สมาธิ กับ ปัญญา นั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือ ถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิ คือ ความสงบ
เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่น พิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญ เช่นเดียวกันกับทางสมาธิ
ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา
คำว่า ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่น เราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริงๆแล้ว นั่นคือ ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด
เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใดๆนั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมตินิยมใดๆทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมติ ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพิจารณาในสภาวะทั้งหลาย โดยไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนเห็นประจักษ์แจ่มแจ้งพระทัยแล้วกาลใด กาลนั้นพระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า เรียนจบไตรภพโดยสมบูรณ์แล้ว จากนั้นก็ทรงปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย มีเบญจวัคคีย์ เป็นต้น พร้อมกับการประกาศพระองค์ว่า เป็นศาสดาของโลกได้
ถ้าพระองค์ยังไม่ผ่านไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียดไปแล้ว พระองค์จะเป็นศาสดาของโลกอย่างเต็มที่ไม่ได้เลย เราทั้งหลายผู้มุ่งจะเป็นครูสอนตน เป็นผู้ฝึกฝนทรมานตน เราก็ต้องดำเนินไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงพิจารณา และทรงรู้เห็นไปโดยลำดับเช่นนี้
• ไตรลักษณ์มีอยู่ในกายในใจของทุกคน
คำว่า “ไตรลักษณ์” คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย ไตรลักษณ์ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ด้วย พึงทราบว่ามีอยู่ในกายในใจของเราทุกท่าน ไม่ใช่มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว และพระสาวกของพระองค์เท่านั้น
พึงทราบว่า เราทั้งหลายเวลานี้กำลังเป็นภาชนะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ที่จะสามารถพิจารณาและรับรองสภาวะที่ได้อธิบายมานี้ ให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้นในใจ ซึ่งเรียกว่า ธรรมในหลักธรรมชาติ เป็นของมีอยู่ตั้งแต่วันก้าวสู่ปฏิสนธิวิญญาณมาเป็นลำดับจนถึงวันนี้
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ได้ไปค้นหาที่ไหน ธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ พระองค์พิจารณาตามหลักธรรมชาติเหล่านี้ ให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามหลักแห่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จนหายสงสัยข้องพระทัยทุกอาการแล้ว จึงได้ประกาศพระองค์ว่า เป็นผู้สิ้นแล้วจากสังสารจักร คือ ความหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายเหล่านี้
เราซึ่งเป็นพุทธบริษัทของพระองค์เจ้า ขอได้โปรดพิจารณาสภาวธรรมซึ่งมีอยู่ในตัว และเราอย่าคิดมากไปว่า เราไม่มีศีลจะบำเพ็ญสมาธินั้นเป็นไปไม่ได้ เราไม่มีสมาธิจะบำเพ็ญปัญญานั้นเป็นไปไม่ได้ดังนี้ พึงทราบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอยู่กับหัวใจของผู้ตั้งใจปฏิบัติด้วยกันทุกท่าน
ศีล หมายถึง ปกติ ความเป็นปกติของใจในปัจจุบันนั้น ปรากฏเป็นศีลขึ้นมาแล้ว ความสงบของใจในขณะที่กำลังภาวนานั้น เรียกว่า จิตเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว การพิจารณาไตร่ตรองในหลักธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจทั้งภายในและภายนอก จะเป็นเวลาใดก็ตาม พึงทราบว่า ปัญญาเริ่มปรากฏขึ้นมาภายในใจของเราแล้ว
• ผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์
ผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาร่างกายนี้ ให้ได้มองเห็นหน้าเห็นตาของไตรลักษณ์ ซึ่งแสดงตนอย่างเปิดเผยในร่างกายของเราทุกท่าน และโปรดพิจารณาซ้ำๆซากๆ จนเกิดความชำนาญในการพิจารณา เห็นร่างกายนี้เป็นกองแห่งธาตุ เป็นกองแห่งทุกข์อย่างเปิดเผยขึ้นกับใจ ไม่มีสิ่งใดจะสามารถมาปิดบังลี้ลับปัญญาได้เลย
เมื่อปัญญาก็เห็นชัด จิตก็เชื่องต่ออารมณ์ ย่อมเป็นโอกาสของจิตจะรวมสงบลงได้โดยสะดวกสบาย เมื่อถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว ปัญญาก็ทำหน้าที่พิจารณาร่างกายตามความเคยชินมาแล้ว ร่างกายทั้งท่อนจะเป็นที่ท่องเที่ยวของปัญญา จนมีความสามารถเต็มที่แล้ว อุปาทานในส่วนแห่งกายจะขาดกระเด็นออก เพราะกำลังของปัญญา จิตกับกายและกับกองทุกข์ในร่างกายก็แยกทางกันเดิน ไม่เป็นบ่อแห่งความกังวล ดังที่เคยเป็นมา
ส่วนเวทนาในจิต ได้แก่ สุข ทุกข์ เฉยๆ สัญญา ความจำหมาย สังขาร ความปรุง ความคิดภายในใจ วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งที่มาสัมผัสทั้ง ๕ ขันธ์นี้ เป็นกองแห่งไตรลักษณ์เช่นเดียวกับร่างกาย ถ้าคำว่า “จิต” อันเป็นตัวสมมติยังมีอยู่ตราบใด ขันธ์ทั้ง ๕ และไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ยังเข้าครองตัวอยู่ในจิตนั้นตราบนั้น
ฉะนั้น ต้องตามค้นหาขันธ์ทั้ง ๕ ไล่ตะล่อมลงรวมในไตรลักษณ์ให้ได้ด้วยอำนาจของปัญญา โดยค้นหาตัวสัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ โดยละเอียดถี่ถ้วน เราจะไม่เห็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น แม้รายหนึ่งแฝงอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเลย จะปรากฏ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ล้วนๆเต็มอยู่ในขันธ์นั้นๆ
และการพิจารณานามขันธ์เหล่านี้ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการพิจารณากาย พิจารณากลับไปกลับมาอย่างซ้ำๆซากๆ ถึงกับปัญญารู้ชัดว่าไม่มีอะไร นอกจากไตรลักษณ์ล้วนๆ เต็มอยู่ในขันธ์ ๕ เหล่านี้เท่านั้น ปัญญาจะหมดความสงสัยในขันธ์ทั้งปวง เพราะความฉลาดและคล่องแคล่วของปัญญา จะสามารถตามค้นเข้าไปถึงรากฐาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งขึ้นธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะไปพบจิตดวงสมมติอันเป็นจุดรวมแห่งอวิชชาเต็มอยู่ในที่นั้น สติปัญญากับอวิชชา ก็จะกลายเป็นสนามรบกันในที่นั้นเอง
อวิชชา คือ ยอดสมมติ กับ สติปัญญาอันเป็นยอดของมรรค คือ ทางแห่งวิมุตติ ได้ทำหน้าที่ของตนต่อกันจนสุดกำลัง ผลปรากฏว่า ได้พบบ่อเกิดแห่งขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น และบ่อแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รวมอยู่ในจิตดวงสมมตินี้ด้วย
จิตดวงสมมตินี่แลท่านให้นามว่า อวิชชา คือ ความรู้จอมปลอม คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย เกิดไปจากจุดเดียวนี้ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเรื่องทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ จนแยกจากกันไม่ออกตลอดกัปตลอดกัลป์ เกิดจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น
จึงควรจะกล่าวได้ว่า แม่พิมพ์ของโลกทั้งมวล คือ ธรรมชาติอันนี้ บัดนี้ปัญญาที่ทันสมัยได้ค้นหาตัวแม่พิมพ์ของวัฏฏะ ได้พบกันอย่างเปิดเผยในสถานที่ที่อวิชชาเคยซ่อนตัว จึงทำลายธรรมชาตินี้ลงด้วยอำนาจของปัญญาคมกล้า ซึ่งฝึกซ้อมมาจนชำนาญ
แม่พิมพ์ของวัฏจักรได้ถูกทำลายแตกกระเด็นลงในขณะเดียวเท่านั้น วิวัฏฏะได้ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งใดปิดบัง ปัญญาทั้งหมดได้สิ้นสุดลงในขณะอวิชชาดับลงไป ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ได้ตามส่งเราไปถึงจุดนั้น กิเลสทั้งมวลก็จะรบกวนเราไปถึงแค่นั้น ความโลภ โกรธ หลง ก็หมดฤทธิ์หมดอำนาจ จะไม่สามารถทำเราให้หมุนเวียนอีกเช่นเคยเป็นมา
แม้ขันธ์ซึ่งเคยเป็นบริวารของอวิชชา ก็กลับกลายมาเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นกิเลสอาสวะแต่อย่างใด ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ทราบชัดว่าเป็นเครื่องมือสำหรับแก้กิเลสอาสวะที่เป็นข้าศึกต่อตัวเรา เพราะรู้เท่าเหตุ รู้เท่าผล อย่างแจ่มแจ้ง แล้วปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง
รู้เท่าเหตุ คือ เหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ สมุทัย มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นต้นด้วย รู้เท่าเหตุแห่งสุข คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ด้วย และรู้เท่าผล คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสมุทัยด้วย และรู้เท่าผลแห่งสุข คือ นิโรธที่เกิดขึ้นจากเหตุแห่งสุข คือ มรรคด้วย
ผู้รู้เท่าสัจจะของจริงทั้ง ๔ นั้นนั่นแลเป็นธรรมพิเศษ จึงควรให้นามว่าวิมุตติธรรม เพราะนอกจากสมมติสัจจะไปแล้วเป็นธรรมตายตัว เด่นชัดอยู่ด้วยความเป็นอิสระในตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติใดๆเป็น “ธมฺโม ปทีโป” อย่างสมบูรณ์ (ความสว่างแห่งธรม) เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่ปราศจากเมฆกำบังแล้ว ย่อมส่องแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ฉันนั้น ในขณะเดียวกัน พุทโธ ธัมโม สังโฆ อันเป็นอัตสมบัติอย่างประเสริฐได้ปรากฏขึ้นในใจของผู้มีชัยโดยสมบูรณ์
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือไตรลักษณ์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)