xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ประเมินตนเอง จุดเริ่มต้นคุณภาพชีวิตที่ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...การที่จะดำเนินให้ถึงความสำเร็จในชีวิตและการงานนั้น นอกจากอาศัยวิชาความรู้ และความตั้งใจจริงแล้ว บุคคลยังต้องอาศัยความฉลาดรอบคอบ และความคิดพิจารณาด้วยเสมอไป การกระทำใดๆก็ตาม ถ้ารู้จักประเมินผลดีและผลเสียของการกระทำให้เหมาะแก่กรณีแล้ว ย่อมจะให้ผลดีทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม

ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ มิใช่ประสงค์ให้ท่านมีความลังเล หรือให้ท่านทดลองปฏิบัติ จนต้องเสียเวลาเปล่า เรื่องต่างๆที่เกิดรอบตัวเราทุกวี่ทุกวัน เป็นข้อมูลที่จะประเมินผลได้อย่างดีที่สุดอยู่แล้ว ท่านจะประเมินผลจากข้อมูลนั้นได้ไม่ยากนัก เพียงแต่รู้จักนำมาคิดพิจารณาโดยสม่ำเสมอ ท่านก็จะเห็นวิถีทางที่ถูกต้อง และจะสามารถนำความคิดและวิชาการ มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่ชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่...”


(พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓)

พระบรมราโชวาทองค์นี้ ทรงแนะนำว่า “การกระทำใดๆก็ตาม ถ้ารู้จักประเมินผลดีและผลเสียของการกระทำให้เหมาะแก่กรณีแล้ว ย่อมจะให้ผลดีทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม” นำให้คิดถึงบริบทแห่งการแสวงหาอมตธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ จนบรรลุความสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเนื้อหาสอดคล้องกับที่ทรงแนะนำได้ ดังนี้

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้รับความรู้ในการแสวงหาอมตธรรม จากอาฬารดาบสและอุทกดาบสแล้ว เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสวงหามงคลสถาน เพื่อปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามา พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอันเป็นแนวทางที่เชื่อกันว่า สามารถทำให้บรรลุอมตธรรมได้ โดยมีปัญจวัคคีย์ผู้เชื่อว่าพระองค์จะพบกับอมตธรรมมาคอยดูแล เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนสุดความสามารถของมนุษย์ ก็ยังไม่พบความสำเร็จ จึงนำให้ทรงประเมินผลดีและผลเสียของการกระทำทุกรกิริยา ด้วยอาศัยความฉลาดรอบคอบและความคิดพิจารณาอย่างมีเหตุผล ทำให้พระองค์ทรงเห็นวิถีทางที่ถูกต้อง ในการแสวงหาอมตธรรม

แม้แนวทางที่ทรงพบ จะถูกปฏิเสธจากปัญจวัคคีย์ และทำให้พวกเขาหมดความเลื่อมใส แล้วหนีจากไป พระองค์ก็ทรงมุ่งมั่นดำเนินตามแนวทางนั้น จนสามารถบรรลุอมตธรรม ด้วยการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด

เจ้าชายสิทธัตถะทรงประเมินผลดีและผลเสียของการกระทำให้เหมาะแก่กรณีได้ เพราะทรงรู้จักศักยภาพของพระองค์เอง กอปรกับความเชื่อมั่นในเหตุผล ที่ตนเองได้ใช้ในการประเมินผลอย่างหนักแน่น บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำให้พระองค์มีความมั่นใจในความคิด ที่ได้พิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว และกระทำไปตามความคิดนั้นด้วยความมั่นใจ จนประสบกับความสำเร็จได้ในที่สุด

การรู้จักศักยภาพของตนเอง ด้วยการประเมินตนเอง เป็นกระบวนการที่ทำให้บุคคลเกิดการทบทวน ไตร่ตรองการปฏิบัติงาน สะท้อนความคิด และนำไปสู่การพัฒนาในภาระหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต ที่มีประสิทธิผลไปยังเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้

การประเมินตนเอง สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ
๑. เป็นการประเมินที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของศักยภาพของตนเอง ด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ในกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบ แล้วหาสาเหตุอธิบายถึงปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ประเมินความสามารถของตนเองในการปฏิบัติงาน พึงเห็นตัวอย่างจากเจ้าชายสิทธัตถะ ดังกล่าวมาแล้ว

๒. เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพ นำให้เกิดประสิทธิผลที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พึงเห็นตัวอย่างในผู้มีความนอบน้อมถ่อมตน ใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ดังเช่น พระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา

๓. เป็นการประเมินตนเองจากทัศนะของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ได้ทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่ก่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม นำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พึงพิจารณาตัวอย่างของปัญจวัคคีย์ ดังนี้

ปัญจวัคคีย์เป็นคณะบุคคลที่มีความเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะจักต้องตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงยอมตัวเฝ้าติดตามในขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เป็นผู้มีความรู้ชำนาญในศาสตร์ประจำตระกูลของตนเป็นอย่างดี แต่ศักยภาพของตนเองนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุอมตธรรม

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะไม่ประพฤติทุกรกิริยาตามความเชื่อของพวกตน จึงพากันหนีไปด้วยความผิดหวัง แล้วไปหาสถานที่บำเพ็ญเพียรเพื่ออมตธรรมกันเอง จนเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตร และอนัตตลักขณสูตร จึงได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ นี่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ในเบื้องต้นได้ประเมินตนเองว่า มีความสามารถมากกว่าผู้อื่น จึงไม่ยอมรับวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับตน แต่ต่อมาเมื่อได้รับฟังคำอธิบาย ก็ประเมินตนเองได้ว่า ยังไม่มีศักยภาพพอ จึงยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น จนสามารถพัฒนาตนเองให้ประสบกับความสำเร็จได้ในที่สุด

การประเมินตนเองจะทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ก่อประโยชน์ได้ดังนี้
๑. ทำให้เกิดความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความเชื่อมั่นในตนเอง
๒. ทำให้ทราบถึงข้อเด่น ข้อบกพร่อง ขอบเขตการพัฒนาตนเอง อันจะนำให้รับทราบถึงความก้าวหน้าของตน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้ว่าจะสามารถดำเนินการเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างไรในอนาคต
๓. ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาของตนเอง
๔. ทำให้เกิดความพึงพอใจต่อชีวิตของตนเอง รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ดำเนินชีวิตมุ่งสู่ความสำเร็จ และลดความเครียดในการดำเนินชีวิต
๕. ช่วยให้เกิดการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เกิดทักษะและนิสัยในการค้นหาข้อบกพร่องของการทำงานที่รับผิดชอบอยู่ พยายามหาวิธีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
๖. ช่วยพัฒนามาตรฐานวิชาชีพที่มีคุณภาพ มีผลโดยตรงต่อคุณภาพการทำงาน ลดความผิดพลาดและปัญหาในการทำงาน ช่วยให้งานมีคุณภาพ
๗. ช่วยสร้างความใกล้ชิด การร่วมแรงร่วมใจภายในสังคมที่ตนเป็นสมาชิก ทำให้ปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์และปัญหาการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นคลี่คลายลง

หลักการประเมินตนเอง พึงปฏิบัติดังนี้
๑. กำหนดแผนการชีวิตให้เด่นชัด ด้วยเป้าหมายชีวิตที่พึงประสงค์ กอปรด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
๒. ลงมือปฏิบัติตนตามแผนการชีวิตที่กำหนดไว้
๓. ตรวจประเมินตนเองในการดำเนินชีวิตตามแผนการนั้น อย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง เพื่อให้ได้ทราบถึงการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตของตนเอง อันจะทำให้เกิดการปรับประยุกต์แผนการดำเนินชีวิต ให้สอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง
๔. ฟังทัศนคติในการดำเนินชีวิต จากคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ที่ให้คำแนะนำด้วยกุศลเจตนา เป็นดุจดังบัณฑิตชี้ขุมทรัพย์ให้ เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินตนเอง
๕. หมั่นทบทวนการปฏิบัติตนทุกคืน เพื่อพิเคราะห์หาข้อดีของตนเองที่ควรจะพัฒนา และข้อด้อยที่ควรกำจัดออกไป แล้วกำหนดการปฏิบัติตนในวันต่อไป
เมื่อสามารถประเมินตนเองได้ดังนี้ ย่อมสามารถใช้การรู้จักประเมินผลดีและผลเสียของการกระทำ ให้เหมาะแก่กรณีได้ และในที่สุดก็จะประสบผลดังที่ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า

“ท่านก็จะเห็นวิถีทางที่ถูกต้อง และจะสามารถนำความคิดและวิชาการ มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่ชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น