xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : อาการแบบไหนส่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควร มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 17 ล้านคน และคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มเป็น 23 ล้านคน

และจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า เพศชายมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า

สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตมากถึงชั่วโมงละ 4 ราย นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง

หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ในการส่งเลือดผ่านไปทางหลอดเลือด เพื่อไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย หากมีหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่งมีปัญหาเชื่อมโยงกัน คือ อวัยวะปลายทางขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหัวใจทำงานหนักขึ้น ก็จะเกิดปัญหาหัวใจวาย และเสียชีวิตได้

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไว้ว่า

ในคนสูงอายุจะพบว่า มีอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคนี้เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีอัตราตายสูงขึ้นในผู้สูงอายุ และมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ทำงานไม่ได้ดีเท่าที่ควร เหนื่อยง่ายขึ้น และเป็นภาระกับครอบครัวและสังคมมากขึ้น

ในสมัยก่อนการรักษาทำได้จำกัด แต่ด้วยวิวัฒนาการในปัจจุบันพบว่า มีการรักษาได้หลายวิธีมาก จึงเป็นผลให้สามารถลดอันตราย และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจกลุ่มนี้ จะยิ่งใช้เงินเป็นจำนวนมากขึ้นตามความรุนแรงของโรคที่เป็น ฉะนั้น ถ้าเราสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ จะเป็นการดีกว่าที่จะมาตามแก้ที่ปลายเหตุ อันอาจทำให้มีการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร มีการทุพพลภาพ หรือเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดได้อย่างไร
โรคนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจจะเป็นผลจากมีผลึกไขมันไปเกาะ หรือมีพังผืดอันเป็นผลมาจากความเสื่อม หรือมีปัจจัยอื่นๆไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหนาตัวขึ้น ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เป็นผลให้หัวใจขาดเลือดได้

ปัจจัยที่ว่านี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น อ้วน ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ฯลฯ จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา สามารถแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นได้ แต่ประการหนึ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คือ อายุที่เพิ่มขึ้น

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โดยทั่วๆไปแล้วคนมักจะเข้าใจว่า อาการของโรคนี้คือ อาการเจ็บหน้าอกด้านซ้าย และลักษณะอาการเจ็บจะเป็นอย่างไรก็ได้ เช่น เจ็บเสียวแปล๊บๆ เจ็บจี๊ด เป็นวินาทีหรือนาที ซึ่งจริงๆแล้วลักษณะที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เป็นจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ลักษณะเฉพาะของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีดังนี้ คือ อาการเจ็บหน้าอกจะต้องเป็นที่บริเวณกลางหน้าอกตรงบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย ลักษณะจะต้องเป็นแบบแน่นๆหน้าอกเหมือนมีอะไรมาบีบรัด หรือมีของหนักๆมาทับอกอยู่ อาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณไหล่ซ้ายและแขนซ้าย หรือร้าวไปที่กรามทั้ง2ข้าง และที่สำคัญมักจะสัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย เพราะช่วงนั้นหัวใจจะต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ เพราะว่ามีหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบอยู่ อาการที่เป็นอยู่จะต้องนานเป็นนาทีขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้ามีอาการเสียวแปล๊บๆ เป็นวินาที เป็นด้านซ้ายของหน้าอกไม่สัมพันธ์กับการออกแรง(ซึ่งจะเป็นอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยๆ) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นจากหลอดเลือดหัวใจตีบ

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีอาการเฉพาะโรคนี้ครบทุกอย่าง แต่ไม่สัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย ให้สงสัยว่าอาจจะไม่ใช่เป็นการขาดเลือดธรรมดา อาจจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่ใช่แค่หลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ส่วนใหญ่พวกนี้อาการจะรุนแรงมากกว่าโรคหัวใจขาดเลือด และมีอันตรายและผลแทรกซ้อนมากกว่า

หากมีอาการคล้ายหรือเหมือนอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรทำอย่างไร
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรคนี้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ลดการเกิดทุพพลภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อย่างมาก

ฉะนั้น เมื่อสงสัยว่ามีอาการดังกล่าว จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จากการที่กล่าวไว้แล้วว่า อาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นได้จาก 2 กรณี คือ เกิดจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน

การปฏิบัติตัวใน2กรณีมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. ถ้าเป็นจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดตีบ กล่าวคือ มีอาการขณะออกแรงหรือออกกำลังกาย ให้ปฏิบัติตัวดังนี้ คือ ให้หยุดการออกแรงหรือออกกำลังที่มากจนทำให้เกิดอาการ และไปพบแพทย์โดยเร็วแต่ไม่ถึงกับฉุกเฉิน
2. ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้อตาย จากการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน กล่าวคือ มีอาการในขณะพักหรืออยู่เฉยๆ โดยมีอาการค่อนข้างมาก ให้ไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจนั้น กล้ามเนื้อจะตายเกือบทั้งหมดภายใน4-6ชั่วโมง

หากแก้ไขได้ก่อน จะสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะในปัจจุบันมียาฉีดที่สามารถละลายก้อนเลือดที่ไปอุดตันหลอดเลือดที่ได้ผลดีมาก ฉะนั้น ถ้ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้น ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน4-6ชั่วโมง หลังจากนี้ไปแล้ว ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่ได้ผลเลย

ภาวะหัวใจขาดเลือด สามารถป้องกันได้หรือไม่
“ป้องกันได้” ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้หลายปัจจัย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน ฯลฯ

การป้องกัน คือ ให้ควบคุมและรักษาโรคดังกล่าวข้างต้น เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เรื่องอ้วนต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายควรทำอย่างไร
การออกกำลังกาย นอกจากช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรงแล้ว ยังพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย โดยทั่วไปควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า20นาที โดยออกกำลังกายแบบใดก็ได้ ขอให้เป็นการออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตลอดเวลา เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น

แต่การออกกำลังกายที่ใช้การเกร็งกล้ามเนื้อ หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย มักจะไม่แนะนำ เช่น การยกน้ำหนัก เป็นต้น สำหรับการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องหักโหม ให้ทำเท่าที่ร่างกายจะรับได้ โดยมีหลักง่ายๆคือ ให้ออกกำลังกายโดยให้มีชีพจรเต้นเพิ่มมากขึ้นมากกว่าขณะพัก ตั้งแต่ 10 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ตัวอย่างเช่น ขณะพักจับชีพจรได้ 70 ครั้งต่อนาที เราควรออกกำลังกายในปริมาณที่ทำให้ชีพจรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย80ครั้งต่อนาที หรือมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะออกให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่กำหนดไว้ ทั้งปริมาณและจำนวนวันของของการออกกำลังกาย ก็สามารถกระทำได้ แต่มักไม่ได้ช่วยในการป้องกันโรค แต่จะช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายแข็งแรงขึ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น