xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : คนฉลาดตั้งตนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...ท่านทั้งหลายหวังในบารมี ให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้น ก็เป็นข้อหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมืองประกอบด้วยบุคคล และแต่ละบุคคลจะต้องทำด้วยตนเอง ตามหลักของพระพุทธศาสนา

แต่ละคนต้องการอะไร ก็ต้องการความสุขคือความสงบ ความสุขและความสงบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยตนเอง ฉะนั้น ที่จะให้คนอื่นมาปกป้องรักษาก็เป็นสิ่งที่ยาก ถ้าตัวเองไม่ทำ อันนี้เป็นข้อที่สำคัญยิ่ง ในพระพุทธศาสนา และผู้ที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิก ต้องพึ่งตัวเอง มิใช่พึ่งคนอื่น

แต่การที่จะอาศัยคนอื่น ก็อาศัยได้โดยดูผู้อื่นที่ปฏิบัติชอบ และคอยฟังสิ่งที่ผู้อื่น ที่เราเห็นว่าปฏิบัติดีชอบ ได้พูดได้แนะนำ ดังนี้ ก็เป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้ ผู้อื่นจะช่วยเราได้

ฉะนั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาของตัวเองว่า ผู้ที่น่าที่จะดูการปฏิบัติหรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติและทำตาม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้...”


ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา นำให้คิดถึง “จุลลกเศรษฐีชาดก” ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ อันมีความโดยย่อดังนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้ว ได้รับตำแหน่งเศรษฐีได้ชื่อว่า จุลลกเศรษฐี ท่านเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม รู้นิมิตทั้งปวง

วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีไปสู่ที่บำรุงพระราชา เห็นหนูตายในระหว่างถนน คำนวณนักขัตฤกษ์ในขณะนั้นแล้ว กล่าวว่า “กุลบุตรผู้มีดวงตา คือปัญญา อาจเอาหนูตัวนี้ไปกระทำการเลี้ยงดูภรรยา และประกอบการงานได้”

ขณะนั้นมีผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อว่าจูฬันเตวาสิก ได้ฟังคำของเศรษฐีแล้วคิดว่า “ท่านเศรษฐีนี้ถ้าไม่รู้จักความจริง ย่อมไม่พูด” เขาจึงนำเอาซากหนูไปขายในตลาดแห่งหนึ่ง แก่ผู้ต้องการนำไปเพื่อเป็นอาหารแมว ทำให้ได้ทรัพย์จำนวนหนึ่ง

แล้วเขาก็นำทรัพย์จำนวนนั้น ไปซื้อชิ้นนํ้าอ้อยมา แล้วเอาหม้อใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยน้ำสะอาดเดินไปตามทาง เมื่อเขาเห็นพวกช่างดอกไม้เดินออกมาจากป่า จึงเขาแจกชิ้นนํ้าอ้อยคนละหน่อยหนึ่ง แล้วให้ดื่มนํ้ากระบวยหนึ่ง พวกช่างดอกไม้เหล่านั้นก็ตอบแทนเขา ด้วยการให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา เขาก็นำดอกไม้ไปขาย

ในวันรุ่งขึ้น เขาก็เอาเงินที่ขายดอกไม้ได้ ไปซื้อนํ้าอ้อยและนํ้าดื่มหม้อหนึ่ง ไปยังสวนดอกไม้ แล้วแบ่งปันให้พวกช่างดอกไม้เหมือนเช่นเคย พวกช่างดอกไม้ก็ให้ดอกไม้ครึ่งกอแก่เขา ไม่นานนัก จูฬันเตวาสิกก็สามารถทำเงินจากการขายดอกไม้ได้ถึง ๘ กหาปณะ

ต่อมาวันหนึ่ง มีฝนตกและลมแรง ทำให้มีไม้แห้งกิ่งไม้และใบไม้เป็นจำนวนมาก กล่นเกลื่อนไปทั่วในพระราชอุทยาน คนเฝ้าอุทยานหมดปัญญาที่จะขนไปทิ้งได้ทันที จูฬันเตวาสิกทราบข่าวนี้แล้ว จึงเดินทางไปหาคนเฝ้าอุทยาน แล้วกล่าวว่า

“ถ้าท่านจักให้ไม้และใบไม้เหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักนำของทั้งหมดออกไปจากสวนนี้ของท่าน” คนเฝ้าอุทยานก็ยินดี จึงรับคำว่า “เอาไปเถอะ นาย”

จูฬันเตวาสิกจึงไปยังสนามเล่นของพวกเด็กๆที่อยู่ใกล้ๆ และให้นํ้าอ้อยและน้ำดื่มแก่พวกเด็กๆที่เล่นกันอยู่ เมื่อเด็กสำราญใจกับของที่มอบให้แล้ว จูฬันเตวาสิกจึงชวนเด็กๆ ไปเก็บไม้แห้งและใบไม้ในพระราชอุทยาน แล้วนำมากองไว้ที่ประตูอุทยาน

ในกาลนั้น ช่างหม้อหลวงเที่ยวหาฟืนเพื่อเผาภาชนะดินของหลวง เห็นไม้และใบไม้เหล่านั้นที่ประตูอุทยาน จึงขอซื้อจากจูฬันเตวาสิก เขาก็ยินดีขายให้ วันนั้น จูฬันเตวาสิกได้ทรัพย์ ๑๖ กหาปณะ และช่างหม้อหลวงได้มอบภาชนะ ๕ อย่าง มีตุ่มเป็นต้น แก่เขาด้วย

จูฬันเตวาสิกได้นำตุ่มนํ้าดื่มไปตั้งไว้ในที่ไม่ไกลประตูพระนคร เพื่อบริการแก่คนที่เดินทางผ่านไปมาด้วยไมตรีจิต มีคนหาบหญ้า ๕๐๐ คน ได้มาดื่มน้ำที่เขาให้บริการไว้ คนหาบหญ้าก็ประสงค์จะขอบคุณเขา จึงกล่าวว่า

“สหาย ท่านมีอุปการะมากแก่พวกเรา พวกเราจะกระทำอะไรแก่ท่านได้บ้าง”

เขาจึงตอบไปว่า “เมื่อมีงานสำคัญเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะขอร้องท่านให้ช่วย”

ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่อ่อนน้อม กอปรด้วยพรหมวิหารธรรม จูฬันเตวาสิกจึงผูกมิตรกับคนผู้ทำงานทางบก และคนทำงานทางนํ้า ที่สัญจรผ่านประตูเมืองเสมอมา

วันหนึ่ง คนทำงานทางบกได้แจ้งข่าวแก่จูฬันเตวาสิกว่า “พรุ่งนี้ พ่อค้าม้าจักพาม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครนี้”

เมื่อเขาได้ฟังคำของคนทำงานทางบกแล้ว เขาจึงเดินทางไปหาพวกคนหาบหญ้าว่า “วันนี้ ท่านจงให้หญ้าแก่เราคนละกำ และเมื่อเรายังไม่ได้ขายหญ้า ท่านทั้งหลายอย่าขายหญ้าของตน” คนหาบหญ้าเหล่านั้นรับคำ แล้วนำหญ้า ๕๐๐ กำ มาส่งที่บ้านของจูฬันเตวาสิก

เมื่อพ่อค้าม้ามาถึงเมืองพาราณสี ไม่สามารถหาหญ้ามาเป็นอาหารแก่ม้าของตนได้ จึงได้มาขอซื้อหญ้าจากจูฬันเตวาสิก โดยให้ราคาถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วนำหญ้านั้นไปเลี้ยงม้า

ครั้นล่วงไป ๒-๓ วัน สหายผู้ทำงานทางนํ้า ก็มาแจ้งข่าวแก่จูฬันเตวาสิกว่า “มีเรือใหญ่นำสินค้ามาจอดที่ท่าแล้ว” จูฬันเตวาสิกได้ฟังแล้วจึงนำเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถม้ามา แล้วจัดขบวนเดินทางไปยังท่าเรือ เข้าพบนายเรือ พร้อมเจรจาซื้อสินค้าแล้วให้แหวนวงหนึ่งเป็นมัดจำไว้ เสร็จแล้วก็ให้บริวารตั้งวงม่านที่ไม่ไกลนัก แล้วสั่งบริวารว่า เมื่อพวกพ่อค้ามาหาเรา พวกท่านจงบอกประวิงเวลาไว้สามครั้ง

เมื่อพ่อค้าในเมืองพาราณสีทราบข่าวว่า มีเรือสินค้าเทียบท่าแล้ว จึงพากันมาพบนายเรือ แจ้งความประสงค์จะขอซื้อสินค้า นายเรือจึงแจ้งให้ทราบว่า พวกท่านซื้อสินค้านี้ไม่ได้ มีพ่อค้าใหญ่ชื่อจูฬันเตวาสิกให้มัดจำไว้แล้ว พ่อค้าเหล่านั้นจึงมาหาจูฬันเตวาสิก บริวารจึงบอกความตามที่จูฬันเตวาสิก ด้วยการประวิงไว้สามครั้ง ตามสัญญา

เมื่อพ่อค้าประมาณ ๑๐๐ คนนั้น ได้พบกับจูฬันเตวาสิก ก็ขอเป็นผู้มีหุ้นส่วนเรือกับจูฬันเตวาสิก โดยให้ทรัพย์คนละพัน แล้วให้อีกคนละพันเพื่อให้จูฬันเตวาสิกปล่อยหุ้นเพิ่มให้แก่ตน ทำให้พ่อค้าได้สิทธิในสินค้าบนเรือ

จูฬันเตวาสิกจึงนำทรัพย์สองแสนกหาปณะกลับมาเมืองพาราณสี ในระหว่างทาง จูฬันเตวาสิกคิดว่า “เราควรเป็นคนกตัญญูแก่ท่านผู้ให้คะแนะนำแก่เรา” เขาจึงนำเอาทรัพย์หนึ่งแสนหนึ่งกหาปณะไปยังบ้านของจุลลกเศรษฐี

จุลลกเศรษฐีก็ฉงนใจที่มีคนนำทรัพย์มาให้ จึงถามว่า “ดูก่อนพ่อหนุ่ม เธอทำอะไรจึงได้ทรัพย์นี้”

จูฬันเตวาสิก จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ทำตามอุบายที่ท่านบอก จึงได้ทรัพย์สองแสนกหาปณะ ภายใน ๔ เดือนเท่านั้น” แล้วจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมด เริ่มตั้งแต่หนูตายแก่จุลลกเศรษฐี

เมื่อจุลลกมหาเศรษฐีได้ฟังคำของจูฬันเตวาสิกแล้วจึงคิดว่า บัดนี้ เราน่าจะได้พ่อหนุ่มคนนี้มาอยู่กับเรา ดังนั้น เขาจึงยกธิดาของตนซึ่งเจริญวัยแล้ว ให้เป็นภรรยาของจูฬันเตวาสิก แล้วให้จูฬันเตวาสิกเป็นเจ้าของทรัพย์ของตนทั้งหมด เมื่อจุลลกมหาเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในนครนั้นสืบต่อมา

เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาชาดกนี้ ได้ตรัสพุทธคาถาสรุปไว้ว่า

“บุคคลผู้มีปัญญารู้จักใคร่ครวญ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุน แม้มีประมาณน้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น”

เพชรงามในพระพุทธศาสนาคือพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาพระธรรมจนมีพระราชหฤทัยหนักแน่นในพระพุทธศาสนา เห็นเพชรงามในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้นำเพชรงามนี้มาแสดงแก่พสกนิกรตามโอกาสอยู่เสมอ

ควรที่พุทธศาสนิกชนจักได้ดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทเป็นนิตย์ ดำรงตนมั่นคงในพระพุทธศาสนา ด้วยการถือปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ศึกษามาดีแล้ว ก็จักเกิดสันติสุขตามที่พระองค์ทรงปรารภไว้ ณ เบื้องต้น

ขอความสวัสดิสุขวัฒนาสถาพร จงบังเกิดมีในจิตใจของท่านผู้อ่านเป็นนิตย์ ขอให้ท่านได้เป็นคนฉลาดผู้ตั้งตนได้ ดังจูฬันเตวาสิก โดยเร็วพลันเทอญ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น