xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ร่วมย้อนอดีตไปกับ นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ “สยาม ผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน พ.ศ. 2408-2409”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านมา 1 เดือนแล้ว สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายโบราณ “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน พ.ศ. 2408-2409” ซึ่งคณะกรรมการจัดนิทรรศการฯ และภัณฑารักษ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถ.เจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ และเป็นการรำลึกครบรอบ 150ปี แห่งการมาเยือนสยามของนายจอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวสก็อต โดยมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเข้าชมเป็นอย่างมาก

โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานนิทรรศการ ด้วยพระองค์ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรต้นฉบับฟิล์มกระจกที่เก็บรักษาอยู่ที่สถาบันเวลคัม ในกรุงลอนดอนเมื่อหลายปีที่แล้ว

นายจอห์น ทอมสัน (พ.ศ. 2380-2464) ช่างภาพคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในคริสตวรรษที่ 19 ได้เดินทางมาประเทศไทยใน พ.ศ. 2408 ปลายรัชกาลที่ 4 และใช้เวลาอยู่ในพระนครและจังหวัดใกล้เคียงเป็นเวลาหลายเดือน สร้างสรรค์ผลงานด้านการถ่ายภาพบุคคลสำคัญ ชาวบ้าน บ้านเมือง ทิวทัศน์ ภาพถ่ายชิ้นที่สำคัญที่สุด คือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ หรือรัชกาลที่ 5 ขณะทรงพระเยาว์ โดยเขาเป็นช่างภาพคนแรกที่ได้รับเกียรติยิ่งที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ รวมทั้งถ่ายภาพพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน

โดยนิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพต้นฉบับมาจัดแสดง โดยแต่ละภาพจะมีการอัดขยายภาพขนาดไม่ต่ำกว่า 1 เมตร มีความคมชัดสูง เพื่อให้เห็นรายละเอียดของภาพโบราณนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ประกอบด้วย ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับประเทศไทย 43 ภาพ ประเทศกัมพูชา 6 ภาพ และจีน 11 ภาพ ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ เปิดให้เข้าชมนิทรรศการนี้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์และอังคาร สอบถามรายละเอียด โทร. 0-2282-8525

และนี่คือภาพบางส่วนของนิทรรศการครั้งนี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จอห์น ทอมสัน เข้าเฝ้าฯ เพื่อฉาย เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2408 ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พระบรมมหาราชวัง
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เพื่อถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2408
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก่อนโสกันต์ ถ่ายหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พระบรมมหาราชวัง
พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2409 งานพระราชพิธีโสกันต์นี้จัดเป็นการพระราชพิธีใหญ่เต็มตามตำราโบราณ มีการสร้างเขาไกรลาสด้วย รัชกาลที่ 4 ทรงพระบรมราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาชฎากฐินห้ายอด ทรงยืนบนเกยหน้าพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เพื่อส่งพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ลงประทับพระที่นั่งกงบนพระราชยานคานหาม หลังเสร็จจากการเสด็จไปสดับพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
การบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระเวรประจำวัน บนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์(พ.ศ.2400-2462) ภายหลังทรงกรมเป็นกรมหลวงสรรพสาครศุภกิจ เสด็จแทนพระองค์ในการนี้ จะเห็นเจ้านายองค์น้อยประทับอยู่ตรงหน้าบุษบก ทอดพระเนตรเจ้าพนักงานหมอบปฏิบัติอยู่หน้าพระสงฆ์ 10 รูป
พระสงฆ์กับลูกศิษย์ ภาพด้านขวา พระภิกษุผู้ใหญ่ยืนกับพระอีกรูปหนึ่งถ่ายร่วมกับลูกศิษย์ที่มีทั้งเด็กไทยและจีน พระผู้ใหญ่ครองจีวรลายยกดอกพิกุลย้อมฝาดแบบห่มดอง ผ้าจีวรลายดอกพิกุลนี้นิยมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีราคาแพง ผู้มีจิตศรัทธามักถวายแก่พระเถระที่นับถือ ภาพด้านซ้าย พระสงฆ์อีกรูปนั่งเก้าอี้ ห่มจีวรแบบดอง ถ่ายร่วมกับเด็กๆที่ปรากฏในภาพด้านขวา
หม่อมเจ้าหญิงองค์หนึ่งในกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ภาพนี้อาจเป็นภาพหม่อมเจ้าหญิงองค์หนึ่งในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน์ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เนื่องจากยังมีอีกภาพหนึ่งที่จอห์น ทอมสัน ได้ถ่ายในสถานที่เดียวกันนี้ คือ พระฉายาลักษณ์ของกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เพราะฉะนั้นภาพนี้น่าจะถ่ายในบริเวณวังของพระองค์ที่เป็นเรือนไทยเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น