xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : คืนรอยยิ้มและความสุข ให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วย ที่ “คลินิกเดย์แคร์” ศูนย์สิรินธรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพราะเมื่อมีคนหนึ่งในครอบครัวป่วยไข้ ทุกคนก็ทุกข์ ก็เหนื่อย
เพราะเมื่อสภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม วิถีชีวิตก็ย่อมไม่เหมือนเดิม
จะรับมืออย่างไร จะปรับตัวอย่างไร ทั้งด้านผู้ป่วยและคนในครอบครัว หรือผู้ดูแล

หน่วยงาน “เดย์แคร์” ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นทางเลือกหนึ่งที่พร้อมสนับสนุนและดูแลผู้มารับบริการในระหว่างวัน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

ที่นี่ยินดีให้บริการอย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่ผู้มารับบริการต้องการ...ที่นี่จึงเป็นเหมือนอีกครอบครัวหนึ่งที่จะช่วยเรียกรอยยิ้มและกำลังใจคืนกลับมา

จุดเริ่มต้นของศูนย์สิรินธรฯ

ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ ก่อตั้งขึ้นโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิสายใจไทย และ National Rehabilitation Centre for the Disabled, Japan เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ ทั้งทางด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมให้น้อยที่สุด สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่น มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการคืนความสุขให้แก่พวกเขา และคืนพวกเขาให้กับครอบครัวและสังคม

โดยทั่วไปนั้น การฟื้นฟูผู้ป่วยมักเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพในเบื้องต้น ให้ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุดีขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดความพิการซ้ำซ้อน เช่น การตรวจและประเมินโดยแพทย์ การทำกายภาพบำบัด และการทำกิจกรรมบำบัดในช่วงวันเวลาที่นัดหมาย จากนั้นผู้ป่วยและญาติพี่น้องต้องทำหน้าที่ของตนต่อไปเอง

แต่ความเจ็บป่วยหรือความพิการยังรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติของผู้ป่วยอย่างมาก จำเป็นต้องปรับตัวให้ได้ ประกอบกับการฟื้นฟูสมรรถภาพต้องทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ศูนย์สิรินธรฯ จึงจัดให้มีหน่วยงานเดย์แคร์ดูแลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

งานเดย์แคร์ ดูแลจากเช้าจรดเย็น ดูแลกันจนกว่าจะเลิกรา

บนชั้น 2 ของตึกกิจกรรมบำบัดภายในพื้นที่ของศูนย์สิรินธรฯ มองจากโถงบันไดไปทางขวามือ เห็นทางเดินทอดยาวสู่ประตูกระจกของหน่วยงานเดย์แคร์ หรือ “คลินิกเดย์แคร์”

ภายในห้องขนาดใหญ่ ดูสะอาดสะอ้าน สว่าง โล่ง โปร่งสบาย มีอุปกรณ์การฟื้นฟูหลายอย่าง เตียงเดี่ยวประมาณ 10 เตียง จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ผู้รับบริการแต่ละคนกำลังทำกิจกรรมกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทำเองบ้าง มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ข้างๆบ้าง เสียงทักทายพูดคุยกัน เสียงแนะนำกิจกรรมเดี่ยวของผู้รับบริการแต่ละคน เสียงกระตุ้นลุ้นช่วยแทรกเป็นระยะ บอกถึงกำลังใจที่ส่งให้อย่างเต็มที่

คุณสุภาพร กิติหล้า หรือคุณแหม่ม นักกิจกรรมบำบัดประจำคลินิก ให้รายละเอียดว่า บริการของเดย์แคร์เป็นลักษณะเช้าไปเย็นกลับ เป็นการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยตลอดทั้งวัน โดยให้การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงความต้องการในการดำรงชีวิต ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีการจัดให้คำปรึกษาและแนะแนวการดำเนินชีวิตในสภาวะร่างกายที่บกพร่อง การให้บริการผู้ป่วยและญาติที่บ้าน เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยและญาติจะได้มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีควบคู่กัน

ผู้พิการและผู้สูงอายุที่จะเข้ารับบริการ จะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ของศูนย์สิรินธรฯ ว่ามีการพัฒนาสมรรถนะทางกายในระดับคงที่ ไม่จำเป็นต้องรับการฟื้นฟูโดยการทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัดอย่างเข้มข้นแล้ว แพทย์จึงส่งต่อมาที่เดย์แคร์ หากเคยรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ก็เพียงขอใบส่งต่อจากแพทย์มาด้วย

นอกจากนี้ ผู้รับบริการต้องมีญาติหรือผู้ดูแลมาด้วย เว้นแต่ว่าจะดูแลตัวเองได้ เพราะที่นี่เป็นเดย์แคร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยเน้นให้ผู้รับบริการดูแลตัวเอง และจะสอนญาติเรื่องการดูแลที่ถูกวิธีพร้อมกันไป ในระหว่างการทำกิจกรรมที่เดย์แคร์ ญาติหรือผู้ดูแลจะได้ช่วยระวังเรื่องความปลอดภัยของผู้รับบริการเองและของส่วนรวมด้วย

กิจกรรมส่วนหนึ่งของเดย์แคร์ เน้นการเข้าสังคมและการอยู่ร่วมในสังคม ดังนั้น แม้ผู้รับบริการจะมีระดับความบกพร่องเพียงใด ทางเดย์แคร์ก็ยินดีให้บริการ ที่สำคัญคือต้องไม่ขัดขวางการเข้าร่วมกิจกรรมของคนอื่นหรือของกลุ่ม

ตารางกิจกรรมจัดไว้เป็นสัปดาห์ มีทั้งกิจกรรมแบบกลุ่มและกิจกรรมแบบเดี่ยว กิจกรรมแบบกลุ่ม เช่น งานศิลปะบำบัด งานดนตรีบำบัด การทำอาหาร การสวดมนต์นั่งสมาธิ เป็นต้น ผู้มารับบริการมีอิสระในการเลือกกิจกรรมตามวันที่กำหนด

แต่เนื่องจากมีผู้มารับบริการมากกว่า 70 คน คุณแหม่มจึงบอกว่า “ต้องเฉลี่ยวันกัน อาทิตย์หนึ่งให้เลือกมาได้ 3 วัน เจ้าหน้าที่จะได้ดูแลทั่วถึง ไม่มีการบังคับค่ะ ดูตามตารางแล้ววันไหนมีกิจกรรมที่ไม่ชอบ เขาก็ไม่มาวันนั้น”

ดังนั้น ในแต่ละวันจึงมีผู้รับบริการประมาณ 20 คน และจะอยู่ร่วมกิจกรรมจนถึงกี่โมงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะกลับไปพักที่บ้านตั้งแต่เที่ยง นอกจากคนที่มาสายอาจจะอยู่ต่อจนถึงช่วงบ่าย บางคนทำกิจกรรมเสร็จตั้งแต่บ่ายสามโมง แต่ต้องการอยู่ต่อหรือญาติยังไม่มารับ ก็สามารถอยู่ต่อได้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเดย์แคร์ยังอยู่ดูแลจนหมดเวลาทำการ

คุณแหม่มย้ำด้วยว่า คลินิกเดย์แคร์ไม่มีนโยบายจำหน่ายผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปถ้าเป็นที่อื่นหรือในสมัยก่อน ผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดและกายภาพบำบัด ไปจนถึงเป้าหมาย คือถึงขั้นที่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกแล้ว ก็จะถูกจำหน่ายออกไป แม้ว่าจะยังดูแลตัวเองไม่ได้ ญาติก็ต้องดูแลกันไป ถูกวิธีบ้าง ไม่ถูกบ้าง กระทั่งป่วยอีกจึงกลับมาโรงพยาบาลใหม่ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภายหลังจากจำหน่ายออกไปแล้ว ต่อมาสมองถูกทำลาย ผู้ป่วยก็กลับมารับการฟื้นฟูอีก พอถึงเป้าหมาย ต้องจำหน่ายออกไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การรักษาจึงไม่ต่อเนื่อง และเมื่อกลับบ้านแล้วอาจไม่ได้ทำการฟื้นฟูเต็มที่ ร่างกายไม่ค่อยกระเตื้อง ทำให้ผู้ป่วยท้อแท้เบื่อหน่าย และอาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง การรักษาจึงไม่ได้ผลดี

“ถ้าในช่วงฟื้นฟู ผู้รับบริการเกิดป่วยขึ้นมา เราจะส่งไปให้คุณหมอรักษา เมื่อรักษาอาการป่วยแล้วก็กลับมาฟื้นฟูที่นี่ต่อ ดูแลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจากกันไป หรือคุณหมอจะไม่ส่งตัวมาแล้วค่ะ”

ใส่ใจทุกกิจกรรม คำนึงถึงผู้รับบริการ

ทุกเช้าภายในห้องกว้างโปร่งสบายของคลินิกเดย์แคร์ นักกิจกรรมบำบัดและนักภายภาพบำบัดจะพร้อมหน้ารอรับผู้รับบริการ โดยก่อนมานั้น ผู้รับบริการทุกคนจะต้องวัดความดันโลหิตที่แผนกผู้ป่วยนอกก่อน ถ้าความดันโลหิตไม่ผ่านจะเข้าร่วมกิจกรรมวันนั้นไม่ได้

เมื่อผู้รับบริการมาถึง การประเมินทางวิชาชีพก็จะเริ่มขึ้นและต่อเนื่องในทุกๆกิจกรรม เป็นเช่นนี้ทุกวัน และยังมีการประเมินความสุข และประเมินคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการทุกๆ 4 เดือนด้วย

กิจกรรมทุกอย่างทั้งเดี่ยวและกลุ่ม จะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และญาติ โดยทำกิจกรรมตามตารางที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน ถ้าเป็นกิจกรรมกลุ่ม ผู้รับบริการทุกคนที่มาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมนั้น

คุณแหม่มให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ในช่วงกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เราจะดูแลผู้รับบริการเป็นรายคนว่า ควรฟื้นฟูในเรื่องใด ใช้อุปกรณ์ชิ้นไหน อุปกรณ์พวกนี้เป็นของส่วนกลางให้ผู้รับบริการผลัดเปลี่ยนเวียนกันใช้ อุปกรณ์บางชิ้นก็ไม่ใช่ของพิเศษของแพงอะไร ดัดแปลงของที่หาได้ง่ายๆ มีขายทั่วไป ราคาไม่แพง แต่ใช้ได้ผลดี เช่น ลูกบอลพลาสติกขนาดถนัดมือกับตะกร้าพลาสติกธรรมดาๆ สำหรับให้ผู้รับบริการหยิบลูกบอลไว้ในมือ เหยียดแขนชูขึ้นจนสุด แล้วลดแขนลงใส่บอลลงตะกร้า ผู้รับบริการสามารถหาซื้อเอาไว้ทำเองที่บ้านก็ได้ ราคาไม่แพง”

กิจกรรมทั้งหมดคำนึงถึงความยากง่าย และความสามารถของผู้รับบริการ พร้อมกับการสังเกตเพื่อประเมินผล ไม่ให้ผู้รับบริการเกิดความเครียด เช่น กิจกรรมประกอบอาหาร ก็เลือกเมนูที่ทำง่าย อย่างเช่นขนมครก ไข่เจียว ก๋วยเตี๋ยวหลอด ทางหน่วยงานจะจัดเตรียมของหรือขั้นตอนที่ยากไว้ เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมมากกว่า เมื่อทำเสร็จก็รับประทานร่วมกัน

วันพุธถือว่าเป็นวันหนึ่งที่ผู้รับบริการชอบมาก เพราะกิจกรรมกลุ่มคือ ดนตรีบำบัด มีนักดนตรีอาสามาเล่นดนตรีและร้องเพลงให้ฟังร่วมกับเจ้าหน้าที่ ช่วยผ่อนคลายและสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน ในมือผู้รับบริการจะมีกระดาษเนื้อเพลงตัวโตๆ ให้ร่วมกันร้องเพลง หรือบางคนถือเครื่องดนตรีง่ายๆ อย่างพวกแทมบูรินอันเล็ก หรือตบมือให้จังหวะ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อปาก กล้ามเนื้อมือ และการออกเสียง แม้เพลงส่วนใหญ่จะมีทำนองสบายๆ แต่หากพบว่าผู้รับบริการท่านใดมีอาการเครียด เจ้าหน้าที่จะพาออกจากกลุ่มแยกไปดูแลทันที

ส่วนวันพฤหัสเป็นกิจกรรมสวดมนต์/นั่งสมาธิ ทุกคนจะสวดมนต์นั่งสมาธิร่วมกัน บางคนก็เอาบทสวดมนต์มาด้วย เอาเทปสวดมนต์หรือบันทึกการแสดงธรรมของพระอาจารย์มาฟังกัน บางครั้งก็มีการทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรม ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหารเพล และวันศุกร์เป็นกิจกรรมศิลปะบำบัด เช่น ทำงานฝีมือ วาดภาพ บางชิ้นงานก็นำมาแสดงและวางจำหน่ายด้วย

นอกจากกิจกรรมที่กำหนดในตารางแล้ว ในวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง ฯลฯ ทางเดย์แคร์ก็จะมีกิจกรรมพิเศษ เช่น ทำบุญ รดน้ำดำหัว จัดงานเลี้ยงกัน บรรยากาศเมื่อทุกคนมาอยู่รวมกัน จึงเหมือนครอบครัวใหญ่ที่ช่วยกันดูแลใส่ใจและเป็นกำลังใจให้กันอยู่เสมอ

พลังจากจิตอาสา

ผู้รับบริการส่วนใหญ่มาเป็นประจำ อยู่กันนานหลายปี เมื่อมีจิตอาสามาร่วมกิจกรรมด้วย ก็เป็นสีสันแปลกใหม่ที่ช่วยสร้างบรรยากาศ สร้างความสุข และเสริมกำลังใจ

คุณแหม่มเล่าว่า มีจิตอาสาหลายคนมาช่วยสอนทำงานฝีมือ “อย่างวันนี้วันพุธ เป็นกิจกรรมดนตรีบำบัด ก็มีนักดนตรีจิตอาสา เป็นนักศึกษาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังศึกษาใกล้จะจบ ชักชวนกันมา”

ระหว่างการพูดคุยกันอยู่ สตรีชาวต่างชาติในชุดสีฉูดฉาด ท่าทางทะมัดทะแมง เดินผลักประตูกระจกเข้ามา พร้อมเสียงหัวเราะคุยทักทายคนนั้นคนนี้เป็นภาษาไทยชัดเจน ในมือถือพู่กันชักชวนให้ทุกคนทาจมูกแดงอย่างเธอที่แต่งหน้าเป็นตัวตลกละครสัตว์ของฝรั่ง เพราะวันนี้เธอจะสมมติให้ที่นี่เป็นโรงละครสัตว์ และชวนทุกคนร่วมกิจกรรมหัวเราะบำบัดกับเธอ คุณแหม่มแนะนำว่าเธอชื่อ “ซูซาน” เป็นจิตอาสาที่ช่วยทำกิจกรรมหัวเราะบำบัดให้ที่นี่เกือบปีแล้ว

คุณซูซานบอกว่า เธอทำงานจิตอาสาในเมืองไทยมา 20 กว่าปี จิตอาสาของเธอเริ่มจากการเคยสงสัยว่าโลกนี้มีปัญหามากมาย แล้วคนเราเกิดมาเพื่ออะไร เรียนหนังสือ มีทำงานทำ มีครอบครัว กินข้าววันละสามมื้อ แล้วก็ตาย ทำไมไม่ทำประโยชน์ให้คนอื่นบ้าง

เธอเชื่อว่าการให้ก็เหมือนบูมเมอแรง ความสุขที่ให้ออกไปแล้วจะย้อนกลับมาหาเราเอง เธออยากให้ทุกคนยิ้มแย้ม อยากทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนมาคิดบวก รู้สึกตัวเองมีคุณค่า มีความสุข เพราะเมื่อมีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน เป็นการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ

และเมื่อได้เวลา คุณซูซานก็ขึ้นเวทีทำกิจกรรมหัวเราะบำบัด ทุกคนขยับมาล้อมวง โรงละครสัตว์ในสมมติของเธอเริ่มขึ้นในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน มีการหลอกล่อให้ทุกคนพูดหรือออกเสียงเลียนแบบเสียงสัตว์บ้าง เสียงแปลกๆ อย่างรัวลิ้นบ้าง บางครั้งกระตุ้นเป็นรายคน ใครไม่ยอมพูด เธอก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ แต่จะพูดๆๆๆไปเรื่อย ทำน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางประกอบ เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสนุกสนานตลอดเวลา ทุกเสียงทุกความร่วมมือนี้ คือรางวัลตอบแทนความตั้งใจที่เธออยากมอบความรักและเสียงหัวเราะให้ทุกคน

ความสุขของผู้รับบริการ

ผู้รับบริการส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี แม้อายุจะห่างกัน แต่ทำกิจกรรมร่วมกันกว่าครึ่งค่อนวันได้ไม่มีปัญหา อย่างเช่น คุณปู่จำลอง วัย 92 ปีที่ยังดูแข็งแรงมาก เพราะชอบออกกำลังกาย ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ฟังเพลง คุณปู่เคยรับการผ่าตัดเพราะโรคทางเส้นเลือด หลังการพักฟื้นแล้ว คุณหมอแนะนำให้มาฝึกเดินที่นี่ ตั้งแต่เดย์แคร์เพิ่งเปิดบริการในปี 2551

คุณปู่ชอบและมีความสุขมาก เพราะได้มาเจอเพื่อนๆ เหมือนอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดูแลดี เป็นกันเอง ถ้ามีใครโยกย้ายไปก็จะร่วมกันร้องเพลง “คำสัญญา” และ “เพชรน้ำหนึ่ง” ให้เป็นการร่ำลา ภรรยาของคุณปู่ก็มารับบริการและชอบที่นี่เหมือนกัน แต่ตอนนี้เธอจากไปอย่างสงบแล้ว

ส่วนคุณลุงพงศ์พันธุ์ บุรณศิริ อายุ 78 ปี บอกว่ามาที่นี่ดีกว่าอยู่เฉยๆที่บ้าน คุณปรียานุช ลูกสาวของคุณลุงเล่าเสริมว่า เมื่อ 4 ปีก่อน คุณลุงมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก สมองเสียหายในส่วนการควบคุมแขนขาและการพูด เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็ยังเดินไม่ได้ ไม่ยอมออกไปพบใคร เพราะยังรับไม่ได้ที่จะต้องนั่งวีลแชร์ จนเมื่อมาที่นี่ ก็เห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว คนอื่นเป็นกันเยอะ หนักกว่าก็ยังมี และมาที่นี่ได้ฝึกและใช้เวลาร่วมกันกับคนอื่น แม้ตอนนี้ยังทำไม่ได้ แต่เริ่มยอมรับได้ ยอมนั่งวีลแชร์ออกไปข้างนอกบ้าง ไปห้างบ้าง ช่วงไหนมีพื้นที่พอเดินได้ ก็จะให้เดินระยะสั้นๆ ใช้ไม้เท้าช่วย ดูมีความสุขขึ้นมาก

“ตอนนี้คุณพ่อมีบุคลิกใหม่ กลายเป็นคนตลก หัวเราะ จากที่เคยเป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ มีบ้างที่โวยวาย ก็เป็นด้วยอาการของโรค เราก็เข้าใจ เพราะเคยเป็นคนหาเงินเข้าบ้าน เป็นผู้นำ เป็นคนบอกให้ใครทำอะไร ตอนนี้กลับต้องให้ลูกบอกตัวเอง

พัฒนาการที่ดีที่สุดที่ได้จากที่นี่ คือ พัฒนาการทางสังคม ส่วนพัฒนาการทางร่างกายคงไม่หวังว่าจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ เพราะอายุมากแล้ว คงทำได้เพียงรักษาระดับอาการไว้ ส่วนทางด้านจิตใจก็ดีขึ้น”


คุณปรียานุชกล่าวปิดท้ายได้อย่างชวนคิดว่า “ถ้าใครคิดจะพาคุณพ่อคุณแม่มาฟื้นฟูที่นี่ ให้รีบพามา และมาอย่างต่อเนื่องด้วย ขอให้มาด้วยกัน อย่าทิ้งไว้ที่นี่ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล แต่นี่เป็นหน้าที่ของเรา ที่นี่ไม่ใช่ที่จะมาฝาก แต่เป็นที่ที่ช่วยฝึกเราให้รู้จักวิธีดูแลผู้ป่วยให้อยู่ได้อย่างมีความสุข กินอยู่อย่างไร ลุกนั่งอย่างไร นอนอย่างไร เราก็ต้องไปปรับบ้านเราให้เป็นไปตามนั้น

ถ้ามาเองไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาคนดูแลที่ไว้ใจได้มาด้วย แล้วคอยสังเกตว่าเขาดูแลดีมั้ย คอยโทรคุยถามไถ่ท่านเป็นระยะว่าเป็นอย่างไรบ้าง ท่านต้องการกำลังใจจากเรา ตัวไม่อยู่แค่ได้คุยโทรศัพท์ก็มีความสุขแล้ว อย่าให้ท่านรู้สึกว่าถูกเอามาทิ้ง จิตใจท่านก็บอบบางอยู่แล้ว และเมื่อกลับมาแล้ว ก็ดูแลท่านให้เต็มที่ บางทีอาจไม่ต้องทำอะไรมากแค่ทักทาย ท่านก็มีความสุขแล้ว”


ที่ตั้ง : งานเดย์แคร์ ตึกกิจกรรมบำบัด ชั้น 2 ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซอยบำราศนราดูร ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ : 0-2591-5455, 0-2591-4242 ต่อ 6820-1 หรือเว็บไซต์ www.snmrc.org
เวลาให้บริการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30
ค่าบริการ : วันละ 600 บาท (ไม่รวมค่าอาหารกลางวัน ซึ่งต้องจัดเตรียมมาเอง หรือจะให้ทางเดย์แคร์จัดให้ก็ได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายวัน) สามารถใช้สิทธิผู้พิการ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท หรือบัตรทอง) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย วิรีย์พร)
มุมสงบสำหรับกิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิ
มุมจัดวางอุปกรณ์สำหรับใช้ทำกิจกรรมบำบัด
ห้องโปร่งสบาย วางเตียงเรียงกันเป็นระเบียบ
ห้องอาหาร พักเที่ยงมานั่งรับประทานอาหารด้วยกัน
กิจกรรมศิลปะบำบัด
กิจกรรมทำอาหาร เจียวไข่
แท่งไม้ฝึกกล้ามเนื้อมือหยิบจับและวางลงตำแหน่งเดิม
กิจกรรมดนตรีบำบัด
“ซูซาน” จิตอาสามาช่วยสร้างรอยยิ้มและความสุข
กิจกรรมเดี่ยว ฝึกเดิน
กิจกรรมเดี่ยว ใช้เครื่องช่วยฝึก
ห้องอาหาร พักเที่ยงมานั่งรับประทานอาหารด้วยกัน
กิจกรรมศิลปะบำบัด
กิจกรรมทำอาหาร เจียวไข่
แท่งไม้ฝึกกล้ามเนื้อมือหยิบจับและวางลงตำแหน่งเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น