติน (น้องชาย) ครอบครัวเบลิเยร์ดำรงชีพด้วยการทำฟาร์มปศุสัตว์ และแปรรูปผลผลิตจากวัวนมชั้นดี เป็นผลิตภัณฑ์ชีสโฮมเมด ขายที่ตลาดนัดท้องถิ่น
ชีวิตของครอบครัวนี้ ดูผิวเผินแล้วไม่แตกต่างจากครอบครัวเกษตรกรทั่วไป แต่ทว่าความพิเศษอยู่ตรงที่ “โปล่า” เป็นเพียงคนเดียวในบ้านที่สามารถ “พูด และ ได้ยิน”
ใช่แล้ว !! ... ทั้งพ่อ แม่ และน้องชายของเธอเป็นใบ้ เธอจึงเสมือนเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับสังคม แม้ว่าสมาชิกทั้งสามพอจะสื่อสารกับคนอื่นๆได้บ้าง แต่หากจะให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ทุกถ้อยคำ ลูกสาวคนเดียวก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้
แล้วการเปิดภาคเรียนวันแรกของโปล่าก็มาถึง เธอยังคงนั่งง่วงและหลับในเวลาเรียน เพราะเหนื่อยจากการทำงานในฟาร์ม วิชาเรียนก็เป็นไปตามปกติ แต่ไม่นานนักภาคเรียนนี้ก็มีความต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของสาวน้อย เพราะเมื่อถึงชั่วโมงที่ต้องเลือกเรียนวิชาเลือก โปล่าพบว่ามีหนุ่มมาดขรึมหน้าตาไม่คุ้น ลงเรียนวิชาการขับร้อง เมื่อเธอถาม “มาธิลด์” เพื่อนสนิท ว่าหนุ่มหน้ามนคนนั้นเป็นใคร จึงได้รู้ว่าชื่อ “แกเบรียล” มาจากปารีส ติดตามครอบครัวมาชั่วคราว และมาเรียนเพียงเทอมเดียวในเมืองนี้
ด้วยความที่แอบปลื้มหนุ่มเมืองหลวง ตามประสาเด็กสาวบ้านนอก โปล่าจึงเลือกเรียนวิชาการขับร้องตามแกเบรียล ทั้งๆที่เธอไม่มีประสบการณ์ด้านการร้องเพลงมาก่อน
เมื่อถึงชั่วโมงเรียนขับร้อง ผู้สอนวิชานี้ คือ “ฟาเบียง” คุณครูสุดเฮี้ยบ ผู้มีฝีไม้ลายมือในการประพันธ์ดนตรี ถึงขนาดออกอัลบั้มของตนเองมาแล้ว ด้วยความเป็นคนที่มีชื่อเสียง และคลุกคลีกับวงการดนตรีมาก่อน ทำให้ฟาเบียงรู้สึกหงุดหงิด และเบื่อหน่ายการสอนในโรงเรียนชานเมือง เพราะถ้าเขามีลูกศิษย์ที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง ก็อาจทำให้เขาได้นำเสนอผลงานปั้นดาวดวงใหม่สู่เวทีใหญ่ และมีโอกาสกลับไปทำงานในวงการได้ง่ายขึ้น
แต่ความจริงที่ฟาเบียงต้องเผชิญ คือ นักเรียนในโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ ไร้ทักษะด้านการร้องเพลง ทำให้โอกาสที่เขาจะกลับไปโลดแล่นโชว์ผลงานของลูกศิษย์ ต้องลดน้อยลงไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงคัดเลือก โปล่าซึ่งมีน้ำเสียงทุ้ม ฟังได้ไม่แย่นัก ทำให้ฟาเบียงคัดตัวมาร้องเพลงคู่กับแกเบรียล เพื่อร้องโชว์ในงานประจำปีของโรงเรียน
หนังตัดกลับไปที่ชีวิตเกษตรกรของครอบครัวเบลิเยร์ แม้ฟาร์มปศุสัตว์ และผลผลิตต่างๆจะไร้ปัญหา แต่ปัญหาใหม่็เริ่มตั้งเค้า เมื่อนายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดวาระลง และมีแผนการลงสมัครครั้งหน้า ชูนโยบายพัฒนาเมืองชนบท ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมของชาวเมืองที่ดำรงอยู่มาช้านาน
เมื่อโรดอล์ฟรู้ข่าวจึงไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้นประกาศว่า จะลงสมัครชิงชัยตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองนี้ ดังนั้น ภารกิจของลูกสาวคนเดียวในบ้าน จึงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง โดยเป็นล่ามช่วยหาเสียงให้พ่อในการลงสมัครเล่นการเมืองท้องถิ่น ซึ่งแม้จะเป็นงานหิน แต่เธอก็ทำอย่างเต็มใจ
ส่วนภารกิจอีกอย่างที่สาวน้อยเสียงดีต้องสานต่อ คือ การร้องเพลงคู่กับหนุ่มปารีส วันหนึ่งแกเบรียลบอกว่า จะแวะมาฝึกร้องเพลงคู่กับโปล่าที่บ้านของเธอ แต่ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อโปล่าเกิดมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก เธอจึงหยุดฝึกซ้อมร้องเพลงทันที เพราะอับอายเพื่อนหนุ่ม
แต่จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเป็นความปากเปราะของแกเบรียล ทำให้เรื่องนี้หลุดไปถึงหูเพื่อนร่วมชั้นบางคน ที่นำมาล้อเลียนสาวน้อย โปล่าจึงตบหน้าเพื่อนหนุ่มด้วยความโกรธ และทำให้ในวิชาขับร้อง เธอได้เปล่งเสียงออกมาเต็มที่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลายเป็นน้ำเสียงอันทรงพลัง สะดุดหูของครูฟาเบียงในทันที ถึงขั้นที่เขาเสนอว่า เธอควรไปทดสอบการร้องเพลง เพื่อเรียนต่อด้านนี้ในโรงเรียนที่ปารีส
โปล่ายังแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะอุปสรรคทางบ้านเป็นด่านสำคัญ และอีกประการหนึ่ง คือ เธอรู้สึกไม่ค่อยดีนักที่ตนเองกำลังจะหาทางไปเรียนต่อด้านการขับร้อง ขณะที่สมาชิกของครอบครัวไม่สามารถฟังและพูดได้ด้วยซ้ำ
ท้ายที่สุด ครูฟาเบียงก็ปลุกแรงบันดาลใจที่โปล่ามีอยู่เป็นทุนเดิม จนเธอตัดสินใจฝึกซ้อมขับร้อง โดยมีเป้าหมายในการคัดตัว แม้ว่าเรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลาต้องบอกพ่อกับแม่ก็ตาม
ชีวิตของสาวน้อยบ้านไร่ ดูจะยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อพ่อลงสมัครการเมืองท้องถิ่น เขาเริ่มเป็นที่สนใจของคนมากขึ้น มีรายการโทรทัศน์มาทำข่าว ต้องมีการแถลงนโยบาย และหาเสียงอีกสารพัด ซึ่งโปล่าต้องแบ่งเวลาให้กับการช่วยพ่อและการฝึกซ้อมร้องเพลง
จนกระทั่งวันหนึ่งความลับก็ถูกเปิดเผยขึ้น จนกลายเป็นความไม่เข้าใจของพ่อกับแม่ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่ทั้งรักทั้งห่วง เธออยากให้ลูกสาวทำงาน และเติบโตไปกับคนในครอบครัว มากกว่าไปร้องเพลง
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นอีกครั้งในงานร้องเพลงประจำโรงเรียน ที่โรดอล์ฟกับจิจี้ต้องเข้าร่วม และได้เห็นลูกสาวร้องเพลงบนเวที แม้ว่าครอบครัวเบลิเยร์จะไม่ได้ยินเสียงใดๆ แต่พวกเขาได้เห็นรอยยิ้ม และแววตาแห่งความสุขที่ปรากฏบนใบหน้าลูกสาว ขณะเดียวกันก็เห็นภาพผู้คนรอบกาย ลุกขึ้นยืนปรบมือ แสดงสีหน้าชื่นชมหลังจากบทเพลงจบลง นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้โรดอล์ฟกับจิจี้ ตัดสินใจให้ลูกสาวได้ทำตามความฝันที่ตั้งใจ
โดยในวันคัดเลือกไปเรียนต่อในโรงเรียนด้านการร้องเพลง ครอบครัวเบลิเยร์เดินทางไปส่งลูกสาวถึงปารีส และมีโอกาสได้เห็นโปล่าร้องเพลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เธอไม่ได้ร้องเปล่าๆ เหมือนเคย แต่ใส่อารมณ์ในการร้องเพลง พร้อมกับการใช้ภาษามือ เพื่อถ่ายทอดความหมายของบทเพลงอันซาบซึ้ง ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีบทสรุปที่สวยงามและอบอุ่นน่าประทับใจ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็นหน้าที่ของบิดามารดา ซึ่งในพุทธศาสนาได้บอกไว้ 5 ประการ ได้แก่ ห้ามมิให้ลูกทำชั่ว, แนะนำให้ลูกตั้งมั่นอยู่ในความดี, ให้ศึกษาศิลปวิทยา, หาคู่ครองที่สมควร และมอบทรัพย์ให้ลูกในโอกาสอันสมควร
เมื่อพิจารณาแล้ว หลักธรรมที่ชัดเจนสอดคล้องกับเนื้อหาในภาพยนตร์ คือ “ให้ลูกศึกษาศิลปวิทยา” ซึ่งเห็นได้ว่า สุดท้ายแล้วทั้งพ่อและแม่ตัดสินใจให้ลูกสาวได้ทำตามความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นความสามารถและทักษะที่ลูกมีโอกาสประสบความสำเร็จ มีอนาคตทางการศึกษา
หลักธรรมจากภาพยนตร์ในข้อนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่พ่อแม่ในยุคนี้พึงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้มีบุตรอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มัธยมปลาย เพราะเรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่า เด็กๆจำใจต้องเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ชื่นชอบ หรือถนัดโดยตรง เพราะเป็นความต้องการของพ่อแม่
ส่วนผู้เป็นบุตร ในทางพุทธศาสนาได้บอกถึงหน้าที่ของบุตร 5 ประการ ได้แก่ การตอบแทนคุณ, ช่วยทำกิจของท่าน, ดำรงวงศ์ตระกูล, ประพฤติตนให้เหมาะกับความเป็นลูก และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สาวน้อยโปล่าก็ได้กระทำหน้าที่ของบุตรเช่นกัน ทั้งช่วยการสื่อสารในยามปกติ แบ่งเบาภาระงานที่บ้าน และช่วยพ่อที่ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น อันถือเป็นการประพฤติตนให้เหมาะกับความเป็นลูก
และเมื่อทุกคนในครอบครัวต่างทำหน้าที่ของตนเองตามหลักธรรมนี้ ย่อมทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)