ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” (Theodore Roosevelt) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยกล่าวไว้ว่า
"The only man who never makes mistakes is the man who never does anything." หมายถึง "คนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย"
เป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงว่า ชีวิตคนเราย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องทั่วๆไป แต่ความผิดนั่นแหละที่จะเป็นบทเรียนสอนตัวเองให้ตัดสินใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้น และจะไม่ผิดซ้ำอีก
แต่สำหรับบางคน การตัดสินใจผิดพลาดแม้เพียงไม่กี่ครั้ง ก็อาจทำให้กลายเป็นคนหวาดกลัว ลังเล และไม่กล้าตัดสินใจใดๆอีกต่อไป
อยากบอกว่า อย่ากลัวที่จะต้องตัดสินใจเลย เพราะชีวิตจะต้องเดินหน้าต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ และคุณก็ไม่มีวันหนีการตัดสินใจใดๆได้ตลอดไป
เพราะฉะนั้น มาดูกันดีกว่า ว่าวิธีการต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณสามารถกลับมาตัดสินใจได้อย่างแม่นยำแค่ไหน
1. รวบรวมข้อมูล เพื่อช่วยตัดสินใจ
การรวบรวมข้อมูลด้วยการเขียนข้อดีและข้อเสียของทางเลือกแต่ละอย่าง เป็นเทคนิคง่ายๆ และถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุด ในการให้ข้อคิดที่ดีและมีเหตุผลที่ช่วยในการตัดสินใจ
วิธีการคือ เขียนทางเลือกทั้งหมดที่มี แล้วแบ่งเป็นข้อดีและข้อเสียของทางเลือกนั้นๆ ที่สำคัญคือ จะไม่นับจำนวนข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก แต่จะให้เป็นคะแนนความสำคัญแต่ละจุดจาก 1 ถึง 5 แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบ
2. อย่าใช้อารมณ์ความรู้สึก
มีคนจำนวนมากเลือกสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่า “ถูกต้อง” เมื่อต้องตัดสินใจ แต่อยากจะบอกว่า ผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจครั้งสำคัญนั้น ไม่ควรขึ้นอยู่กับความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพียงลำพัง เพราะอารมณ์ความรู้สึกอาจแปรเปลี่ยนไปได้ในแต่ละวันอย่างที่ตัวคุณเองก็คาดไม่ถึง
เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความรู้สึกของตัวเอง จงพิจารณาข้อมูลทั้งหมดที่มี และประเมินถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นแต่ละอย่าง เช่น มีความเสี่ยงหรือไม่ ใครจะได้รับผลกระทบ และเป็นหนทางที่ดีงามเหมาะสมหรือเปล่า
ที่สำคัญ การย้อนทบทวนถึงการตัดสินใจที่ผ่านมาในอดีต โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดพลาด อาจนำมาประกอบการตัดสินใจครั้งใหม่ได้เช่นกัน เพราะมันจะช่วยให้ตระหนักดีว่า การตัดสินใจแบบไหนที่ให้ผลดี และแบบไหนกันแน่ที่ให้ผลร้าย
3. หาที่ปรึกษา
หากข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา ไม่สามารถทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนจนนำไปสู่การตัดสินใจได้ ดังนั้น จำเป็นต้องหาตัวช่วยจากคนที่คุณไว้ใจและไม่มีส่วนได้เสียกับผลลัพธ์ที่จะออกมา ขอความคิดเห็นเขาว่า ในสถานการณ์เช่นนี้คุณควรทำเช่นไร
แต่มีเคล็ดลับว่า การปรึกษากับคนที่มีอายุมากกว่า อาจก่อให้เกิดผลดี เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ว่า เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจ คนที่อายุน้อยมักมองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในทันทีเท่านั้น ขณะที่คนสูงวัยกว่าจะประเมินผลที่เกิดขึ้นทันที และผลที่จะตามมาได้ดีกว่า
โปรดระลึกไว้ว่า การขอคำปรึกษานี้ ควรฟังความคิดเห็นของคนที่คุณขอคำปรึกษาจริงๆ และคิดวิเคราะห์สิ่งที่เขาบอกเท่านั้น มิใช่นำมาตีความเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่คุณต้องการ
4. กำหนดเวลาตัดสินใจ
แม้ว่าจะมีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ปรึกษาคนอื่นแล้ว แต่การที่คุณใช้เวลานานจนเกินไป ในการขบคิดค้นหาหนทาง และพยายามตัดสินใจเลือกวิธีที่ถูกต้องนั้น อาจทำให้คุณยิ่งคิดมาก และยิ่งคิดก็ยิ่งเครียดเปล่าๆ
ทางที่ดีคือ กำหนดเวลาหรือขีดเส้นตายในการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณจัดระเบียบความคิดได้ดีขึ้น เพราะชีวิตมีเรื่องที่ต้องคิดตลอดเวลา
5. พักผ่อนให้เต็มที่ กินอาหารบำรุงสมอง
เวลาที่เคร่งเครียด เพราะอดหลับอดนอน ครุ่นคิดทั้งวันทั้งคืนนั้น สมองมักจะไม่แล่น ทำให้ยิ่งคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้น ต้องวางปัญหาหรือเรื่องที่ต้องคิดตัดสินใจไว้ชั่วคราว แล้วพักผ่อนให้เต็มที่ เพราะมีงานวิจัยบอกว่า การนอนหลับช่วยให้ตัดสินใจดีขึ้นได้จริงๆ โดยมันจะช่วยจัดระบบความจำในสมอง ทำให้เราสามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุไอโอดีนและสังกะสี เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล เป็นต้น จะช่วยให้จิตใจผ่องใส และสมองทำงานได้ดี รวมทั้งแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ที่มีอยู่ในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต ก็ช่วยลดความกังวล ทำให้ใจสงบด้วย
6. ทำสมาธิภาวนา
การปฏิบัติธรรมเจริญสติ ทำสมาธิภาวนา เป็นประจำ จะช่วยให้จิตใจแจ่มใส มีสติ มีสมาธิ และเกิดปัญญา เพราะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การเจริญสติช่วยให้สมองของคนเราพัฒนาตลอดเวลา มีการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆมากขึ้น ทำให้ใช้สมองส่วนต่างๆได้ดีขึ้น ส่งผลให้การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆเป็นไปด้วยดี
7. ใช้สัญชาตญาณ
สุดท้าย...ถ้าทำทุกวิถีทางแล้ว คุณก็ยังตัดสินใจไม่ได้ และกำหนดเวลาที่ต้องตัดสินใจ กำลังใกล้เข้ามาทุกที ก็อาจจะถึงคราวที่ต้องใช้สัญชาตญาณของตัวเองเข้าช่วย ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการมากที่สุด
แต่จำไว้ว่า การใช้สัญชาตญาณจะมีประโยชน์ เมื่อนำมารวมกับเหตุผลข้อเท็จจริง ภายใต้สภาพอารมณ์ที่เหมาะสมเท่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย ประกายรุ้ง)