หมอสมองเตือนบริหารร่างกายด้วยการหมุนคอ เอียงคอ ทำเส้นเลือดฉีกขาด เสี่ยงอัมพฤกษ์ ชี้นวดกดจุดเปิดปิดประตูลมท้ายทอย อันตรายถึงขั้นตาบอด แนะดันหัวสู้ฝ่ามือ 4 ทิศ วันละ 20-30 รอบ ช่วยกล้ามเนื้อคอแข็งแรง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แพทย์ด้านสมองได้ศึกษาและเฝ้าระวังเรื่องการบริหารคอด้วยการสะบัดคอ หมุนคอ เอียงคอเป็นประจำ เช่น เช้า 30 รอบ เย็น 30 รอบ ถือว่าอันตราย เพราะจะทำให้เส้นเลือดคู่หลังก้านคอถูกเส้นเอ็นและกระดูกกระแทกจนผิวเส้นเลือดชั้นในฉีกขาด ตีบตัน ทำให้เป็นอัมพฤกษ์
ขณะที่การทำกายภาพบำบัดด้วยการนวดไคโรแพรกเตอร์ที่มีการบิดคอ หักคอ เพื่อให้กระดูกเข้ารูป ก็จะทำให้เส้นเลือดคู่หลังฉีกขาดเช่นกัน รวมไปถึงเส้นเลือดคู่หน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองด้านหน้าและสมองใหญ่ฉีกขาดด้วย
ส่วนการนวดแผนไทยตามร้าน ที่มีการกดจุดเปิดปิดประตูลมบริเวณท้ายทอย จะปิดการทำงานของเส้นเลือดคู่หลังไม่ให้ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองส่วนการรับจอภาพมืดลง ทำให้มองไม่เห็นชั่วขณะ เมื่อปล่อยมือจึงกลับมาสว่างอีกครั้ง
“หากคนที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดอยู่แล้ว มากดจุดดังกล่าว หรือกดนานเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะตาบอดชั่วคราวนาน 2-3 วัน หรือกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดตีบตัน อาจจะทำให้เกิดภาวะตาบอดถาวร และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมานานแล้ว มีรายงานทั้งในวารสารต่างประเทศ และพบผู้ป่วยลักษณะดังกล่าวในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้มีการตระหนักมานานแล้ว แต่ในไทยยังไม่เชื่อ ดังนั้น หากไปนวดอาจจะต้องกำชับหมอนวดให้ละเว้นบริเวณท้ายทอยเอาไว้”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การบริหารคอที่เหมาะสมโดยไม่ทำร้ายเส้นเลือดหรือเส้นประสาท คือ ตั้งคอตรง หน้าตรง ดันศีรษะสู้กับฝ่ามือตัวเอง ทั้ง 4 ทิศ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ถือเป็น 1 รอบ ตอนที่ดัน คอจะอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนที่ไปไหน จึงไม่กระทบกับเส้นเลือดและเส้นประสาท ควรทำเช่นนี้วันละประมาณ 20-30 รอบ ทำตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องทำต่อเนื่องก็ได้
กลไกตรงนี้เมื่อดันแล้วจะทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง จากนั้นกล้ามเนื้อคอจะจัดกระดูกต่างๆให้เข้าที่ แต่ต้องใช้เวลา ทำสม่ำเสมอ การดันคอ 4 ทิศ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการที่ไปดึงคอเพื่อจัดกระดูก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนวิธีทางการแพทย์อาจจะทำได้ยาก ควรเริ่มต้นจากเวชศาสตร์การกีฬา ครูพลศึกษา รวมถึงฟิตเนส ให้ละเว้นท่าหันคอ บิดคอ เอียงคออย่างซ้ำๆ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการบริหารท่าที่แนะนำ ถ้าเปลี่ยนรูปแบบได้ก็น่าจะเป็นผลดี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)