xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เมื่อลูกขโมย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกชาย : ผมไม่รู้เรื่อง! ผมไม่ได้หยิบเงินพี่น้ำไปนะแม่!!

แม่ : แม่อยากเชื่อว่านิคไม่ได้ทำ แต่พี่จุกเห็นนิคหยิบเงินในกระปุกพี่น้ำไป

ลูกชาย : ผมไม่ได้เอาไปนี่ (ไม่ค่อยเต็มเสียง)

แม่ : ลูกมีความจำเป็นอะไรก็บอกแม่ได้

ลูกชาย : เอ่อ...... (ถอนใจ) ถ้าผมเล่าให้ฟังแล้วแม่อย่าโกรธนะครับ

แม่ : แม่คิดว่าคนเราจะทำอะไรต้องมีเหตุผล

ลูกชาย : คือว่า ผมทำเกมของเพื่อนหายต้องจ่ายเค้าห้าร้อย ผมไม่กล้าบอกแม่ (เงียบ)

แม่ : อืม...ตอนนี้แม่รู้แล้วว่าลูกจำเป็นต้องใช้เงิน แต่พี่น้ำก็จำเป็นเหมือนกันเพราะเขาตั้งใจจะเอาเงินที่เขาเก็บตั้งหลายเดือนไปซื้อของขวัญวันเกิดให้คุณพ่อ นิคหยิบเงินพี่น้ำไปเขาก็เดือดร้อน

ลูกชาย : ผมลืมคิดไป

แม่ : นิคจะทำยังไง ตอนนี้พี่น้ำร้องไห้อยู่ข้างบน

ลูกชาย : ผมจะเอาเงินไปคืนแล้วก็ขอโทษพี่เค้าครับ

แม่ : งั้นทำเดี๋ยวนี้เลย แล้วลงมาคุยกันทั้งเรื่องจะหาเงินไปคืนเพื่อนยังไง เรื่องทำเกมเพื่อนหาย แล้วก็เรื่องหยิบเงินพี่น้ำไป

หมอเหมียวชวนคุย

เมื่อทราบแน่ชัดว่าลูกขโมย พ่อแม่ควรพูดด้วยท่าทีที่นิ่ง ไม่ใช้อารมณ์ ต้องให้เด็กรับผิดชอบการกระทำของตนเองทั้งเรื่องการขโมยและทำของเพื่อนหาย ปัญหาของลูกเกิดจากนิสัยไม่รับผิดชอบและไม่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่นเนื่องจากการเลี้ยงดูในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังค่ะ

คำถามที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อรู้ว่าลูกขโมย

เมื่อทราบแน่ชัดว่าลูกขโมยเงินไป การเข้าพุดคุยเพื่อให้ลูกสารภาพ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการตราหน้าลูกโดยใช้คำถามแบบ “คาดคั้น” หรือ “ปรักปรำ” ว่าลูกเป็นขโมย เช่น

“ทำไมลูกถึงขโมย?”
“ลูกขโมยเงินไปหรือเปล่า?”
“ลูกขโมยเงินไปใช่มั้ย?”

การถูกตั้งคำถามตราหน้าแบบนี้จะปิดประตูคำตอบทันที ถ้าเด็กขโมยจริง ก็จะรีบปฏิเสธและหาทางรอดด้วยการโกหกเพื่อหนีความผิด แต่ถ้าหากเด็กไม่ได้ขโมย เด็กจะโกรธและเสียใจที่พ่อแม่ปรักปรำ ไม่เชื่อใจ ไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาทั้งคู่ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ท่าทีซักถามที่เข้าอกเข้าใจ ฟังดูไม่เป็นพิษเป็นภัย อยากรู้เหตุผลการกระทำมากกว่าจะมาคาดคั้นว่าเขาขโมย เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายที่จะตอบมากกว่า ถ้าลูกยอมเล่าก็เป็นการยืนยันว่าลูกขโมยจริงๆ เช่น “ลูกมีความจำเป็นอะไรก็บอกแม่ได้....แม่รู้ว่าคนเราทำอะไรต้องมีเหตุผล” หรือ “ไหนลูกลองเล่าให้ฟังซิว่า ต้องการเอาเงินไปใช้ทำอะไร?”

การขโมยเป็นเรื่องร้ายแรงที่พ่อแม่ยอมไม่ได้ และต้องจัดการอย่างจริงจังกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก แม้จะรู้สึกโกรธที่ลูกขโมยแต่พ่อแม่ควรข่มอารมณ์ ไม่ดุด่าสั่งสอนเดี๋ยวนั้นหรือลงโทษรุนแรงทันที แต่ควรมีท่าทีที่นิ่ง สงบ รับฟังเหตุผล ชื่นชมลูกที่เล่าความจริงโดยไม่ปิดปัง จะช่วยให้ลูกกล้าเผชิญกับความผิดของตัวเอง หาทางแก้ไข และพ่อแม่ต้องยืนยันให้ลูกแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ที่สำคัญเด็กจะเรียนรู้และจดจำการจัดการปัญหาที่ได้ผล โดยไม่ใช้อารมณ์ของพ่อแม่

ควรทำ

เมื่อทราบแน่ชัดว่าลูกขโมย
- พ่อแม่ควรจะสงบสติอารมณ์ ใช้ท่าทีที่นิ่ง สุภาพ มองเด็กตรงๆ ท่าทีจริงใจ จริงจัง
- เรียกเด็กมาคุยโดยลำพัง
- เปิดโอกาสให้เล่าเรื่องราวโดยไม่เร่งรัด คุกคาม ไม่ทำให้อาย หรือทำท่าโกรธแค้น ติเตียน
- ช่วยให้เด็กมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อเด็กเล่าปัญหาที่เป็นเหตุให้ต้องไปขโมย แล้วค่อยถามว่าเด็กคิดจะแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร
- ช่วยให้เด็กคิดหาทางออกหลายๆทาง และผลดีผลเสียที่จะเกิดตามหลัง ส่งเสริมให้ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา
- ลูกต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตนเอง

เมื่อลูกเคยขโมยของ
- พ่อแม่ควรที่จะเก็บข้าวของที่สำคัญให้มิดชิด อย่าวางล่อเด็ก อย่าทดสอบเพื่ออยากรู้ว่า เด็กจะทำพฤติกรรมอย่างเดิมหรือไม่
- ทบทวนจุดอ่อนในการเลี้ยงดูที่ผ่านมา เช่น ไม่ใกล้ชิดลูก ไม่มีเวลาพูดคุย ไม่ฝึกสอน ข้าวของในบ้านไม่มีระเบียบ ไม่เป็นสัดส่วน ตามใจจนเด็กรอคอยไม่เป็น
- อย่าพูดตอกย้ำถึงความผิดพลาดที่เด็กเคยทำ แต่ให้คอยใกล้ชิด หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก
- ถ้าเกิดเหตุการณ์ของหายอีก อย่าเพ่งเล็งกล่าวโทษเด็กโดยการคาดเดา ให้ใจเย็นค้นหาของ
- ให้ความรัก ความอบอุ่น พูดคุยเล่น ให้คำปรึกษา จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งจะช่วยป้องกันการขโมย
- สร้างและฝึกฝนพฤติกรรมที่ดีให้กับลูก และชื่นชมในสิ่งที่ลูกทำ เช่น ช่วยพ่อล้างรถ รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำหมา เล่นกีฬา เป็นต้น ด้วยหลักการที่ว่าคนทุกคนอยากเป็นคนดี และคนทุกคนก็เคยทำผิดพลาดมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น จึงควรเปิดโอกาส

* หัวใจการเลี้ยงดู

วิธีการซักถามเพื่อให้ลูกพูดความจริง

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น