• กรมสุขภาพจิตแนะเทคนิค 3 ใจ ใช้สร้างอารมณ์ดี
เดี๋ยวนี้ หันไปทางไหน ก็เห็นมีแต่คนหงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ร้อน กันทั้งนั้น
แล้วรู้มั้ยว่าอารมณ์เหล่านี้หากสะสมไว้นาน จะก่อให้เกิดโรคจิต และโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็ง
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต จึงได้แนะเทคนิคในการสร้างสรรค์อารมณ์ดี ให้มีความสุข ด้วยการยึดหลัก 3 ใจ ประกอบด้วย 1. สบายใจ คือ การทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ จัดการอารมณ์ให้เป็นและถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติ สร้างบรรยากาศความไว้วางใจ และใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น เพราะอารมณ์ขันจะทำให้คนเรามีความอดทน อดกลั้นสูงขึ้น ไม่เกิดความรู้สึกเกลียดชัง
2. พอใจ คือ รู้จักพอในสิ่งที่มีอยู่ ใช้ชีวิตเรียบง่าย จัดชีวิตให้ลงตัวสมดุลทั้งด้านสุขภาพ การงาน ครอบครัว 3. ภูมิใจ คือ ความภูมิใจในสิ่งที่ตนประสบผลสำเร็จ โดยสิ่งนั้นสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่น เช่น การได้รับการยอมรับ ทำในสิ่งที่รู้ว่าดีเป็นประโยชน์แก่สังคม รู้จักให้ และช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถปรับและรับสถานการณ์ปัญหาต่างๆได้
• เลิกดื่มกาแฟไม่ได้ ? ต้องโทษยีนในตัวเองล้วนๆ
คอกาแฟที่พยายามลดเลิกการดื่ม แต่ทำไม่สำเร็จเสียที อาจต้องทำใจ เพราะมันมีสาเหตุมาจากยีน (คือหน่วยพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดจากสิ่งมีชีวิต รุ่นก่อนหน้าสู่ลูกหลาน) ในตัวคุณนั่นเอง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychiatry ซึ่งนำทีมโดย มาริลิน คอร์เนลิส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ค้นพบยีน 6 หน่วยที่ทำให้คนมีปฏิกิริยาต่อคาเฟอีนแตกต่างกัน
โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำกว่า 120,000 คน ที่มีเชื้อสายยุโรปและอัฟริกา พบว่า มียีน 6 หน่วย (เพิ่มเติมจากอีก 2 หน่วยที่ถูกค้นพบก่อนหน้านี้) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญคาเฟอีน ซึ่งส่งผลด้านดีของคาเฟอีน และเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกลูโคสและไขมัน
“ผลลัพธ์ชี้ว่า มีคนบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการดื่มกาแฟมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งเหมาะกับสุขภาพของเขา เรามักนึกเอาเองว่า คนทุกคนมีปฏิกิริยาต่อกาแฟถ้วยหนึ่งเหมือนๆกัน แต่ข้อมูลของเราระบุว่าไม่เป็นความจริง” คอร์เนลิส กล่าว
• เปลี่ยนท่าเดิน...เปลี่ยนอารมณ์
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ..ว่าแค่เปลี่ยนท่าเดิน ก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์ได้จริงๆ
เพราะอารมณ์ของคนเรามีผลต่อท่าทางการเดิน เราจะเดินไหล่ห่อเมื่อรู้สึกทุกข์ อกผายไหล่ผึ่งเมื่อมีความสุข ซึ่งนักวิจัยพบว่า ในทางกลับกัน หากเราเลียนแบบท่าเดินที่มีความสุขหรือทุกข์ ก็จะทำให้เรารู้สึกเช่นนั้นได้จริงๆ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Behavior Therapy and Experimental Psychiatry ซึ่งนำโดย นิโคลอส โทรเจ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ ได้ให้กลุ่มทดลองดูลิสต์คำที่มีความหมายเชิงบวกและลบ เช่น น่ารัก กลัว และวิตกกังวล จากนั้นให้ไปเดินบนลู่วิ่งสายพาน ซึ่งทีมวิจัยจะคอยตรวจวัดท่าทางการเดิน
หลังจากนั้น ให้พวกเขาเขียนคำที่ได้ดูจากลิสต์ก่อนหน้าลงบนกระดาษให้มากที่สุดเท่าที่จำได้ พบว่า คนที่เดินท่าทางซึมเศร้า จะจำคำที่มีความหมายเชิงลบได้มากกว่าเชิงบวก ซึ่งความแตกต่างในเรื่องคำที่จำได้นี้ ชี้ให้เห็นว่า การเดินท่าทางซึมเศร้าสร้างอารมณ์ทุกข์โศกได้จริงๆ
การวิจัยนี้ทำบนพื้นฐานที่ว่า สภาพอารมณ์มีผลต่อความจำ คนไข้โรคซึมเศร้าจะจำเรื่องราวไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ได้มากกว่าการจำเรื่องราวดีๆในชีวิต และการจำเรื่องร้ายๆ ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกแย่ยิ่งขึ้น
• กรมอนามัยเตือนอันตราย!! ใช้มะนาวผสมเบคกิ้งโซดาฟอกฟันขาว
ในโลกโซเซียลมีการแชร์กระหึ่มเรื่องการทำฟันขาว โดยใช้มะนาวผสมเบคกิ้งโซดา
ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงออกมาบอกว่า เรื่องนี้เป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เพราะน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และยังระคายเคืองเหงือก อาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนก็ทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย
ส่วนเบคกิ้งโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้
สำหรับผู้ที่อยากมีรอยยิ้มขาวสะอาด สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดตามสูตรแปรงฟัน 222 ของกรมอนามัย คือแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ให้ยาสีฟันสัมผัสฟันนาน 2 นาที และงดขนมหวาน น้ำอัดลม หลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก็จะมีฟันที่ขาวสะอาดอย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนในกรณีที่ฟันเปลี่ยนสีจากเนื้อฟันด้านใน ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อการแก้ไขที่ได้ผลแน่นอนและปลอดภัย
• ผัวเมียชอบทะเลาะกัน ระวังอ้วนไม่รู้ตัว
“ผัวเมียยิ่งทะเลาะกัน ยิ่งลูกดก” เป็นคำพูดที่หยอกล้อกันเล่นๆในหมู่คนไทย แต่ฝรั่งส่ายหน้า ว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะมันอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการร้ายของโรคหัวใจและเบาหวาน
มีงานวิจัยชิ้นใหม่นำโดย ยาน กีโคลท์-กลาเซอร์ แห่งมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เผยว่า คนที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า โต้เถียงกับคู่ครองเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคอ้วน เนื่องจากมันทำให้กระบวนการย่อยอาหารที่มีไขมันสูง ทำงานผิดปกติ
โดยทำการทดลองในคู่สามีภรรยา 43 คู่ อายุระหว่าง 24-61 ปี พบว่า ชายและหญิงที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า และมักทะเลาะกับคู่ครองอย่างดุเดือด มีแนวโน้มเกิดปัญหาด้านระบบย่อยอาหาร หลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาทิ ร่างกายเผาผลาญแคลอรีต่ำลง มีระดับอินซูลินสูงขึ้น และระดับไตรกลีเซอร์ไรด์พุ่งสูง
ทั้งนี้ การเผาผลาญแคลอรีที่ลดลงใน 7 ชม.หลังทานอาหาร 1 มื้อ จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 5.4 กก. ใน 1 ปี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย ธาราทิพย์)