คำว่า “พ่อ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง พ่อที่เป็นสามัญชนธรรมดา หรือพ่อบังเกิดเกล้าของเรา แต่หมายถึง พ่อผู้เป็นพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิต และเป็นเจ้าแห่งธรรม ทรงอิทธิพลยิ่งใหญ่เหนือกาลยุคสมัย 3 พระองค์
พ่อเจ้าพระองค์แรก เป็นพ่อผู้ให้กำเนิดจอมศาสดาเอกของโลก
พ่อเจ้าพระองค์ที่สอง คือ พระพุทธเจ้า เป็นพ่อทางธรรมของพุทธบุตร แต่เป็นพ่อผู้ก่อกำเนิดเจ้าชายราหุลกุมาร ซึ่งเป็นสามเณรองค์แรกของโลก และเป็นเอตทัคคะทางด้านรักการศึกษาเรียนรู้
พ่อเจ้าพระองค์ที่สาม เป็นพ่อของแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ลูกๆปวงชนชาวสยามขนานนามท่านว่า “พ่อหลวง...หลวงพ่อของแผ่นดิน” หลวงพ่อพระองค์นี้มิได้ครองไตรจีวร แต่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม
• พระบิดาของจอมศาสดา
พ่อเจ้าพระองค์แรกนั้น ทรงพระนามว่า “พระเจ้าสุทโธทนะ” มีราชสกุลว่า “โคตมะ” เป็นมหากษัตริย์แห่งแคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุกับพระนางกัญจนา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์
พระเจ้าสุทโธทนะทรงเป็นกษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม และยึดมั่นอยู่ในราชประเพณี ทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์
ทรงมีพระอัครมเหสีนามว่า “พระนางสิริมหามายา” เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์แห่งโกลิยวงศ์ กรุงเทวทหะ ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จวบกระทั่งพระเทวี ทรงมีพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระราชานุญาตจากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับที่กรุงเทวทหะ ตามประเพณีนิยมสมัยนั้น
เมื่อขบวนเสด็จผ่านมาถึงสวนลุมพินี พระนางได้ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ และได้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว จึงตรัสสั่งให้เชิญพระนางและพระราชกุมารเสด็จกลับคืนกรุงกบิลพัสดุ์ทันที
ข่าวการประสูติแพร่ไปถึง “อสิตดาบส” ซึ่งมีความคุ้นเคยกับราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างดี ทันทีที่ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร อสิตดาบสจึงเข้าไปเยี่ยมเยียนในราชสำนัก ท่านมีความรู้เกี่ยวกับการทำนายมหาปุริสลักษณะ ดังนั้น เมื่อเห็นพระราชกุมาร ก็พยากรณ์ได้ทันทีว่า นี่คือผู้ที่จักมาตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า”
ขนานพระนามโอรส “สิทธัตถะ”
เมื่อพระกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองรับขวัญ และขนานพระนาม โดยเชิญพราหมณ์ 108 คน ผู้เชี่ยวชาญไตรเพท มาบริโภคโภชนาหาร แล้วถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมประสงค์” แล้วพราหมณ์ในจำนวนนั้น 7 คน ก็ได้ทำนายว่า พระกุมารสิทธัตถะ ถ้าขึ้นครองราชย์สมบัติ จะได้เป็นมหาจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก ส่วนพราหมณ์อีก 1 คนทำนายว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารประสูติได้เพียง 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงอภิเษกสมรสใหม่กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินี(น้องสาว)ของพระนางสิริมหามายา มีพระโอรสคือ “เจ้าชายนันทะ” และพระธิดาคือ “เจ้าหญิงรูปนันทา”
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเปี่ยมไปด้วยความบริบูรณ์พูนสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญวัย พระราชบิดาจึงส่งไปศึกษาศิลปวิทยา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการครองราชสมบัติ
ครั้นเจ้าชายมีพระชันษาได้ 16 ปี พระบิดาจึงทรงให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพายโสธรา แห่งกรุงเทวทหะ พร้อมกับทรงสั่งให้สร้างปราสาท 3 ฤดู เพื่อให้เจ้าชายและพระมเหสีได้เสวยสุข เพราะทรงหวั่นเกรงคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง 8 ว่า พระโอรสอาจเป็นศาสดาเอกของโลก แต่ในฐานะพระบิดา พระองค์ย่อมปรารถนาให้พระโอรสได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ จึงต้องทรงทำทุกอย่างเพื่อผูกพันพระโอรสไว้
แต่ในที่สุด ชีวิตในพระราชวังที่มีแต่ความสุขสบาย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะรู้สึกเบื่อหน่าย และเมื่อวันหนึ่งเจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ทรงพอใจในสมณเพศ ทรงเห็นว่า สมณเพศน่าจะเป็นโอกาสอันงามที่จะทำชีวิตให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงคิดจะเสด็จออกผนวช
• พระบิดาแห่งพุทธธรรม
พ่อเจ้าพระองค์ที่สอง คือ พระบรมศาสดา พระบิดาแห่งพุทธธรรมนั่นเอง
ความคิดที่จะออกผนวชอยู่ในใจพระองค์ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะจึงตัดสินใจเสด็จออกผนวช ซึ่งวันที่ออกผนวชนั้นตรงกับวันที่พระนางพิมพาประสูติพระโอรส คือ “ราหุล” แปลว่า “บ่วง”
ก่อนเสด็จไป พระองค์เสด็จไปยังห้องพระโอรสและมเหสี เพื่อจะอุ้มพระราหุลขึ้นเชยชมเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อเห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทกอดโอรสอยู่ ก็เกรงว่าพระนางจะตื่น และเป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงทรงตัดพระทัยหันกลับเดินทางออกไป
เจ้าชายสิทธัตถะใช้เวลาแสวงหาสัจธรรมอยู่เป็นเวลา 6 ปี ทั้งจากการเรียนรู้ในสำนักของอาจารย์ และเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการบำเพ็ญทุกรกริยา(ทรมานกาย) กระทั่งในที่สุดได้ค้นพบว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยานี้ ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้
แต่หลังจากทรงเกิดนิมิตว่า มีท้าวสักกเทวราชมาดีดพิณถวาย ด้วยการดีด 3 ครั้งจากสายที่ตั้งไว้สามลักษณะแตกต่างกันคือ
ดีดครั้งที่ 1 จากสายที่ตั้งไว้ตึง พอลงมือดีดสายพิณก็ขาด
ดีดครั้งที่ 2 จากสายที่ตั้งไว้หย่อน เสียงขาดความไพเราะ
ดีดครั้งที่ 3 จากสายที่ตั้งไว้พอดี เสียงพิณจึงดังไพเราะเสนาะโสต
เมื่อทรงสดับแล้ว พระองค์จึงเปลี่ยนสมมติฐานใหม่ โดยการเปรียบเทียบกับเสียงพิณ ทำให้ยิ่งแน่พระทัยว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เป็นข้อปฏิบัติ จะเป็นหนทางบรรลุสู่พระโพธิญาณ จึงทรงเริ่มฉันอาหารและบำเพ็ญเพียรทางจิต
ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้อริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา จากนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จออกประกาศพระสัทธรรมที่ทรงค้นพบให้ชาวโลกรับรู้
โปรดพุทธบิดาจนบรรลุธรรม
ต่อมาภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงส่งอำมาตย์ไปทูลเชิญจอมศาสดากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้เสด็จกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ทรงประทับอยู่ที่นิโครธาราม พร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์ผู้ติดตาม
เช้าวันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในนครกบิลพัสดุ์ พร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าว ก็ทรงเสียพระทัย เพราะเห็นว่าการออกบิณฑบาตตามถนนหลวงเช่นนี้ เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นได้ว่า เหล่าพระประยูรญาติและพระราชบิดา ตั้งข้อรังเกียจ มิได้ให้ความอุปถัมภ์
พระองค์จึงรีบเสด็จมาหยุดอยู่ที่หน้าพระพักตร์ของพระบรมศาสดา แล้วตัดพ้อว่า “ทำไมพระองค์ต้องทำเช่นนี้ ไม่รู้หรือว่าการเดินขอเขากินแบบนี้ มันเป็นความอัปยศ ทำให้เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล”
พระพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายว่า “การเที่ยวบิณฑบาตแบบนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต และภิกษุสงฆ์ที่สืบสายแห่งพุทธวงศ์”
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระบิดา ในขณะทื่ยืนถือบาตรอยู่บนถนน ณ ที่นั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระบิดาก็ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
จากนั้นพระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลอาราธนา ให้พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระบิดาเช่นนี้อยู่สามวัน กระทั่งในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงบรรลุเข้าสู่อนาคามีผล
กระทั่งถึงพรรษาที่ 5 พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ทรงประชวรหนักด้วยโรคชรา และทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นศากยวงศ์ และพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตาม พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์แจ้งพระสงฆ์ เรื่องที่พระองค์จะเสด็จกลับกรุงบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง
เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงได้เข้าพบพระบิดา ซึ่งมีพระอาการทรุดหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดาอีกครั้ง ด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ใจความว่า
“ดูก่อนมหาบพิตร อันชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยสั้นนัก ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะ มิได้ยั่งยืนยาวนาน ดุจฟ้าแลบซึ่งปรากฏได้ไม่นาน ฉะนั้น”
ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงสำเร็จอรหันต์ หลังจากนั้นอีก 7 วันต่อมา พระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์ ละทิ้งกายสังขารไปด้วยความสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของพระประยูรญาติ
พระพุทธเจ้าได้เสด็จสรงน้ำพระศพของพระบิดา และถวายพระเพลิง พร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติชาวศากยะทั้งมวล กระทั่งเสร็จสิ้นพิธีอย่างสมพระเกียรติ
อุบายธรรมอบรมบุตรอันเหนือชั้น
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์นั้น พระนางพิมพามเหสีได้ส่งพระราหุล ซึ่งมีอายุ 7 ปี ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอราชสมบัติจากพระบิดา
พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายในโลกนี้ ที่จะมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงประทานอริยทรัพย์ให้พระโอรส ด้วยการให้พระสารีบุตรบวชเจ้าชายราหุล เป็นสามเณร
พระพุทธองค์ในฐานะพุทธบิดาของพระราหุล ได้กล่าวโอวาทสอนสั่งพระราหุลอยู่เนืองๆ วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปยังที่อยู่ของสามเณรราหุล โดยก่อนจะขึ้นไปประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย สามเณรราหุลได้ทรงล้างพระบาทพระพุทธองค์ด้วยน้ำ ซึ่งใส่ไว้ในภาชนะที่ตั้งเตรียมไว้ ครั้นประทับนั่งแล้วจึงตรัสให้สามเณรราหุลมองดูภาชนะใส่น้ำที่เทล้างพระบาทแล้ว ทรงถามว่ามีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเท่าไหร่
เณรราหุลตอบว่า “เหลือติดอยู่เพียงเล็กน้อย”
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “การพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ย่อมทำให้ไม่มีความเป็นสมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ” (หรือพูดด้วยภาษาปัจจุบันก็คือ ไม่มีความเป็นพระ เป็นเณร หรือคฤหัสถ์ก็ไม่มีความเป็นสาธุชน)
ครั้นแล้วทรงสั่งเทน้ำออกจากภาชนะนั้นให้หมดสิ้น แล้วตรัสถามว่า “ในภาชนะนั้นมีน้ำเหลืออยู่อีกหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
พระพุทธเจ้าจึงตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ ในบุคคลผู้ไร้ความละอายในการกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนอย่างภาชนะที่ปราศจากน้ำเหลืออยู่นี้”
จากนั้นทรงสั่งให้คว่ำภาชนะนั้น แล้วก็สั่งให้หงายภาชนะขึ้น แล้วตรัสว่า “มีน้ำอยู่ในภาชนะทั้งที่คว่ำลงและหงายขึ้น เหลือติดอยู่ในภาชนะนั้นหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
พระพุทธองค์ก็ตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ แก่ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนกับภาชนะนั้น ไม่ว่าจะคว่ำหรือหงายขึ้นก็ตาม ย่อมเป็นภาชนะเปล่า ฉะนั้น”
ครั้นแล้วจึงตรัสอุปมาต่อไปอีกว่า
“ช้างศึกของพระราชาที่ฝึกหัดให้เป็นผู้ที่เสียสละร่างกาย ในเวลาเป็นราชพาหนะเข้าสู่สงครามเพื่อพระราชา ช้างที่ฝึกหัดแล้วนั้น ย่อมเสียสละกายได้ สละเท้าหน้าทั้งสองได้ สละเท้าหลังทั้งสองได้ สละศีรษะ หูทั้งสอง งาทั้งสองได้ สละหางได้ แต่ยังรักษางวงไว้ ยังไม่ยอมสละงวง ก็ยังไม่ชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา ต่อเมื่อช้างศึกเชือกนั้นสละได้ทุกอย่าง คือยอมสละงวงได้ จึงจะชื่อว่าสละชีวิตเพื่อพระราชาได้อย่างแท้จริง”
หลังจากที่พระราหุลอุปสมบทเป็นภิกษุได้ครึ่งพรรษา พระพุทธองค์ได้แสดงจุลลราหุโลวาทสูตร อันเกี่ยวเนื่องด้วยวิปัสสนา แก่พระราหุล เมื่อพระราหุลฟังแล้ว น้อมจิตพิจารณาไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เดินทางเสด็จไปประกาศหลักธรรมแด่ชาวโลก จวบกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 ปี ในวันขึ้น 15ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นที่มาของวันวิสาขบูชา ณ สวนสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ใต้ต้นสาละ
ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงให้ปัจฉิมโอวาทแก่พุทธบุตรผู้เป็นสาวกทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจของตนและผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
..........
• “พ่อหลวง” ของแผ่นดิน
มาถึงพ่อเจ้าพระองค์ที่สาม “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น รัฐแมสสาชูเซตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จากนั้นทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดาและพระราชโอรส 4 พระองค์ คือ
1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร
3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” พร้อมกับพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า
“เราจักครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
แต่ทว่ามหาชนชาวสยาม ซึ่งถือเป็นลูกๆอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์กว่า 65 ล้านชีวิต นิยมเรียกขานนามของพระองค์ว่า “ในหลวง”, “พ่อหลวง” หรือ “หลวงพ่อของแผ่นดิน”
พระองค์มักเสด็จแปรพระราชฐานไปทรงประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และที่นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ พระราชทาน “ถนนห้วยมงคล” ให้แก่ “ลุงรวย” และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน
ถนนห้วยมงคลสายนี้ จึงถือว่าเป็นถนนสายสำคัญที่นำพระองค์ไปสู่โครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พสกนิกรชาวไทยอีกจำนวนกว่า 4,000 โครงการอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบัลลังก์อยู่ในใจคน
พ่อหลวงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา ด้วยพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพแทบทุกด้าน แต่ที่งดงามตราตรึงประทับอยู่ในใจของลูกไทยทั้งผองก็คือ พ่อหลวงทรงให้เกียรติกับทุกคน
“ความอ่อนน้อมถ่อมตน” คือคุณสมบัติที่เราทุกคนควรดูในหลวงเป็นแบบอย่าง พระองค์ท่านชื่อว่า เป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวสยาม ก็เพราะความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
ครั้งหนึ่งพ่อหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด โดยที่ไม่มีอยู่ในหมายกำหนดการ มีประชาชนเรือนแสนเฝ้ารับเสด็จ จู่ๆก็มีเด็กตัวกะเปี๊ยกเข้ามานั่งอยู่หน้าพระบาทบนพรมสีแดง
เมื่อพระองค์ท่านทรงพระดำเนินไปถึง เด็กคนนี้ก็ขยับมานั่งขวางไว้ พนมมือกราบพระองค์ แล้วบอกว่า “ขอเดชะ ผมป่วยมานานแล้ว อยากให้พระองค์ทรงเป่ากระหม่อมให้หน่อยครับ”
พวกราชองครักษ์เห็นแล้วไม่พอใจ เพราะไม่มีอยู่ในหมาย ถามกันว่าเด็กคนนี้โผล่มานั่งขวางในหลวงตรงนี้ได้อย่างไร
ขณะที่ในหลวงทรงก้มลงเป่ากระหม่อมให้เด็กคนนั้นตามที่เขาขอ พร้อมกับตรัสว่า “ขอให้หายนะลูก”
เสร็จแล้วชักพระบาทจะดำเนินต่อ เจ้าหนูคนนี้บอกว่า “ขออีกสักครั้งเถอะครับ”
พระองค์ก็ทรงก้มลงไปเป่ากระหม่อมให้อีกครั้งตามคำร้องขอ หลังจากนั้นก็ทรงชักพระบาทเตรียมพระดำเนินต่อ เจ้าหนูคนนี้ก็เอ่ยขึ้นอีกว่า
“ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอให้ครบสามครั้งเถิดนะครับ”
พระองค์ทรงแย้มพระสรวล แล้วก็ทรงก้มลงมาเป่าให้อีกเป็นครั้งที่สาม หนูน้อยก้มลงกราบแทบพระบาทด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
เหตุการณ์นี้ไม่อยู่ในจดหมายเหตุราชกิจรายวัน แต่ยังอยู่ในใจของเด็กน้อยตลอดมา แม้ว่าเวลาล่วงเลยไป 50-60 ปีแล้ว
เพราะเมื่อปี 2556 เจ้าหนูคนนั้นบัดนี้มีอายุ 70 กว่าปี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บอกว่า
“ผมรักในหลวงมาก ในหลวงให้ไปตายผมก็ไป ในหลวงจะเอาชีวิตผมก็ยอม เพราะอะไร ก็เพราะว่าตอนที่ผมยังเด็ก ในหลวงทรงให้เกียรติผมมาก ผมขอให้เป่ากระหม่อม พระองค์ก็ทรงเสียเวลากับเด็กเล็กๆอย่างผม นั่นเป็นครั้งเดียวที่ทรงเป่ากระหม่อมผม แต่ทรงเข้าไปอยู่ในใจผมจากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้”
นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมคนไทยทั้งชาติจึงรักพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เหลือเกิน นั่นก็เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีบัลลังก์อยู่ในหัวใจคนนั่นเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย พระเจนสมุทร)