นักโภชนาการแนะวิธีกินเจถูกต้อง ไม่ควรล้างท้องก่อนกินเจแค่วันเดียว ชี้ควรเตรียมตัวก่อนกินเจ 3 - 4 วัน หันทานผักมากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ให้ร่างกายได้ปรับตัว ย้ำกินเจต้องกินให้ครบ 5 หมู่ ได้โปรตีนเพียงพอ รสชาติปานกลาง ใส่ใจความสะอาด
นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวถึงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 13 - 21 ต.ค. นี้ ว่า การกินเจ มีความเชื่อว่าสร้างบุญสร้างกุศล เพราะไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น และมีสุขภาพดี ซึ่งนักโภชนาการยอมรับว่า เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีพืชผักและถั่วเมล็ดแห้งเป็นเครื่องปรุงหลัก โดยพืชผักเป็นกลุ่มอาหารที่ให้วิตามินและแร่ธาตุ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ให้สารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ใยอาหาร ช่วยล้างสารพิษที่ติดอยู่ในเยื่อบุลำไส้ออกจากร่างกาย ส่วนถั่วก็อุดมไปด้วยโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะถั่วเหลือง ที่ประกอบด้วย กรดอะมิโนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ซึ่งการกินเจจำเป็นต้องกินถั่ว เพื่อให้ได้โปรตีน นอกจากนี้ อาหารเจให้พลังงานต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สะสมไขมันส่วนเกิน ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง
นายสง่า กล่าวว่า การเตรียมตัวกินเจไม่อยากให้ใช้คำว่าล้างท้อง เพราะดูน่ากลัวและไม่จำเป็น โดยการกินเจควรทำให้ร่างกายและระบบทางเดินอาหารค่อย ๆ ปรับตัว โดยก่อนกินเจ 3 - 4 วัน ควรเพิ่มการกินผักให้มากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นปลา ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ตามลำดับ ทั้งนี้ หลักโภชนาการที่ต้องใส่ใจเมื่อกินเจ คือ 1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารหนึ่งจาน ควรประกอบไปด้วย โปรตีน จากถั่วเมล็ดแห้ง คาร์โบไฮเดรต จากข้าวแป้ง วิตามินและแร่ธาตุ จากพืชผัก ผลไม้ และไขมัน จากน้ำมันแต่พอดี 2. ต้องมั่นใจว่าได้สารอาหารโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้งอย่างเพียงพอ ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด กินขนมที่ทำจากถั่ว เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาลทรายแดง เต้าส่วน ขนมถั่วแปบ ถั่วกวน เป็นต้น
นายสง่า กล่าวว่า 3. กินเจให้กินอาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน เค็มจัด เพราะส่วนใหญ่อาหารเจมักออกไปทางมัน หันไปกินอาหารเจประเภท ต้ม แกง ย่าง ยำ น้ำพริก ซึ่งเป็นอาหารเจแบบไทย ๆ 4. กินข้าวแป้งแต่พอดี อาหารเจส่วนใหญ่จะมีแป้งแฝง เช่น การใช้แป้งหมี่กึ๋งมาทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ซึ่งทำให้คาร์โบไฮเครทล้นเกิน และ 5. ใส่ใจเรื่องความสะอาด ปลอดภัยวัตถุดิบที่นำมาปรุง ต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง โดยเฉพาะจากพืชผัก ถ้าล้างไม่สะอาด แล้วนำไปปรุง อาหารเจจานนั้น หม้อนั้น อาจเป็นอาหารเจสารพิษ ทั้งนี้ เมื่อออกเจ ในช่วงสองวันแรก ควรกินอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย ให้เริ่มกินปลา ไข่ นม อย่าเพิ่งกินเนื้อสัตว์ใหญ่ จนกว่าจะครบ 4 - 6 วัน ส่วนผัก แป้ง ไขมัน ยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม ประเพณีกินเจ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม สมควรให้มีการสืบทอดตีอกันไป แต่ต้องมั่นใจให้อยู่หลักการและแก่นแท้ของการกินเจ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่