• น่านเตรียมจัด “สรภัญญะยาตรา สืบสานพระราชศรัทธา บทมนตราเพื่อแผ่นดิน”ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพฯ
นายสโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า คณะสงฆ์วัดปทุมวนาราม ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน คณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คณะกรรมการวัดปทุมวนาราม ฝ่ายฆราวาส คณะศิลปินและจิตอาสา อุบาสก อุบาสิกา วัดปทุมวนาราม ได้กำหนดจัดกิจกรรม “สรภัญญะยาตรา สืบสานพระราชศรัทธา บทมนตราเพื่อแผ่นดิน” ในวันที่ 15 กันยายน 2557 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อ.ภูเพียง จ.น่าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา ได้เข้าใจในหลักธรรมและนำไปปฏิบัติให้เกิดความร่มเย็นแก่ตนเองและครอบครัว มีจิตสาธารณะ พร้อมทั้งมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติสืบไป
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมในโครงการเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา สวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ ภายใต้การอำนวยการและการเผยแพร่กิจกรรมของโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย วัดปทุมวนาราม และการสนับสนุนอย่างเป็นทางการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โดยภายในงานจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การทอดผ้าป่า “ตามรอยยุคลบาทฯ” กิจกรรมสปาธรรมะ การแสดงธรรมบรรยาย การสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ การแสดงธรรมคีตาเทิดพระเกียรติ จากศิลปินผู้อุปถัมภ์โครงการฯ เป็นต้น จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน
• คสช.เห็นชอบร่างกฎหมาย ปฏิรูปวงการศาสนา
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเพียงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นการให้อำนาจคณะสงฆ์ปกครองกันเอง หากพระสงฆ์กระทำผิดถึงขั้นปาราชิก มีบทลงโทษทางธรรมวินัยคือให้สึกเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.... ประกอบด้วย 8 กลุ่มหลัก คือ การปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศาสนสงเคราะห์ การเข้าสู่อาเซียน และกฎหมายอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดแฝงตัวมาในพระพุทธศาสนา การเผยแผ่ธรรมะต้องมีมาตรฐาน การสร้างอาคารหรือสิ่งสาธารณูปโภคทางศาสนา ต้องมีกำหนดระยะเวลา เพื่อไม่ให้มีเหตุเรี่ยไรไม่จบสิ้น ต้องมีระบบบัญชีในวัด ไม่ให้วัดเป็นภาระหรือหลอกลวงสังคม เป็นต้น
สำหรับเรื่องกฎหมายอื่นๆที่เพิ่มขึ้นในร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ จะระบุข้อห้ามของพระสงฆ์อย่างชัดเจน เช่น การห้ามพระขับรถหรือยานพาหนะอื่นๆ เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว เป็นแนวคิดใหม่ในการปฏิรูปวงการศาสนา ให้มีความชัดเจน และมีความยุติธรรมมากขึ้นต่อสังคม ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้ว
• ศน.-คณะสงฆ์ กทม.ปั้นพระนักเทศน์มหาชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา(ศน.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในปัจจุบันพระธรรมกถึกผู้เทศน์มหาชาติ ที่มีความสามารถ มีจำนวนไม่มากนัก เพราะการเทศน์มหาชาติต้องมีการฝึกฝนทั้งรูปแบบและเนื้อหา รวมถึงการถ่ายทอดที่น่าดึงดูดใจและน่าสนใจ
ทั้งนี้ พระสงฆ์บางส่วนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องของวิธีการเทศน์ เนื้อหา และขาดวิธีการเทศน์ที่น่าสนใจ แม้ว่าที่ผ่านมามหาเถรสมาคมได้ออกประกาศห้ามพระภิกษุสามเณรเทศน์มหาชาติแบบตลกคะนองเสียสมณสารูปก็ตาม แต่ยังพบว่า บางรูปใช้วิธีการเทศน์ที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง
ดังนั้น กรมการศาสนาร่วมกับคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร จึงจัดโครงการอบรมเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อคัดเลือกพระสงฆ์และสามเณรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลกว่า 100 รูป เข้ารับการอบรมการเทศน์มหาชาติที่ถูกต้องตามแบบแผน และนำไปต่อยอดการอนุรักษ์การเทศน์มหาชาติที่ถูกต้องตามต้นฉบับ และรักษามรดกทางวัฒนธรรมสืบไป
โดยหลังจากนี้จะขยายโครงการดังกล่าว เพื่อจัดอบรมพระสงฆ์ในทุกภูมิภาค เพื่อสร้างพระนักเทศน์ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทศน์มหาชาติต่อไป
• กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯเตรียมจัดงาน มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ชูแนวคิด “การแพทย์แผนไทยหัวใจการดูแลสุขภาพ”
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพร้อมด้วยภาคีเครือข่าย แถลงข่าวการจัด “งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ภายใต้แนวคิด “การแพทย์แผนไทยหัวใจการดูแลสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 3-7 กันยายน 2557 ณ ฮอลล์ 6-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ระดับชาติ และระดับพื้นที่ เป็นเวทีในการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านเชิงระบบ และเชิงวิชาการ การพัฒนาศักยภาพของบุคคล กลุ่ม และเครือข่าย และสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงวัฒนธรรมภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท
ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนโยบายในการนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มาพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองของประเทศ การแพทย์แผนไทยนั้นนับเป็นภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ มีการคิดค้น สั่งสม พัฒนา และคัดเลือกจากบรรพบุรุษของคนไทยมาอย่างยาวนาน การส่งเสริมให้เกิดการใช้การแพทย์แผนไทย ไม่ได้เพียงเพื่อการพัฒนาให้มีอัตลักษณ์ของประเทศเท่านั้น แต่การแพทย์แผนไทยยังมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ลดการใช้ยาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การใช้การแพทย์แผนไทยยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้เกิดการปลูกพืชสมุนไพร การผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานนี้ โรงพยาบาลและมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจ ได้แก่ เปิดตำรับลับสุดยอด ภูมิปัญญาไทยหญ้ารีแพร์ การทำยาสมุนไพรดูแลแม่หญิง แจกหนังสือ “สมุนไพรดูแลแม่หญิง” วันละ 200 เล่ม ต้นสมุนไพรดูแลแม่หญิง วันละ 300 ต้น เป็นต้น
• กรมอนามัยห่วงสุขภาพช่องปากของพระ แนะ ปชช.ถวายภัตตาหารที่ดีต่อฟัน
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการดูแลสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยสูงอายุ ซึ่งจากการสำรวจสุขภาพช่องปากของกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไป พบว่ามักจะมีปัญหาสุขภาพช่องปาก
แต่เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือถวายเท่านั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรหลีกเลี่ยงการถวายภัตตาหารที่รสหวานจัด มีน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคในช่องปาก รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วย
ทั้งนี้ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพฟัน ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้จำพวก แตงกวา ฝรั่ง มะเขือเทศ ชมพู่ จะช่วยในการทำความสะอาดฟัน อาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม สับปะรด กะหล่ำปลี แครอท ผักคะน้า มีความสำคัญในการรักษาเหงือก ฟัน กระดูก อาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ถั่วลิสง รำ ถั่วเหลือง มะม่วง จะช่วยป้องกันมุมปากแตก ลิ้นอักเสบ และควรเลือกถวายน้ำผลไม้แทนน้ำอัดลม เพราะน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูง และมีผลต่อการกัดกร่อนของฟันได้ หากเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมไม่ได้ ให้ใช้ดื่มผ่านหลอดลงคอไปโดยตรง จะทำให้น้ำอัดลมสัมผัสกับผิวฟันน้อยกว่าการดื่มจากแก้ว หลีกเลี่ยงขนมหวาน เช่น คุกกี้ โดนัท ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง ทำให้ฟันผุได้ง่าย
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวด้วยว่า การมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคในช่องปากเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย
• ปีมหามงคล 57 เทศกาลเจมี 2 ครั้ง ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดของภูเก็ตจัดเต็ม
กำหนดการเทศกาลถือศีลกินผักหรือกินเจในแต่ละปี จะยึดถือตามปฏิทินจันทรคติของจีน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน แต่สำหรับในปี 2557 นับว่าเป็นปีมหามงคล เนื่องจากตามปฏิทินจีนมีเดือน 9 สองครั้ง ซึ่งเหตุการณ์นี้ห่างจากครั้งก่อน 182 ปี
ดังนั้น การจัดงานเทศกาลถือศีลกินผักที่ภูเก็ตในปีนี้ บางศาลเจ้าจะจัดเพียงครั้งเดียว ส่วนบางศาลเจ้าจะจัด 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก วันที่ 24 กันยายน - 2 ตุลาคม 2557 และครั้งที่สอง วันที่ 24 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2557
โดยศาลเจ้ากะทู้ ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดของภูเก็ต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ปีนี้คณะกรรมการศาลเจ้าเห็นพ้องให้จัดงานถือศีลกินผัก 2 ครั้ง ขณะที่ในเฟซบุ๊กของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ซึ่งเป็นศาลเจ้าชื่อดังแห่งหนึ่งของภูเก็ต มีการโพสต์ข้อความว่า จะจัดงานกินผักในเดือน 9 (แรก) เพียงครั้งเดียว และจะมีการเปิดโรงทานให้ร่วมรับประทานอาหารเจ และสวดมนต์ในเดือน 9 (หลัง)
อนึ่ง ศาลเจ้ากะทู้ถือว่าเป็นศาลเจ้าต้นกำเนิดของประเพณี “เจี๊ยะฉ่าย” หรือประเพณีถือศีลกินผัก ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากที่ได้มีคณะงิ้วเดินทางจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ แต่ผู้แสดงในคณะงิ้วเกิดเจ็บป่วย ทำให้คณะงิ้วคิดได้ว่า พวกตนไม่ได้ประกอบพิธีกินผัก ซึ่งเคยกระทำเป็นประจำทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ทำการประกอบพิธีกินผักขึ้นที่โรงงิ้ว จากนั้นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็หายไป สร้างความประหลาดใจให้ชาวกะทู้เป็นอย่างมาก ปีต่อมาจึงได้เริ่มประกอบพิธี “เจี๊ยะฉ่าย” และแพร่หลายไปยังสถานที่ต่างๆจวบจนปัจจุบัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)