ผู้เขียนเพิ่งกลับจากญี่ปุ่นมาครับ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ผู้เขียนชอบเดินทางไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะการไปศึกษาประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ แต่ครั้งนี้เลือกที่จะไปเที่ยววัดและศึกษาเรื่องศาสนาในญี่ปุ่นครับ
จะว่าไป..เรื่องศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญในชีวิตของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆแต่อย่างใด ดังนั้น อย่าแปลกใจหากจะไปถามเพื่อนหรือชาวญี่ปุ่นในวัย 20-50 ปี ว่านับถือศาสนาอะไร? แล้วได้รับคำตอบกลับมาว่า "เขาหรือเธอ เป็นคนไม่มีศาสนา"
เท่าที่สังเกต ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใจกว้างในเรื่องศาสนาอยู่พอควรครับ ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้ยึดติดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ดังนั้น พิธีกรรมหรือประเพณีต่างๆทางศาสนา ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากกว่าความหมายทางศาสนา
คนญี่ปุ่นก็สามารถปฏิบัติตามประเพณีต่างๆ ของศาสนาที่แตกต่างกันได้ โดยไม่มีความรู้สึกขัดแย้งหรือเคอะเขิน ผู้เขียนเดินผ่านบ้านของคนญี่ปุ่น แล้ว (แอบ)มองเข้าไปในบ้าน บางหลังก็นิยมตั้งแท่นบูชาพระและแท่นบูชาบรรพบุรุษไว้ในบ้าน คริสมาสต์ก็ฉลองกับเขา วันปีใหม่ก็ยังคงนิยมไปไหว้พระขอพรที่วัดพุทธกันเยอะมาก
อย่างวัดเซ็นโซ (Senso-Ji) คนไทยเรียก “วัดอาซากุสะ” เป็นวัดพุทธที่เก่าแก่และมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว เป็นวัดพุทธที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม แต่ในส่วนที่ติดกับวัดด้านหนึ่งกลับเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอาซากุสะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโต ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมวัดเซ็นโซเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นจุดเช็คอินที่นิยมแห่งหนึ่งในการเดินทางมาเยือนโตเกียว ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเลยล่ะครับ
แน่นอนว่า คนญี่ปุ่นเองก็นิยมมาที่วัดเซ็นโซนี้เหมือนกัน ถ้าเป็นวันอาทิตย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนเยอะมากครับ วัดเซ็นโซถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนญี่ปุ่นทั่วสารทิศ เพราะในอดีต เหล่าโชกุน ซามูไร มักจะมาสักการะและขอพรจากเทพเจ้าในพระอุโบสถ Zenkoji Hondo ซึ่งเป็นอารามไม้ขนาดใหญ่ที่เก่าแก่งดงาม และก็ประสบผลสำเร็จตามที่ขอ ทำให้เหล่าซามูไร โชกุน มีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นในยุคต่อๆมา นิยมมาขอพรเจ้าแม่กวนอิมที่วัดนี้อยู่สม่ำเสมอนั่นเองครับ
คนญี่ปุ่นอาจจะรู้สึกโชคดีตรงที่ว่า ศาสนาชินโตซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น ค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้คนญี่ปุ่นเปิดใจรับทุกศาสนาได้ไม่ยากนัก ชินโตจะไม่สนใจเรื่องชีวิตในชาติหน้าเหมือนพุทธ ไม่เน้นเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่บอกหนทางไปนรก-สวรรค์ และไม่นิยมชี้หนทางแห่งการหลุดพ้น
แต่ผู้คนที่นับถือชินโตจะมีความเชื่อว่า ทุกอย่างในธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆ มีวิญญาณหรือเทพเจ้าสถิตอยู่ อาทิ เทพเจ้าแห่งไฟ เทพเจ้าแห่งน้ำ เทพเจ้าแห่งสายลม เทพเจ้าแห่งภูเขา เป็นต้น หากเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นก็มักจะพบกับสัญญะที่แทนเทพเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมาย อย่างเช่น ตรงบริเวณประตูแรกของศาลเจ้า Atago ซึ่งเป็นศาลเจ้าบนภูเขาคือ Ichi-no-Torii ก็มีความเชื่อกันว่า เป็นที่อยู่ของเทพ Atago Gongen (เป็นอวตารหนึ่งของพระโพธิสัตว์ Jizo ในศาสนาพุทธ) ที่ปกป้องเมืองจากไฟ และ Torii นี้ยังเป็นจุดเริ่มขึ้นไปสู่ภูเขา Atago ด้วย
ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงมักให้ความเคารพ ให้เกียรติ และเกรงต่อสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว และพัฒนามาเป็นอัตตวิสัยพื้นฐานในการเคารพบุคคลอื่นของคนญี่ปุ่นนั่นเองครับ
ศาสนาชินโตยังมีข้อกำหนดในเรื่องพิธีการ ยังผลต่อการปฏิบัติตนตามธรรมเนียมที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ลูกหลานที่นับถือชินโตจะมีความภักดีต่อครอบครัว ภักดีต่อชุมชน และภักดีต่อรัฐ ตรงนี้เป็นกุศโลบายหนึ่งของรัฐในอดีต ที่ต้องการให้ผู้คนเคารพ และจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง ด้วยการสื่อสารผ่านศาสนา
เห็นได้จากในสมัยเอโดะ (Edo) มีการห้ามนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยการตั้งระบบดังกะ (Danka) บังคับให้ประชาชนต้องลงทะเบียนสังกัดกับวัดใดวัดหนึ่งในท้องถิ่นของตน โดยวัดจะมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย วัดจึงเป็นเสมือนกลไกหนึ่งในการควบควบคุมประชาชนของรัฐในสมัยนั้น
ชินโตสามารถผสานกับพุทธได้อย่างราบรื่น เพราะศาสนาพุทธเองก็สอนให้รู้จักบุญคุณบิดามารดา บุญคุณของผู้ปกบ้านป้องเมืองในอดีตเช่นกันครับ
นอกจากจะสอนให้เคารพบรรพบุรุษแล้ว ชินโตยังสอนให้เด็กรู้จักนบนอบต่อผู้ใหญ่ คนวัยหนุ่มต้องเคารพนบน้อมต่อผู้สูงอายุ ผู้หญิงต้องเคารพผู้ชาย ซึ่งได้กลายมาเป็นระเบียบประเพณีที่ภรรยาต้องอยู่ในอำนาจของสามี
ส่วนการที่ชาวญี่ปุ่นโค้งให้กันอย่างอ่อนน้อมหลายครั้งนั้น ยิ่งโค้งต่ำมากเท่าไร ก็สะท้อนว่าเป็นการให้ความเคารพ ให้เกียรติต่อบุคคลนั้นๆ มากเท่านั้น นี่จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ให้เห็นถึงความสุภาพอ่อนน้อมของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากคำสอนของศาสนาชินโตนี่เองครับ
บุคลิก ลักษณะนิสัยพื้นฐาน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกสื่อสารและถ่ายทอดออกมาอย่างมีนัยยะสำคัญ จนกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของแดนซามุไร
เพราะทันทีที่เราได้เห็นการจัดสวนแบบญี่ปุ่นแล้ว เราจะรู้เลยว่านี่คือ “วิถีญี่ปุ่น” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำสอนจากศาสนาที่ได้กล่าวมาข้างต้นครับ เพราะชินโตสอนให้คนญี่ปุ่นรักธรรมชาติด้วย
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ญี่ปุ่นจะยังคงรักษาธรรมชาติของประเทศได้สวยงาม สะอาด และมีเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้
ใครไปญี่ปุ่นก็มักจะประทับใจกับธรรมชาติ และคติในการดำเนินชีวิตที่แฝงเร้นอยู่ภายใน หากเปรียบเป็นศาสนาพุทธก็จะตรงกับคำกล่าวที่ว่า “ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรมะ” นั่นเองครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อํานวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)