• ผู้หญิงกรุ๊ปเลือด A, B, ABเสี่ยงสูงเป็นโรคเบาหวาน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia เปิดเผยว่า ผู้หญิงกรุ๊ปเลือด A, B และ AB มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงกรุ๊ปเลือด O ที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โดยทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลของผู้หญิงฝรั่งเศสกว่า 80,000 คน ระหว่างปี 1990-2008 พบว่า ผู้หญิง กรุ๊ปเลือด A มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ราว 10% กรุ๊ปเลือด B 21% และกรุ๊ปเลือด AB 17% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงกรุ๊ปเลือด O
กาย ฟากีรัซซี นักวิจัยจากศูนย์วิจัยการแพทย์โรคระบาดและสุขภาพประชากร ในฝรั่งเศส กล่าวว่า “การค้นพบของเรายืนยันว่า มีความสัมพันธ์หนักแน่นระหว่างกรุ๊ปเลือดและความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งผู้หญิงกรุ๊ปเลือด O มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่ำกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น และนับเป็นผลวิจัยครั้งแรกที่ชี้ว่า หมู่เลือด A B O มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2”
• ด่าทอกันในเฟซบุค ทำร้ายสมอง
พวกที่ชอบติดตามอ่านเนื้อหาหรือคอมเมนต์ต่างๆในเฟซบุค ที่แสดงถึงความเกลียดชัง โกรธแค้น เป็นประจำ รู้หรือไม่ว่า ในระยะยาว คุณกำลังทำร้ายสมองตัวเองโดยไม่รู้ตัว
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของอิตาลีระบุว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์อาจเป็นภัยต่อความเป็นปกติสุขของผู้ใช้ได้หลายทาง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้ต้องเผชิญกับพฤติกรรมก้าวร้าว และคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตที่ดีด้วย
ฟาบิโอ ซาบาตินี และฟรานเซสโก ซาราซิโน จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซา ร่วมกับสถาบัน STATEC ของลักซัมเบิร์ก ได้ทำการสำรวจข้อมูลชาวอิตาลี 50,000 คน จาก 24,000 ครอบครัว ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่า ข้อความแสดงความคิดเห็นจำนวนมากในสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่ดี และหากมีเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชังด้วยแล้ว ถือเป็นการมุ่งร้าย ทำให้ผู้อ่านเสี่ยงที่จะหมดศรัทธาในตัวบุคคลอื่น สุดท้ายความสัมพันธ์ก็จะแตกสลายลง
ทีมนักวิจัยจึงสรุปว่า ผลวิจัยชี้แนะถึงความจำเป็นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ต้องปรับปรุงนโยบายต่อต้านคำพูดที่ส่อถึงความเกลียดชังและพฤติกรรมก้าวร้าว ให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ
• 4 โรคเสี่ยงเกิดอันตรายขณะขับรถ
คนสุขภาพดี ขับรถได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องขับให้ดีด้วย ส่วนคนที่มี 4 โรคต่อไปนี้ ไม่ควรขับรถเด็ดขาด แม้ว่าจะขับดี เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ง่ายๆ
นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า 4 โรคเสี่ยงที่ไม่ควรขับรถ ได้แก่ 1. โรคลมชักที่กินยาควบคุมอาการไม่ได้ 2. โรคเบาหวาน ที่ต้องฉีดอินซูลิน อาจเกิดอาการวูบจากน้ำตาลในเลือดต่ำ 3. โรคหัวใจ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างกะทันหัน 4. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมอง บางรายที่อาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมการทรงตัว และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และมีผลต่อการตัดสินใจในการควบคุมบังคับรถ
ผู้ป่วยดังกล่าวควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะการขับรถในสภาพร่างกายไม่พร้อม อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองขณะขับขี่ ผู้ร่วมเดินทาง และผู้อื่นในท้องถนน
และขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และแพทยสภา ได้เสนอเพิ่ม 4 โรคที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ออกเป็นกฎหมายจราจรเพื่อบังคับใช้ต่อไปด้วย
• “เข้านอนเร็ว” ช่วยสยบความคิดแง่ร้าย
คนที่ชอบนอนดึก ใช้ชีวิตเลียนแบบนกฮูก พึงระวัง เพราะนอกจากมันจะทำให้สุขภาพกายเสื่อมโทรมแล้ว สุขภาพจิตจะพลอยย่ำแย่ไปด้วย เนื่องจากความคิดแง่ร้ายจะเกิดขึ้นมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่เข้านอนเร็ว
มีงานวิจัยของเจคอบ โนตา และเมเรดิธ โคลส์ แห่งมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cognitive Therapy and Research โดยการทำวิจัยในนักศึกษา 100 คน
ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาที่นอนดึกและหลับเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะครุ่นคิดแต่เรื่องเลวร้ายมากกว่าพวกที่เข้านอนเร็วและหลับนานหลายชั่วโมง
ทั้งนี้ ผลวิจัยได้ชี้แนะว่า การนอนไม่พออาจก่อให้เกิดความคิดแง่ร้ายซ้ำๆ และคนที่เสี่ยงจะเป็น คือ ชอบนอนดึกๆ ก็ควรนอนหลับให้เพียงพอ แต่การเข้านอนในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจเป็นวิธีที่ง่าย และดีต่อสุขภาพจิต
• องค์การเภสัชแนะวิธีเก็บยาอย่างถูกต้อง
การเก็บยาอย่างถูกต้องนั้น จะทำให้ยาคงคุณภาพและคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ดี โดยเภสัชกรหญิงวนิชา ใจสำราญ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้แนะวิธีการเก็บยาไว้ว่า
ข้อควรระวังและไม่ควรทำเมื่อรับยาจากโรงพยาบาล คือ ไม่วางยาไว้ในรถ เพราะอุณหภูมิในรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติ ทำให้ยาเสื่อมสภาพ คุณสมบัติในการรักษาลดลงหรือเสียไป และอาจเกิดโทษได้ เพราะยาบางชนิดจะหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น
มียาหลายชนิดที่ต้องเก็บแบบป้องกันแสง โดยเก็บในภาชนะทึบแสง เช่น ขวดสีชา แต่การวางไว้รับแสงโดยตรงเป็นเวลานาน แม้จะอยู่ในภาชนะดังกล่าว ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนสภาพของยา ทำให้ยาหมดอายุเร็วขึ้น ตัวอย่างยาที่ต้องป้องกันแสง เช่น วิตามินบี 6 วิตามินเอ ยาพวกฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด ยาน้ำเชื่อมของเด็กหลายชนิด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ส่วนยาที่ต้องเก็บโดยการแช่เย็น ซึ่งการแช่เย็นมีหลายแบบ คือ แช่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยบรรจุในภาชนะที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ชื้นจนฉลากยาหลุดหรือลบเลือน จนไม่สามารถอ่านได้ และให้ปลอดภัยจากการที่เด็กจะนำไปรับประทาน ทุกครั้งเมื่อใช้ยาแล้วต้องปิดภาชนะบรรจุให้มิดชิด เพื่อป้องกันความชื้นในอากาศ หรือเกิดอุบัติเหตุหกเลอะเทอะเมื่อต้องการใช้ในครั้งต่อไป
ที่สำคัญควรดูวันหมดอายุของยาด้วย โดยให้สังเกตที่ฉลากซึ่งจะระบุวันหมดอายุ (EXP. DATE) เอาไว้ ยาต่างชนิดอายุไม่เท่ากัน และควรสำรวจยาที่มีอยู่ในบ้านด้วยว่า มียาหมดอายุเก็บไว้เท่าไร และไม่ควรเก็บยาไว้นานจนเกินไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย ธาราทิพย์)