สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และเหล่าภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ “วัดบันดาลใจ” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
โดยนำร่อง 9 วัดต้นแบบ หวังส่งต่อองค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้วัดและชุมชนร่วมกันพลิกฟื้นวัดทั้งด้านกายภาพและกิจกรรม ให้เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยทั่วประเทศ ถวายเป็นพระราชกุศลใน 3โอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา
นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ เผยว่า ในอดีตวัดเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม ในการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งด้านจิตวิญญาณ การส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงวิชาการความรู้ให้แก่ประชาชน โดยพระมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทางสติปัญญา และเป็นที่พึ่งแก่ชุมชน แต่ด้วยเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บทบาทความเป็นศูนย์กลางของวัดลดความสำคัญ ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชนลดลง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “วัดบันดาลใจ” จากความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์ ชุมชน และเหล่าภาคีเครือข่าย โดยได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบมืออาชีพ เหล่าสถาปนิกและภูมิสถาปนิกที่อาสามาช่วยงาน เบื้องต้นได้นำร่องคัดเลือก 9 วัดจากทั่วประเทศเป็นวัดต้นแบบ ได้แก่ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี วัดมหาจุฬาวราราม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษ และวัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช
“ที่ผ่านมาเหล่าสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบใช้ทักษะด้านการออกแบบมาเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น หากมาร่วมกันออกแบบพื้นที่วัด ก็น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสูงสุดของวิชาชีพ ที่จะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจและเกิดคุณค่าขึ้นแก่สังคมและชีวิต” ผอ.โครงการฯกล่าว
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เนื่องจากโครงการวัดบันดาลใจ มีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาให้วัดเป็นพื้นที่สุขภาวะ เป็นสถานที่มาแล้วเกิดความรื่นรมย์ทางปัญญา นำมาซึ่งความสุขของคนไทยโดยรวม ทาง สสส.ได้มีการดำเนินงานทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องสุขภาพพระ พัฒนาสภาพแวดล้อมของวัด สร้างหลักสูตรสุขภาวะในกลุ่มแกนนำพระสงฆ์ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อนำไปสู่การสร้างวัดให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ
โดยโครงการวัดบันดาลใจได้มีการดำเนินการร่วมกับโครงการวัดสร้างสุข ซึ่งเป็นโครงการที่ขยายแนวคิดหลัก 5 ส. ประกอบด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย เพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ความยั่งยืน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นผู้นำชุมชน เป็นแหล่งที่พึ่งทางใจแก่ประชาชนทั่วไป
“การร่วมมือกันในโครงการวัดบันดาลใจ ถือเป็นจุดสำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาสุขภาวะเมือง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่เพียงแต่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของเมือง ผ่านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในวัดทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สาธารณะ เพราะการที่วัดกลับมาอยู่ร่วมกับสังคมอย่างสมสมัย จะถือเป็นศูนย์สุขภาวะทั่วประเทศที่มีมากถึง 40,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย”
นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ กล่าวว่า ทุกวัดล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่สำคัญของชีวิตจิตใจและชุมชน แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ได้ถูกละเลยจนบทบาทสถานะของวัดเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างน่าเสียดาย
สวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งมีธรรมภาคีเครือข่ายความร่วมมืออยู่แล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งเชิญชวนธรรมภาคีเครือข่ายงานธรรมของสวนโมกข์กรุงเทพ อาสารับใช้ถวายงานพระและวัด ในด้านกิจกรรมของวัดให้เหมาะสมกับแต่ละวัด ซึ่งมีพื้นที่ธรรมชาติและเป้าหมายที่ต่างกัน โดยหวังว่าจะเป็นวัดนำร่องและเป็นกรณีศึกษาเพื่อขยายสู่วัดอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน พระมหาสุทธิต อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม หนึ่งในเก้าวัดนำร่อง กล่าวว่า ภายหลังการเจริญเติบโตของบ้านเมือง ความโล่ง โปร่ง สบายหรือต้นไม้มากๆ ในวัดก็ลดลงไป หัวใจหลักของการพัฒนาวัด คือ สร้างพื้นที่สามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การสร้างพื้นที่ทางกายภาพวัดให้สะอาดร่มรื่นโดยใช้หลักอีโค ทาวน์ (เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโบสถ์ ปรับปรุงลานจอดรถสำหรับนั่งพักผ่อนและปฏิบัติภาวนา) เมืองกับคนอยู่ด้วยกันได้ ขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมร่มรื่นเป็นสัปปายะ สองคือ สร้างพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ (ห้องสมุด พื้นที่นันทนาการเอนกประสงค์ และจัดนิทรรศการ) อย่างน้อยที่สุด ให้โรงเรียน บริษัท และห้างร้านและคนในย่านนี้ ได้เข้ามาเรียนรู้ และสุดท้าย พื้นที่ที่สาม คือ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา อยากให้คนมาประกอบพิธีทางศาสนาเข้าไปในอุโบสถ ซึ่งจะให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา มีโครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ โครงการ “วัดบันดาลใจ” มีแผนเดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวิร์คช็อปไปยังวัดและชุมชนอื่นๆ การจัดนิทรรศการสรุปภาพรวมของ 9 วัดบันดาลใจ เพื่อขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ให้มาร่วมแรงร่วมใจ ทำให้แต่ละโครงการเป็นจริง การจัดทำสารคดีวัดบันดาลใจ เพื่อเผยแพร่แนวคิดออกไปในวงกว้าง ตลอดจนสานต่อโครงการนี้ไปยังวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อพลิกฟื้นให้ทุกวัดเป็นวัดบันดาลใจ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)