xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : เหตุแห่งความสุขความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...คนไทยทุกๆฝ่าย มีความนิยมเลื่อมใสในคุณความดี และปรารภปรารถนาที่จะตั้งตนอยู่ในคุณงามความดีนั้น การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย คือประชาชนแต่ละคน จะต้องขวนขวายสร้างสรรค์ประโยชน์ และดำรงอยู่ในคุณธรรมอันสมควรแก่ฐานะของตนๆ

คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือ การรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดี ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์...”


(ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ท้องสนามหลวง วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕)

เมื่อพิจารณาถึงคุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติที่ทรงปรารภ จักพบว่านี่คือฆราวาสธรรม อันเป็นธรรมสำหรับฆราวาส ธรรมสำหรับการครองเรือน หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ อันเป็นคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญบุคคลผู้ปฏิบัติฆราวาสธรรมไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค อาฬวกสูตร ความว่า

บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพาน เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา บุคคลผู้มีธุระ กระทำสมควร มีความหมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือน มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ผู้นั้นแล ละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งการได้ปัญญายิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิดฯ

ทำไมสัจจะจึงเป็นเหตุแห่งการได้ชื่อเสียง? เพราะผู้มีสัจจะ ย่อมรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ทำให้มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว เป็นคนหนักแน่นมั่นคง อันส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน ได้รับการเคารพยกย่อง มีคนเชื่อถือ และยำเกรง ครอบครัวของเขาย่อมมีความมั่นคง นี่จึงเป็นเหตุแห่งการได้ชื่อเสียง

ทำไมทมะจึงเป็นเหตุแห่งการได้ปัญญา? เพราะผู้มีทมะ ย่อมรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดี ทำให้มีความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็ญฝึกตนเอง บังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน ไม่มีเวรกับใคร ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ สามารถตั้งตัวได้ ความรู้ในการปฏิบัติทมะย่อมทำให้เป็นผู้มีปัญญาเลิศ นี่จึงเป็นเหตุแห่งการได้ปัญญา

ทำไมขันติจึงเป็นเหตุแห่งการหาทรัพย์? เพราะผู้มีขันติ ย่อมอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เขาย่อมใช้สติปัญญาพิจารณาถึงอุปสรรคและปัญหาที่กำลังประสบอยู่ แล้วหาทางแก้ไขนำพาตนให้ผ่านอุปสรรคและปัญหานั้นไปจนได้ อย่างไม่ย่อท้อ ทำให้ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ทำงานได้ผลดี สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้ สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้ ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้ มุ่งมั่นทำงานจนบรรลุผล ทำให้ได้ทรัพย์มาสู่ตน นี่จึงเป็นเหตุแห่งการหาทรัพย์

ทำไมจาคะจึงเป็นเหตุแห่งการผูกมิตร? เพราะผู้มีจาคะ ย่อมรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง รู้จักเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน นึกถึงส่วนรวมเป็นใหญ่ เป็นผู้จิตใจกว้างขวาง ทำให้ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว จนเป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป ก่อให้เกิดมีกัลยาณมิตรรอบตัว อันเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง นี่จึงเป็นเหตุแห่งการผูกมิตร

เพราะเหตุนี้จึงทรงรับสั่งว่า คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์ ซึ่งสอดคล้องกับพุทธโอวาทในธรรมบท เรื่องธัมมิกอุบาสก ที่ว่า ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วก็ย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง เขาเห็นความหมดจดแห่งกรรมของตน ย่อมบันเทิง เขาย่อมรื่นเริง

เพื่อให้ตระหนักถึงผลแห่งการบำเพ็ญฆราวาสธรรม จึงขอนำเรื่องธัมมิกอุบาสก มาแสดงโดยย่อไว้ ณ ที่นี้

ครั้งหนึ่งในกรุงสาวัตถี มีอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อธรรมิกะ เป็นผู้ใจบุญใจกุศล ชอบทำบุญให้ทาน เขาจะถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์อย่างสม่ำเสมอทุกวันและในโอกาสสำคัญต่างๆ เขาเป็นหัวหน้าของอุบาสกอีกจำนวน ๕๐๐ คนซึ่งอยู่ในนครสาวัตถี เขามีบุตร ๗ คน และธิดา ๗ คน บุตรธิดาทุกคนก็เหมือนกับบิดา คือเป็นผู้มีใจบุญใจกุศลชอบถวายทาน

อยู่มาวันหนึ่ง ธรรมิกอุบาสกเกิดป่วยหนัก มีอาการใกล้จะตาย เขาได้ขอร้องบุตรธิดาให้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสติปัฏฐานสูตร ที่มีข้อความเริ่มต้นว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทธิยา (แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย) ซึ่งกล่าวว่าเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละทิ้ง

ขณะที่พระภิกษุสงฆ์กำลังสวดมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่นั้น ก็มีรถทิพย์ที่ตกแต่งงดงามมาก ๖ คันจากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาจอดรอ เพื่อเชิญให้เขาไปอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ

ธรรมิกอุบาสกได้บอกรถเหล่านั้นให้รอสักครู่ อย่าเพิ่งมารับ เพราะจะขัดจังหวะการสวดสติปัฏฐานสูตร ข้างพระภิกษุสงฆ์ที่สวดอยู่นั้นเข้าใจว่า ธรรมิกอุบาสกต้องการให้พวกท่านหยุด จึงได้เลิกสวดและเดินทางกลับวัด

ชั่วครู่ต่อมา ธรรมิกอุบาสกก็ได้บอกกับบุตรธิดาของตนว่า มีรถทิพย์ ๖ คันมาจอดรออยู่ในอากาศเพื่อรับเขา และเขาได้ตัดสินใจเลือกรถที่มาจากสวรรค์ดุสิต เขาบอกกับลูกว่า “เราจะไปสู่ภพดุสิต พวกเจ้าอย่าวิตกเลย พวกเจ้ามีความปรารถนาจะเกิดในสำนักเรา ก็จงทำบุญทั้งหลาย ตามทำนองที่เราทำแล้วเถิด”

พอธรรมิกอุบาสกสิ้นใจตาย ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งในคัมภีร์พรรณนาว่า ธรรมิกอุบาสกพอสิ้นใจจากโลกมนุษย์ “พลันก็มีอัตภาพสูงประมาณ ๓ คาวุต ประดับด้วยอลังการ ๖๐ เล่มเกวียน มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม มีวิมานแก้วประมาณ ๒๕ โยชน์” เพราะฉะนั้น คนที่ทำความดีย่อมจะบันเทิงในโลกนี้และในโลกหน้า

ต่อมา พระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของพระสงฆ์ที่ว่าธรรมิกอุบาสกตายจากโลกนี้ไปเกิด ณ ที่ใด ว่า ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต และตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนผู้ไม่ประมาทแล้วทั้งหลาย เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมบันเทิงในที่ทั้งปวงทีเดียว”

ธรรมิกอุบาสกย่อมเป็นผู้ปฏิบัติฆราวาสธรรมเป็นนิตย์ เขาจึงได้รับความสุขจากบุญที่ตนได้ทำแล้ว แม้ในยามละจากโลกนี้ไป ก็ยังได้เสวยผลบุญในภพต่อไปด้วย สาธุชนผู้มุ่งหวังให้ตนมีความเจริญ จงปฏิบัติตนในหลักฆราวาสธรรมนี้จนเป็นนิสัย ย่อมจะได้พบกับความสำเร็จที่ปรารถนาเป็นนิตย์แล

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น