xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ระวัง!! อันตราย สูดดมยาจุดกันยุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.ห่วงใยผู้บริโภคเจอภัยแฝงช่วงหน้าฝน ที่มาจากการสูดดมสารกลุ่มไพรีทรอยด์ ที่ผสมอยู่ในยาจุดกันยุง ซึ่งหากได้รับสารกลุ่มไพรีทรอยด์ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ และอาเจียนได้ และในรายที่แพ้จะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวม แดง น้ำมูกไหล และหายใจขัด เตือนควรใช้อย่างถูกวิธี และปฏิบัติตามคำเตือนที่ได้ระบุไว้ข้างกล่องผลิตภัณฑ์

เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีความห่วงใยผู้บริโภค เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเพิ่มขึ้น หนึ่งในโรคที่น่ากลัวในช่วงฤดูฝน คือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และหนึ่งในวิธีการป้องกันยุงลายอย่างง่ายนั้น คือ การใช้ยาจุดกันยุงเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด ยาจุดกันยุงส่วนใหญ่จะนิยมใช้สารไล่หรือป้องกันยุง ในกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรินส์ (pyrethrins) ที่สกัดได้จากพืชตระกูลเบญจมาศ (สารสกัดไพรีทรัม หรือ pyrethrum extract)

ตัวอย่างสารออกฤทธิ์กลุ่มไพรีทรอยด์ ที่นิยมใช้ในยาจุดกันยุง และขึ้นทะเบียนไว้กับ อย. เช่น ดี-อัลเลทริน (d-allethrin), เอสไบโอทริน (esbiothrin), เมโทฟลูทริน (metofluthrin) เป็นต้น

สารไพรีทรอยด์ในยาจุดกันยุง จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาหงายท้อง นอกจากนี้ สารไพรีทรอยด์ยังมีฤทธิ์ในการไล่ยุงด้วย ควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุง ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ จึงช่วยลดอัตราการกัดของยุง และป้องกันการรบกวนจากยุงในบริเวณที่จุดได้

ปัจจุบัน ยาจุดกันยุงมีการพยายามปรับแต่งกลิ่น ให้มีกลิ่นหอมเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อกลบกลิ่นเผาไหม้และกลิ่นของสารเคมี โดยทั่วไปสารไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่น การใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้ปกติ มักไม่พบการเกิดพิษ

อย่างไรก็ตาม หากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยความรุนแรงของอาการพิษ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย

หากได้รับในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ ส่วนอาการพิษอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรจุดยาจุดกันยุงในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและเก็บให้มิดชิด ไม่ควรวางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหาร และวางให้พ้นมือเด็ก หลังจากสัมผัสยาจุดกันยุงทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาด

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ควรใช้ขาตั้งหรือถาดรองยาจุดกันยุง ที่ทำด้วยโลหะหรือวัสดุที่ไม่ติดไฟ ขณะใช้ควรวางให้ห่างวัตถุไวไฟ หรือของที่เป็นเชื้อไฟได้

ในกรณีที่ได้รับอันตรายจากการใช้ยาจุดกันยุง หรือพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น